เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 4

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 4

 

ส่วนในหัวข้อเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ บรรดานักการศาสนาของพวกท่าน ก็มิได้นำพามาปฏิบัติอีกด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่มีรายงานถูกบันทึกไว้ พร้อมกับการยืนยันอย่างชัดเจนอย่างนั้นแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะพวกเขาตีความเรื่องนั้นให้เป็นอื่น  ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ

 

เช่น นักปราชญ์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า บทรายงานที่ระบุอย่างชัดเจนในการทำสองนมาซรวมกันนี้ อาจเป็นไปได้ว่า มีจุดมุ่งหมายให้ทำนมาซรวมในยามมีอุปสรรคเท่านั้น เช่น ในเวลามีเหตุน่ากลัว มีฝน มีเหตุทำให้ดินแฉะ และเป็นโคลน การตีความในลักษณะที่ขัดแย้งกับความหมายอันชัดเจนของบทรายงาน ได้เป็นคำวินิจฉัยของบรรดาผู้อาวุโสในหมู่นักปราชญ์ชั้นนำของพวกท่าน เช่น อิมามมาลิก อิมามชาฟิอีย์ และนักการศาสนาในมะดีนะฮ์บางท่าน ดังที่พวกเขากล่าวว่า ไม่อนุญาตให้ทำสองนมาซรวมในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากในยามมีอุปสรรคและมีฝนเท่านั้น

 

ทั้งที่การตีความเช่นนี้ถูกหักล้างอย่างสิ้นเชิงโดยบทรายงานอันชัดเจนของท่านอิบนุอับบาสที่กล่าวว่าท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้รวมนมาซซุฮ์ริและอัศริในเวลาเดียวกันและรวมนมาซมัฆริบและนมาซอิชาอ์ในเวลาเดียวกันที่เมืองมะดีนะฮ์โดยปราศจากเหตุที่น่ากลัวและไม่มีฝน

 

นักปราชญ์เหล่านั้นอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า บทรายงานเหล่านี้ที่ระบุอย่างชัดเจนในการทำสองนมาซรวมกันโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ จนกระทั่งได้ระบุว่า โดยไม่มีเหตุอุปสรรคใดๆ และไม่ใช่ยามเดินทางนั้น บางทีเป็นไปได้ว่า มีเมฆครึ้มจนท้องฟ้ามืดมัว ทำให้พวกเขาไม่รู้เวลา ครั้นพอทำนมาซซุฮ์ริเสร็จเรียบร้อย ก้อนเมฆได้สลายพอดี ความมืดครึ้มได้คลี่คลาย เมื่อนั้น พวกเขาถึงได้รู้ว่า เป็นเวลาอัศริ จึงทำนมาซอัศริรวมกับนมาซซุฮ์ริติดต่อไป

 

ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาเถิด การตีความในลักษณะเช่นนี้ กับกิจการที่สำคัญเช่นการนมาซ ซึ่งเป็นเสาหลักของศาสนา เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ ?

 

นักตีความเหล่านั้น ลืมไปแล้วกระนั้นหรือว่า คนนมาซในรายงานบทนี้ คือท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ)โดยลืมไปว่า การมีเมฆ หรือไม่มีเมฆ ไม่ได้มีผลกระทบต่อความรู้ของท่านนบี(ศ็อลฯ) ซึ่งท่านรู้โดยการดลบันดาลจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงสุด และท่านมองเห็นโดยรัศมีจากพระผู้อภิบาล ผู้ทรงอานุภาพสูงสุดของท่าน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะอนุญาตให้เราตัดสินเรื่องศาสนาของอัลลอฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ได้กระนั้นหรือ ด้วยการยึดถือการตีความที่ไม่ปราศจากความรู้จริงเช่นนี้ ซึ่งไม่มีหลักฐานใดๆประกอบ นอกจากการให้น้ำหนักกับความสงสัย ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้สูงสุด ตรัสว่า “แท้จริงการสงสัยนั้น ไม่พอเพียงที่จะให้ความจริงแต่ประการใด” (28)

 

นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ยังมีอะไรอีกที่พวกท่านจะอ้างว่า การทำนมาซรวมของท่านนบี(ศ)ระหว่างมัฆริบ กับอิชาอ์ เพราะการมีเมฆหรือไม่มีเมฆในยามนั้น ไม่มีผลแต่ประการใด ?

 

เพราะฉะนั้น การตีความแบบนี้และแบบอื่นที่ตีความกัน เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับบทรายงานต่างๆและขัดแย้งกับความชัดเจนของคำบอกเล่า ที่ว่า ท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวคำปราศรัยอยู่จนกระทั่งเริ่มปรากฏแสงดาว และท่านก็ไม่แยแสกับเสียงร้องตะโกนของชายคนนั้น ที่ว่า นมาซเถิด นมาซเถิด ต่อจากนั้น ท่านอิบนุอับบาส ได้ตอบโต้คนตระกูลตะมีม  ด้วยคำพูดของท่านเองว่า “เจ้าจะสอนแบบฉบับของท่านศาสดาให้แก่ฉัน กระนั้นหรือ? เจ้าไม่มีมารดาแน่แล้ว จากนั้นท่านได้กล่าวว่า เจ้ารู้หรือไม่ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ได้ทำนมาซรวมระหว่างซุฮ์ริกับอัศริ และมัฆริบกับอิชาอ์ หลังจากนั้น อะบูฮุร็อยเราะฮ์ ก็ยังให้การรับรองคำพูดของอิบนุอับบาสอีก

 

แสดงให้เห็นว่า การตีความในรูปแบบนี้ ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางสติปัญญาและไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับพวกเรา และทำนองเดียวกันก็ไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดานักปราชญ์ระดับอาวุโสของพวกท่านอีกด้วย  ทั้งนี้ก็เพราะพวกท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีความนั้นๆขัดแย้งกับความหมายที่ชัดเจนของบทรายงาน

 

ดังที่กล่าวมานี้ ท่านชัยคุลอิสลาม อัลอันศอรีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่าน”ตุห์ฟะตุลบารีย์ ฟี ชัรฮิ ศอฮีฮิลบุคอรี” บทว่าด้วยการนมาซซุฮ์ริรวมกับอัศริ และนมาซมัฆริบรวมกับอิชาอ์ หน้า 292 เล่มที่ 2 และทำนองเดียวกับ อัลลามะฮ์ กิสฏ็อลลานีย์ ในหนังสือ “อิรชาดุซซารี ฟี ชัรฮิ ศอฮีฮ์ บุคอรี”หน้า 293 เล่ม 2 และเช่นเดียวกับนักอธิบาย”ศอฮีฮ์บุคอรี”ท่านอื่นๆ และบรรดาปราชญ์ นักวิเคราะห์ของพวกท่านอีกจำนวนมาก พวกท่านกล่าวว่า การตีความในรูปแบบที่ขัดแย้งกับรายงานต่างๆเหล่านี้ และการเชื่อถือคล้อยตาม โดยแบ่งเวลาสองนมาซออกจากกัน เป็นการนำเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ มาเป็นที่เชื่อถือ และเป็นการนำเรื่องที่ไม่ชี้ชัด มาเป็นเรื่องชี้ชัด

 

ท่านนาวาบ :  ถ้าเป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งเหล่านี้มันมาจากไหน ซึ่งทำการแบ่งแยกพี่น้องมุสลิมออกเป็นสองพวก เป็นคู่กรณีกัน ในสายตาของแต่ละพวกที่มองไปยังอีกพวกหนึ่ง จะมองด้วยความชิงชังและเป็นศัตรู แต่ละพวกจะตำหนิติเตียน พิธีการเคารพภักดีของอีกพวกหนึ่ง ?

 

ซุลฏอน : ดังที่ท่านได้กล่าวว่า บรรดามุสลิมได้กลายเป็นสองพวกที่เป็นศัตรูกัน ตรงนี้มีความจำเป็น สำหรับข้าพเจ้าที่จะขอเสนอคำพูดสักเล็กน้อย เพื่อเราจะได้มองเห็นตรงกันว่า คำว่าศัตรูตามที่ท่านว่านั้น มาจากทั้งสองฝ่าย หรือว่ามาจากฝ่ายเดียว ?

 

ตรงนี้ จำเป็นสำหรับข้าพเจ้า ในฐานะเป็นชีอะฮ์เพียงคนเดียว ข้าพเจ้าจะต้องปกป้องบรรดาชีอะฮ์ ที่ปฏิบัติตามบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)และขจัดข้อเคลือบแคลงเช่นนี้ให้พ้นจากพวกเขา นั่นคือ พวกเราบรรดาชีอะฮ์ทั้งหลาย ไม่ได้มองบรรดานักปราชญ์ฝ่ายซุนนีท่านใด และบรรดาผู้เป็นซุนนีท่านใดด้วยสายตาเกลียดชังและเป็นศัตรู หากแต่เราถือว่า เขาเหล่านั้น คือพี่น้องในศาสนาของเรา

 

นี่คือ สิ่งตรงกันข้ามกับภาพที่พี่น้องซุนนีบางคนมองเราอย่างแน่นอน เพราะพวกเขามองว่าบรรดาชีอะฮ์ คือ ศัตรูของพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงปฏิบัติต่อบรรดาชีอะฮ์ แบบศัตรูปฏิบัติต่อศัตรู และไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขามองบรรดาชีอะฮ์ของวงศ์วานนบีมุฮัมมัด(ศ) และทำให้พวเขามองบรรดาผู้ปฏิบัติตามแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสทูต ผู้ทรงเกียรติ ด้วยสายตาเช่นนั้น นอกจากโดยคำพูดใส่ไคล้ และการโจมตี ที่แพร่สะพัดเพื่อต่อต้านพวกเขาโดยสื่อตางๆของพวกคอวาริจญ์, พวกนะวาศิบ และวงศ์วานของอุมัยยะฮ์ ตลอดจนบรดาสมุนของคนเหล่านั้น ที่เป็นศัตรูของท่านนบี (ศ็อลฯ) และศัตรูของวงศ์วานท่านนบีผู้ทรงเกียรติ (ศ็อลฯ) และในยุคปัจจุบันนี้ ก็มาเหตุจากพวกล่าเมืองขึ้น ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของอิสลามและมวลมุสลิม ซึ่งกลัวการสูญเสียผลประโยชน์และความต้องการของตน ถ้าหากเกิดมีการสามัคคีและการรวมตัวเป็นเอกภาพของชาวมุสลิมขึ้นมา

 

เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ว่า ความเข้าใจผิดในเชิงเป็นศัตรู มีปฏิกิริยาอยู่ในจิตใจและความคิดของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์บางท่าน จนกระทั่งตั้งข้อกล่าวหาว่า พวกเราเป็นกุฟร์และชิร์ก(ผู้ปฏิเสธศาสนาและยกสิ่งอื่นเป็นภาคีต่ออัลลอฮ์)

 

น่าอนาถใจ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า พวกเขาคิดใคร่ครวญแล้วหรือ ว่าโดยหลักฐานประการใด ที่พวกเขาดำเนินชีวิตอยู่ในแนวทางนี้ และยังความแตกแยกระหว่างมวลมุสลิมนั้น

 

พวกเขามิได้คิดถึงเลยหรือ ว่าอัลลอฮ์ทรงห้ามบรรดามุสลิมจากความแตกแยกด้วยโองการที่ว่า “และจงกระชับให้เหนียวแน่นกับสายเชือกของอัลลอฮ์โดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมดและจงอย่าแตกแยกกัน” (29)

 

นอกจากนี้ อัลลอฮ์ ผู้ทรงอานุภาพ ทรงสูงสุด ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ ทรงเป็นผู้อภิบาลของเราทั้งมวล

 

อิสลามเป็นศาสนาของเรา อัล-กุรอาน คือคัมภีร์ของเรา ท่านนบีผู้ทรงเกียรติ มุฮัมมัด (ศ็อลฯ)นบีท่านสุดท้าย และนายของบรดาศาสนทูต คือนบีของเรา คำพูดของท่าน การกระทำของท่าน และการแสดงท่ายอมรับของท่านคือแบบอย่างของเรา

 

สิ่งอนุญาตของท่าน คือสิ่งอนุญาตจนถึงวันฟื้นคืนชีพ สิ่งต้องห้ามของท่าน คือสิ่งต้องห้ามจนถึงวันฟื้นคืนชีพ

 

สิ่งใดที่ท่านยอมรับว่า เป็นสัจธรรม สิ่งนั้น คือสัจธรรม สิ่งใดที่ท่านถือว่า ผิด สิ่งนั้น คือ สิ่งผิด  เราเป็นปิยมิตรกับปิยมิตรของท่าน เราเป็นศัตรูกับศัตรูของท่าน

 

อัล-กะอ์บะฮ์ คือ ที่เวียนฏอวาฟของเรา และเป็นทิศกิบละฮ์ของเราทั้งมวล(ที่หันหน้าไปหาในเวลานมาซ) มีนมาซทั้งห้า มีการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีซะกาต วาญิบ มีหลักการบำเพ็ญฮัจญ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางได้

 

เหล่านี้ เป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับเรา และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทุกประการมีทั้งที่เป็นหน้าที่จำเป็น(วาญิบ)การกระทำที่ชอบ(มุสตะฮับ)งดเว้นการทำบาปใหญ่ การละเมิด และความบาปปลีกย่อยต่างๆของเรา ?

 

พวกท่านกับพวกเราต่างก็อยู่ในหลักการเหล่านี้ด้วยกันทุกประการมิใช่หรือ ?

 

หรือว่า บทบัญญัติของพวกเรา หรือ บทบัญญัติของพวกท่าน อิสลามของพวกเรา และอิสลามของพวกท่าน เป็นอย่างอื่น คือไม่ได้เป็นอย่างที่ข้าพเจ้าได้อธิบายไปแล้ว ว่าเป็นศาสนาอันชัดแจ้ง ?

 

ข้าพเจ้ารู้แน่แก่ใจดีว่า พวกท่านเห็นพ้องตรงกับที่ข้าพเจ้าพูดมาทุกประการ หากจะมีความขัดแย้งกันบางอย่างระหว่างข้าพเจ้ากับพวกท่าน ก็เหมือนกับความขัดแย้งที่มีอยู่ในระหว่างพวกท่าน กับมัซฮับต่างๆ(สำนักวิชาการ)ของพวกท่านกันเอง ดังนั้น พวกเรากับพวกท่าน ต่างก็อยู่ในศาสนาอิสลามเท่ากัน (ทุกคนล้วนศรัทธาต่ออัลลอฮ์ มะลาอิกะฮ์,คัมภีร์,และบรรดาศาสนทูตของพระองค์ เราไม่แบ่งแยก ระหว่างคนหนึ่งคนใดจากบรรดาศาสนาทูตของพระองค์ และพวกเขากล่าวว่า เราได้ยินแล้ว เราเชื่อถือปฏิบัติตามแล้ว ขอการอภัยโทษต่อพระองค์ โอ้พระผู้อภิบาลของเรา และยังพระองค์ คือ สถานคืนกลับ”(30)

 

ฉะนั้นทำไมพี่น้องซุนนีบางท่านกลับใส่ไคล้พาดพิงเรากับสิ่งที่อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ไม่ทรงพอพระทัยและแสวงหาความแตกแยกระหว่างเรากับพวกเขาและมองพวกเราด้วยสายตาของศัตรูและชิงชัง ? และนี่คือสิ่งที่ศัตรูเรากำลังคอยจ้องอยู่ซึ่งชัยฏอนอันได้แก่บรรดาชัยฏอนในหมู่มนุษย์และญินต้องการจะให้เราเป็นเช่นนั้นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงสุดตรัสว่า “บรรดาชัยฏอนในหมู่มนุษย์และญินได้กระซิบแก่กันและกันเพื่อจะย้อมจิตใจของพวกที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และต่อปรโลกและเพื่อเป็นที่พึงพอใจของมัน….” (31)

 

พระองค์ผู้ทรงสูงสุดได้ตรัสว่า “ชัยฏอนนั้นมันต้องการเพียงจะให้ความเป็นศัตรูและความชิงชังบังเกิดขึ้นในระหว่างพวกเจ้าในเรื่องสุราและการพนันในระหว่างพวกเจ้า….” (32)

 

หมายความว่าบางครั้งชัยฏอนจะให้ความเป็นศัตรูบังเกิดขึ้นในในระหว่างพวกเจ้าโดยมีสุราและการพนันเป็นสื่อและบางครั้งก็อาศัยความคลุมเครือและความสับสนซึ่งมันได้ขว้างเข้าไปในหัวใจของพวกเขา  ในลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาและโจมตีซึ่งชัยฏอนมนุษย์ได้ทำให้สิ่งนี้แพร่ระบาดไปทั่วในสังคมของพวกเขา

 

ประการที่สองข้าพเจ้าขอถามว่าความขัดแย้งเหล่านี้มาจากที่ไหน ?

 

ข้าพเจ้าขอกล่าวกับท่านด้วยหัวใจที่ขมขื่นและเสียใจอย่างยิ่งว่าแน่นอนที่สุดสิ่งเหล่านี้และความขัดแย้งอื่นๆด้านสาขาปลีกย่อย(ฟุรูอ์) ตั้งอยู่บนความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน(อุศูล) ซึ่งในยามนี้มิใช่เวลาอันเหมาะสมที่จะกล่าวถึงเรื่องนั้นแต่บางทีเราอาจไปถึงจุดนั้นก็ได้ในการถกปัญหาของเราตอนต่อไปซึ่งข้าพเจ้าจะเปิดเผยออกมาเมื่อการถกเถียงดำเนินไปถึงเรื่องนั้นและเมื่อนั่นเองสัจธรรมจะถูกเปิดเผยแก่พวกท่าน  แล้วพวกท่านจะรู้ซึ้งถึงความจริง อันเที่ยงแท้ อินชาอัลลอฮ์

 

ประการที่สาม ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการรวมและการแยกช่วงเวลาระหว่างสองนมาซ ถึงแม้ว่า บรรดานักปราชญ์ทางศาสนาของพวกท่านจะรายงานบอกเล่าถึงเรื่องราวที่ถูกต้อง และชัดเจนสักเพียง ใดว่า  เป็นเรื่องที่ยินยอมให้กระทำและอนุญาตให้กระทำได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและขจัดภาระที่ยุ่งยาก ไปจากประชาชาติอิสลาม แต่ก็เหมือนดังที่ท่านได้ทราบแล้ว คือพวกเขาเหล่านั้น ได้ตีความเรื่องนั้นเสีย  หลังจากนั้น ก็ออกคำวินิจฉัยไม่อนุญาตให้กระทำรวมกันโดยไม่มีเหตุอุปสรรค หรือเดินทาง จนกระทั่งมีบางส่วน เช่น อะบูฮะนีฟะฮ์ และสานุศิษย์ ถึงกับออกคำวินิจฉัยว่า ไม่อนุญาตให้กระทำรวมกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่า จะมีเหตุอุปสรรคหรือเดินทางก็ตาม(33)

 

แต่ทว่า มัซฮับอื่นๆ เช่น ชาฟิอีย์ มาลิกีย์ และฮันบะลีย์นั้น แม้จะมีความขัดแย้งในระหว่างพวกเขาด้วยกันเองในด้านต่างๆทั้งหมดไม่ว่าหลักการขั้นพื้นฐาน(อุศูล) หรือหลักการสาขาปลีกย่อย(ฟุรูอ์) แต่พวกเขาก็ยังอนุญาตให้ทำนมาซรวมกันได้ในยามเดินทางโดยถือเป็นกฎอนุโลม เช่นเดินทางไปบำเพ็ญฮัจญ์ และ ทำอุมเราะฮ์ และเดินทางเพื่อทำสงคราม และอื่นๆในทำนองนี้

 

แต่สำหรับนักปราชญ์ศาสนาของชีอะอ์นั้น พวกเขาปฏิบัติตามบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ ที่สืบมาจากวงศ์วานของท่านนบี ผู้ถูกเลือกสรรโดยพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งบรรดาเขาเหล่านั้น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)  ได้กำหนดให้เป็นตราชู ที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นสัจธรรม อะไรเป็นความผิดพลาด และมีฐานะเป็นคู่ของอัล-กุรอานและเป็นเสาหลักสำหรับประชาชาติในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และท่านได้กล่าวยืนยันอย่าง  ชัดเจนว่าการยึดถือบุคคลเหล่านั้นควบคู่กับอัล-กุรอาน จะปลอดภัยจากความแตกแยกและหลงผิด ภายหลังจากท่าน

 

  พวกเขาวินิจฉัยว่าอนุญาตให้ทำนมาซรวมได้โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ จะมีเหตุอุปสรรค หรือไม่ก็ตาม จะอยู่ในยามเดินทางหรือไม่ก็ตาม จะทำนมาซรวมในช่วงเริ่มต้นเวลา(ตักดีม) หรือทำนมาซรวมในช่วงท้ายๆของเวลา(ตะคีร)ก็ตาม พวกเขาให้เสรีภาพแก่ผู้นมาซที่จะเลือกทำนมาซรวมละทำแยกด้วยตัวของเขาเอง เพื่อความสะดวกและขจัดความยุ่งยาก และโดยที่อัลลอฮ์ทรงรักการรับเอาการผ่อนผันของพระองค์มาปฏิบัติ

 

ดังนั้น บรรดาชีอะฮ์จึงเลือกเอาการทำสองนมาซรวมกันในช่วงเวลาเดียวมาปฏิบัติ เพื่อที่ว่า นมาซใดๆก็ตามจะไม่พลั้งพลาดไปจากพวกเขา ไม่ว่าจะโดยหลงลืม หรือ เกียจคร้านก็ตามดังนั้นพวกเขาจึงกระทำได้เสมอ ไม่ว่าจะนมาซรวมในช่วงเริ่มต้นเวลา หรือช่วงท้ายของเวลา

 

เมื่อการตอบคำถามเกี่ยวกับการทำสองนมาซรวมกันในช่วงเวลาเดียว มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวกับพวกเขาว่า ข้าพเจ้าเห็นว่า การพูดในประเด็นนี้ น่าจะอยู่ในระดับที่พอเพียงแค่นี้ เพราะข้าพเจ้าคิดว่า ความเคลือบแคลงได้หมดไปจากความคิดของพวกท่านแล้ว และข้าพเจ้าได้เผยความจริงให้พวกท่านแล้ว และพวกท่านได้รู้แล้วว่า ชีอะฮ์นั้น มิได้เป็นอย่างที่คนบางส่วนวาดภาพแก่พวกท่าน แต่ทว่า พวกชีอะฮ์คือ พี่น้องร่วมศาสนาของพวกท่าน พวกเขาเป็นผู้ปฏิบัติตามแบบอย่างท่าน นบี(ศ็อลฯ)ผู้ทรงเกียรติและอัล-กุรอานอันทรงวิทยปัญญาอย่างเคร่งครัด(34)

 

 เชิงอรรถ


(28)ซูเราะฮ์ยูนุส โองการที่ 36

 

(29)ซูเราะฮ์อาลิ อิมรอน โองการที่ 103

 

(30)ซูเราะฮ์อัล-บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 285

 

(31)ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 112,113

 

(32)ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 91

 

(33)มีปรากฏในหนังสือ”อาริฎอตุลอะห์วะซีย์ ชะเราะฮ์ศอฮีฮ์ติรมิซีย์”ของอิมาม ฮาฟิซ อิบนุ อัลอะรอบีย์ อัลมาลิกีย์ เล่ม 1บาบ “ความเป็นมาของเรื่องการรวมสองนมาซในเวลาเดียวกัน”

 

นักปราชญ์ของเรากล่าวว่า การรวมสองนมาซในเวลาฝนตกและยามป่วยนั้น เป็นเรื่องอนุโลม อะบูฮะนีฟะฮ์ กล่าวว่า เป็นบิดอะฮ์ และเป็นบาปใหญ่ประเภทหนึ่ง ต่อมาผู้อธิบายเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า แต่ทว่าการรวม เป็นซุนนะฮ์(ผู้แปลเป็นภาษาอาหรับ)

 

(34)สำหรับหลักฐานของเราที่อนุญาตให้รวมสองนมาซในเวลาเดียวกันได้นั้นมีหลักฐานจากอัลกุรอาน ที่ทรงมีโองการว่า”จงนมาซในยามอาทิตย์คล้อยไปถึงยามกลางคืนและกุรอานยามอรุณ แท้จริงกุรอานยามอรุณมีพยานเสมอ”(ซูเราะฮ์อัลอิซรออ์/โองการที่78)

 

กล่าวคือ เวลาที่อัลลอฮ์อธิบาย สำหรับการนมาซประจำวันนั้นอยู่ในโองการนี้ สามเวลา 1-ช่วงอาทิตย์คล้อย 2-ช่วงย่างเข้ากลางคืน และ3-ช่วงเวลารุ่งอรุณ

และอีกโองการหนึ่ง ทรงตรัสว่า”และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการนมาซ ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวันและยามต้นจากกลางคืน (ซูเราะฮ์ฮูด โองการที่114)

 

ปลายช่วงแรก(ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวัน)คือ ตั้งแต่ช่วงรุ่งอรุณจนถึงตอนอาทิตย์ขึ้นและปลายช่วงที่สอง คือ ตั้งแต่ตะวันคล้อยไปถึงตอนอาทิตย์ตก และยามต้นกลางคืน คือ ช่วงแรกของกลางคืน หมายถึงยามที่หมดแสงแดงหลังจากอาทิตย์ตกแล้ว(ผู้แปลเป็นอาหรับ)

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

-เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 1

-เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 2

-เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 3