ศาสนากับโลก (ตอนที่ 10) ความยุติธรรมและชะตากรรมของสังคม

 

ประการที่สอง ในการตอบปัญหาดังกล่าว ข้าพเจ้าขอถามว่า อิสลามต้องการให้สังคมมุสลิมดำรงอยู่หรือไม่ แน่นอน อิสลามย่อมต้องการดั่งนั้น จากนั้นข้าพเจ้าก็จะถามว่าเป็นไปได้ไหมสำหรับสังคมอิสลามที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการหมุนอยู่รอบแกนแห่งความยุติธรรมและการรักษาสิทธิของสมาชิกของมัน

 

 

ท่านศาสดา ผู้ประเสริฐของเราไม่ได้บอกเราดอกหรือว่า “ทรัพย์สมบัติอาจเหลืออยู่กับผู้ไม่ศรัทธาได้แต่จะไม่เหลืออยู่กับผู้อยุติธรรม ?” นั่นก็คือ เมื่อสังคมมีความใจกว้างและยุติธรรม มันก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าสมาชิกของมันจะเป็นคนนอกศาสนา ในทางตรงกันข้าม เมื่อความอยุติธรรมแผ่ไปทั่วสังคม อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางชนชั้น สังคมก็จะไม่ดำรงอยู่อย่างเดิม ถึงแม้ว่าสมาชิกของสังคมนั้นจะมีความเชื่อความศรัทธาเป็นมุสลิมทั้งสิ้นก็ตาม

 

พระมหาคัมภีร์กุรอานนั้นเต็มไปด้วยโองการที่บอกเราถึงเหตุผลแห่งความพินาศของประชาชนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้อันเนื่องมาจากความอยุติธรรมของพวกเขาเอง ในตอนหนึ่งเราได้รับการบอกเล่าว่า “และผู้อภิบาลของเจ้าไม่ได้ทรงทำลายล้างบรรดาเมืองต่างๆโดยอยุติธรรมเลย ในเมื่อชาวเมืองเหล่านั้นยังประพฤติตัวดีอยู่ ” (๑๑:๑๑๗)

 

นักตีความส่วนมากเห็นพ้องกันว่าที่กล่าวถึง “ความอยุติธรรม ” คือความอยุติธรรมของการตั้งภาคี (ชิริก) นั่นเอง เพราะการตั้งภาคีนั้นเป็นความอยุติธรรมชนิดหนึ่ง “แท้จริงการตั้งภาคีนั้น เป็นความอยุติธรรมอันใหญ่หลวงยิ่ง ” (๓๑:๑๓)

 

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า สิ่งที่เราได้รับการบอกกล่าวก็คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ไม่ได้ทำลายอารยธรรม เพราะความไม่ศรัทธาหรือการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ของผู้คน ตราบเท่าที่สิทธิทางสังคมและความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นไปอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลข้อที่สองที่ว่าเหตุใดอิสลามจึงบรรจุข้อบังคับเกี่ยวกับสิทธิทางโลกและทางศีลธรรมไว้


เขียนโดย ชะฮีดมุเฏาะฮะรี
แปล จรัญ มะลูลีม