ฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ บุตรีท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แบบอย่างสตรีผู้สร้างสรรค์สังคม

ฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ บุตรีท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แบบอย่างสตรีผู้สร้างสรรค์สังคม

 

จากบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สู่การยอมรับอิสลามของสตรีชาวตะวันตก

 

     ฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือสัญลักษณ์ของความเป็นสตรีที่แท้จริงของอิสลาม บทเรียนจากชีวิตที่สูงส่งของฟาฏิมะฮ์คืออะไร?

 

     เมื่อท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) กล่าวว่า ฟาฏิมะฮ์เป็นหนึ่งในสี่สตรีที่ยิ่งใหญ่ของโลก เมื่อท่านปลอบใจนาง เมื่อประสบกับความเจ็บปวด ความทุกข์ใจและความวุ่นวายสับสนเกิดขึ้นกับชีวิตของนางและทดแทนด้วยสิ่งเหล่านั้น นางได้รับเลือกในฐานะที่เป็นสตรีที่ดีที่สุดในโลกหนึ่งในสี่คน (ได้แก่คอดิยะฮ์ มารดาของนาง มัรยัม บุตรีอิมรอน อาซิยะฮ์ บุตรีมุซาฮิม ภรรยาของฟาโรห์และตัวฟาติมะฮ์เอง)

 

     ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่ได้มีเจตนาที่จะเชิดชูนางอย่างผิวเผิน หรือเพียงแต่ให้คำปลอบใจ เพื่อให้สบายใจเท่านั้น แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีความจริงจังมากในเรื่องนี้ ท่านแนะนำนางให้มีความอดทนในการแบกภาระที่หนักอึ้ง และมีความรับผิดชอบในความเป็นฟาฏิมะฮ์

 

     การที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เรียกนางว่า เป็นสตรีที่ดีที่สุดคนหนึ่งในจำนวนสตรีที่ดีที่สุดของโลกทั้งสี่คน ท่านไม่ได้ตั้งใจที่ทำให้นางเป็นรูปบูชาสรรเสริญของบรรดาสาวกแต่อย่างใดไม่ แต่ท่านตั้งใจจงใจจะให้นางเป็นตัวอย่างหรือสัญลักษณ์หนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นศึกษาจากบุคลิกภาพและพฤติกรรมของนางและถือปฏิบัติตาม นี่คือความหมายของการเป็นสตรีคนหนึ่งในจำนวนสตรีทั้งหลายที่ดีที่สุดของโลก

 

เราสามารถศึกษาจากชีวิตของฟาฏิมะฮ์ได้อย่างไร?

 

      เราคงทราบถึงประวัติของฟาฏิมะฮ์ทุกแง่มุมหมดแล้ว และไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะกล่าวซ้ำอีก ประการเดียวเท่านั้นที่จะกล่าวถึงบทเรียนที่ได้จากสตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ นั่นก็คือ เมื่อเราพิจารณาเรื่องฟาดัก ในชีวิตของฟาฏิมะฮ์ เราได้รับบทเรียนที่มีวิทยปัญญา

 

      การที่ฟาฏิมะฮ์ยืนกรานอย่างหนักแน่น ที่จะเอาฟาดักคืนนั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินผืนเล็กๆ ผืนเดียวนั้น การต่อสู้ของนางไม่ใช่การลดตัวเองลงไปเพียงแค่ระดับนั้น แต่การต่อสู้และความพยายามของนางทั้งหมดที่จะเอาที่ดินฟะดักกลับคืนมา ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ระบบการปกครองที่กดขี่ที่ฉกฉวยประโยชน์ และเป็นกบฏนั้นเบี่ยงเบนออกนอกแนวทาง ตามสิทธิต่างๆ ของอิสลามแล้ว

 

     ฟาฏิมะฮ์ต่อสู้ในกรณีการเมืองแบบนี้ เพื่อที่จะให้สังคมได้เห็นรูปแบบการปกครองที่แท้จริง แต่ไม่ใช่การปกครองจากกฎแห่งความยุติธรรมและสิทธิของอิสลามแต่อย่างใด แม้ว่าบรรดาสาวกคนสำคัญๆ ของท่านศาสดา(ซ็อลฯ) จะพยายามแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของเขาเหล่านั้น ถูกต้องตามมาตรฐานของอิสลามก็ตาม

 

     ดังนั้นคุณค่าที่แท้จริงของฟาดักไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร แต่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ เป็นแบบอย่าง เป็นเหตุผลและเป็นคำประกาศ ไม่ใช่ในฐานะคุณค่าทางเศรษฐกิจแต่มีคุณค่าต่างๆ ที่สูงสุดต่างหาก เมื่อเราเห็นความพยายามที่หนักแน่นของฟาฏิมะฮ์ที่จะเอาฟาดักคืนมา เมื่อเราเห็นว่าการต่อสู้ที่ต่อเนื่องของนาง ที่ปฏิเสธการเลือกที่ซากีฟะฮ์ว่าไม่เหมาะสม และเมื่อเราเห็นการต่อสู้ที่หนักแน่นของนางในความพยายามที่จะทวงคืนสิทธิต่างๆ ที่ถูกยกเลิกไปของท่านอะลี (อ.) คืนมา

 

      ดังนั้นเราก็เห็นแล้วว่าการต่อสู้ของนางไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องฟาดักเท่านั้น ปัจจุบันนี้ไม่มีฟาดัก รูปแบบของการเลือกซากีฟะฮ์ และไม่มีการเผชิญหน้าแบบดังกล่าวอีกแล้ว อาจจะมีบางคนกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ เราไม่ควรจะมาพูดหรือโต้แย้งอะไรมากนัก

 

      แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังมีชีวิตอยู่ จะต้องกล่าวซ้ำและพูดให้ชัดไปเลย เท่าที่สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่การพูดถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีสอนอยู่ในโรงเรียน แต่ควรจะเป็นเรื่องหรือหัวข้อที่แต่ละคนสามารถเอาคุณค่าของมันมาได้

 

แล้วเหตุการณ์ฟาดักมีบทเรียนอะไร?

 

      เป็นบทเรียนที่เกี่ยวกับการแสดงความเป็นแม่ที่สูงค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสลาม คือเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่สูงส่งของความเป็นสตรีคนหนึ่งในบ้าน ในการแต่งงาน ในความเป็นเพื่อน ในความเป็นแม่ ในการอบรมสั่งสอนลูกๆ ที่มีสามีอย่างท่านอะลี (อ.) ฝึกอบรมสั่งสอนและดูแลลูกๆ อย่างฮาซัน ฮูเซนและซัยนับ เป็นผู้หญิงที่ตลอดชีวิตของนาง ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยแต่งงาน และจากแต่งงานไปจนถึงสิ้นสุดแห่งชีวิต

 

      มีความรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นบุคคลที่ยอมรับตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของสังคม เป็นคนปกป้องความถูกต้อง สนับสนุนส่งเสริมความยุติธรรมในด้านความคิด ความศรัทธาและในการเผชิญกับปัญหาการกอบโกย กดขี่ การบิดเบือน ซึ่งยังมีอยู่เสมอในสังคมของนาง นางเคยอยู่และเคยเผชิญหน้าเพื่อต่อสู้กับทุกๆ ปัญหาสังคม แม้นางรู้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ครั้งนี้ก็ตาม นอกจากนี้นางยังไม่ยอมหยุดศึกษาจนถึงวันตาย

 

      นี่คือความหมายของการยอมรับความรับผิดชอบทางสังคมนี้ นี่เป็นบทเรียนที่เราสามารถศึกษาได้จากชีวิตของฟาฏิมะฮ์ เมื่อยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ มีอายุเพียง 10 ขวบ นางเดินไปทุกแห่งในเมืองมักกะฮ์กับท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) บิดาของนาง ไม่มีผู้ใดคาดคิดเลยว่า เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะทำงานร่วมมือ ในสถานการณ์ทางสังคม การเมือง ที่มีแนวความคิดเฉพาะอย่างกับบิดาของนางได้

 

      แต่ฟาฏิมะฮ์ตระหนักด้วยตัวเองถึงความรับผิดชอบต่อจุดหมายปลายทางของการปฏิวัติอิสลาม แม้ว่าอายุเพียงแค่นั้น นางยังไม่ต้องมีความรับผิดชอบก็ตาม ดังนั้น นางจึงปรากฏตัวในทุกเหตุการณ์ จะอยู่ร่วมกับบิดา ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) เมื่อท่านเผชิญหน้าตัวคนเดียวกับบรรดาศัตรู นางยืนหยัดเคียงข้างท่านเสมอ

 

      เพราะนางคือฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ หัวหน้าของสตรีแห่งโลกทั้งหลาย...

 

 

หมายเหตุ : สรุปความจากหนังสือ "โลกอิสลามต้องการอะไรจากสตรีมุสลิม"

บทความโดย : Fareed Denyingyoch