เคล็ดลับของความมีเกียรติยศ และศักดิ์ศรีในอิสลาม

เคล็ดลับของความมีเกียรติยศ และศักดิ์ศรีในอิสลาม

 

พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง คือ "ผู้ทรงมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี" พระองค์ทรงสร้าง "มนุษย์" ผู้มีความประเสริฐที่สุดท่ามกลางสิ่งถูกสร้างของพระองค์ ในลักษณะที่ผสมผสานไปด้วยกับความมีเกียรติยศและศักดิ์ศรี พระองค์จะทรงพึงพอพระทัยยิ่งต่อปวงบ่าวที่รู้จักสถานะของตนเองและเป็น "มนุษย์" อย่างแท้จริง เห็นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวเอง มีการระมัดระวังตนจากปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ตนเองไร้เกียรติศักดิ์ศรีและไร้คุณค่า

 

       ในเนื้อหาต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่นำมาซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีและนำมาซึ่งความต่ำต้อยไร้เกียรตินั้นมีกรณีใดบ้าง?

 

       ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

یا کُمَیْلُ! اَحْسَنُ حِلْیَةِ الْمُؤمِنُ التَّواضُعُ، وَ جَمالُهُ التَّعَفُّفُ، وَ شَرَفُهُ التَّفَقُّهُ، وَ عِزُّهُ تَرْك الْقالِ وَ الْقیلِ

 

"โอ้กุเมลเอ๋ย! เครื่องประดับที่สวยงามที่สุดของผู้ศรัทธา คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความงดงามของเขา คือ การระวังรักษาตนเองให้อยู่ในความสะอาดบริสุทธิ์ และความมีเกียรติของเขา คือ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (ในเรื่องของศาสนา) และความมีศักดิ์ศรีของเขา คือ การละทิ้งจากการพูดจาที่ไร้สาระ" (1)


คำอรรถาธิบาย

 

        ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

ثَمَرَةُ التَّواضُعِ اَلمَحَبَّةُ وَ ثَمَرَةُ الْکِبْرِ اَلْمَسَبَّةُ

 

“ผลของความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ความรัก และผลของความยโสโอหัง คือ การแช่งด่า” (2)

 

        ความอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึง การละทิ้งจากการมองตนเองว่าเหนือกว่าและดีกว่าผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้รู้ทางศาสนาและผู้ที่ได้รับการนับถือว่าเป็นแบบอย่างของสังคม หนึ่งในเครื่องหมายของความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การเริ่มต้นการให้สลามและการทักทายผู้อื่นก่อน ตามคำรายงาน (ริวายะฮ์) บางบทชี้ให้เห็นว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) มักจะเริ่มต้นให้สลามก่อนผู้อื่นเสมอ (3) และโดยวิธีการดังกล่าวนี้เอง ที่ท่านจะดึงดูดหัวใจของประชาชนมาสู่ตัวท่าน ดังนั้น ทำไมเราจึงไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีต้นทุนน้อยที่สุด แต่มีคุณประโยชน์อย่างสมบูรณ์นี้?!

 

       ปัจจัยต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีและความน่าเคารพยกย่องนั้น สามารถที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า นั่นคือ การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ความยำเกรงและความสำรวมตน (ตักวา) ต่อพระผู้เป็นเจ้า การต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า การพอเพียงจากการพึ่งพาอาศัยเพื่อนมนุษย์ การมอบหมาย (ตะวักกุล) ต่อพระผู้เป็นเจ้า การปฏิบัติตามบัญญัติของศาสนา ความอ่อนน้อมถ่อมตน การให้อภัย การระวังรักษาวาจาคำพูด ความอดทน ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และการระงับความโกรธ สิ่งที่สำคัญก็คือ มนุษย์ที่มีเกียรติและรักศักดิ์ศรีนั้น จะต้องอุตสาห์พยายามที่จะยกระดับและพัฒนาความสมบูรณ์ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คุณลักษณะเหล่านี้ปรากฏจริงและฝังแน่นติดกายอยู่กับการดำรงอยู่ของตน ในที่นี้ จะขอชี้ถึงบางส่วนจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้


ปัจจัยนำมาซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี

 

    การเชื่อฟังและการยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า : การเชื่อฟัง การยอมตนเป็นบ่าว การเคารพภักดีและการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า คือบ่อเกิดแห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสต่อท่านศาสดาดาวูด (อ.) ว่า

 

وَضَعْتُ الْعِزَّ فِی طَاعَتِی

 

“ข้าได้กำหนดเกียรติยศและศักดิ์ศรีไว้ในการเชื่อฟังต่อข้า” (4)

 

        ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

إذَا طَلَبْتَ الْعِزَّ فَاطْلُبْهُ بِالطَّاعَةِ

 

“หากท่านต้องการเกียรติยศและศักดิ์ศรี ดังนั้น ท่านจงแสวงหามัน ด้วยการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าเถิด” (5)

 

    ความยำเกรงและความสำรวมตน : ความยำเกรง (ตักวา) ความสำรวมตนและการยับยั้งตนจากความชั่ว จะเป็นบ่อเกิดของเกียรติยศและศักดิ์ศรีและเสรีภาพของจิตวิญญาณ โดยทั่วไปแล้วเมื่อแสงสว่าง (นูร) ของตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) ได้ส่องประกายเข้าสู่การดำรงอยู่ของมนุษย์ผู้มีศรัทธาแล้ว เกียรติยศและศักดิ์ศรีและความมีเกียรติก็จะปรากฏขึ้นในตัวเขา ดังนั้น ใครก็ตามที่ปรารถนาที่จะเป็นผู้มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี ดังนั้น เขาจงเสริมสร้างความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าแก่ตัวเอง

 

         ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

 

مَنْ اَرادَ اَنْ يَكونَ اَعَزَّ النّاسِ فَلْيَتَّقِ اللّه َ عَزَّوَجَلَّ

 

“ผู้ใดปรารถนาที่จะเป็นผู้ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีที่สุดในหมู่มนุษย์ ดังนั้น เขาจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” (6)

 

         ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า

 

ولا کرم کالتقوی

 

 “ไม่มีเกียรติใดที่จะสูงส่งยิ่งไปกว่าความยำเกรง” (7)

 

    ญิฮาด (การต่อสู้) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า : ผู้ที่จับดาบขึ้นเพื่อการญิฮาดหรือต่อสู้ในหนทางของการพิทักษ์ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้บรรลุในภารกิจหน้าที่ที่ถูกกำหนด เขาคือผู้ที่ควรคู่ต่อการได้รับเกียรติยศและศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง เพราะผู้ที่ทำการญิฮาดนั้น ด้วยกับการญิฮาดในหนทางของพระพระผู้เป็นเจ้านี่เอง ที่เขาได้สร้างความรุ่งโรจน์และความยิ่งใหญ่แก่อิสลามและสังคมมุสลิม การตอบแทนในการต่อสู้ (ญิฮาด) นี้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เขาเป็นผู้มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี พระองค์จะทรงทำให้เขาเข้าสู่สวรรค์จากประตูหนึ่งของสรวงสวรรค์ซึ่งมีนามว่า “ประตูญิฮาด”

 

    ความพอเพียงจากการพึ่งพามนุษย์ : บุคคลผู้มีศรัทธา (อีหม่าน) นั้น ในการใช้ชีวิตของเขา เขาจะต้องระมัดระวังจากการขอและการแสดงความต้องการต่างๆ ต่อผู้อื่นโดยไม่จำเป็น เพราะการไม่ระมัดระวังในเรื่องนี้ และในชีวิตคอยแต่ขอความช่วยเหลือและพึ่งพิงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลานั้น จะทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ต่ำต้อยและไร้เกียรติศักดิ์ศรี ในขณะที่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้นคือผู้มีเกียรติยศศักดิ์ศรี

 

         ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

عَظِّمُوا أَقْدارَکُمْ بِالتَّغافُلِ عَنِ الدَّنِىِّ مِنَ الاُمُورِ

 

 “ท่านทั้งหลายจงทำให้เกียรติของพวกท่านสูงส่งขึ้นด้วยการไม่ใส่ใจต่อเรื่องต่างๆ ที่ต่ำต้อยไร้เกียรติ” (8)

 

        คำตอบของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต่อบุคคลหนึ่งที่ถามท่านว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ในสิ่งใด” ท่านตอบว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ในการที่เขาจะไม่แสดงความต้องการของตนเองต่อผู้อื่น”

 

        ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเช่นกันว่า  

 

عِزُّ المُؤمنِ غِنَاهُ عَن النَّاسِ

 

“เกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้ศรัทธานั้น คือ ความเพียงพอของเขาจาก (การพึ่งพาอาศัย) เพื่อนมนุษย์” (9)

 

       ทั้งนี้ เนื่องจากการขอและการแสดงความต้องการของตนเองต่อประชาชนเพื่อให้บรรลุและได้มาซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น คือความอัปยศอดสูและความต่ำต้อยไร้เกียรติ ท่านชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี กล่าวว่า “หากท่านจะแสดงความต้องการของตนเองต่อเพื่อนและมิตรสนิทนั้น ตราบที่มันไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติ ศักดิ์ศรีและสุขภาพจิตของตัวท่านเอง ก็ถือว่าไม่เป็นไร” (10)


ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรี

 

    การขอร้องและแสดงความต้องการต่อผู้อื่น : เป็นที่น่าเศร้าใจที่มนุษย์บางคน เพื่อที่จะขจัดความจำเป็นต่างๆ ในการดำเนินชีวิต และเพื่อสนองตอบผลประโยชน์ทางด้านวัตถุของตนเอง เขายอมที่จะแลกมันด้วยความต่ำต้อยและความเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ยอมเหยียบย่ำทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า เพื่อที่จะบรรลุสู่การมีชีวิตที่สะดวกสบายและการได้รับมาซึ่งปัจจัยทางโลกและผลประโยชน์ทางด้านทรัพย์สินเงินทองนั้น มนุษย์สามารถที่จะนำตนเองเข้าสู่ความอัปยศอดสูและความต่ำต้อยไร้เกียรติได้หรือไม่?

 

        คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนมากว่า

 


ساعَةُ ذُلٍّ لا تَفي بِعزّةِ الدَّهرِ

 

“ความต่ำต้อยไร้เกียรติเพียงชั่วโมงเดียว ไม่อาจชดเชยได้ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีชั่วกาลสมัย” (11)

 

    ความชั่ว : ความชั่วและการกระทำบาปจะมีผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของมนุษย์ เมล็ดพันธ์แห่งความต่ำต้อยไร้เกียรติและความไร้ศักดิ์ศรีจะถูกปลูกฝังอยู่ด้านในของมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะประกอบกรรมชั่วมากขึ้นเพียงใด ความต่ำต้อยไร้เกียรติและความอัปยศอดสูก็จะปรากฏในการดำรงอยู่ของเขามากขึ้นเพียงนั้น

 

       มนุษย์ที่รักเกียรติและศักดิ์ศรี ปรารถนาความผาสุกไพบูลย์และความสำเร็จในชีวิตนั้น เมื่อใดก็ตามที่เขาประสบกับความชั่วและการกระทำผิดบาปโดยรู้เท่าไม่ถึงกาล หรืออาจเกิดจากผลของการคบเพื่อนไม่ดีและปัจจัยต่างๆ ทางสังคม เขาจะต้องสำนึกและกลับเนื้อกลับตัวโดยเร็วที่สุด ด้วยกับความมุ่งหวังในความเมตตาและความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า เขาจะสารภาพผิด (เตาบะฮ์) และขออภัยโทษต่อพระองค์ เพื่อที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นออกจากการจมปักอยู่ในก้นบึ้งของความทุกข์ยากและการลงโทษ และจะฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตน

 

       ความกลับกลอก การตีสองหน้า การประจบสอพลอ การพูดโกหกและความโลภหลงในลาภยศสรรเสริญ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของปัจจัยที่จะนำไปสู่ความต่ำต้อยไร้เกียรติ

 

แหล่งอ้างอิง

 

1) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 74 หน้าที่ 413

2) ฆุรอรุลฮิกัม ฮะดีษที่ 4614 และ 4613

3) มุนตะฮัลอามาล หน้าที่ 54

4) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 78 หน้าที่ 453

5) ฆุรอรุลฮิกัม ฮะดีษที่ 4056

6) บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 67 , หน้าที่ 285

7) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ วิทยปัญญาที่ 109

8) ตุหะฟุลอุกูล , หน้าที่ 224

9) บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 75 หน้าที่ 109

10) ฟัลซะฟะฮ์ อัคลาก , หน้าที่ 9

11) ฆุรอรุลฮิกัม หน้าที่ 394


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ islamicstudiesth