เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

มนุษย์เราจะต้องดีกว่าสิ่งถูกสร้างทั้งหมด !!

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

มนุษย์เราจะต้องดีกว่าสิ่งถูกสร้างทั้งหมด !!

 

    มนุษย์” คือ สิ่งถูกสร้างที่ดีที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง จึงควรที่จะดีที่สุดในทุกๆ ด้าน การแสวงหาความดีสูงสุดดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ดีงามมาก แต่จำเป็นที่จะต้องรับรู้ว่าเราควรจะกระทำอย่างไร ถึงเราจะเป็นคนดีที่สุดตลอดไป

 

       ในช่วงที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น พระองค์ทรงเรียกตัวพระองค์เองว่า

[أَحْسَنُ الْخالِقِیْن] “ผู้สร้างที่ดีที่สุด” และทรงยกย่องตัวพระองค์เอง โดยตรัสว่า

 

فَتَبَارَكَ اللَّهُ أَحْسَنُ الْخَالِقِینَ

 

“ดังนั้นอัลลอฮ์ทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเลอเลิศที่สุดของบรรดาผู้สร้าง” (1)

 

       พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในรูปทรงที่ดีที่สุด สวยงามที่สุดและสมส่วนที่สุด โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

لَقَدْ خَلَقْنَا الْإِنْسَانَ فِيْ أَحْسَنِ تَقْوِیْمٍ

 

“โดยแน่นอนเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาในรูปร่างที่สวยงามสมส่วนที่สุด” (2)

 

       เป้าหมายของพระองค์ จากการสร้างชีวิตและความตายนั้น พระองค์ทรงแนะนำให้เรารู้ว่า เพื่อที่พระองค์จะทรงประจักษ์ถึงผู้ที่มีการกระทำ (อะมั้ล) ที่ดีที่สุดและสวยงามที่สุด โดยที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

 

الَّذِی خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَیَاةَ لِیَبْلُوَكُمْ أَیُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا وَهُوَ الْعَزِیزُ الْغَفُورُ

 

“พระผู้ทรงสร้างความตายและการมีชีวิต เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีการกระทำ (อะมั้ล) ที่ดีที่สุด และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ” (3)

 

      ดังนั้นเรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดทั้งหลาย และตามสำนวนแล้วเรียกว่า บนพื้นฐานของ «نِظَامُ الاَحْسَن» “ระบบที่ดีที่สุด” และพระองค์ทรงทำให้เราเข้าใจว่า เราจะต้องพยายามทำให้ทุกสิ่งของเราเป็นสิ่งที่ดีงามให้มากที่สุด (แต่คำว่า “ดีที่สุด”  ในที่นี้มิได้หมายถึง การแสวงความหรูหรา ความเลิศหรูและความฉาบฉวยในชีวิตแบบวัตถุนิยม มนุษย์สามารถมีชีวิตแบบเรียบง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นชีวิตที่ดีที่สุดได้) กล่าวคือ ความพยายามของเราจะต้องวางอยู่บนสิ่งเหล่านี้ที่ว่า

 

       (ก) อาหารของเราจะต้องเป็นสิ่งที่สะอาดที่สุด อัศฮาบุลกะฮ์ฟี่ (ชาวถ้ำ) ได้แสวงหาอาหารที่สะอาดที่สุด ในขณะที่พวกเขาส่งบุคคลหนึ่งไปเพื่อแสวงหาอาหาร พวกเขาได้กำชับสั่งเสียว่า

 

فَابْعَثُوا أَحَدَكُم بِوَرِقِكُمْ هَٰذِهِ إِلَى الْمَدِينَةِ فَلْيَنظُرْ أَيُّهَا أَزْكَىٰ طَعَامًا فَلْيَأْتِكُم بِرِزْقٍ مِّنْهُ

 

“ดังนั้นจงส่งคนหนึ่งในหมู่พวกท่านไปในเมือง พร้อมด้วยเหรียญเงินนี้ของพวกท่าน เพื่อเลือกดูอาหารที่สะอาดที่สุด และให้เขาซื้อกลับมาให้แก่พวกท่าน” (4)

 

       (ข) คำพูดของเราจะต้องเป็นคำพูดที่ดีงามที่สุด พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

وَقُل لِّعِبَادِی یَقُولُواْ الَّتِی هِیَ أَحْسَنُ

 

“และจงกล่าวแก่ปวงบ่าวของข้าให้พวกเขากล่าวแต่คำพูดที่ดีงามที่สุด” (5)

 

      และในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَمَنْ أَحْسَنُ قَوْلًا مِّمَّن دَعَا إِلَى اللَّهِ وَعَمِلَ صَالِحًا وَقَالَ إِنَّنِی مِنَ الْمُسْلِمِینَ

 

“และผู้ใดเล่าจะมีคำพูดที่ดีงามยิ่งไปกว่าผู้เชิญชวนไปสู่อัลลอฮ์ และเขาปฏิบัติการงานที่ดี และกล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่สวามิภักดิ์”

 

(อัลกุรอานบทฟุศศิลัตโองการที่ 33)

 

      (ค) ความอดทนของเราจะต้องเป็นความอดทนที่ดีที่สุด ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

 الصَّبْرُ صَبْرَانِ فَالصَّبْرُ عِنْدَ الْمُصِیبَةِ حَسَنٌ جَمِیلٌ وَ أَحْسَنُ مِنْ ذَلِكَ الصَّبْرُ عِنْدَ مَا حَرَّمَ اللَّهُ عَلَیْكَ

 

“ความอดทนนั้นมีสองประเภท คือความอดทนต่อความทุกข์ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและสวยงาม และที่ดีงามยิ่งไปกว่านั้น คือความอดทนอดกลั้นจากสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้ามท่าน” (6)

 

      (ง) การปฏิบัติที่ดีที่สุด ในอัลกุรอานบทอัลกะฮ์ฟ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

لِنَبْلُوَهُمْ أَیُّهُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا

 

“เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเป็นผู้มีการกระทำที่ดีที่สุด” (7)

 

       ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า จุดประสงค์จากคำว่า “การกระทำที่ดีที่สุด” มิได้หมายถึง “การกระทำที่มากที่สุด” ความมากของการกระทำ (อะมั้ล) ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ทว่าความดีงามของการกระทำคือสิ่งที่สำคัญ

 

       คราวนี้มีคำถามอีกว่า “การกระทำที่ดีงาม” (อะมั้ลซอและห์) นั้นคืออะไร?  ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

النَّاسُ أَبْنَاءُ مَا یُحْسِنُونَ

 

“ประชาชนนั้น เป็นลูกหลานของสิ่งที่เขาได้กระทำดี” (8)

 

บางส่วนจากสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการกระทำที่ดีงาม

 

    การเลือกการกระทำที่ยากลำบากที่สุด : คัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำถึงบรรดาผู้ศรัทธาและสาวกกลุ่มหนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยกล่าวว่า

 

اتَّبَعُوهُ فِی سَاعَةِ الْعُسْرَةِ

 

“พวกเหล่านั้นปฏิบัติตามเขา ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด” (9)

 

      ตัวอย่างเช่น คนเราบางครั้งจะมีความรักในผู้รู้ (อุละมาอ์) ท่านหนึ่ง ตราบที่ยังนมาซตามหลังท่านอยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ แต่หากผู้รู้ท่านนั้นออกคำสั่งให้ทำการต่อสู้ (ญิฮาด) ความรักที่เคยมีในตัวท่านผู้นั้นก็จะหมดไปจากเขา เนื่องจากไม่ชอบที่จะเผชิญกับความยากลำบากและความทุกข์ยาก ในขณะที่คัมภีร์อัลกุอานได้กล่าวว่า

 

لاَّ یَسْتَوِی الْقَاعِدُونَ مِنَ الْمُؤْمِنِینَ غَیْرُ أُوْلِی الضَّرَرِ وَالْمُجَاهِدُونَ فِی سَبِیلِ اللّهِ بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنفُسِهِمْ فَضَّلَ اللّهُ الْمُجَاهِدِینَ بِأَمْوَالِهِمْ وَأَنفُسِهِمْ عَلَی الْقَاعِدِینَ دَرَجَةً

 

“บรรดาผู้ศรัทธาที่นั่งนิ่งเฉยมิได้มีความเดือดร้อนใดๆ และบรรดาผู้ที่ต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ทั้งด้วยทรัพย์สินของพวกเขาและชีวิตของพวกเขานั้น ย่อมไม่เท่าเทียมกัน อัลลอฮ์ทรงประทานฐานันดรแก่บรรดาผู้ที่ต่อสู้ด้วยทรัพย์สินของพวกเขาและชีวิตของพวกเขา ให้เหนือกว่าบรรดาผู้ที่นั่งนิ่งเฉย” (10)

 

      ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

اَفْضَلُ الاعمالِ ما اَكْرَهْتَ نَفْسَكَ عَلَيْهِ

 

“การกระทำ (อะมั้ล) ที่ประเสริฐที่สุด คือสิ่งที่ท่านได้บังคับตนเองให้กระทำมัน” (11)

 

      ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

أَفْضَلُ الاعْمَالُ أَحْمَزُهَا

 

“การกระทำ (อะมั้ล) ที่ประเสริฐที่สุด คือ สิ่งที่ยากที่สุดของมัน” (12)

 

    การกระทำที่ดี คือการกระทำที่ตัวของผู้กระทำมองดูว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อย : บางครั้งคนเราเมื่อกระทำสิ่งๆ หนึ่ง เขาจะคิดว่างานของตนเองมีความสำคัญมาก การกระทำที่ดีนั้นคือการกระทำที่มีความสำคัญ แต่ตัวของผู้กระทำจะต้องไม่มองว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญและใหญ่โต

 

      ท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมา บุรูญัรดี ซึ่งเป็นผู้รู้และเป็นมัรเญี๊ยะอ์ตักลีดที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของท่าน บรรดาผู้รู้ (อุละมาอ์) ชั้นแนวหน้าส่วนใหญ่เป็นสานุศิษย์ของท่าน ในช่วงเวลาที่ท่านใกล้จะเสียชีวิต ท่านได้ร้องไห้ ประชาชนได้กล่าวกับท่านว่า “ท่านร้องไห้ทำไมหรือ” ท่านกล่าวว่า “ฉันกำลังจะกลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า แต่ทว่ามือของฉันยังว่างเปล่าอยู่เลย” ประชาชนได้กล่าวว่า “ท่านนั้นหรือมือว่างเปล่า! ในขณะที่ท่านอบรมขัดเกลาลูกศิษย์อย่างเช่น (ชะฮีด) มุเฏาะฮ์ฮะรี และบรรดาผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่ยอดเยี่ยมได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ของท่าน ท่านพิมพ์หนังสือมากมาย ท่านสร้างมัสยิดในกรุงแฮมเบิร์ก”

 

      ท่านกล่าวว่า “สิ่งทั้งหมดที่พวกท่านกำลังพูดถึงนั้น ในทัศนะของพวกท่านอาจจะดูเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้านั้นมันช่างเล็กน้อยเหลือเกิน ตัวอย่างเช่น เด็กที่หยอดเงินเหรียญลงในกระปุกออมสินของตนนั้น อาจจะมองว่าตนเองมีเงินมาก แต่สำหรับพวกท่าน หากต้องการจะซื้อพรมสักผืนหนึ่งด้วยเงินนั้น มันไม่มีค่าใดๆ เลย ดังนั้นหากเราต้องการที่จะให้อะมั้ล (การกระทำ) ของเราดีงาม เราจะต้องมองว่ามันช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน”

 

      สรุปก็คือว่า เราจำเป็นต้องวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้มากที่สุด เพื่อให้พระองค์ประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) แก่เรา ทำให้อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระองค์ของพวกเราเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุด

 

     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่หลงตนเอง และมองว่าการกระทำความดีและอิบาดะฮ์ของตนเองเป็นสิ่งที่ใหญ่โตและมีความสำคัญนั้น จะเป็นตัวทำลายคุณค่าของการกระทำที่ดีงามของตนเอง เงื่อนไขประการหนึ่งของความสมบูรณ์ของอิบาดะฮ์ คือการที่ผู้กระทำอิบาดะฮ์จะต้องไม่มองว่าอิบาดะฮ์ต่างๆ ของตนเองนั้นมากมายใหญ่โต และจะต้องไม่หลงตนเอง

 

      ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าในดุอาอ์ “มะการิมุ้ลอัคลาก” ไว้เช่นนี้ว่า

 

اللّهّمَّ عَبَّدْنی لَکَ و لاتُفْسِدْ عبادَتی بالعُجْبِ

 

“โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความสำเร็จในการเคารพภักดีต่อพระองค์แก่ข้าพระองค์ และอย่าทำลายอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) ของข้าพระองค์ ด้วยความหลงลำพองตน”

 

เชิงอรรถ :

 

[1] อัลกุรอาน บทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 14

 

[2] อัลกุรอาน บทอัตตีน โองการที่ 4

 

[3] อัลกุรอาน บทอัลมุลก์ โองการที่ 2

 

[4] อัลกุรอาน บทอัลกะฮ์ฟ์ โองการที่ 19

 

[5] อัลกุรอาน บทอัลอิสรออ์ โองการที่ 53

 

[6] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 68 หน้าที่ 94

 

[7] อัลกุรอาน บทอัลกะฮ์ฟี่ โองการที่ 7

 

[8] อัลกาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 50

 

[9] อัลกุรอาน บทอัตเตาบะฮ์โ องการที่ 117

 

[10] อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 95

 

[11] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ที่ 246

 

[12] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 70 หน้าที่ 191

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม