เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มีบุตรชื่อมุฮ์ซินจริงหรือไม่? ตอนที่ 1

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มีบุตรชื่อมุฮ์ซินจริงหรือไม่? ตอนที่ 1

 

เมื่อพวกเขาต้องการที่จะนำตัวท่านอะลี (อ.) ไปยังมัสยิด พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการต้านทานของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) เพื่อที่จะยับยั้งและขัดขวางการนำตัวสามีของท่านไปนั้น ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายอย่างมากมายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่เราไม่อาจจะบรรยายเรื่องราวทั้งหมดเหล่านั้นได้ด้วยคำพูดและปากกา

 

ในงานแสดงนิทรรศการครั้งหนึ่งที่จัดขึ้นในนครมักกะฮ์ ภายใต้การดูแลและการบริหารจัดการของชาววะฮาบี ซึ่งในแผ่นป้ายชิ้นหนึ่งมีสายตระกูลของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ถูกนำมาแสดงในงานชิ้นนั้น  ทั้งๆ ที่ชาววะฮาบีและอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ส่วนมากไม่ยอมรับการมีอยู่ของท่านมุห์ซิน (อ.) แต่บนแผ่นป้ายดังกล่าวกลับยอมรับว่าท่านมุห์ซิน (อ.) คือ ผู้หนึ่งจากบุตรของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.)


ส่วนหนึ่งจากคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาบ้านของท่านอิมามอะลี(อ.) และการทำลายเกียรติของท่าน นั่นก็คือ พวกเขากระทำอุกอาจและทำร้ายท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.) (เหมือนดังที่ชีอะฮ์ได้กล่าวถึง) จริงหรือไม่? และบาดแผลต่างๆ เกิดขึ้นกับท่านหญิงจนเป็นเหตุทำให้ท่านหญิงต้องเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) และ ต้องแท้งบุตรชายที่ชื่อมุห์ซินนั้นเป็นเรื่องจริงใช่หรือไม่?

 

อุละมาอ์ (ผู้รู้) ชาวอะฮ์ลิซซุนะฮ์บางท่าน เพื่อที่จะรักษาสถานะของบรรดาคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) เอาไว้ ได้ยับยั้งตนจากการที่จะเปิดเผยและพูดถึงประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ตัวอย่างเช่น อิบนุอะบิลฮะดีด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ชัรห์-นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์” ของท่านว่า “การอุกอาจและความหยาบช้าต่างๆ ที่ถูกอ้างถึงในเรื่องที่เกี่ยวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) นั้น ในท่ามกลางชาวมุสลิมไม่มีผู้ใดได้รายงานไว้ นอกจากชีอะฮ์เพียงเท่านั้น” (1)


อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ (อุละมาอ์) และนักประวัติศาสตร์ของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์บางท่านก็มิได้เมินเฉยต่อการที่จะอธิบายถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ ดังเช่นที่ท่านซัยยิดมุรตะฎอ (ร.ฮ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า “ในช่วงแรกๆ นักรายงานฮะดีษและนักบันทึกประวัติศาสตร์ ก็มิได้ยับยั้งตนจากการเล่ารายงานเกี่ยวกับการอุกอาจต่างๆ ที่พวกเขากระทำกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) บุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เสียทีเดียว


ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นที่โจทย์ขานกันในหมู่พวกเขาถึงกรณีที่ว่า “เนื่องจากการผลักประตูของเจ้าหน้าที่ของคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ทำให้ประตูไปกระแทกร่างของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) จนทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ของท่านหญิงต้องแท้ง ด้วยคำบัญชาของคอลีฟะฮ์ที่ 2 “กุนฟุซ” ได้เฆี่ยนตีท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.) จนทำให้ท่านหญิงปล่อยมือจากการรั้งท่านอิมามอะลี (อ.) เอาไว้ ต่อมาในภายหลังเนื่องจากพวกเขาเห็นว่าการรายงานเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ไม่เหมาะสมและมีผลเสียต่อสถานภาพของคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ดังนั้น พวกเขาจึงยับยั้งการรายงานเหตุการณ์เหล่านี้” (2)


ท่านมัซอูดี บันทึกไว้ในส่วนหนึ่งจากหนังสือของท่านว่า

 

فَوَجهُوا اِلی مَنْزلِهِ فَهَجَمُوا عَلَیْهِ وَ اَحْرَقُوابابَهُ وَ ضَغَطُوا سَیدَةَ النساءِ بِالْبابِ حَتی اَسْقَطَتْ مُحْسِنا

 

“ดังนั้น พวกเขา (อุมัรและผู้ติดตาม) ได้มุ่งตรงไปยังบ้านของท่านอะลี (อ.) บุกรุกบ้านหลังนั้นและเผาประตูบ้านหลังนั้น... และพวกเขาได้ผลักประตูไปกระแทก (ท่านหญิง) ผู้เป็นนายของปวงสตรีจนกระทั่งท่านหญิงได้แท้งมุห์ซิน” (3)

 

ก. แหล่งอ้างอิงของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์

 

1. อับดุลการีม อิบนิ อะห์มัด ชะฮ์ริสตานี สังกัดมัซฮับชาฟิอี (มีชีวิตอยู่ในช่วงฮ.ศ.ที่ 479-548) ได้รายงานว่า


اِن عُمَرَ ضَرَبَ بَطْنَ فاطِمَةَ یَوْمَ الْبَیْعَةِ حَتی اَلْقَتْ اَلْجَنینَ مِنْ بَطْنِها


“อุมัรได้กระแทกครรภ์ของท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) ในวันเอาสัตยาบัน (บัยอะฮ์) จนกระทั่งทำให้ทารกน้อยแท้งออกมาจากครรภ์ของท่าน” (4)

 

อิบนุอะบิลฮะดีด กล่าวว่า ฉันได้อ่าน (คำรายงาน) เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ให้อะบูญะอ์ฟัร นะกีบ อาจารย์ของฉันฟังท่านกล่าวว่า “ในเมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถือว่าเลือด (การสังหาร) ผู้ที่ทำให้ท่านหญิงซัยนับบุตรีของท่านเกิดความหวาดกลัวจนกระทั่งทำให้นางแท้งบุตรนั้นเป็นที่อนุมัติ ดังนั้นแน่นอนยิ่งว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องถือว่าเลือด (การสังหาร) ผู้ที่ทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) บุตรีของท่านประสบกับความหวาดกลัวและเป็นเหตุทำให้ท่านต้องแท้ง (มุห์ซิน) บุตรชายของท่านนั้น ย่อมเป็นที่อนุมัติอย่างแน่นอน”

 

ในคำพูดเดียวกันนี้ ท่านอัซฟะรออินี (เสียชีวิตในปีฮ.ศ. 429) อ้างมาจากท่านนัซซอม และเขากล่าวว่า นัซซอมได้กล่าวว่า

 

اَن عُمَرَ ضَرَبَ فاطِمَةَ وَ مَنَعَ میراثَ الْعِتْرَةِ

 

“อุมัรได้ทุบตีท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และได้ห้ามมรดกจากอิตเราะฮ์ (เชื้อสายของท่านศาสดา)” (5)

 

 
2. ซ็อฟดี อีกท่านหนึ่งจากนักวิชาการ (อุละมาอ์) ของอะฮ์ลิซซุนะฮ์กล่าวว่า

 

اِن عُمَرَ ضَرَبَ بَطْن َفاطِمَةَ یَوْمَ الْبَیْعَةِ حَتی اَلْقَتْ اَلْمُحْسِنَ مِنْ بَطْنِها

 

“อุมัรได้กระแทกท้องของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในวันเอาสัตยาบัน (บัยอะฮ์) จนกระทั่งทำให้มุห์ซินได้แท้งออกมาจากครรภ์ของท่าน” (6)

 

3. มะกอติล บินอะฏียะฮ์ กล่าวว่า : อบูบักร์ ภายหลังจากเอาสัตยาบัน (บัยอะฮ์) จากประชาชนโดยการข่มขู่ การสร้างความหวาดกลัวและการใช้ดาบแล้ว เขาได้ส่งอุมัรและกุนฟุซพร้อมด้วยบุคคลกลุ่มหนึ่งไปยังบ้านของท่านอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) อุมัรได้รวบรวมไม้ฟืนที่อยู่ในบ้านท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ และได้จุดไฟเผาประตูบ้าน ในช่วงเวลานั้นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้มายืนอยู่ที่หลังประตู อุมัรและผู้ร่วมทางของเขาได้มารวมตัวกัน อุมัรได้ผลักประตูไปกระแทกจนกระทั่งท่านต้องแท้งบุตรชายของท่าน และตะปูที่ติดอยู่กับประตูได้ทิ่มแทงเข้าไปที่ทรวงอกของท่านหญิง (ด้วยผลของการกระทบกระทั่งเหล่านั้น) ทำให้ท่านหญิงล้มป่วยลงจนกระทั่งจากโลกนี้ไป” (7)


4. อิบนุอะบิลฮะดีด ได้รายงานว่า : อะบุลอาซ สามีของซัยนับ บุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกจับตัวเป็นเชลยในสงครามโดยฝ่ายมุสลิม แต่ต่อมาภายหลังเขาก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระเหมือนกับเชลยศึกคนอื่นๆ  

 

อะบุลอาซ ได้ให้คำมั่นสัญญากับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า หลังจากที่กลับไปยังนครมักกะฮ์แล้วเขาจะจัดเตรียมสัมภาระในการเดินทางของบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และส่งนางไปยังนครมะดีนะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้บัญชาให้ เซด บินฮาริษะฮ์ พร้อมด้วยชาวอันซ๊อรกลุ่มหนึ่งเดินทางออกไปหยุดรอในเส้นทางที่ห่างจากนครมะดีนะฮ์ประมาณ 8 ไมล์ เมื่อใดก็ตามที่ซัยนับเดินทางมาถึงที่นั่นก็ให้พวกเขานำทางนางเข้ามายังนครมะดีนะฮ์ เมื่อชาวกุเรชรู้ข่าวว่าบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เดินทางออกจากนครมักกะฮ์ กลุ่มหนึ่งจากพวกเขาตัดสินใจที่จะออกไปสะกัดกั้นนาง ในระหว่างกลางเส้นทาง ญับบาร บินอัซวัด (หรือฮับบาร บินอัซวัด) พร้อมด้วยประชาชนกลุ่มหนึ่งได้มุ่งหน้าไปยังกระโจมแคร่บนหลังอูฐของซัยนับ และใช้หอกฟาดลงไปบนกระโจมแคร่ของบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยความตกใจกลัวทำให้ท่านหญิงซัยนับได้แท้งทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ และต้องย้อนกลับไปยังนครมักกะฮ์อีกครั้งหนึ่ง

 

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เมื่อได้ยินข่าวดังกล่าวท่านรู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรง ในครั้งเมื่อพิชิตนครมักกะฮ์ (แม้ท่านจะให้อภัยและปล่อยบุคคลทั้งหมดให้เป็นอิสภาพ) แต่ท่านก็ยังถือว่าเลือดของบุคคลที่สังหารลูกน้อยของท่านหญิงซัยนับนั้นเป็นที่อนุมัติ


อิบนุอะบิลฮะดีด กล่าวว่า : ฉันได้อ่าน (คำรายงาน) เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ให้ อะบูญะอ์ฟัร นะกีบ อาจารย์ของฉันฟัง ท่านกล่าวว่า “ในเมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถือว่าเลือด (การสังหาร) ผู้ที่ทำให้ท่านหญิงซัยนับบุตรีของท่านเกิดความหวาดกลัวจนกระทั่งทำให้นางแท้งบุตรนั้นเป็นที่อนุมัติ ดังนั้นแน่นอนยิ่งว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องถือว่าเลือด (การสังหาร) ผู้ที่ทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) บุตรีของท่านประสบกับความหวาดกลัว และเป็นเหตุทำให้ท่านต้องแท้ง (มุห์ซิน) บุตรชายของท่าน ย่อมเป็นที่อนุมัติอย่างแน่นอน”

 

อิบนุอะบิลฮะดีด กล่าวว่า ฉันกล่าวกับอาจารย์ของฉันว่า “จะให้ผมรายงานจากท่านได้หรือไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนได้กล่าวว่า ด้วยผลของความหวาดกลัว (จากการกระแทกที่เกิดขึ้น) ทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ต้องสูญเสียลูกชายของท่านไป?” ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า “ไม่ได้! อย่าได้อ้างรายงานเรื่องราวนี้จากฉันเลย รวมทั้งอย่าได้อ้างรายงายการปฏิเสธและการเป็นโมฆะของมันออกไปจากฉันด้วย เนื่องจากคำรายงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่” (8)

 

ประเด็นดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า คำรายงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับทัศนะของชีอะฮ์ก็มีปรากฏอยู่ท่ามกลางริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ อิบนุอะบิลฮะดีด ก็ยอมรับเช่นนั้นในคำพูดบางส่วนของเขา โดยเขาได้กล่าวว่า

 


عَلی اَن جَماعَةً مِنْ اَهْلِ الحَدیثِ قَدْ رَوَوْا نَحوَهُ

 

“กลุ่มหนึ่งจากนักรายงานฮะดีษ (ของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์) ก็ได้รายงานมันไว้เหมือนกับที่ชีอะฮ์ได้รายงาน” (9)


แหล่งอ้างอิง


[1] ชัรห์-นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอะบิลฮะดีด เล่มที่2 หน้าที่ 60
[2] ตัลคีซ-อัชชาฟี, ซัยยิดมุรตะฎอ, เล่มที่ 3 หน้าที่ 76, อัตตัลคีซ, เคฏูซี

[3] อิษบาฏุลวะซียะฮ์, มัซอูดี (พิมพ์ที่กรุงเบรุต) หน้าที่ 153 (บางพิมพ์ หน้าที่ 23-24)

[4] อัลมิลัล วัลนิฮัล, อับดุลการีมชะฮ์ริซตานี, เล่มที่ 1 หน้าที่ 57

[5] อัลฟัรกุ บัยนัลฟิร็อก, อับดุลกอฮิรอัลอัซฟะรออินี, หน้าที่ 107

[6] อัลวาฟี บิลวะฟะยาต, อัซซ็อฟดีเล่มที่ 5 หน้าที่ 34, ซะฟีนะตุลบิฮาร,เชคอับบาซ กุมมี, เล่มที่ 2 หน้าที่ 292

[7] อัลอิมามะฮ์ วัลคิลาฟะฮ์, มะกอติลอิบนุอะฏียะฮ์, หน้าที่ 160-161

[8] ชัรห์-นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอะบิลฮะดีด, เล่มที่ 14 หน้าที่ 193

[9] ชัรห์-นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,อิบนุอะบิลฮะดีด, เล่มที่ 2 หน้าที่ 21


ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม