ทำไมอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) จึงไม่ลุกขึ้นสู้? ตอนที่ 1


ทำไมอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) จึงไม่ลุกขึ้นสู้? ตอนที่ 1

 


บรรยากาศทางด้านการเมืองในสมัยของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การลุกขึ้นสู้ ด้วยเหตุผลนานับประการ บรรดาผู้ปกครองของราชวงค์อุมาวีย์ ได้ทำการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะทำการเคลื่นไหวใดๆ ก็จะอยู่ในสายตาของพวกเขาทั้งหมด ดังนั้นการลุกขึ้นต่อสู้จึงสามารถที่จะคาดการณ์ถึงความพ่ายแพ้ล่วงหน้าไว้ได้เลย

 

ยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ ภายในครอบครัวของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) เอง ก็ยังไม่รอดพ้นสายตาการสอดแนมจากบริวารของผู้ปกครองไปได้ ดังที่วันหนึ่งสายลับของ อับดุลมาลิก (ผู้ปกครองในยุคนั้น) ซึ่งอยู่ในนครมะดีนะฮ์ได้รายงานข่าวแก่เขาว่า “อะลี อิบนิ ฮูเซน มีทาสหญิงคนหนึ่ง และได้เขาได้ปล่อยนางให้เป็นอิสระ จากนั้นก็ได้แต่งงานกับนาง”

 

อับดุลมาลิกเมื่อได้รับข่าวนี้ เขาก็ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ทันที ซึ่งใจความในจดหมายฉบับดังกล่าว เขาได้ตำหนิการกระทำของท่านอิมามซัยนุลอาบีดีน (อ) ซึ่งเขาได้บอกว่าสิ่งที่ท่านอิมาม (อ) ปฏิบัตินั้น ไม่เหมาะสมกับสถานภาพของท่านอิมาม (อ) เขาได้ทักท้วงว่าทำไมอิมาม (อ) ไม่สมรสกับหญิงชาวกุเรชที่อยู่ในระดับเดียวกัน

 

อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ได้เขียนจดหมายตอบกลับไปว่า “ไม่มีผู้ใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าศาสดามุฮัมมัด (ศ) อีกแล้ว ท่านได้แต่งงานกับทาสหญิงที่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ พระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้ทุกสิ่งที่ต่ำต้อยสูงส่งได้ด้วยอิสลาม และทุกๆ ข้อบกพร่องก็ถูกขจัดไปด้วยสิ่งนั้น ทุกความไร้เกียรติถูกขจัดไปด้วยความมีเกียรติ ฉะนั้นไม่มีมุสลิมคนใดที่จะต่ำต้อย และรความต่ำต้อยก็ไม่มีอะไรที่จะต้อยต่ำไปกว่า ญาฮิลียะฮ์ (ความโง่เขลางมงาย)”

 

เหตุการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าแม้ความเคลื่อนไหวภายเล็กๆ ภายในบ้านของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ก็ยังไม่รอดพ้นจากสายตาของสายลับ แล้วจะนับประสาอะไรกับการเคลื่อนไหวในการต่อสู้ได้


กระนั้นก็ตามหลายครั้งด้วยกันในยุคการดำรงตำแหน่งของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ได้มีการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อล้มล้างการปกครองของราชวงค์อุมาวีย์ โดยเฉพาะการลุกขึ้นต่อต้านของชาวมะดีนะฮ์เอง แต่ถึงกระนั้นก็ตามท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือในขบวนการต่อต้านของชาวมะดีนะฮ์แต่ประการใด

 

การลุกขึ้นต่อต้านการปกครองราชวงค์อุมาวีย์ของชาวมะดีนะฮ์ เกิดขึ้นเมื่อปี ฮ.ศ ที่ 63 หรือ 64 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โศกนาฏกรรมฮัรเราะฮ์” (ฮัรเราะฮ์ เป็นชื่อสถานที่หนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยหิน) ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้น ภายหลังจากการถูกสังหารของท่านอิมามฮูเซน (อ)

 

คลื่นแห่งความโกรธ ความชังได้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการต่อต้านการปกครองของยะซีด บิน มุอาวียะฮ์ ตามเขตแคว้นต่างๆ ของอิสลาม แม้กระทั่งในนครมะดีนะฮ์เอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของครอบครัวแห่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และบรรดาสาวกของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ)

 

เจ้าเมืองนครมะดีนะฮ์ในวันนั้น คือ อุษมาน อิบนิ มุฮัมมัด อิบนิ อบีซุฟยาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในเรื่องความไม่เอาไหน ความอ่อนต่อโลก ความจองหอง และอื่นๆ ก็ไม่ได้นอ้ยไปกว่ายะซีด บุตรของมุอาวียะฮ์

 

เรื่องมีอยู่ว่า ยะซีด ได้สั่งให้เจ้าเมืองนครมะดีนะฮ์ส่งคนกลุ่มหนึ่งไปยังเมืองชาม เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างเมืองชาม และนครมะดีนะฮ์ และเพื่อสร้างบารมีแก่ตัวเขาเองด้วย


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ ahlulbaytonline.com


โปรดติดตามตอนที่ 2