สถานภาพอันสูงส่งของฮุเซน บินอะลี (อ.)

สถานภาพอันสูงส่งของฮุเซน บินอะลี (อ.)

 

    ตามคำรายงานของนักประวัติศาสตร์บางคน ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือกำเนิดในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดีที่ห้า เดือนชะอ์บาน ฮิจเราะฮ์ศักราชที่สี่ (1) แต่ตามคำรายงานของนักประวัติศาสตร์บางคน ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือกำเนิดในวันที่สาม เดือนชะอ์บาน ฮิจเราะฮ์ศักราชที่สาม (2)

 

   มัรฮูมอัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี หลังจากการอ้างทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันแล้ว ท่านเชื่อว่า : ทัศนะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเกี่ยวกับการถือกำเนิดของท่าน คือท่านได้ถือกำเนิดในวันที่สามของเดือนชะอ์บาน (3)

 

   ชื่อของท่านถูกตั้งโดยคำสั่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ฮุเซน” นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนในยุคญาฮิลียะฮ์ยังไม่รู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ “ฮะซัน” และ “ฮุเซน” จึงไม่มีใครตั้งชื่อลูกๆ ของตนด้วยชื่อทั้งสองนี้ และเมื่อชื่อทั้งสองได้ถูกวิวรณ์ (วะฮ์ยู) ลงมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านจึงตั้งชื่อลูกของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ด้วยชื่อทั้งสองนี้

 

  อิบนุอะซีร ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อุซุดุลฆอบะฮ์” ของตนว่า :

 

إنّ الله حَجَب اسمَ الحسن والحسين حتّى سمّى بهما النبيُّ ابنَيهِ: الحسنَ والحسين

      

    “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงปกปิดชื่อฮะซันและฮุเซนไว้ จนกระทั่งท่านศาสดาได้ตั้งชื่อทั้งสองนี้ให้กับบุตรชายสองคนของท่าน คือฮะซันและฮุเซน” (4)

 

   ญะลาลุดดีน ซุยูฏี นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของอะฮ์ลิลซุนนะฮ์ ได้อ้างรายงานไว้ว่า :

 

الحسن والحسين إسمان من أسماء أهل الجنّة. ما سمّت العرب بهما في الجاهلية

    

      “ฮะซันและฮุเซน เป็นสองชื่อจากบรรดาชื่อของชาวสวรรค์ ที่ชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะฮ์ไม่ได้ตั้งมัน (แก่ลูกๆ ของตน)” (5)

 

สถานภาพที่สูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

   ท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีสถานภาพที่เป็นพิเศษท่ามกลางสังคมอิสลามและชาวมุสลิมในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเป็นบุตรของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะรออ์ (อ.) จึงถูกเรียกว่าเป็นบุตรของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ด้วยเช่นกัน

 

   บุคคลทั้งสอง (อิมามฮะซันและอิมามฮุเซน) ด้วยเหตุผลแห่งความรักของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และจากวจนะต่างๆ ที่ทรงคุณค่าที่ท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับบุคคลทั้งสอง ทำให้ท่านทั้งสองได้รับความเคารพเทิดทูนและการให้เกียรติเป็นพิเศษจากบรรดามุสลิม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจากวจนะบางส่วนของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ชี้ถึงสถานภาพอันสูงส่งและการแสดงออกด้วยความรักที่ท่านมีต่อบุคคลทั้งสอง

 

   ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยประโยคคำพูดที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า :

 

الحَسَنُ والحُسَيْنُ سَيِّدَا شَبَابِ أَهْلِ الجَنَّةِ

 

“ฮะซันและฮุเซน ทั้งสองคือหัวหน้าของชายหนุ่มชาวสวรรค์” (6)

 

  ในฮะดีษ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า : ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ไปเป็นแขกพร้อมกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในระหว่างทางท่านได้เห็นฮุเซน (อ.) หลานรักของท่าน ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ต้องการที่จะเข้าไปอุ้ม แต่ท่านฮุเซน (อ.) วิ่งหนีไปทางขวาทีและทางซ้ายที ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เห็นสภาพดังกล่าว ท่านจึงยิ้ม และในที่สุดท่านก็อุ้มฮุเซน (อ.) หลานรักไว้ในอ้อมกอด ท่านได้ใช้มือข้างหนึ่งโอบไปที่หลัง และอีกข้างหนึ่งจับไปที่คาง และท่านก็ก้มลงจูบท่านอิมามฮุเซน (อ.) และกล่าวว่า :

 

حُسَيْنٌ مِنِّي وَأَنَا مِنْ حُسَيْنٍ أَحَبَّ اللَّهُ مَنْ أَحَبَّ حُسَيْنًا

      

    “ฮุเซนมาจากฉัน และฉันมาจากฮุเซน อัลลอฮ์ทรงรักผู้ที่รักฮุเซน” (7)

 

  และบางครั้งขณะที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กำลังกล่าวธรรมเทศนา (คุฏบะฮ์) อยู่บนมิมบัร (ธรรมมาส) และทันทีที่ท่านเห็นฮะซันและฮุเซน (อ.) หลานรักของท่าน ท่านจะลงมาจากมิมบัรและอุ้มบุคคลทั้งสองต่อหน้าสายตาประชาชนทั้งหลาย และแสดงความรักต่อบุคคลทั้งสอง (เพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสถานภาพของบุคคลทั้งสอง) ซะฮะบี ได้บันทึกไว้ว่า :

 

سُئِلَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: أَيُّ أَهْلِ بَيْتِكَ أَحَبُّ إِلَيْكَ؟ قَالَ: الْحَسَنُ وَالْحُسَيْنُ, وَكَانَ يَشُمُّهُمَا, وَيَضُمُّهُمَا

 

  ได้มีผู้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “อะฮ์ลุลบัตย์คนใดของท่านที่ท่านรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “ฮะซันและฮุเซน” และท่านจะจูบและกอดบุคคลทั้งสองอยู่เสมอ (8)

 

อิมามฮุเซน (อ.) ในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์ทั้งสาม

 

   เนื่องจากสถานภาพที่โดดเด่นและชาติตระกูลที่สูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทำให้ท่านได้รับเกียรติจากคอลีฟะฮ์ทั้งสามในช่วงสมัยการปกครองของคอลีฟะฮ์ทั้งสาม ท่านได้รับความเคารพให้เกียรติจากคอลีฟะฮ์ทั้งสามถึงขั้นที่ว่า พวกเขาได้อดทนอดกลั่นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่รุนแรงของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และพยายามในการรักษาไว้ซึ่งเกียรติของท่านอิมาม (อ.)

 

   ในหนังสือบางเล่มของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ได้บันทึกไว้ว่า : วันหนึ่งขณะที่ท่านอุมัร อิบนุค็อฏฏอบ กำลังกล่าวคำปราศรัย (คุฏบะฮ์) อยู่บนมิมบัร (ธรรมมาส) ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับอุมัรว่า :

 

انْزِلْ عَنْ مِنْبَرِ أَبِي ، وَاصْعَدْ مِنْبَرَ أَبِيكَ

 

“จงลงมาจากมิมบัรของพ่อของฉัน และจงไปขึ้นมิมบัรของพ่อของท่าน”

 

   อุมัรได้กล่าวด้วยกับการควบคุมอารมณ์ของตนเองว่า :

 

إنَّ أَبِي لَمْ يَكُنْ لَهُ مِنْبَرٌ

 

“พ่อของฉันไม่มีมิมบัร”

 

   จากนั้นอุมัรได้ให้อิมามฮุเซน (อ.) ขึ้นไปนั่งข้างๆ ตนเอง และแสดงออกซึ่งความรักและให้เกียรติต่อท่าน แต่ในระหว่างที่นำท่านไปส่งบ้านก็ได้คาดคั้นจากท่านว่า “ใครสอนเจ้าให้พูดเช่นนี้” ท่านตอบว่า “ไม่มีใครสอนฉัน” (9)

 

   คำพูดในการประท้วงคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เกิดขึ้นกับท่านอบูบักรเช่นกัน และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเขา (10)

 

   ในสมัยของอุสมานก็เช่นกัน มีคำรายงานจำนวนมากได้บันทึกเกี่ยวกับการปรากฏตัวและการมีบทบาทอยู่ในสังคมมุสลิม ในแต่ละเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงลักษณะหนึ่งของการเคารพให้เกียรติและสถานภาพที่สูงส่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่ามกลางประชาชน และการระวังรักษาเกียรติของท่านจากผู้มีอำนาจปกครอง

 

   ท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีบทบาทสำคัญในการชี้นำประชาชนมุสลิม และปกป้องบรรดาผู้ถูกกดขี่เคียงข้างบิดาและอิมามฮะซัน (อ.) พี่ชายของท่าน จนกระทั่งบางครั้งทำให้ค่อลีฟะฮ์ที่สามรู้สึกโกรธแค้น แต่ก็จำเป็นต้องระวังรักษาอาการของตนเอง และรักษาเกียรติของท่านอิมาม (อ.) ไว้

 

เหตุการณ์ในการส่งตัวและอำลา “อบูซัร”

 

   ในครั้งที่อุสมานได้เนรเทศอบูซัรไปยังดินแดนที่แห้งแล้งและกันดารที่มีชื่อว่า “ร่อบะซะฮ์” และห้ามทุกคนไม่ให้ไปส่งและร่วมทางกับอบูซัร แต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมด้วยบิดาและพี่ชายของท่านได้ออกไปส่งและอำลาเขา ในคำพูดหนึ่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่แสดงการให้กำลังใจและปลอบประโลมใจอบูซัรนั้น ท่านได้กล่าวว่า :

 

يا عَمّاهْ، إِنَّ الله تَبارَكَ وَتَعالى قادِرٌ أَنْ يُغَيِّرَ ما تَرى، وَهُوَ كُلَّ يَوْم في شَأن، إِنَّ الْقَوْمَ مَنَعُوكَ دُنْياهُمْ وَمَنَعْتَهُمْ دينَكَ فَما أَغْناكَ عَمّا مَنَعُوكَ، وَما أَحْوَجَهُمْ إِلى ما مَنَعْتَهُمْ، فَعَلَيْكَ بِالصَّبْرِ؛ فَإنَّ الخَيْرَ في الصَّبْرِ، وَالصَّبْرُ مِنَ الْكَرَمِ

         

“โอ้ลุงเอ๋ย! แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงเดชานุภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่ท่านกำลังประสพ และในทุกวันพระองค์ทรงอยู่ในกิจการใหม่ๆ แท้จริงหมู่ชนนี้ได้ห้ามท่านเนื่องจากดุนยา (วัตถุ) ของพวกเขา ในขณะที่ท่านได้ห้ามพวกเขาเนื่องจากศาสนาของท่าน ดังนั้นช่างเป็นความเพียงพอแล้วสำหรับท่าน จากสิ่งที่พวกเขาได้ห้ามท่าน และช่างเป็นความต้องการสำหรับพวกเขา จากสิ่งที่ท่านห้ามปรามพวกเขา ดังนั้นจงอดทนเถิด เพราะแท้จริงความดีงามนั้นอยู่ในความอดทน และความอดทนนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากความมีเกียรติทั้งหลาย” (11)

 

  ส่วนบทบาทและสถานภาพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในช่วงการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) และในยุคของท่านอิมามฮะซัน (อ.) นั้นเป็นที่ชัดเจนยิ่ง เนื่องจากความจำกัดของหน้ากระดาษจะขอละการนำเสนอไว้ในที่นี้

 

การเคารพให้เกียรติเป็นพิเศษของประชาชนต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

   เนื่องจากสถานภาพที่สูงส่งทางด้านชาติตระกูลและด้านจิตวิญญาณของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และความเป็นที่รักเทิดทูนของท่านจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำให้ท่านได้รับความเคารพและให้เกียรติเป็นพิเศษจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ตัวอย่างเช่น

 

   วันหนึ่ง อิบนุอับบาส (ซอฮาบะฮ์ที่ยิ่งใหญ่) ได้จูงบังเหียนม้าของท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) และท่านก็เดินทางร่วมไปกับท่านทั้งสองด้วย บุคคลหนึ่งได้กล่าวในเชิงท้วงติงเขาว่า “ทั้งๆ ที่ท่านมีอายุมากกว่าชายหนุ่มสองคนนี้ ท่านยังจูงม้าให้บุคคลทั้งสองนี้อีกหรือ?” อิบนุอับบาส กล่าวตอบว่า :

 

إِنَّ هَذَيْنِ ابْنَا رَسُولِ اللَّهِ  أَوَ لَيْسَ مِنْ سَعَادَتِي أَنْ آخُذَ بِرِكَابِهِمَا

        

  “บุคคลทั้งสองนี้คือบุตรของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) มันจะไม่เป็นเกียรติและความโชคดีของฉันดอกหรือ ที่ได้จูงบังเหียนม้าของบุคคลทั้งสอง” (12)

 

   อีกเหตุการณ์หนึ่งจากอบูฮุร็อยเราะฮ์ ซึ่งเล่าว่า : วันหนึ่งเขาได้เห็นท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั่งอยู่ในเส้นทางหนึ่ง เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เขาได้เดินเข้าไปหาท่าน และใช้ชายเสื้อของเขาเช็ดฝุ่นที่เท้าทั้งสองของท่าน เมื่อท่านอิมาม (อ.) ถามเขาว่า “ทำไมท่านจึงทำเช่นนี้?” เขากล่าวว่า :

 

دعني ، فوالله ! لو يعلم الناس منك ما أعلم لحملوك على رقابهم

        

  “ปล่อยให้ข้าพเจ้า (ได้ทำเช่นนี้) เถิด! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ หากประชาชนได้รู้เกี่ยวกับ (สถานะอันสูงส่งของ) ท่าน เหมือนดั่งที่ข้าพเจ้ารู้ แน่นอนยิ่ง พวกเขาจะแบกท่านไว้บนต้นคอของพวกเขา” (13)

 

   เมื่อบรรดามุสลิมได้เห็นท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินเท้าอยู่ในเส้นทางมุ่งสู่การทำฮัจญ์ พวกเขาทั้งหมดต่างก็รีบรุดลงจากหลังพาหนะของตนมาเดินเท้า เพื่อแสดงการเคารพให้เกียรติต่อท่านทั้งสอง จนกระทั่งว่าเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากแก่ประชาชนเหล่านั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้ขึ้นขี่พาหนะของตนเอง ท่านทั้งสองจึงขอแยกทางออกไปจากพวกเขา (14)

 

   และในช่วงที่ท่านทั้งสองกำลังฏอวาฟ (เวียนรอบ) บัยตุลลอฮ์ เมื่อประชาชนเห็นท่านทั้งสอง พวกเขาได้รุมล้อมเข้ามายังท่าน ด้วยการเบียดเสียดกันอย่างมาก เพื่อที่จะมาสลาม (ทักทาย) และแสวงหาความจำเริญ (ตะบัรรุก) จากทั้งทั้งสอง อิบนุกะษีร ได้กล่าวว่า :

 

و كانا إذا طافا بالبيت يكاد الناس يحطمونها مما يزدحمون عليهما للسلام عليهما

      

    “ในขณะที่ท่านทั้งสองกำลังฏอวาฟ (เวียนรอบ) อาคารกะอ์บะฮ์อยู่นั้น ประชาชนเกือบจะทำให้ท่านทั้งสองแหลกเป็นชิ้นๆ อันเกิดจากการที่พวกเขาได้เบียดเสียดกันเข้าไปยังท่านทั้งสอง เพื่อให้สลาม (ทักทาย) ต่อท่านทั้งสอง” (15)

 

สรุปเนื้อหา :

 

   ไม่ว่าจะในสมัยของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) หรือในสมัยหลังจากท่าน จวบจนถึงสมัยการปกครองของมุอาวิยะฮ์ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้รับความเคารพเทิดทูนและการให้เกียรติจากบรรดามุสลิมและบรรดาค่อลีฟะฮ์เป็นอย่างดีเสมอมา เนื่องจากสถานภาพอันสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณ ความเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ความรักอันเป็นพิเศษที่ท่านศาสดามีต่อบุคคลทั้งสอง และการกำชับสั่งเสียของท่านที่ให้มอบความรักให้กับบุคคลทั้งสอง

 

   แต่ในสมัยหลังจากมุอาวิยะฮ์ คือช่วงสมัยของยะซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์ สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้เราจะเชื่อมั่นว่ารากฐานที่มาของเหตุการณ์นองเลือดในเหตุการณ์แห่งกัรบะลา ได้ก่อตัวขึ้นมานับตั้งแต่เหตุการณ์แห่ง “ซะกีฟะฮ์” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในสมัยของมุอาวิยะฮ์และสมัยการปกครองของยะซีดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับสมัยการปกครองก่อนหน้าบุคคลทั้งสอง

 

    หากเหตุการณ์การถูกสังหารของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และการจับกุมลูกหลานจากครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไปเป็นเชลย เกิดขึ้นก่อนหน้าการปกครองของมุอาวิยะฮ์ และหากมีการเล่าขานแก่ประชาชนถึงเรื่องราวเหล่านี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครเชื่อว่า บุคคลที่เป็นที่รักยิ่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และเป็นแก้วตาดวงใจของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) จะถูกละเมิดเกียรติและถูกสังหารอย่างโหดร้ายและไร้ซึ่งมนุษยธรรม ในสภาพที่หิวกระหายในแผ่นดิน “นัยนาวา” เด็กๆ และสตรีต้องถูกจับเป็นเชลย และที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เกิดจากกระทำของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่าเป็นมุสลิม และเป็นอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)

 

   แต่อย่างไรก็ตาม พร้อมกับการเริ่มต้นการปกครองของมุอาวิยะฮ์ การละเมิดเกียรติของท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) การด่าประณามท่านเหล่านี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้นโดยมุอาวิยะฮ์และข้าราชบริวารของเขา อันเป็นเหตุนำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลา และวจนะ (คำพูด) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ถูกหลงลืมไปจากความทรงจำของพวกเขาโดยสิ้นเชิง ที่ท่านกล่าวว่า :

 

الْحَسَنُ وَالْحُسَيْنِ سَيِّدَا شَبَابِ أَهْلِ الْجَنَّةِ , وَأَبُوهُمَا خَيْرٌ مِنْهُمَا

    

      “ฮะซันและฮุเซน คือหัวหน้าของชายหนุ่มในสวรรค์ และบิดาของเขาทั้งสองนั้นประเสริฐกว่าเขาทั้งสอง” (16)

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, หน้าที่ 368 ; มะนากิบ, อิบนุชะฮ์รอซูบ, เล่มที่ 4, หน้า 84

(2) อิกบาลุลอะอ์มาล, ซัยยิดอิบนุฏอวุซ, เล่มที่ 3, หน้า 303 ; อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้า 201

(3) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้า 201

(4) อุซุดุลฆอบะฮ์, อินนุอะซีร, เล่มที่ 3, หน้า 11

(5) ตารีคุลคุละฟาอ์, ซุยูฏี, หน้า 209

(6) ฮะดีษบทนี้ถูกรายงานไว้ด้วยสำนวนต่างๆ ในหนังสืออ้างอิงของซุนนีและชีอะฮ์ อย่างเช่น : มุสนัด อะห์หมัด อิบนุฮัมบัล, เล่มที่ 3, หน้าที่ 3, 62, 64 และ 82 ; ซุนันติรมีซี, เล่มที่ 5, หน้า 312 ; อัลมุสตัดร็อก, อัลฮากิม, เล่มที่ 3, หน้า 167 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้าที่ 21, 25, 124, 191 และ 192

(7) มุสนัด อะห์หมัด อิบนิฮัมบัล, เล่มที่ 4, หน้า 17 ; สุนัน อิบนิมาญะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 51 ; มะนากิบ, อิบนิชะฮ์รอชูบ, เล่มที่ 3, หน้า 226

(8) ซีรุ อะอ์ลามุล นุบะลาอ์, ซะฮะบี, เล่มที่ 4, หน้า 382

(9) กันซุลอุมมาล, มุตตะกี ฮินดี, เล่มที่ 13, หน้า 654

(10) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้า 165, ฮะดีษที่ 3

(11) อัลกาฟี, เชคมุลัยนี, เล่มที่ 8, หน้า 207 ; ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อบิลหะดีด, เล่มที่ 8, หน้า 131

(12) มุคตะศ็อร ตารีค ดิมิชก์, เล่มที่ 7, หน้า 128

(13) แหล่งอ้างอิงเดิม

(14) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้า 276

(15) บิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์, เล่มที่ 8, หน้า 41

(16) อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์, เล่มที่ 8, หน้า 39

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ