เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

5 คุณลักษณะอันพิเศษของท่านหญิงอุมมุลบะนีน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

5 คุณลักษณะอันพิเศษของท่านหญิงอุมมุลบะนีน

 

หนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือ การมีวิลายัตและการปกป้องบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ)


ท่านหญิงอุมมุลบะนีนนั้น มีนามว่า ฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮิซาม ซึ่งท่านหญิงนั้นก็ทราบดีว่า ในการปกป้องตำแหน่งอิมาม(อิมามัต) จำเป็นที่จะต้องเสียสละบุตรทั้งหลายของตน


ในตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้มีบรรดาสตรีที่ประเสริฐและมีความสูงส่งในหมู่สังคมของมนุษย์มาโดยตลอด ซึ่งในวิถีและการดำเนินชีวิตของพวกท่านเหล่านั้นถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับมนุษย์ทั้งหลาย และจะเห็นได้ว่าบทบาทของสตรีเหล่านั้น ไม่ว่าจะในความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือในความเป็นศรีภรรยาและการอบรมและเลี้ยงดูบุตร


ในระหว่างบรรดาสตรีเหล่านั้น มีมารดาท่านหนึ่งที่ได้อบรมและเลี้ยงดูบุตรทั้งสี่คนของนาง ถึงขนาดที่พวกเขาเหล่านั้นไปสู่ฐานะภาพแห่งการเป็นชะฮีดที่อยู่เคียงข้างวะลีของพระเจ้า(ตัวแทนของศาสดา)ได้(1)


บุคลิกภาพอันสูงส่งของมารดาทั้งสี่ชะฮีดในแนวทางแห่งอิสลาม


ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บินติ ฮิซาม หรือเป็นที่รู้จักกันว่า อุมมุลบะนีน ท่านนั้นเป็นบุคคลหนึ่งที่ฐานะภาพอันสูงส่งในหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลาม และยังเป็นหนึ่งในสตรีตัวอย่างอีกด้วย
ท่านหญิงนั้นเป็นหนึ่งในภรรยาของท่านอิมามอะลี ที่มีบุตรด้วยกันทั้งสี่คน คือ อะบุลฟัฎล์อัลอับบาส ,อับดุลเลาะฮ์,ญะอ์ฟัร,และอุษมาน ซึ่งทั้งหมดนั้นได้เสียสละตนเพื่อปกป้องในวิลายัต จนได้รับตำแหน่งในการเป็นชะฮีด


ท่านหญิงคือผู้ที่ได้ส่งบุตรทั้งหลายของท่านเพื่อไปต่อสู้กับความเท็จ ความอธรรมทั้งมวลโดยที่จะทำให้พวกเขานั้นได้เสียสละในการปกป้องวิลายัตและอิมามัต จนในที่สุดพวกเขาก็ได้รับสถานภาพอันสูงส่ง นั่นคือ การเป็นชะฮีด


เนื่องจากท่านหญิงนั้นมีบุตรชายทั้งหมด จึงถูกเรียกว่า อุมมุลบะนีน จึงหมายถึง มารดาของบุตรชายทั้งหลาย หลังจากเหตุการณ์ในอาชูรอ ท่านหญิงอุมมุลบะนีนได้แสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อการเป็นชะฮีดของอิมามฮูเซนและบุตรชายทั้งหมดของท่าน ซึ่งทำให้เหล่าศัตรูนั้นก็รู้สึกเสียใจไปด้วยกับท่าน


ร่างอันไร้วิญญาณของท่านหญิงได้ถูกนำไปฝังยังสุสานอัลบะเกียะอ์ ณ เมืองมะดีนะฮ์

 

5 คุณลักษณะอันพิเศษของท่านหญิงอุมมุลบะนีน

 

1.การรู้จักถึงสิทธิของอะฮ์ลุลบัยต์ การดำรงอยู่ในการมีวิลายัตและการมอบความรักต่ออิมาม

 

หนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญอันทรงคุณค่าของท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือ การดำรงไว้ซึ่งการมีวิลายัตและการปกปักรักษาสิทธิแห่งอะฮ์ลุลบัยต์(อ)


มารดาของทุกคนนั้นตระหนักดีว่า บุตรของตนคือผู้ที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตของนาง ฉะนั้นด้วยเหตุนี้เอง นางจึงพยายามที่จะอบรมและเลี้ยงดูพวกเขาเป็นอย่างดี แต่ทว่า มารดาแห่งอัลกุรอาน ดั่งเช่น ท่านหญิงอุมมุลบะนีน ได้ยึดถือเอาโองการอัลกุรอาน โองการนี้มาเป็นบรรทัดฐานในการต่อสู้ระหว่างสัจธรรมกับความเท็จ


وَ ما كانَ لِمُؤْمِنٍ وَ لا مُؤْمِنَةٍ إِذا قَضَى اللَّهُ وَ رَسُولُهُ أَمْراً أَنْ یَكُونَ لَهُمُ الْخِیَرَةُ مِنْ أَمْرِهِم
 

“และไม่มีบุรุษผู้ศรัทธาและสตรีผู้ศรัทธาคนใดที่จะมีสิทธิ์ ครั้นเมื่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ได้สั่งให้กระทำกิจการงานใดสำหรับพวกเขาแล้วก็จะไม่มีทางเลือกใดๆทั้งสิ้น”(2)


ในการปกปักรักษาสิทธิของอะฮ์ลุลบัยต์และการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า  แม้แต่ สิ่งที่มีเกียรติที่สุดของพวกเขาก็สามารถที่จะเสียสละให้ได้


เมื่อท่านหญิงอุมมุลบะนีนได้ยินข่าวคราวการเป็นชะฮีดของบุตรทั้งสี่และอิมามฮูเซน ได้กล่าวว่า “ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกๆของฉันและทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในพิภพนี้ จะเสียสละเพื่อฮูเซนและทำให้เขานั้นมีชีวิตกลับมาอีกครั้ง”


มีรายงานเกี่ยวกับคุณลักษณ์อันทรงคุณค่านี้ของท่านหญิงอุมมุลบะนีนว่า


เวลาที่ท่านหญิงได้ยินข่าวการเป็นชะฮีดของบุตรชายทั้งสี่คนของท่านและอิมามฮูเซน ได้กล่าวว่า “ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกๆของฉันและทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในพิภพนี้ จะเสียสละเพื่อฮูเซนและทำให้เขานั้นมีชีวิตกลับมาอีกครั้ง”


 คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงความรักที่ท่านหญิงนั้นมีต่ออะฮ์ลุลบัยต์และอิมามฮูเซน (อ)(3) ซึ่งความรักของท่านหญิงที่มีต่อวงศ์วานแห่งความบริสุทธิ์ของอะฮ์ลุลบัยต์นั้น ทำให้บรรดานักค้นคว้าและนักวิชาการอิสลามศึกษา(4)


 ดั่งเช่น นักวิชาการทางด้านริญาล(ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสืบค้นประวัติผู้รายงานวจนะ)อยาตุลเลาะฮ์ มามะกอนี ได้เขียนเกี่ยวกับการมีวิลายัตของท่านหญิงอุมมุลบะนีนว่า


فَاِنّ علَقَتها بالحسین (ع) لیس اِلاّ لاِمامته
 

ดังนั้น แท้จริงความรักของท่านหญิงที่มีอิมามฮูเซน ไม่ใช่เพราะสิ่งใด เว้นแต่ฐานะภาพการเป็นอิมามของเขา(อ)เท่านั้น(5)

 

2.ความกล้าหาญของท่านหญิงอุมมุลบะนีน


มารดาผู้นี้คือผู้ที่มีวิลายัตในการเผชิญหน้ากับมนุษย์ที่ไร้ความปราณีและชั่วร้ายที่สุดได้ทำให้ประจักษ์ชัดว่า นางนั้นมีความกล้าหาญอย่างมากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสตรีเฉกเช่นนี้น้อยมาก โดยที่ท่านหญิงอุมมุลบะนีนนั้นไม่เคยหวาดกลัวต่อการเผชิญหน้ากับศัตรูของอะฮ์ลุลบัยต์ เพราะว่าท่านหญิงได้ถือกำเนิดมาจากเผ่าพันธ์ที่มีความกล้าหาญมากที่สุดในหมู่ชาวอาหรับ นั่นคือ เผ่าพันธ์บะนีกิลาบ ฉะนั้นด้วยเหตุนี้เอง ท่านอิมามอะลี (อ) จึงได้สั่งกับอะกีล ผู้เป็นน้องชายว่า


اُنْظُرْ لِى اِمْرَأَةً قَدْ وَلَدَتْها الْفُحُولَةُ مِنَ الْعَرَبِ لِاَتَزَوَّجَها فَتَلِدَ لِى غُلاماً فارِساً
 

“ท่านจงมองสตรีผู้หนึ่งที่มีความกล้าหาญจากเผ่าพันธ์อาหรับเพื่อที่ฉันจะได้แต่งงานกับนางและมีบุตรชายที่มีความกล้าหาญชาญชัยให้กับฉัน”(6)


ขณะที่มีการแจ้งข่าวการเป็นชะฮีดของท่านอะบุลฟัฎล์ อายุ 34 ปี ,อับดุลเลาะฮ์  24 ปี  อุษมาน 21 ปี และญะอ์ฟัร 19 ปี ให้กับมารดาของพวกเขา แต่นางก็มีความอดทนเพียงแต่ถามถึงอิมามของตนเท่านั้น


3. การมีบะศีเราะฮ์ และความเข้าใจอย่างถ่องแท้


มารดาทั้งหลายนั้นคือ ท้องทะเลแห่งความรักและหนึ่งในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าก็อยู่ในหัวใจของพวกท่าน โดยพวกท่านนั้น แม้แต่ความเสียใจเล็กๆน้อยๆก็จะไม่ให้เกิดขึ้นกับบุตรของตนเองเป็นอันขาด แต่ทว่าท่านหญิงอุมมุลบะนีนนั้นทราบดีว่า การปกป้องตำแหน่งอิมาม(อิมามัต) จะต้องมีการเสียสละบุตรทั้งหลายของตน เพื่อที่จะไม่ทำให้เกิดความยากลำบากใดๆกับบุตรแห่งศาสดาได้  ขณะที่ท่านหญิงได้ยินข่าวคราวในการเป็นชะฮีดของบุตรชายทั้งสี่ ท่านหญิงกับถามถึงเรื่องอื่น


เวลาที่บะชีร ได้แจ้งข่าวในการเป็นชะฮีดของบุตรชายทั้งสี่ของท่านหญิง ท่านหญิงได้กล่าวว่า


قَطَّعْتَ نِیاطَ قَلْبِى، اَخْبِرْنِى عَنْ اَبِى عَبْدِ اللَّه‏ علیه‏السلام اَوْلادِى وَمَنْ تَحْتَ الْخَضْراءِ كُلُّهُمْ فَداءً لِاَبِى عَبْدِ اللَّهِ الْحُسَین‏ علیها السلام
 

โอ้บะชีรเอ๋ย!ด้วยกับข่าวนี้ ท่านได้ทำให้หัวใจของฉันนั้นแตกสลาย จงบอกฉันซิว่า อะบีอับดิลลาฮ์ (เป็นอย่างไรบ้าง) ขอให้ลูกๆของฉันและทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้ท้องนภานี้ พึงเสียสละให้แด่อะบาอับดิลลาฮ์ อัลฮูเซนด้วยเถิด” (7)


คำพูดนี้แสดงให้เห็นถึงการมีอีหม่าน ศรัทธาอันแรงกล้าและปริมาณในการปฏิบัติตามอิมามฮูเซน(อ) และเช่นเดียวกัน คำกล่าวหนึ่งของท่านหญิงอุมมุลบะนีนที่กล่าวว่า “หากมาตรว่า ฮูเซนนั้นมีชีวิต การถูกสังหารของบุตรทั้งสี่ของฉันนั้นก็ไม่สำคัญนัก” จากคำพูดนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการมีบะศีเราะฮ์ของท่านหญิงอุมมุลบะนีนอย่างแท้จริง

 

4.การพิชิตเหนือความกล้าหาญอันสูงสุด


ในระหว่างบรรดามารดาของชะฮีดทั้งหลายนั้นมีน้อยคนมากที่แม้แต่จะเสียสละบุตรชายเพียงคนเดียวของพวกนาง แต่นี่เป็นการเสียสละถึง4 คนของบุตรชาย ผู้เป็นสุดที่รักยิ่งในแนวทางของอิสลาม และการปกป้องอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าการสูญเสียบุตรทั้งสี่ หรือแม้เพียงคนเดียวนั้นจะสร้างความเสียใจและความโศกเศร้ามากเพียงใดให้กับผู้เป็นมารดา แต่ทว่าท่านหญิงอุมมุลบะนีน คือ มารดาของท่านกอมัร บะนีฮาชิม(จันทราแห่งตระกูลฮาชิม) ได้แสดงให้เห็นว่า ท่านนั้นเป็นมารดาของอับบาสอย่างแท้จริง เพราะว่า ความอดทนอันสูงสุดและการยืนหยัดอย่างมั่นคงของท่านนั่นเอง


จากคำพูดที่เป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์แสดงถึงความอดทนอย่างที่สุดของมารดาผู้นี้ในการสูญเสียบุตรทั้งหมดของนาง


ในเวลาที่มีการแจ้งข่าวของการเป็นชะฮีดของท่านอะบุลฟัฎล์ อายุ 34 ปี ,อับดุลเลาะฮ์  24 ปี  อุษมาน 21 ปี และญะอ์ฟัร 19 ปี ให้กับท่านหญิง แต่ท่านหญิงนั้นก็มีความอดทนเพียงแต่ถามถึงอิมามของตนเท่านั้น(9)

 

5.มารดาแห่งบรรดาชะฮีด


หนึ่งในคุณลักษณะอันพิเศษของท่านหญิงอุมมุลบะนีนก็คือ บทบาทในความเป็นมารดาของท่าน ท่านนั้นเป็นมารดาที่มีความสามารถในการอบรมและเลี้ยงดูบุตรที่มีจรรยามารยาทที่สมบูรณ์อย่างถูกต้อง โดยท่านหญิงนั้นได้อบรมสอนสั่งให้พวกเขามีความรักต่อบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ จนในที่สุด บุตรชายทั้งสี่ของท่านก็ได้รับตำแหน่งในการเป็นชะฮีดด้วยกับการพิทักษ์นายและอิมามของพวกเขา

 

แหล่งอ้างอิง


1.อิสฟาฮานี,มะกาติลุฏฏอลิบีน หน้าที่ 82-84


2.อัลกุรอาน บทอัลอะฮ์ซาบ โองการที่ 36


3.ฮัซซูน,อะลามุนนิซาอ์ หน้าที่ 496-497 , มะฮัลลาตี,ริยาฮีนุชชีรีอะฮ์ เล่ม 3 หน้าที่293


4.ร็อบบานี คัลคอลี,ท่านหญิงอุมมุลบะนี ดวงดาวอันเจิดจรัสแห่งมะดีนะฮ์,หน้าที่ 7


5.อัลลามะฮ์มามะกอนี ,ตันกีฮุลมะก็อล,เล่ม 3 หน้าที่ 70


6.กอมัร บะนีฮาชิม,อับดุรร็อซซาก อัลมุกริม ,หน้าที่ 15


7.อัลลามะฮ์มามะกอนี ,ตันกีฮุลมะก็อล ,เล่ม 2 หน้าที่ 128


8.เล่มเดิม หน้าที่ 128


9.กอมัร บะนีฮาชิม,อับดุรร็อซซาก อัลมุกริม ,หน้าที่ 19


ที่มา ติบยาน
แปลและเรียบเรียง: เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม