นักปรัชญามุสลิมกับกระบวนทัศน์หลังนวยุค

นักปรัชญามุสลิมกับกระบวนทัศน์หลังนวยุค


บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

 

โลกวิทยาการและศาสตร์ต่างๆในปัจจุบันดูจะวิวัฒนาการและนำไปสู่ความก้าวหน้ามากทีเดียว แต่ศาสตร์ปรัชญาได้แปรเปลี่ยนรูปแบบและอัตลักษณ์ อีกทั้งบางสาขาของปรัชญาได้ถูกยกเลิกไม่นำมาศึกษา หรือบางลัทธิปรัชญาแบบเดิม แบบโบราณที่เคยร่ำเรียนกันกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว ปรัชญาที่เรียนกันในรั้วมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นปรัชญาเชิงประยุกต์ เช่นปรัชญาการเมือง ปรัชญาสังคม ปรัชญาจริยะ และถ้าปรัชญาบริสุทธิ์มีอยู่บ้างก็จะเป็นวิชาเลือกเสรี  ดังนั้น นี่คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับปรัชญา

 

หนึ่งจากสาเหตุดังกล่าว คือ การนำเสนอปรัชญาให้มีความคลุมเครือของเนื้อหาและการนิยามของปรัชญาที่ดูแล้วทำให้น่าเบื่อ และทำให้ศาสตร์ปรัชญาถูกนำเสนอในทางลบตลอดมาและสร้างความน่าเบื่อให้กับนักศึกษามาเป็นเวลายาวนานทีเดียว และจากสาเหตุการนิยามปรัชญาที่ดูค่อนข้างจะไม่กระจ่างหรือไม่ตรงประเด็นจึงทำให้นักวิชาการและนักศึกษาเห็นว่าการเรียนปรัชญาเป็นเรื่องของการเสียเวลาหรือเมื่อดูเนื้อหาแล้วเป็นศาสตร์ที่จับต้องไม่ได้ เป็นรูปแบบที่ค่อยข้างจะให้ประโยชน์ในทางปฎิบัติน้อย อีกทั้งเป็นเนื้อหาเสมือนเป็นยาเสพติดทางปัญญาหรือเป็นเรื่องของมโนคติ การเพ้อฝันอะไรทำนองนั้น

 

ความจริงแล้ว การสนอกสนใจต่อปรัชญาถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์และถือว่าเป็นการตอบสนองสัญชาตญาณบริสุทธิ์ที่ได้ถูกสร้างมา เพราะว่าดังคำกล่าวของอริสโตเติล(Aristotle 384-322B.C.)  “มนุษย์เป็นสัตว์แห่งปัญญา” เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาความรู้และมีสัญชาตญาณบริสุทธิ์แห่งการค้นคว้า การใช้ความคิดและการเพ่งพินิจ  แต่เนื่องจากคนเราส่วนมากจะอยู่กับการสัมผัสรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า เลยคิดว่าการใช้ความคิดหรือการใช้หลักปรัชญาระดับสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติและคิดว่าผู้เรียนปรัชญาเป็นผู้ที่งมงายไปไม่ถึงไหน ดังที่นักสังคมวิทยาตะวันตกชื่อดัง ออคุส กอมส์(Auguste Comte 1798-1857) เป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เป็นบิดาของลัทธิปฎิฐานนิยม (Positivism) ได้กล่าวว่า การเจริญเติบโตของจิตมนุษย์และการพัฒนาทางด้านจิตนั้นมี ๓ ระดับ คือ


ระดับศาสนา(Theological stage)


ระดับอภิปรัชญา(Metaphysical stage)


ระดับปฎิฐาน(positivise stage)

 

ออคุส คอมส์ (Auguste Comte) ถือว่า ระดับของศาสนาเป็นระดับที่ต่ำสุดและอยู่ในระดับของความงมงาย ส่วนที่ดีขึ้นมาหน่อยหนึ่งคือระดับอภิปรัชญา และระดับวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นระดับที่ดีเลิศและระดับสูงสุดของมนุษย์


จากการวิเคราะห์แล้ว จะเห็นว่าสรรพสัตว์ต่างๆนั้นใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้หรือใช้สัญชาตญาณที่มาจากการสัมผัสภายนอก ส่วนมนุษย์นั้นจะใช้หลักคิดทางสติปัญญาใช้เหตุผลในการสรุปหรือในการกระทำ ซึ่งในบางครั้งบางคราวมนุษย์ก็จะใช้ประสบการณ์ในการตัดสินและการรับรู้ แต่ด้วยการวิจักษ์แล้วประสบการณ์นั้นจะให้ความรู้แค่เพียงส่วนย่อยที่เขาได้รับประสบการณ์มาเท่านั้น แตกต่างกับการใช้ปัญญา การใช้หลักคิดทางปรัชญาจะให้ความรู้ที่เป็นสากล  ดังนั้น ปรัชญาและหลักคิดเชิงปรัชญาจึงไม่รวมศาสตร์ต่างๆที่มาจากการทดลองหรือมาจากประสบการณ์หรือเป็นองค์ความรู้ที่มาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า และเช่นเดียวกันในศาสตร์หรือวิทยาการเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือศาสตร์เกี่ยวกับการธุรกิจ การตลาด การบริหารจัดการในองค์กรไม่ถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา

 

ปรัชญา คือ วิชาว่าด้วยการสืบค้นหาความจริงด้วยเหตุผลหรือหาสาเหตุหลักของสิ่งที่มีอยู่และการรู้จักสารัตถะและความจริงของสิ่งที่มี ดังนั้น ศาสตร์ปรัชญาจึงมีเนื้อหาที่กว้างไม่เฉพาะอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นหลักสากล เช่น เนื้อหาเรื่องกฎเหตุและผล  ความจริงมีอยู่จริงไม่ใช่มายา  โลกสสาร โลกอสสาร  อะไรคือความจริงสูงสุด ชีวิต   พระเจ้า เทพเจ้าและอื่นๆ และนักวิชาการได้แบ่งประเภทปรัชญาไว้ดังนี้


1.ปรัชญาบริสุทธิ์ หมายถึง การศึกษาปรัชญาที่เป็นเนื้อหาสาระของปรัชญาโดยตรง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการอื่นๆ ทั้งนี้ โลกตะวันตกแบ่งปรัชญาออกเป็นสามสาขา ยึดเนื้อหา ปัญหาพื้นฐาน เป็นหลักได้แก่


1.1 อภิปรัชญา Metaphysics อะไรคือความจริง?


1.2 ญาณวิทยา Espistemology เรารู้ความจริงได้อย่างไร?


1.3 คุณวิทยา อัคฆวิทยา Axiology ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า โดยแยกได้สองประเภท คือ


ก. จริยศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินการกระทำว่าดีหรือไม่


ข. สุนทรียศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินความงาม มีการศึกษาโดยแบ่งเป็นยุคต่าง ๆ ขึ้นกับว่าในยุคสมัยนั้น ๆ “ประเด็นร้อน” หรือความสนใจของประชาชนในสมัยนั้น อยู่ที่ปัญหาเรื่องอะไร?


 ความจริง ความรู้ คุณค่า ดังนั้น จึงต้องศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาเพื่อศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ตามหลักเหตุผล” ของแต่ละยุค


2 .ปรัชญาประยุกต์ หมายถึง การนำปรัชญาบริสุทธิ์ไปประยุกต์ใช้ตอบปัญหาโดยยึดการตอบสนองความปรารถนาที่จะรู้ของมนุษย์ ที่ปรารถนารู้ “หลักการ” เพื่อนำไปปฏิบัติ หรือปรารถนาที่จะรู้ “พื้นฐาน” เพื่อนำไปเป็นแนวทางตอบปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ได้แก่ ปรัชญาการเมือง ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาจริยะและอื่นๆ

 


ปรัชญาอิสลามกับอัตลักษณ์

 

จากการวิวัฒนาการของปรัชญาอิสลามจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปรัชญาอิสลามมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจนมากขึ้นและมีประเด็นปัญหาที่นำมาพูดคุยในรายละเอียดและเนื้อหาที่กว้างขึ้น กล่าวคือ ปรัชญาอิสลามนอกจากจะทำหน้าที่แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาภายในทางปรัชญาเองแล้ว ก็ยังมีบทบาทหน้าที่ในการโต้ตอบหรือวิพากษ์หลักปรัชญาอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรือรูปแบบ หรือวิธีการ และยังต้องวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ของปรัชญา และนำบทบาทของตรรกวิทยาเข้าผสมผสานกับปรัชญาหรือนำญาณวิทยาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนในที่สุดได้ผลผลิตปรัชญาในรูปแบบที่ทันสมัยกว่าและดีกว่ากับรูปแบบในอดีต และปรัชญาอิสลามได้วิวัฒนาการสืบค้นไปสู่ประเด็นปัญหาทางปรัชญาที่เป็นข้อด้อย ปรับเปลี่ยนเป็นจุดแข็ง

 

อีกประเด็นที่เป็นจุดแข็งของปรัชญาอิสลาม คือ การสืบค้นหาหลักบูรณาการทั้งทางศาสตร์ทฤษฎีและทางปฎิบัติที่จะให้เกิดผลสะท้อนในเชิงบวกทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ ทางจิตวิทยา หรือทางประวัติศาสตร์ หรือบางครั้งปรัชญาอิสลามได้ถูกนำเสนอมาในบริบททางการเมืองและสังคมด้วย เช่นตัวอย่างท่านมุลลา ศอ็ดรอ(Mulla Sadra) เจ้าสำนักปรัชญาสูงส่ง (Hikmatulmotahaliyah) ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยการปกครองราชวงศ์ซาฟาวียะฮ์ (Zafaviyah) แนวคิดทางปรัชญาอิสลามก็จะถูกนำเสนอไปตามบริบทนั้นอย่างลงตัวและสร้างคุณูประการอย่างยิ่งใหญ่ต่อสังคมมุสลิมในยุคนั้นและในยุคต่อมา

 

จากบริบททางประวัติศาสตร์และการวิวัฒนาการของปรัชญาอิสลามทำให้รูปแบบทางปรัชญาก็ปรับเปลี่ยนไปในวิธีการที่เข้มแข็งและดูจะแข็งแรงยิ่งขึ้น กล่าวคือ ถ้าเรามองภาพรวมเราจะเห็นว่าปรัชญาอิสลามเหมือนปรัชญาอื่นๆทั่วไป มีรูปแบบที่คล้ายกัน คือเป็นศาสตร์ทางความคิด ต้องใช้การเพ่งพินิจทางสติปัญญาในเชิงลึก มีมุมมองที่เข้าถึงปัญหาและสารัตถะของสสารหรือสิ่งที่อยู่เหนือสสาร เป็นรูปแบบที่กล่าวคล้ายๆกันในลัทธิต่างๆทางปรัชญาทั้งปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก และในรูปแบบนี้ไม่ค่อยมีอะไรเป็นพิเศษนัก เพราะผู้สนใจปรัชญาต่างรับรู้และเข้าใจดี

 

ส่วนวิธีและรูปแบบเฉพาะและความเป็นพิเศษของปรัชญาอิสลาม ควรแก่การสืบค้นและแสวงหาความเข้าใจเพื่อจะเข้าถึงและรู้จักปรัชญาอิสลามในบริบทกระบวนทัศน์ใหม่และเป็นแรงจูงใจให้นำเสนอปรัชญาที่ไม่ใช่แค่เพียงกล่าวถึงวาทกรรมของนักปรัชญาในอดีตสมัยเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของศาสตร์นี้อย่างน่าที่จะเป็นและความเป็นอัตลักษณ์ของศาสตร์นี้ได้อย่างถูกต้อง

 

ปรัชญาอิสลามเริ่มต้นด้วยวิธีการอธิบายและแจกแจงให้ความเข้าใจพื้นฐานของปรัชญาภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์จากท่านกินดีย์(Kindi)เป็นนักปรัชญามุสลิมคนแรก ของโลกอาหรับ จนได้ฉายาว่า “นักปรัชญาอาหรับ”จนถึงปัจจุบัน ได้เสนอรูปแบบการสาธยายหรืออธิบายโครงสร้างเดิมของปรัชญากรีกโบราณเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะอธิบายหรือขยายความแนวคิดทางปรัชญาของอริสโตเติล หรือเพลโต ซึ่งผลกระทบและอิทธิพลปรัชญากรีกโบราณต่อปรัชญาอิสลามในช่วงแรกเริ่มเป็นผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ดังนั้น ผลการตรวจสอบวาทกรรมทางปรัชญาของนักปรัชญามุสลิมระดับแนวหน้า ไม่ว่าท่านกินดีย์ ท่านฟารอบีย์ หรือท่านอิบนุสีน่า ได้รับอิทธิพลรูปแบบและแนวคิดทางปรัชญากรีกโบราณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่กล่าวว่าผลกระทบนั้นมิได้หมายความว่านักปรัชญามุสลิมรับแนวคิดหรือรูปแบบปรัชญากรีกมาเต็มร้อย หรือผลกระทบนั้นเป็นผลกระทบในเชิงลบ เพราะว่ากระบวนการคิดเชิงปรัชญาแท้จริงแล้วไม่มีพรมแดน ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน  ไม่มีอนาคต เพียงแต่การใช้ความคิดและการเพ่งพินิจโดยกระบวนการทางปรัชญาจะปริดอกและเจริญก้าวไปไปแค่ไหน อย่างไรมากกว่า

 

ปรัชญาอิสลามได้เดินทางมาเป็นระยะเวลาได้ศตวรรษและผ่านสำนักคิดทางปรัชญามากมาย ไม่ว่าสำนักมัชชาอียะฮ(Mashaiyah)  สำนักอิชรอกียะฮ (Israkiyah) สำนักฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ์ (Hikmatulmotahaliyah) และสำนักย่อยๆอีกมากมาย เป็นการบ่งชี้ว่าปรัชญาอิสลามได้เดินทางมาด้วยวิธีการและรูปแบบที่เข้มแข็งขึ้นทุกวันและกำลังมุ่งทยานไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด โดยผ่านกระบวนทัศน์แต่ละยุคแต่ละสมัย ดังนั้น ปรัชญาอิสลามก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หรือเป็นปรัชญาที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณท์ แล้วผู้สนใจทางปรัชญาเรียนรู้ในเชิงประวัติปรัชญาเท่านั้น

 

ปรัชญาอิสลามได้ฉายแสงแห่งศาสตร์ปรัชญาอย่างน่าทึ่งและโดดเด่น ไม่มีวันตาย เป็นการเพ่งพินิจใช้ความคิดจากระดับหนึ่งสู่อีกระดับหนึ่งเพื่อทยานไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด เป็นรูปแบบเชิงพิพากษาและตรวจสอบวาทกรรมทางปรัชญาทั้งภายในและภายนอก เรียนรู้ประวัติปรัชญาเพื่อเข้าถึงบริบททางปรัชญา ใช้หลักตรรกะเป็นเครื่องมือควบคู่กับหลักปรัชญาอย่างเกื้อกูลกันและกัน นั่นหมายความว่านักปรัชญามุสลิมได้นำทฤษฎีทางปรัชญามาอธิบายและแจกแจงประเด็นปัญหาโดยรูปแบบทางปรัชญาและรูปแบบทางตรรกวิทยาด้วย

 

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ปรัชญาเพร่งประกายและมีชีวิตชีวาขึ้น ก็คือจากสัญชาตญาณบริสุทธิ์(ฟิตเราะฮ์)ของมนุษย์ที่ถูกสร้างมาให้มีความคิด ดังที่อริสโตเติล(Aristotle 384-322B.C.) ได้กล่าวว่า“มนุษย์เป็นสัตว์รู้คิด” (Man is a thinking animal) ดังนั้น ปรัชญาไม่ใช่สิ่งที่เกิดใหม่หรือสิ่งที่มนุษย์พึ่งจะค้นพบ เพราะว่าปรัชญาคือการใช้ความคิด และมนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้คิด ดังนั้นมนุษย์เป็นสัตว์ปรัชญา

 

อริสโตเติล (Aristotle 384-322B.C.) ได้แบ่งวิญญาณของมนุษย์ออกเป็นสองส่วน หนึ่งส่วนที่มีเหตุผล(Rational part) กับส่วนที่ไร้เหตุผล (irrational part) และส่วนที่ไร้เหตุผลแบ่งออกเป็นส่วนที่เป็นวิญญาณพืชและวิญญาณสัตว์ ซึ่งส่วนสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการรู้สึก การมีสัญชาตญาณและอื่นๆและสองส่วนนี้มนุษย์และสัตว์มีเหมือนกันและร่วมกัน เพียงแต่แตกต่างในความเข้มและความบางของรายละเอียดนั้น และส่วนที่ต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์อยู่ตรงที่มนุษย์มีกิจกรรมทางปัญญาอันมาจากวิญญาณที่มีเหตุผล มีชื่อเรียกว่า “ปัญญาหรือเหตุผล” (reason or intellect) และปัญญานี้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องรู้จักการคิด

 

ดังนั้น มูลเหตุสำคัญของการเกิดปรัชญาหรือพลังแห่งปรัชญา คือ การคิด ซึ่งเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่มีกิจกรรมทางปัญญา ดังนั้น มนุษย์จึงมีวิญญาณทั้งสาม ดังนี้


ก.วิญญาณพืช คือมนุษย์มีการเคลื่อนไหว มีการกินอาหาร หายใจ เจริญเติบโตเช่นเดียวกับพืช
ข.วิญญาณสัตว์ คือมนุษย์มีอารมณ์มีความรู้สึกต่างๆ และมีความอยาก มีความใคร่เช่นเดียวกับสัตว์
ค.วิญญาณปัญญา คือมนุษย์มีกิจกรรมทางปัญญา มีการคิดและการใช้ความคิด ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี

 

ปรัชญาจึงเป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะเพราะมันเกี่ยวกับวิญญาณส่วนที่สาม ส่วนที่มีเหตุผลและเป็นวิญญาณที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์และพืช และยังให้คุณค่าแก่ความเป็นมนุษย์เหนือกว่าสัตว์เพราะมีวิญญาณแห่งปัญญาและเหตุผลนั่นเอง

 

หากพิจารณาจากยุคสมัยต้นๆของการกำเนิดปรัชญาอิสลาม และประวัติปรัชญามุสลิม จะพบว่านักปรัชญามุสลิมเปิดความคิดและยอมรับกระบวนการทางความคิดของต่างชาติและเห็นว่าการนำเสนอแนวคิดทางปรัชญาไม่ใช่เป็นเรื่องของชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติและศาสนาและนักปรัชญามุสลิมพยายามจะหลีกเลี่ยงความเป็นชาตินิยมทางความคิดโดยที่พวกเขาพยายามหาโอกาสในการสนทนาแลกเปลี่ยนวิชาการพร้อมกับพูดคุยถึงแนวคิดทางปรัชญาของกันและกัน เช่นท่านอบูอิสฮากอัลกินดีย์(Abu-Ishakh Al-Kindi)เป็นนักปรัชญามุสลิมที่นิยมในปรัชญาของอริสโตเติลเป็นอย่างมาก หรือท่าน อัลฟาอรอบีย์ (Al-Farabi)  ท่านอเวน ซีนา (Aven cina)  และถ้าสืบค้นไปสมัยก่อนหน้านั้นที่ปรัชญาอิสลามเริ่มก่อตัวในสมัยการปกครองของราชวงศ์บะนีอับบาส (Abbaziyah) ชาวมุสลิมยินดีที่จะรับแนวคิดปรัชญาแบบกรีกโบราณหรือแบบตะวันออก โดยปราศจากการปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของเพลโต อริสโตเติล หรือนักปรัชญาคนอื่นๆ ตลอดจนทำให้ความความสนอกสนใจต่อศาสตร์ปรัชญาได้ทวีคูณมากยิ่งขึ้นในสมัยนั้น หรือแม้แต่ศาสตร์อื่นๆที่มาจากจีนหรืออินเดีย ก็ได้รับการขานรับจากปราชญ์มุสลิมเป็นอย่างดี และจนถึงปัจจุบันนี้การศึกษาด้านปรัชญาในแวดวงของมุสลิมยังได้ศึกษาแนวคิดต่างๆทางปรัชญามีสาขาปรัชญาตะวันตกสาขาปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาเปรียบเทียบในมหาวิทยาลัยอิสลามและการสนทนาหรือการเสวนาทางความคิดของนักปรัชญามุสลิมกับนักปรัชญาที่ไม่ใช่มุสลิมมีมาทุกยุคทุกสมัยและจากบริบทดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าปรัชญาอิสลามยอมรับในกระบวนที่ห้าหรือเรียกว่ากระบวนทัศน์หลังนวยุคอีกทั้งได้บูรณาการจากองค์ความรู้ด้านปรัชญาและแนวทางของนักปรัชญาที่เป็นคำสอนของอิสลามให้รู้จักการให้เกียรติผู้อื่นไม่ยึดมั่นถือมั่นพร้อมที่จะสรรสร้างความถูกต้องและความสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้

 

อิสลามวันนี้ที่ได้ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวโลกมองแนวคิดอิสลามหรือโลกทัศน์อิสลามในเชิงลบหรือมองว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งชาตินิยมหรือเป็นศาสนาที่นิยมในความรุนแรงหรือกล่าวหาที่ร้ายแรงกว่านั้นคือเป็นศาสนาแห่งการก่อการร้าย ทั้งนี้ทั้งนั้นข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านผู้อ่านที่เคารพได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าแท้จริงปรัชญาอิสลามและวิถีของนักปรัชญามุสลิมจากอดีตสมัยจนถึงปัจจุบันมีกระบวนทัศน์ห้า นั่นคือการยอมรับในความต่างและความหลากหลายของวิธีคิดและรูปแบบของการคิดและยังไม่ปฎิเสธกระบวนการคิดต่างๆของนักปรัชญาไม่ว่าจะเป็นนักปรัชญาจากซีกฝั่งตะวันตกหรือซีกฝั่งตะวันออกและปรัชญาอิสลามสอนในเรื่องของความเป็นเอกภาพในความหลากหลายและความหลากหลายอยู่ในความเป็นเอกภาพนั่นหมายความว่าแก่นแท้ของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าอยู่ในศาสนาใดหรือในลัทธิไหนมีความเหมือนกันแม้ว่าจะแตกต่างในเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์และหลักคิดทางปรัชญาอิสลามในข้อนี้ส่งผลบวกต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติอย่างมากทีเดียวเพราะว่าทำให้มนุษย์มีความรักใคร่และมีความใกล้ชิดกันและกันอีกทั้งสร้างความสมานฉันท์ปลองดองในการอยู่ร่วมกันและนั่นคือการเกิดสังคมแห่งอารยะขึ้น เป็นสังคมแห่งสันติและสงบสุขนั่นเอง

 

บรรณานุกรม


1.กีรติ บุญเจือ ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น รู้จักปรัชญา เล่ม ๑ กรุงเทพฯ , มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๕


2.เชคชะรีฟ ฮาดีย์  คำสอนจากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์  กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลม์ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


3.เชคชะรีฟ ฮาดีย์  นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ :ปาฎิหาริย์แห่งวาทศิลป์ของท่านอิมามอะลี บิน อะบีฎอลิบ(อ)  กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลม์ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

 

ขอขอบคุณที่มา เว็บไซต์พับลิคโพสต์ออนไลน์