ปรัชญาของดุนยา (โลกนี้)และอาคิเราะฮ์(ปรโลก)ในอัลกุรอาน

ปรัชญาของดุนยา (โลกนี้)และอาคิเราะฮ์(ปรโลก)ในอัลกุรอาน

 

พระมหาคำภีร์อัลกุรอานได้ระบุคำว่า “ดุนยา” (โลกนี้) ไว้ 115 ครั้ง และได้ระบุคำว่า “อาคิเราะฮ์” (ปรโลก) ไว้ 115 ครั้งโดยที่ไม่ขาดไม่เกินเช่นกัน

 

หนึ่งในฮิกมะฮ์และปรัชญาของเรื่องนี้ ก็เพื่อสอนให้มนุษย์ชาติได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตที่ให้เขาเลือกเดิน และทำความเข้าใจว่า “ดุนยา และ อาคิเราะฮ์” คือ สองโลกที่มนุษย์ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน

 

มนุษย์ไม่สามารถที่จะละทิ้งดุนยาแล้วมุ่งหวังเพียงอาคิเราะฮ์อย่างเดียวได้ และเช่นกันเขาก็ไม่สามารถมุ่งหวังเรื่องทางโลก(ดุนยา)เพียงอย่างเดียวได้ โดยละทิ้งปรโลก(อาคิเราะฮ์)

 


ดุนยา คือ สนามแห่งการทดสอบ ที่มนุษย์มาแล้วก็ต้องไป แต่โลกอาคิเราะฮ์ คือบ้านถาวรที่เขาจะพำนักชั่วนิรันดร์

 

และปรัชญาของอัลกุรอานที่เอ่ยถึง ดุนยา ไว้ 115 ครั้งเท่ากับการเอ่ย อาคิเราะฮ์ เพื่อต้องการจะบอกว่า “จะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็จงอย่าให้สิ่งหนึ่งต้องสังเวยให้กับอีกสิ่งหนึ่งเป็นอันขาด” ความว่า อย่าทิ้ง “ดุนยา” เพื่อมุ่งหวัง “อาคิเราะฮ์” อย่างเดียว และเช่นกัน อย่าทิ้ง “อาคิเราะฮ์” เพียงเพื่อสร้างดุนยา แต่จงใช้ชีวิตควบคู่กันไป เมื่อวันหนึ่งที่เราต้องจากดุนยา เราก็จะมีที่พำนักสบายในอาคิเราะฮ์

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงดุนยาไว้ว่า :


ดุนยา คือสถานที่เดินผ่าน ไม่ใช่ที่พำนักถาวร และมนุษย์จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มสำหรับดุนยา ก็คือ ผู้ที่ขายตัวเองให้กับโลกนี้ และเขาก็จะพบกับหายนะในที่สุด(ชาวนรก) อีกกลุ่ม คือ ผู้ที่ซื้อจิตวิญญาณของตน และทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากโลก(ชาวสวรรค์)


ตัวบทภาษาอาหรับ


الدُّنْيَا دَارُ مَمَرٍّ لَا دَارُ مَقَرٍّ وَ النَّاسُ فِيهَا رَجُلَانِ رَجُلٌ بَاعَ نَفْسَهُ فَأَوْبَقَهَا وَ رَجُلٌ ابْتَاعَ نَفْسَهُ فَأَعْتَقَهَا
 

ที่มา นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมัตที่ 128


บทความโดย เชคอันซอร เหล็มปาน


ขอขอบคุณเว็บไซต์ มูลนิธิอัซซะฮ์รอแห่งประเทศไทย