เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บุคคลที่จะถูกเลือกเป็นผู้ช่วยเหลือ อิมามมะฮ์ดี (อ.) ในยุคสุดท้าย

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


บุคคลที่จะถูกเลือกเป็นผู้ช่วยเหลือ อิมามมะฮ์ดี (อ.) ในยุคสุดท้าย

 

    การทดสอบและการคัดกรองผู้ช่วยเหลืออิมามมะฮ์ดี (อ.) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) นั้น จะไม่จบลงแค่ในช่วงเวลาก่อนการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เพียงเท่านั้น ทว่าแม้หลังจากการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม (อ.ญ.) แล้ว บรรดาผู้ที่กล่าวอ้างตนและปรารถนาจะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านก็จะยังจะต้องถูกทดสอบอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกัน  

 

     บนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น หลังจากการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม (อ.ญ.) บางส่วนจากบรรดาผู้รอคอยจะหันเข้าไปอยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ที่ต่อต้านและกลายเป็นศัตรูกับท่านเนื่องจากผลประโยชน์ต่างๆ ทางด้านวัตถุของตน

 

     ท่ามกลางหนังสือริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายที่รวบรวมคำรายงานฮะดีษต่างๆ เกี่ยวกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ไว้นั้น จะพบเห็นคำรายงานจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับการคัดเลือกบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) บนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) เหล่านี้ พวกเขาจะถูกทดสอบด้วยกับลำธารน้ำ เมื่อพิจารณาถึงริวายะฮ์ (คำรายงาน) นี้ จะเห็นได้ว่าบรรดาผู้ช่วยเหลือกลุ่มหนึ่งของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่สามารถอดทนต่อความทุกข์ยากและความยากลำบากต่างๆ ในการร่วมทางกับท่าน ทำให้พวกเขาแยกตัวออกจากอิมาม (ผู้นำ) หนึ่งในแนวทางของการทดสอบและการคัดกรองนั้น คือการห้ามบางสิ่งบางอย่างเป็นการชั่วคราว ความรักในความสะดวกสบายและการไร้ความอดทนอดกลั้นต่อการกดดันและความยากลำบากชั่วครั้งชั่วคราวนั้นไม่อาจเข้ากันได้กับลักษณะของความองอาจกล้าหาญ (1)

 

     บนพื้นฐานของโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น บรรดาผู้ช่วยเหลือของฏอลูต (ซาอูล) ก่อนที่จะทำการต่อสู้กับศัตรูนั้นพวกเขาได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ของการทดสอบและการคัดกรอง และเฉพาะผู้ที่ผ่านการทดสอบในขั้นตอนต่างๆ ไปได้ด้วยความภาคภูมิใจเท่านั้นที่สามารถคงอยู่เคียงข้างผู้นำของพวกเขาได้จนถึงบั้นปลายสุดท้าย หนึ่งในขั้นตอนเหล่านี้คือการอดทนอดกลั้นต่อความหิวกระหายและการไม่ดื่มกินจากน้ำในลำธาร ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ บรรดาสาวกผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็จะถูกทดสอบด้วยความหิวกระหายเช่นเดียวกับบรรดาผู้ช่วยเหลือของฏอลูต

 

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 

 إنّ أصحاب طالوت ابتلوا بالنهر الذي قال الله تعالى :  ﴿إِنَّ اللَّهَ مُبْتَلِيكُمْ بِنَهَر﴾ ، وإنّ أصحاب القائم (ع) يبتلون بمثل ذلك

 

“แท้จริงบรรดาสาวกของฏอลูตได้ถูกทดสอบด้วยแม่น้ำที่อัลลอฮ์ผู้ทรงสุงส่งได้ทรงตรัสว่า : แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงทดสอบพวกท่านด้วยแม่น้ำสายหนึ่ง (2) และแท้จริงบรรดาสาวกของกออิม (อ.) ก็จะถูกทดสอบเช่นเดียวกันนั้น” (3)

 

     เรื่องราวของบรรดาผู้ช่วยเหลือฏอลูต (ซาอูล) ภายหลังจากการจากไปของท่านศาสดามูซา (อ.) ได้มีผู้อธรรมผู้หนึ่งปรากฏขึ้นในสังคม เขาได้ทำการกดขี่ประชาชน ทำให้ผู้คนต้องพลัดพรากออกจากบ้านเรือน จากแผ่นดินและลูกๆ ของพวกเขา ประชาชนผู้ถูกกดขี่ไม่อาจอดทนอดกลั้นต่อไปได้จึงไปพบศาสดา (นบีซำวีล แห่งบนีอิสรออีล) ของพวกเขา และขอให้ท่านคัดเลือกกษัตริย์ (ผู้บัญชาการกองทัพ) คนหนึ่งให้แก่พวกเขาเพื่อที่จะยืนหยัดต่อสู้กับผู้กดขี่ผู้นี้ (ญาลูต หรือ โกลิอัท) ศาสดาของพวกเขากล่าวว่า “พวกท่านไม่คิดหรือว่าหากการต่อสู้ (ญิฮาด) ได้ถูกกำหนดแก่พวกท่านแล้ว พวกท่านอาจจะไม่ทำการต่อสู้ (ญิฮาด)” พวกเขากล่าวว่า “ทำไมเล่าที่พวกเราจะไม่ต่อสู้ในทางของพระเจ้า พวกเราจะไม่เป็นเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด”

 

     แต่ทันทีที่พวกเขาได้ถูกบัญชาให้ทำสงคราม พวกเขากลับปฏิเสธ นอกจากจำนวนเพียงเล็กน้อยจากพวกเขาเท่านั้น (นี่คือตัวอย่างหนึ่ง) ในการทดสอบทางอุดมการณ์และความเชื่อนี้คนส่วนใหญ่สอบไม่ผ่าน แม้คนส่วนน้อยที่ยอมรับการต่อสู้ (ญิฮาด) แต่ก็ลังเลสงสัยในความเป็นผู้นำของผู้นำของตน กล่าวคือทันทีที่ศาสดาของพวกเขาได้รับบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ให้แต่งตั้งบุคคลผู้มีความเหมาะสม (คือฏอลูต) ให้เป็นกษัตริย์และผู้บัญชาการกองทัพ พวกเขากล่าวว่า “เนื่องจากพวกเรามีทรัพย์สมบัติมากกว่า ดังนั้นพวกเรามีความคู่ควรเหมาะสมมากกว่าเขาต่อการเป็นกษัตริย์และผู้บัญชาการกองทัพ”

 

    คนกลุ่มหนึ่งแม้จะได้เห็นถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ของความสามารถและพลังอำนาจของฏอลูต แต่ก็ดื้อดึงและไม่ยอมเชื่อฟัง และนี่ก็เป็นตัวอย่างประการที่สองของการถูกทดสอบ คนอีกกลุ่มหนึ่งตามรูปการแล้วเป็นผู้จงรักภักดี พวกเขาได้เดินทางมุ่งสู่สนามรบ แต่เมื่อถูกทดสอบด้วยความกระหายและการได้ดื่มน้ำจากแม่น้ำ พวกเขาก็ไม่อาจอดทนได้ และได้ละเมิดคำสั่งของผู้นำของตน

 

    คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

 فَلَمَّا فَصَلَ طَالُوتُ بِالْجُنُودِ قَالَ إِنَّ اللَّهَ مُبْتَلِيكُم بِنَهَرٍ فَمَن شَرِبَ مِنْهُ فَلَيْسَ مِنِّي وَمَن لَّمْ يَطْعَمْهُ فَإِنَّهُ مِنِّي إِلَّا مَنِ اغْتَرَفَ غُرْفَةً بِيَدِهِ فَشَرِبُوا مِنْهُ إِلَّا قَلِيلًا مِّنْهُمْ

 

“ครั้นเมื่อฎอลูตได้นำกำลังทหารออกไป เขาได้กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงทดสอบพวกท่าน ด้วยแม่น้ำสายหนึ่ง ผู้ใดดื่มน้ำจากแม่น้ำนั้น เขาก็จะไม่ใช่พวกของฉัน และผู้ใดไม่ดื่มกินมัน แท้จริงเขาเป็นพวกของฉัน นอกจากผู้วักน้ำด้วยมือของเขาอุ้งมือหนึ่งเท่านั้น แต่แล้วพวกเขาก็ดื่มน้ำกันจากแม่น้ำนั้น นอกจากส่วนน้อยในหมู่พวกเขาเท่านั้น” (4)

 

     นี่คือการทดสอบขั้นที่สาม และในการทดสอบนี้คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่ผ่านการทดสอบ กลุ่มคนที่ได้ผ่านการทดสอบทั้งสามขั้นตอนนี้ไปแล้ว แต่เมื่อเขาได้มาเผชิญหน้ากับฝ่ายศัตรู พวกเขากลับกล่าวว่า :

 

 لَا طَاقَةَ لَنَا الْیَوْمَ بِجَالُوتَ وَ جُنُودِهِ

 

“วันนี้พวกเราไม่มีกำลังใดๆ จะต่อสู้กับญาลูตและไพร่พลของเขาได้” (5)

 

     และในท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ และเป็นผู้ศรัทธามั่นอย่างแท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น พวกเขากล่าวว่า :

 

 كَم مِّن فِئَةٍ قَلِیلَةٍ غَلَبَتْ فِئَةً كَثِیرَةَ بِإِذْنِ اللَّهِ

 

เท่าใดแล้ว ที่กลุ่มคนจำนวนน้อยเอาชนะกลุ่มคนจำนวนมากได้ ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงอยู่กับผู้อดทนทั้งหลาย” (6)

 

    (7) ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า “บรรดาบุคคลที่ยังคงจงรักภักดีต่อฎอลูตจนถึงบั้นปลายสุดท้ายนั้น มีจำนวน 313 คน” (8)

 

     บรรดาสหายผู้ช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) จำเป็นที่ผู้นำจะต้องคัดแยกบุคคลที่อ่อนแอ รักความสุขสบายและยึดติดอยู่กับชีวิตทางวัตถุออกจากกลุ่ม ดังนั้นก่อนที่จะเผชิญหน้าและทำการต่อสู้กับศัตรูจำเป็นจะต้องฝึกการยืนหยัดและความอดทน ด้วยเหตุนี้เองกองกำลังของฏอลูตจึงถูกทดสอบด้วยกับแม่น้ำสายหนึ่ง และบรรดาสาวกผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็จะต้องเผชิญกับการทดสอบในลักษณะเดียวกันเช่นกัน ลักษณะเฉพาะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) เกี่ยวกับบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้นก็ยืนยันถึงประเด็นนี้เช่นกัน

 

     บนพื้นฐานของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ บุคคลเหล่านี้จะไม่มีความเกียจคร้าน ความอ่อนและการรักความสะดวกสบาย ดังเช่นคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวว่า :

 

 رِجَالٌ کَأَنَّ قُلُوبَهُمْ زُبَرُ الْحَدِیدِ لَا یَشُوبُهَا شَکٌّ فِی ذَاتِ اللَّهِ أَشَدُّ مِنَ الْحَجَرِ لَوْ حَمَلُوا عَلَى الْجِبَالِ لَأَزَالُوهَا لَا یَقْصِدُونَ بِرَایَاتِهِمْ بَلْدَةً إِلَّا خَرَّبُوهَا

 

“เหล่าบุรุษผู้ซึ่งหัวใจของพวกเขาประดุจดั่งชิ้นส่วนของเหล็ก ความคลางแคลงสงสัยในอัลลอฮ์จะไม่เข้ามาปะปนมัน มีความแข็งแกร่งยิ่งกว่าหินผา หากพวกเขาโจมตีไปยังภูเขา พวกเขาจะทำให้ภูเขานั้นแตกสบายอย่างแน่นอน พวกเขาจะไม่มุ่งไปสู่เมืองใดพร้อมกับธงรบของพวกเขา นอกจากจะบดขยี้เมืองนั้น”

 

 فِیهِمْ رِجَالٌ لَا یَنَامُونَ اللَّیْلَ لَهُمْ دَوِیٌّ فِی صَلَاتِهِمْ کَدَوِیِّ النَّحْلِ یَبِیتُونَ قِیَاماً عَلَی أَطْرَافِهِمْ وَ یُصْبِحُونَ عَلَی خُیُولِهِمْ رُهْبَانٌ بِاللَّیْلِ لُیُوثٌ بِالنَّهَار .

 

“ในหมู่พวกเขามีเหล่าบุรุษที่จะไม่นอนในยามค่ำคืน เสียงคร่ำครวญในการอิบาดะฮ์ของพวกเขาประหนึ่งดั่งเสียงอื้ออึงของผึ้ง พวกเขาจะใช้เวลาในยามค่ำคืนในการทำอิบาดะฮ์ ตื่นเช้าขึ้นมาก็อยู่บนหลังม้าศึกของพวกเขา เป็นผู้ปลีกวิเวกในยามค่ำคืน เป็นราชสีห์ในยามกลางวัน” (9)

 

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาผู้ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้เพียงเท่านั้น ที่จะผ่านขั้นตอนต่างๆ ของการทดสอบที่หนักหน่วงทั้งก่อนและหลังการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ไปได้อย่างภาคภูมิ พวกเขาคือผู้เป็นตำนานของการยืนหยัดและความอดทน

 

แม่น้ำกับการทดสอบความอดทนและการยืนหยัด

 

     บรรดาผู้ช่วยเหลือของฏอลูตได้เผชิญกับสภาพเงื่อนไขต่างๆ ที่แม้จะมีแม่น้ำอยู่เบื้องหน้าเพื่อที่จะดับความหิวกระหาย แต่ก็ต้องละตนจากสิ่งดังกล่าว บรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็จะต้องเผชิญกับสภาพที่คล้ายกันนี้ ดังนั้นเฉพาะบรรดาผู้ที่ผ่านการทดสอบและความทุกข์ยากต่างเหล่านี้ได้เพียงเท่านั้นที่พวกเขาจะพิชิตเหนือความรักในความสะดวกสบายและความอ่อนแอเมื่อมีคำบัญชาจากท่านอิมาม (อ.ญ.) และพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับสภาวะแห่งความทุกข์ยากลำบากในทุกรูปแบบ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถือว่า ความลุ่มหลง การยึดติดกับวัตถุและความรักในความสุขสบาย และอื่นๆ ในลักษณะเช่นนี้คือบ่อเกิดของความผิดพลาดและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า (10)

 

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเช่นกันว่า :

 

 تفسير العبودية بذل الكلية وسبب ذلك منع النفس عما تهوى وحملها على ما تكره، ومفتاح ذلك ترك الراحة وحب العزلة

 

“คำอธิบายคำว่า “การยอมตนเป็นบ่าว” นั้น คือการสละ (และการข้ามผ่าน) การยึดติดทั้งมวล (และการมอบมันในหนทางของพระผูเป็นเจ้า) และสื่อที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ คือการหักห้ามจิตใจ (ของตนเอง) จากสิ่งที่มันปรารถนา และการบังคับมันในสิ่งที่มันรังเกียจ และกุญแจของสิ่งดังกล่าว คือการละทิ้งความรักในความสุขสบายและ (การสร้างความคุ้นเคยและ) ความรักในการถือสันโดษ (และการออกห่างจากการใช้ชีวิตที่ยึดติดกับวัตถุและอารมณ์ใคร่)” (11)

 

     เนื่องจากคุณลักษณะนี้นี่เอง ทุกครั้งที่มีผู้เสนอแนะให้บรรดาอิมาม (อ.) ยืนหยัดขึ้นทำการต่อสู้ ท่านเหล่านั้นจะให้เหตุผลการไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวว่า เนื่องจากขาดบรรดาผู้ให้การช่วยเหลือที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ และท่านเหล่านั้นถือว่าบรรดาชีอะฮ์ที่ยอมจำนนต่อคำสั่งจากผู้นำของตนเองโดยดุษณี และข้ามผ่านความอ่อนแอ ความเกียจคร้านและความรักในความสุขสบายนั้นมีน้อยมาก

 

     ซะฮัล บินฮะซัน คูรอซานี ได้มาพบท่านอิมามซอดิก (อ.) และกล่าวกับท่านว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ พวกท่านมีความกรุณาและความเมตตาและพวกท่านก็เป็นอิมาม สิ่งใดหรือที่ยับยั้งท่านไม่ให้ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของท่าน ในขณะที่ท่านก็มีชีอะฮ์นับแสนคนที่จะทำการต่อสู้ร่วมกับท่าน ...” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “เจ้าจงไปนั่งในเตาไฟเถิด” ซะฮัลได้เริ่มร้องขอต่อท่านอิมาม (อ.) “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! อย่าได้ลงโทษข้าพเจ้าด้วยไฟเลย ได้โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าเถิด...” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ฉันอภัยให้แก่เจ้า”

 

    ในช่วงเวลานั้นเอง ฮารูน มักกี ได้เข้ามา ในสภาพที่มือถือรองเท้า และกล่าวว่า “ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์!” ท่านอิมามกล่าวกับเขาว่า “จงวางรองเท้าของเจ้า แล้วจงเข้าไปนั่งในเตาไฟเถิด” เขาจึงได้วางรองเท้าลงและเข้าไปนั่งในเตาไฟ แล้วท่านอิมาม (อ.) ก็ได้หันมาพูดคุยกับซะฮัลเกี่ยวกับเรื่องราวของคูราซาน จากนั้นท่านกล่าว “โอ้ชาวคุราซานเอ๋ย! จงลุกไปดูเถิดว่าในเตาไฟมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” เขาได้ลุกไปยังเตาไฟ และเห็นฮารูน มักกี นั่งขัดสมาธิอยู่ในเตาอบ อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ในคุราซานมีแบบนี้กี่คน” เขากล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ไม่มีแม้แต่คนเดียว” ท่านอิมามกล่าวว่า “(ใช่แล้ว) ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! ไม่มีแม้แต่คนเดียว” ต่อจากนั้นท่านกล่าวว่า

:

 أَمَا إِنَّا لَا نَخْرُجُ فِي زَمَانٍ لَا نَجِدُ فِيهِ خَمْسَةً مُعَاضِدِينَ لَنَا نَحْنُ أَعْلَمُ بِالْوَقْتِ

 

“พึงรู้เถิดว่า เราจะไม่ยืนหยัดขึ้นต่อสู้ตราบชั่วเวลาที่เรายังไม่พบเห็นห้าคนที่จะให้การช่วยเหลือแก่เรา เราย่อมรู้ดีที่สุดถึงช่วงเวลา (ที่เหมาะสมสำหรับการยืนหยัดต่อสู้)” (11)

 

    ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะทำให้ชาวชีอะฮ์หันหลังให้กับความลุ่มหลงวัตถุ (ดุนยา) และความสะดวกสบายชั่วครู่ชั่วยามของพวกเขา และได้เป็นส่วนหนึ่งของบรรดาสาวกผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้นั่นก็คือ ความศรัทธา (อีหม่าน) ที่บริสุทธิ์และจริงใจ ซึ่งผลของมันคือการยอมจำนนโดยดุษณีต่อคำสั่งต่างๆ ของอิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขา

 

เชิงอรรถ :

 

(1) พัรตูอี อาซ ออเยะฮ์ฮอเย่ มะฮ์ดะวี, มุห์ซิน กิรออะตี, หน้าที่ 66

(2) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 249

(3) อัลฆ็อยบะฮ์, อัลนุอ์มานี, หน้าที่ 316 ; อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 472 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 332

(4) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 249

(5) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 249

(6) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 249

(7) ญะฮัต นะมอ (สี่สิบคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี), มุห์ซิน กิรออะตี, หน้าที่ 35 และ 36

(8) นูรุษษะกอลัยน์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 251

(9) มะฮ์ดี เมาอูด (แปล บิฮารุลอันวาร), หน้าที่ 1100

(10) อัลกาฟี , เชคกุลัยนี , เล่มที่ 2, หน้าที่ 289

(11) มิศบาฮุชชะรีอะฮ์ , แปลโดยมุศฏอฟะวี , หน้าที่ 454

(12) มะนากิบ อาลิอบีฏอลิบ, อิบนุชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 237 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 47, หน้าที่ 123

 

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม