3 ชะอ์บานคือ วันคล้ายวันประสูติของอิมามฮุเซน (อ.)


3 ชะอ์บานคือ วันคล้ายวันประสูติของอิมามฮุเซน (อ.)

 

อิมามฮุเซน(อ.) อิมามท่านที่สาม ประสูติเมื่อวันที่ 3 เดือนชะอ์บาน ปี ฮ.ศ.4 ที่เมืองมะดีนะฮ์ ในวันที่ท่านประสูติ ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้เคยกล่าวล่วงหน้าไว้ว่า ศาสนาอิสลามจะอยู่รอดได้โดยหลานชายคนที่สองของท่าน ที่ชื่อว่า ฮุเซน (อ.) ผู้นี้


ท่านอิมามฮุเซนประสูติในค่ำคืนที่ 3 ของเดือนชะอ์บาน บิดาของท่าน คือ ท่านอิมามอะลี(อ.) คือ แบบอย่างที่ดีที่สุดของการมีเมตตาต่อมิตรสหาย และกล้าหาญที่สุดเมื่อเผชิญศัตรูของอิสลาม ส่วนมารดาของท่าน คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) บุตรสาวของท่านศาสดา(ศ.) ผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง และได้รับการสืบทอดคุณสมบัติทั้งหลายมาจากบิดาของนาง อิมามฮุเซน(อ.) จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ มีเมตตา มีความกล้าหาญ และอุทิศตนเพื่อศาสนา เช่นเดียวกับท่านตา บิดา มารดา และพี่ชายของท่าน


เมื่อข่าวดีเรื่องการประสูติของท่านได้ยินไปถึงหูของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ท่านก็ได้มายังบ้านของบุตรสาวของท่าน และรับทารกแรกเกิดผู้นั้นไว้ในอ้อมแขน กล่าวอะซานและอิกอมะห์ที่หูข้างขวาและซ้ายของทารกน้อย ในวันที่ 7 หลังจากเสร็จพิธีอะกีเกาะห์แล้ว จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า อัล-ฮุเซน ตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซ.บ)

 

อิมามฮะซัน(อ.) และอิมามฮุเซน(อ.) บุตรชายทั้งสองของอิมามอะลี บิน อะลีฏอลิบ(อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) ได้รับความเคารพนับถือและยกย่องในฐานะเป็น "หัวหน้าของชายหนุ่มในสวรรค์" ตามที่ท่านศาสดา (ศ.) ได้กล่าวไว้

 

ในสมัยของท่านอิมามนั้น ยะซีด บุตรของมุอาวิยะห์ได้ขึ้นครองราชย์ เขาเป็นคนอยุติธรรมและละเมิดศาสนา เขากินเหล้าเมายา และมีพฤติกรรมที่โหดร้าย ทันทีที่มีอำนาจ เขาเริ่มฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และกฎหมายอิสลาม นอกจากนั้น เขายังอ้างตัวว่าเป็นเคาะลีฟะฮ์ เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของท่านศาสดาแห่งอิสลาม เพื่อเป็นการยืนยันสถานะนี้ของเขา เขาจึงต้องการบังคับให้อิมามฮุเซน(อ.) มอบสัตยาบันและยอมรับอำนาจปกครองของเขา

 

แน่นอนว่าหากคนอย่างยะซีดได้เป็นเคาะลีฟะฮ์ ประชาชนจะตกอยู่ในอันตราย เพราะเขาจะนำความเชื่อและประเพณีที่ขัดกับอิสลามมาบังคับใช้ (ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆตามที่ประวัติศาสตร์ระบุไว้อย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะยะซีดเริ่มปีแรกของตนด้วยการสังหารอิมามฮุเซน และปีต่อๆมาด้วยการสังหารหมู่ชาวมะดีนะฮ์ และการยิงถล่มอาคารกะอ์บะฮ์)

 

ฉะนั้น ภาระรับผิดชอบเพื่อปกป้องอิสลามและสิทธิมนุษยชนจึงตกอยู่บนบ่าของอิมามฮุเซน(อ.)

 

ประชาชนชาวกูฟะฮ์หลายคนไม่ยอมรับยะซีดเป็นเคาะลีฟะฮ์ พวกเขาจึงเชิญอิมามฮุเซน(อ.) ให้มายังกูฟะฮ์เพื่อเป็นผู้นำของพวกเขา ท่านอิมามฮุเซนซึ่งขณะนั้นได้เดินทางออกจากมะดีนะฮ์เพื่อเป็นการประท้วงการดำรงตำแหน่งของยะซีด จึงเดินทางไปยังกูฟะฮ์พร้อมด้วยญาติพี่น้องที่เป็นชายหนุ่ม สตรี และเด็ก และมิตรแท้ที่จริงใจอีกจำนวนหนึ่ง


ระหว่างทาง ท่านได้เผชิญหน้ากับกองทัพพร้อมอาวุธของยะซีด เพื่อเป็นการรักษาศาสนาของท่านตาผู้บริสุทธิ์(ศ.) อิมามฮุเซน(อ.) จึงตั้งมั่นที่จะเผชิญหน้ากับกองทัพมารเหล่านี้ในสนามรบ ท่านและมิตรสหายของท่านต่อสู้ด้วยความองอาจ ชายชาตรีแห่งวงศ์วานนบีแทบทุกคนได้พลีชีพตนเพื่ออิสลาม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่กัรบะลา ดินแดนในประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 10 เดิอนมุฮัรรอม ฮ.ศ.61


วันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ได้รับการขนานนามว่า เป็นวันอาชูรอ วันนั้น มุสลิมทั่วโลกจะรำลึกถึงการต่อสู้ที่ไร้เทียมทานของอิมามฮุเซน (อ.) และมิตรสหายของท่าน ที่ทำการต่อสู้กับทรราชย์ พวกเขาไว้อาลัยต่อผู้พลีชีพเหล่านี้ ที่สละชีวิตของตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งอิสลาม

 

การพลีอุทิศของอิมามฮุเซน(อ.) เพื่อรักษาไว้ซึ่งอิสลามนั้น ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ท่านกล่าวไว้ว่า

 

"ในทัศนะของฉัน การได้สละชีวิตลงในหนทางของอัลลอฮ์ถือเป็นเกียรติยิ่ง และการยื่นมือออกไปร่วมมือกับผู้กดขี่นั้น ไม่ใช่อื่นใดนอกจากความอัปยศ"

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อะฮ์ลุลบัยต์ อะคาเดมี