วิทยปัญญา ปัจจัยมุ่งสู่การมีบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม

วิทยปัญญา ปัจจัยมุ่งสู่การมีบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม

 

การมีบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม หมายถึงอะไร?

 

      บนพื้นฐานคำสอนของอิสลาม มนุษย์เราจำเป็นต้องวิงวอนขอความต้องการต่างๆ ทั้งหมดของตนเองจากพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งต้องการและปัจจัยจำเป็นทั้งหลายในชีวิตนั้นจะต้องไม่พึ่งพิงอยู่ที่สื่อทางภายนอกเพียงอย่างเดียว  แม้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานเนี๊ยะอ์มัตและปัจจัยต่างๆ ให้แก่ปวงบ่าวโดยผ่านสื่อก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสกับมูซา (อ.) ว่า :

 

يَا مُوسَى سَلْنِي كُلَّمَا تَحْتَاجُ إِلَيْهِ حَتَّى عَلَفَ شَاتِكَ وَ مِلْحَ عَجِينِكَ

 

“โอ้มูชาเอ๋ย! จงวิงวอนขอข้าในทุกสิ่งที่เจ้ามีความต้องการต่อมัน แม้แต่หญ้าของแกะของเจ้า และเกลือของแป้งนวดของเจ้า” (1)

 

      ในซูเราะฮ์ (บท) อัลบะกอเราะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้เช่นกันว่า :

 

وَ إِذا سَأَلَكَ عِبادی عَنِّی فَإِنِّی قَریبٌ أُجیبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذا دَعانِ فَلْیَسْتَجیبُوا لی‏ وَ لْیُؤْمِنُوا بی‏ لَعَلَّهُمْ یَرْشُدُونَ

 

“และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้า (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วอนขอ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อข้า ดังนั้นพวกเขาจงตอบรับข้า และจงศรัทธาต่อข้าเถิด เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง“(2)

 

      ดังนั้นได้ถูกกำชับแนะนำแก่เราว่า ให้เราวิงวอนขอต่อพระองค์ในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เล็กที่สุดไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ที่สุด และจำเป็นที่เราจะต้องรับรู้ถึงประเด็นที่สำคัญที่ว่า ความต้องการและการวิงวอนขอของเราต่อพระเจ้านี้ ก็เป็นเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่คนเราส่วนใหญ่มักจะหลงลืม

 

เนียะอ์มัต (ความโปรดปราน) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

 

      เนียะอ์มัต (ความโปรดปราน) และสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์คือ ความมีศาสนา ความศรัทธาและการมีปรโลก (อาคิเราะฮ์) ที่สมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นที่เราจะต้องวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้สิ่งนี้อยู่คงคู่กับเราไปจวบจนบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตของเรา อย่าให้ความศรัทธาและศาสนาได้ถูกทำลายลงไปจากหัวใจของเราและทำให้เรากลายเป็นผู้มีจุดจบที่ไร้ซึ่งศาสนาและพบกับความอัปยศทั้งในชีวิตทางโลกนี้และในปรโลก

 

      โดยแท้จริงแล้วไม่มีใครจะรู้ได้ว่าบั้นปลายสุดท้ายของเขาจะจบลงอย่างไร? โลกนี้คือสถานที่แห่งการทดสอบ เราได้ยินและได้อ่านอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องราวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า “ฮุร บินยะซีด อัรริยาฮี” คือบุคคลแรกที่ได้ปิดกั้นน้ำจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) แต่เขาเองก็เป็นบุคคลแรกที่จบชีวิตและเป็นชะฮีดลงในหนทางของการพิทักษ์ปกป้องท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในทำนองเดียวกัน "อุมัร บินซะอัด" ก็เป็นคนแรกที่เขียนถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) และเชิญท่านไปยังเมืองกูฟะฮ์ แต่เขาเองกลับเป็นคนแรกที่ยิงธนูไปยังท่าน! ดังนั้นด้วยกับทุกการทดสอบที่เราจะเผชิญนั้น อาจทำให้เราเบี่ยงเบนและเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยไม่มีหลักประกันและความแน่นอนใดๆ

 

ดุอาอ์ (การวิงวอน) สำหรับการมีบั้นปลายชีวิตที่ดี

 

      การวิงวอนขอให้มีจุดจบและบั้นปลายชีวิตที่ดีในยุคของการเร้นกายที่ยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์ กุบรอ) และยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) นั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และได้ถูกเน้นย้ำในเรื่องนี้ และได้มีการกำชับสั่งเสียว่าในยุคที่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและวิกฤตการณ์อันเลวร้ายได้ปกคลุมเหนือโลกนี้ จงวิงวอนขอดุอาอ์ให้มากเพื่อการมีบั้นปลายชีวิตที่ดีของตัวพวกท่านเอง ของครอบครัวของพวกท่าน ของบรรดาเยาวชนและเครือญาติใกล้ชิดของพวกท่าน

 

      มัรฮูมอายะตุลลอฮ์ชะฮาบุดดีน อัชรอกี (บุตรเขยของท่านอิมามโคมัยนี ร.ฮ.) ได้เล่าว่า  พวกเราได้เดินร่วมทางไปกับท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ท่านได้กล่าวกับฉันว่า : “ถ้าหากดุอาอ์เพียงอย่างเดียวที่จะถูกตอบรับแก่เจ้า เจ้าจะขออะไร?” ฉันกล่าวว่า: “ท่านเป็นผู้ถามคำถามนี้ ขอให้ตัวท่านเป็นผู้ตอบคำถามนี้เถิด!” ท่านอิมาม (ร.ฮ.) ได้ตอบว่า : “การมีจุดจบที่ดีงาม"

 

       การมีจุดจบที่ดีงามนี้ มีสองความหมาย หนึ่งในความหมายของมันก็คือว่า เราจะวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่าให้เราได้พบกับความอัปยศอดสูหลังจากที่เราได้รับเกียรติศักดิ์ศรี  เป็นเรื่องเจ็บปวดอย่างมากที่คนเราเคยมีเกียรติศักดิ์ศรี มีเกียรติศักดิ์ศรีทางครอบครัวและวงศ์ตระกูล แต่ต่อมาต้องประสบกับความอัปยศอดสูทางด้านร่างกาย (เช่น เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ)  หรือชื่อเสียง จำเป็นจะต้องวิงวอนขอดุอาอ์ อย่าให้ได้ประสบกับสิ่งนี้ เนื่องจากความต่ำต้อยไร้เกียรติและความจำเป็นนั้น เป็นการตายผ่อนส่งที่มาพร้อมกับความอัปยศอดสู ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการเน้นย้ำให้วิงวอนขอว่า :

 

اللّهم اجعَل عَاقِبَة أمرِنا خیرًا

 

“โอ้อัลลอฮ์ โปรดทำให้บั้นปลายของกิจการงานของข้าพระองค์ดีงามด้วยเถิด”

 

       ความหมายที่สองของคำว่า “การมีบั้นปลายสุดท้ายที่ดีงาม” นั้น ก็คือการที่คนเราจะสามารถนำพาศาสนาและอีหม่าน (ความศรัทธา) ของตนไปยังอาลัมบัรซัคและวันแห่งการฟื้นคืนชีพในปรโลกให้ได้ ชัยฏอน (มาร้าย) และไพร่พลของมันพยายามอย่างมากมายที่จะเอาศาสนาและอีหม่าน (ความศรัทธา) ไปจากมนุษย์ และจะเป็นสื่อทำให้มนุษย์จากโลกนี้ไปในสภาพที่ไร้ศาสนา ไร้ความศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่สามารถขัดเกลาตนและไม่สามารถทำลายลักษณะนิสัยที่ต่ำทรามของตนเองให้หมดไปได้ ในสภาพการณ์เข่นนี้มันจะถูกปลุกปั่นและทำให้มนุษย์กลายเป็นคนไร้ศรัทธาและไร้ศาสนา บางคนอาจเป็นไปได้ถึงขั้นที่ว่า ในช่วงลมหายใจสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา เขาจะปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง

 

       มีให้เห็นไม่น้อย บรรดาบุคคลที่เป็นผู้เคร่งครัดศาสนา นมาซตะฮัดญุดเป็นประจำ ปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อกำหนดบังคับ (วาญิบ) ทางศาสนาอย่างสมบูรณ์ แต่ขาดการขัดเกลาจิตใจของตน ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในศาสนา ที่เรียกว่า “บะซีเราะฮ์” ท้ายที่สุด ด้วยกับความเคลือบแคลงสงสัย (ชุบฮะฮ์) บางอย่าง หรือด้วยกับคำพูดโน้มน้าวที่ทำให้เกิดความหลงผิดของผู้รู้ศาสนาที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสนองตอบผลประโยชน์ทางวัตถุของตน ทำให้เขาเบี่ยงเบนออกจากทางนำที่ถูกต้อง หรือปฏิเสธหลักความเชื่อทั้งหมดลง ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงมีการเรียกร้องจากชาวชีอะฮ์ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) ว่า เพื่อที่จะรักษาศาสนาและอีหม่าน (ความศรัทธา) ของตนเองไว้ให้ได้นั้น ให้พวกเขาวิงวอนขอ “ดุอาอ์ อัลฆอรีก” เป็นประจำว่า:

 

یَا اللَّهُ یَا رَحْمَانُ یَا رَحِیمُ یَا مُقَلِّبَ الْقُلُوبِ ثَبِّتْ قَلْبِی عَلَى دِینِك‏

 

“โอ้อัลลอฮ์ โอ้ผู้ทรงเมตตา โอ้ผู้ทรงปรานี โอ้ผู้ทรงพลิกผันดวงใจทั้งหลาย ได้โปรดทำให้หัวใจของข้าพระองค์มั่นคงอยู่บนศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด” (3)

 

      คนเราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่าให้ตนเองได้ประสบกับพายุร้ายและการโหมกระหน่ำของความเคลือบแคลงสงสัย และจะต้องวิงวอนขออยู่ตลอดเวลาให้ตนเองปลอดภัยและมีจุดจบที่ดีงามด้วย “ดุอาอ์ อัลฆอรีก” นี้

 

คำพูดสุดท้าย :

 

     บางทีฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ประการหนึ่งของเรื่องราวของอิบลีสในคัมภีรัลใกุรอานนั้น ก็คือ เราจะต้องรับรู้ว่า เราจะต้องไม่ไว้วางใจแค่เพียงอิบาดะฮ์และการทำความดีต่างๆ ของเราเพียงเท่านั้น เราจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อเราต้องการที่จะวิงวอนขอดุอาอ์ สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องวิงวอนขอนั่นคือ “การมีบั้นปลายและจุดจบที่ดีงาม” และควรที่จะวิงวอนขอดุอาอ์กุนูตในนมาซ ด้วยโองการนี้อยู่เสมอว่า:

 

رَبَّنَا لاَ تُزِغْ قُلُوبَنَا بَعْدَ إِذْ هَدَیْتَنَا وَهَبْ لَنَا مِن لَّدُنك رَحْمَةً إِنَّك أَنتَ الْوَهَّابُ

 

“โอ้พระผู้อภิบาลของพวกเรา! โปรดอย่าให้หัวใจของพวกเราเอนเอียง หลังจากที่พระองค์ได้ทรงนำทางแก่พวกเราแล้ว และโปรดทรงประทานความเมตตา จาก ณ พระองค์ให้แก่พวกเราด้วยเถิด แท้จริงพระองค์ คือผู้ทรงประทานให้อย่างมากมาย” (4)

 

     ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งได้กล่าวว่า ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เขียนจดหมายถึงชายคนหนึ่งว่า :

 

إِنْ أَرَدْتَ أَنْ یُخْتَمَ بِخَیْرٍ عَمَلُكَ حَتَّى تُقْبَضَ وَ أَنْتَ فِی أَفْضَلِ الْأَعْمَالِ فَعَظِّمْ لِلَّهِ حَقَّهُ أَنْ [لَا] تَبْذُلَ نَعْمَاءَهُ فِی مَعَاصِیهِ وَ أَنْ تَغْتَرَّ بِحِلْمِهِ عَنْكَ وَ أَكْرِمْ كُلَّ مَنْ وَجَدْتَهُ یَذْكُرُنَا أَوْ یَنْتَحِلُ مَوَدَّتَنَا ثُمَّ لَیْسَ عَلَیْكَ صَادِقاً كَانَ أَوْ كَاذِباً إِنَّمَا عَلَیْكَ نِیَّتُكَ وَ عَلَیْهِ كَذِبُهُ

 

“หากท่านต้องการให้การงานของท่านจบลงด้วยความดีงาม จนกระทั่งท่านจะถูกเอาชีวิตไปในสภาพที่อยู่ในการงานที่ดีที่สุดแล้ว ดังนั้นท่านก็จงให้ความสำคัญต่อสิทธิของอัลลอฮ์ โดยที่ท่านจะไม่ใช้จ่ายเนี๊ยะอ์มัตต่างๆ ของพระองค์ไปในการละเมิดฝ่าฝืนพระองค์ และท่านจะไม่หลงลำพองต่อความอดทนอดกลั้นของพระองค์ จาก (การละเมิดฝ่าฝืนของ) ท่าน และจงให้ให้เกียรติต่อทุกคนที่ท่านพบเห็นเขากล่าวถึงเรา หรือกล่าวอ้างความรักต่อเรา แล้วก็ไม่จำเป็นที่เจ้าจะต้องรู้ว่าเขาเป็นผู้พูดจริงหรือเป็นผู้มดเท็จ อันที่จริงท่านมีหน้าที่ปฏิบัติตามความตั้งใจ (เหนียต) ของท่าน และจงปล่อยเขาให้อยู่กับความมดเท็จของเขา” (5)

 

แหล่งที่มา :

 

(1)- วะซาอิลุชชีอะฮ์, ฮุร อัลอามิลี, เล่มที่ 7, หน้าที่ 32

(2)- อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 186

(3)- บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 148

(4)- อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 8

(5)- มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 12, หน้าที่ 142


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ