ชีวประวัติท่านหญิงซัยนับ อัลกุบรอ ตอนที่ 6


การเดินทางออกจากมะดีนะฮ์

 

ในข้อตกลงสงบศึกระหว่างอิมามฮาซันกับมุอาวิยะฮ์ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สิทธิในการเป็นคอลีฟะฮ์จะต้องเป็นของอิมามฮูเซน เท่านั้น


อิมามไม่เคยยอมลดเกียรติลงไปยอมรับทรราชจากดามัสกัส ซึ่งแนวคิดและการปฏิบัติตนของเขา ต่อต้านหลักการอันสูงส่งและการดำเนินชีวิตอันสง่างามของครอบครัวของท่านศาสดา


ทันทีที่ยะซีดขึ้นเถลิงอำนาจ ก็เริ่มวางแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับบุคลิกภาพที่ชั่วช้าของตน ด้วยการแทรกแซงรากฐานความเคร่งครัดของศาสนา ประกอบกรรมทำความชั่วอย่างเปิดเผยโจ๋งครึ่ม


โดยไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษ และประกาศตนเองเป็นผู้สืบทอดของท่านศาสดา เรียกร้องให้อิมามฮูเซนยอมสวามิภักดิ์โดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ


แสงสว่าง (ศาสนา) ที่ท่านศาสดานำมาให้กับประชาชาติ กำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกทำให้สูญสิ้นไป หน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์ให้ดำรงอยู่ในวิถีทางที่บริสุทธิ์เหมือนเดิม ตกอยู่ที่อิมามฮูเซน ครอบครัวของท่าน และบรรดาสาวกที่ซื่อสัตย์ของท่าน ท่านจึงตัดสินใจออกเดินทางจากมะดีนะฮ์ไปยังนครมักกะฮ์


เมื่อท่านหญิงซัยนับ ทราบข่าวท่านจึงร่ำไห้ อับดุลลอฮ์สามีของท่านสังเกตเห็น จึงอยากทราบถึงสาเหตุว่า เกิดอะไรขึ้น พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าได้ให้เธอต้องร่ำไห้เลย เธอมีเรื่องกลุ้มใจอะไรหรือ?” ท่านหญิงได้ตอบว่า “ท่านทราบดีใช่ไหมว่า ฉันรักฮูเซนมากเพียงใด ตอนนี้ท่านได้ตัดสินใจที่จะออกเดินทาง และเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากฮูเซน ฉันขอทวงสัญญาที่ท่านได้ให้ไว้เพื่อที่จะติดตามฮูเซนไป” แม้ว่าท่านทั้งสองจะไม่เคยแยกจากกัน แต่ท่านหญิงก็ทราบดีถึงภาระหน้าที่ต่ออิสลาม อับดุลลอฮ์รู้สึกเศร้าใจและได้กล่าวว่า ท่านจะไม่นำมาปะปนกันระหว่างหน้าที่ของท่านหญิงที่มีต่ออิมามฮูเซนกับความสุขส่วนตัวของท่าน แม้ว่าหัวใจของท่านจะโศกเศร้าจากการนี้

แต่ท่านก็จะไม่ขัดขวางท่านหญิงด้วยการยินยอมของอับดุลลอฮ์


ท่านหญิงจึงตัดสินใจร่วมเดินทางไปกับอิมามจากมะดีนะฮ์สู่หนทางที่ถูกกำหนดไว้ ท่านหญิงพาอูนและมุฮัมมัด บุตรชายทั้งสองของท่านไปด้วย


ตามปกติผู้หญิงจะต้องอยู่แต่ในบ้านเรือนของนาง แต่นี่เป็นข้อแตกต่าง เพราะท่านต้องกลายเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในขบวนเชลย และเป็นผู้คุ้มกัน


แม้ท่านจะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน แต่ท่านเป็นบุตรสาวของราชสีห์แห่งพระเจ้า แม้จะตกอยู่ในภยันตรายก็ยังสามารถลุกขึ้นยืนหยัดด้วยความอดทน ในการเผชิญหน้ากับความหิวกระหายซึ่งล้อมรอบไปด้วยบรรดาผู้สละชีพและผู้บาดเจ็บ ในสมรภูมิเลือดที่กัรบะลา


วันที่ 28 รอญับ ฮ.ศ. 60 (7 พฤษภาคม ค.ศ.680)


 เมื่อกองคาราวานของท่านอิมามออกเดินทางจากมะดีนะฮ์สู่นครมักกะฮ์ ลูกหลานตระกูลฮาชิม อะลี อักบัร อับบาส กอซิม อูนและมุฮัมมัด ทำหน้าที่ช่วยส่งบรรดาสตรีขึ้นบนหลังอูฐ แต่ท่านหญิงซัยนับนั้นไม่มีใครส่งท่านให้ขึ้นบนหลักอูฐ นอกจากอิมามฮูเซน เท่านั้น


เมื่อตะวันเริ่มทอแสง ขบวนก็เริ่มออกเดินทางรอนแรมไปยังนครมักกะฮ์ ความมืดได้เข้ามาปกคลุมมะดีนะฮ์ พร้อมๆ กับการเคลื่อนตัวเข้ามาของความหม่นหมอง ความโศกเศร้า ซึ่งการจากไปของอิมามและครอบครัวของท่านในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความอาลัยรัก ซึ่งจะประทับอยู่ในความทรงจำตลอดไป


ขบวนของท่านอิมามหยุดพักที่มักกะฮ์ประมาณ 4 เดือน ในช่วงนี้เอง อับดุลลอฮ์ได้ตัดสินใจร่วมเดินทางไปด้วย แรงกดดันจากพวกอุมัยยะฮ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น พวกเขาบังคับให้อิมามฮูเซนยอมรับบัยอะฮ์ (สัตยาบัน) กับยะซีด แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาก็เริ่มวางแผนการว่า จะใช้วิธีใดที่จะกำจัดอิมามได้ดีที่สุด?


ในที่สุด พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะสังหารท่าน ในบริเวณกะอ์บะฮ์


อิมามคอยติดตามข่าวอยู่ตลอดเวลา ในที่สุด ท่านก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังอิรัก แม้ว่าบรรดาผู้อาวุโสของตระกูลฮาชิมจะขอให้ท่านเปลี่ยนความตั้งใจ อย่างไรก็ดี ท่านได้แย้มให้ทราบถึงเรื่องราวที่ท่านเคยรับฟังมาจากท่านศาสดา


 เมื่ออับดุลลอฮ์บุตรของอับบาส แน่ใจว่าอิมามจะไม่ยอมคล้อยตามคำแนะนำของท่าน จึงกล่าวว่า


“ด้วยเหตุอันใด ท่านจึงประสงค์ที่จะนำบรรดาสตรีและเด็กๆ ไปกับท่านในการพลีครั้งนี้ด้วยเล่า!?”


เมื่อท่านหญิงซัยนับได้ยินเช่นนั้น จึงรู้สึกไม่พอใจ พร้อมกับกล่าวว่า


“ท่านอับดุลลอฮ์ ท่านต้องการที่จะให้อิมามของพวกเราเดินทาง
ไปโดยลำพัง และทิ้งพวกเราไว้ข้างหลังกระนั้นหรือ?


 ฉันขอสาบานด้วยนามของพระเจ้าว่า มันเป็นไปไม่ได้! เราจะไม่ยอมปล่อยให้ท่านไปโดยลำพัง เราจะมีชีวิตอยู่พร้อมกับท่าน และจะตายพร้อมกับท่าน
เพราะท่านเป็นพี่ชายคนเดียวที่เหลืออยู่สำหรับเรา”
 
ขณะนั้นท่านหญิงซัยนับ รู้สึกกังวลใจกับการรอคอยคำสั่งจากพี่ชายของท่าน ในการเตรียมพร้อมที่จะไปยังกูฟะฮ์ อิมามฮูเซนทราบข่าวว่า มีแผนการที่จะลอบสังหารท่านในขณะกำลังประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อเป็นการป้องกันการหลั่งเลือดลงบนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางออกจากมักกะฮ์ไปยังกูฟะฮ์เพียงหนึ่งวันก่อนพิธีการทำฮัจญ์ เมื่อถูกถามถึงเหตุผลในการออกจากมักกะฮ์ก่อนวันประกอบพิธีซึ่งจะมีในวันรุ่งขึ้น ท่านกล่าวตอบว่า


 “ท่านจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ทุ่งกัรบะลาอ์”


จึงมีคำสั่งให้ออกเดินทาง ขบวนจึงมุ่งหน้าไปยังกูฟะฮ์


การเดินทางได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน


และเมื่อขบวนเดินทางมาถึงคูวัยริยะฮ์ อิมามจึงตัดสินใจหยุดพักค้างคืนพร้อมกับบรรดาเด็กๆ


วันรุ่งขึ้นท่านหญิงบอกกับพี่ชายของท่านว่า ท่านได้ยินเสียงหนึ่งบอกกับท่านว่า “อิมามฮูเซนจะถูกสังหาร”
 อิมามตอบว่า “สิ่งนี้ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว”


เมื่อขบวนมาถึงตาฮิม อับดุลลอฮ์ บุตรของญะอ์ฟัร (ซึ่งเดินทางจากมะดีนะฮ์มาสมทบกับอิมามที่มักกะฮ์) เดินทางมาถึงแล้ว ได้แสดงความคาราวะและปรึกษาหารือเรื่องสำคัญบางอย่าง พร้อมกับย้ำเตือนบุตรชายทั้งสองของท่าน คืออูนและมุฮัมมัด ให้พลีชีพเพื่ออิมามผู้เป็นลุงของเขาทั้งสอง หลังจากนั้น


เขาได้เดินทางกลับไปยังมักกะฮ์ ขบวนของอิมามจึงมุ่งหน้าไปยังอิรัก

 

ที่มา จากหนังสือ ซัยนับ วีรสตรีแห่งอิสลาม

เขียนโดย ยูซุฟ เอ็น ลาลล์ญี