ปรัชญาธรรมเทศนาของนมาซวันศุกร์ ในทัศนะของอิมามริฎอ (อ.)

    ปรัชญาธรรมเทศนาของนมาซวันศุกร์ ในทัศนะของอิมามริฎอ (อ.)

 

ส่วนที่สำคัญที่สุดของนมาซวันศุกร์ซึ่งเป็นเหตุผลหลักสำหรับการเข้าร่วมและการมารวมตัวกันของชาวมุสลิมในการนมาซที่ยิ่งใหญ่นี้ ก็คือ คุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ของนมาซวันศุกร์ ซึ่งในคุฏบะฮ์นั้นจะมีการพูดถึงเนื้อหาต่างๆ ที่สำคัญทางด้านการเมืองและการอิบาดะฮ์ โดยที่สิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ให้แก่ชาวมุสลิม...

 

    “ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้ชี้ถึงส่วนหนึ่งจากปรัชญาและวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของนมาซวันศุกร์ไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง”

 

     นมาซวันศุกร์ คือ แบบฉบับที่ถูกเน้นย้ำ (ซุนนะฮ์ มุอักกัด) ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ ) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และท่านเหล่านั้นได้กำชับสั่งเสียอย่างมากมายต่อชาวชีอะฮ์ในการให้ความสำคัญและให้เกียรติต่อการดำรงนมาซนี้  ถึงขั้นที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกำหนดบทหนึ่งไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเป็นการเฉพาะด้วยชื่อ “บท อัลญุมุอะฮ์” และในเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทนี้ พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

 

یَا أَیُّهَا الَّذِینَ آمَنُوا إِذَا نُودِیَ لِلصَّلاةِ مِنْ یَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِکْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَیْعَ ذَلِکُمْ خَیْرٌ لَکُمْ إِنْ کُنْتُمْ تَعْلَمُونَ

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อพวกเจ้าได้ถูกร้องเรียกไปสู่การนมาซในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบรุดไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงละทิ้งการค้าขาย นั่นย่อมเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (1)

 

    ส่วนที่สำคัญที่สุดของนมาซวันศุกร์ซึ่งเป็นเหตุผลหลักสำหรับการเข้าร่วมและการมารวมตัวกันของชาวมุสลิมในการนมาซที่ยิ่งใหญ่นี้ ก็คือ คุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ของนมาซวันศุกร์ ซึ่งในคุฏบะฮ์นั้นจะมีการพูดถึงเนื้อหาต่างๆ ที่สำคัญทางด้านการเมืองและการอิบาดะฮ์ โดยที่สิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) ให้แก่ชาวมุสลิมและจะช่วยเพิ่มพูนความจำเป็นในการให้ความสำคัญต่อการนมาซนี้ ด้วยเหตุนี้เองเราจะเห็นได้ว่าศาสนาอิสลาม คือศาสนาที่ครอบคลุมอย่างสมบูรณ์และให้ความสำคัญต่อทุกด้านของการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม

 

      ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่น่าทึ่งบทหนึ่ง ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับบางส่วนของปรัชญา (ฮิกมะฮ์) ของคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนาของนมาซวันศุกร์ว่า :

 

إنما جُعلت الخطبة یوم الجمعة لأنّ الجمعة مشهد عامٍ فأراد أن یکونَ للأمیر سببٌ إلى موعظتِهم وترغیبِهم فی الطاعة وترهیبِهم مِن المعصیة و توقیفِهم على ما أراد مِن مصلحة دینِهم و دنیاهم و یخبرهم بما ورد علیهم من الآفات و من الأهوال التی لهم فیها المضرة و المنفعة

 

    อันที่จริงคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ได้ถูกกำหนดไว้ในวันศุกร์เนื่องจาก :

 

1.นมาซวันศุกร์คือสถานที่ชุมนุมของสาธารณชน

 

2.พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้เป็นสื่อกลางสำหรับผู้ปกครองอิสลามในการที่จะ :

 

ก).ให้คำแนะนำตักเตือนพวกเขา

 

ข).ส่งเสริมพวกเขาสู่การเชื่อฟังและปฏิบัติตาม

 

ค).สำทับพวกเขาจากการละเมิดฝ่าฝืน

 

ง).ช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จตามที่พระองค์ทรงประสงค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อศาสนาของพวกเขาและโลกนี้ของพวกเขา

 

จ).และบอกกล่าวให้พวกเขาได้รู้ถึงสิ่งที่เป็นภัยร้ายที่จะมาประสบกับพวกเขาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะมีโทษและคุณสำหรับพวกเขา” (2)

 

เชิงอรรถ :

 

1).อัลกุรอานบทอัลญุมุอะฮ์ โองการที่ 9

 

2).วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่มที่5, หน้าที่ 40

 

เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ