ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 1

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 1

 

วาทะของท่านฮูเซน อิบนิอะลี (อ.) ต่อผู้ครองนครมะดีนะฮ์

 

     ก่อนที่จะเข้าสู่คำอรรถาธิบายสุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีสิ่งหนึ่งที่เราควรตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือต่างๆ ที่มีผู้เขียนขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินชีวิตและการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือกล่าวถึงบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ของท่าน มักจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของความประเสริฐ สภาวะทางจิตใจ สถานภาพทางศาสนาและสถานภาพทางสังคมของท่าน และมักจะมีฮะดีษและรายงานต่างๆ ซึ่งกล่าวถึงคุณลักษณะและความสำคัญของท่านมาประกอบ

 

    สำหรับหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างจากหนังสือที่ได้กล่าวมา โดยจะเปิดประเด็นเข้าสู่เนื้อหาหลักและสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตั้งแต่แรก ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเปิดเล่มด้วยสุนทรพจน์บทหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความประเสริฐอันชัดแจ้งที่สุดของท่านที่ว่า “แท้จริงเราคือครอบครัวแห่งศาสดา และเป็นแหล่งกำเนิดของสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า…”

 

    และปิดท้ายด้วยคำกล่าวของท่านดังนี้ “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์คือผู้ทรงมีฐานะอันสูงส่ง ทรงมีพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่…”

 

    นับว่าเป็นดุอาอ์ที่มีความซาบซึ้งที่สุดบทหนึ่งของท่าน และยิ่งไปกว่านั้น แต่ละหน้าของหนังสือเล่มนี้จะปรากฏสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) สำหรับผู้ที่มีหัวใจผูกพันต่อท่าน หนังสือเล่มนี้ก็คือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งเกี่ยวกับความประเสริฐของท่าน หากเราจะเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ความประเสริฐของฮุเซน อิบนิอะลี (อ.)” แทนชื่อ “สุนทรพจน์ของฮุเซน อิบนิอะลี” ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกประการใด

 

วาทะของท่านฮูเซน อิบนิอะลี (อ.) ต่อผู้ครองนครมะดีนะฮ์

 

     หลังจากที่มุอาวียะฮ์จบชีวิตลงในกลางเดือนเราะญับของปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 60 ยะซีดผู้เป็นบุตรชายก็ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปกครองแทน และโดยไม่รอช้าเขาก็เริ่มเขียนจดหมายส่งไปยังบรรดาผู้ปกครองนครและหัวเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวการตายของมุอาวียะฮ์และการขึ้นสู่ตำแหน่งการเป็นผู้ปกครองสืบต่อของตน ที่ได้รับการแนะนำและรับสัตยาบันจากประชาชนไว้แล้วตั้งแต่ยุคของบิดาของเขา (1) นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ปกครองเหล่านั้นดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างเดิม

 

    ยะซีดสั่งให้ผู้ปกครองเหล่านี้ติดตามให้ประชาชนให้สัตยาบันกับเขาอีกครั้งหนึ่ง จดหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าวก็ได้มาถึงวะลีด บินอุตบะฮ์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครองนครมะดีนะฮ์ตั้งแต่สมัยมุอาวียะฮ์เช่นกัน พร้อมกันนั้นก็มีจดหมายสั้นๆ อีกหนึ่งฉบับแนบมาด้วย ในจดหมายนั้นเน้นย้ำให้วะลีด บินอุตบะฮ์ เรียกร้องสัตยาบันจากบุคคลสำคัญๆ อีก 3 คน ที่ยังไม่พร้อมจะให้สัตยาบันแก่ยะซีดในสมัยของมุอาวียะฮ์ จดหมายนั้นมีความว่า

 

      “จงทวงสัตยาบันจากฮุเซน อิบนิ อะลี อับดุลลอฮ์ อิบนิ อุมัร และอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ อย่างเด็ดขาดและไม่มีข้อผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าพวกเขาจะให้สัตยาบัน”

 

    ในคืนแรกที่จดหมายมาถึง วะลีด บินอุตบะฮ์ ได้เรียกตัวมัรวาน บินฮะกัม อดีตผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ในยุคของมุอาวียะฮ์มาเพื่อปรึกษาหารือ มัรวานเสนอว่าให้เชิญบุคคลทั้งสามมาพบโดยด่วน และให้สัตยาบันแก่ยะซีดก่อนที่ข่าวการตายของมุอาวียะฮ์จะแพร่กระจายไปยังผู้คนในเมือง วะลีดจึงรีบส่งม้าเร็วไปเชิญตัวบุคคลทั้งสามมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ถือว่าสำคัญขั้นคอขาดบาดตายสำหรับเขา ม้าเร็วได้มอบสาส์นแก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ขณะที่ท่านกำลังสนทนาอยู่กับอิบนิซุบัยร์ ในมัสยิดของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

 

    อิบนิซุบัยร์ รู้สึกหวาดหวั่นต่อการเชิญโดยกะทันหันในยามวิกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง ส่วนท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ก่อนที่ท่านจะไปพบวะลีด ท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้แก่อิบนิซุบัยร์ว่า “ฉันคิดว่าผู้ละเมิดแห่งบนีอุมัยยะฮ์ (หมายถึงมุอาวียะฮ์ บุตรของอบูซุฟยาน) ได้ถึงแก่ความตายแล้ว และเป้าหมายของการเชิญตัวเข้าพบในครั้งนี้ ก็คงมิใช่เพื่ออื่นใด นอกจากเป็นการเรียกร้องสัตยาบันให้แก่ลูกชายของเขา”

 

    ตามรายงานของหนังสือ “มุซีรุล อะฮ์ซาน” ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวเสริมอีกว่า “เพราะฉันได้ฝันเห็นเปลวเพลิงลุกโชนที่บ้านของมุอาวียะฮ์ และบัลลังก์ของเขาได้พังพินาศลง”

 

    ขณะเดียวกันท่านอิมามฮุเซน (อ.) สั่งให้สาวกและเครือญาติใกล้ชิดที่สุดของท่าน 30 คน ให้เตรียมอาวุธและร่วมเดินทางไปกับท่าน และเตรียมพร้อมอยู่นอกที่ประชุม เพื่อปกป้องท่านหากมีเหตุจำเป็น แล้วเหตุการณ์ก็เป็นจริงดังที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้คาดการณ์ไว้ หลังจากวะลีดแจ้งข่าวการตายของมุอาวียะฮ์แล้ว เขาก็พูดถึงการให้สัตยาบันต่อยะซีด

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวตอบไปว่า “สถานภาพอย่างฉันนั้น ไม่เหมาะสมที่จะให้สัตยาบันแก่ใครอย่างลับๆ และท่านก็เช่นกัน ไม่ควรพึงใจต่อการให้สัตยาบันเช่นนั้น ในเมื่อท่านจะเชิญชวนประชาชนชาวมะดีนะฮ์ทั้งหมดมาให้สัตยาบันต่อยาซีดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เราก็ควรจะอยู่ในที่ชุมนุมนั้น และให้สัตยาบันพร้อมกับมุสลิมทั้งมวล นั่นหมายความว่าการให้สัตยาบันนี้มิใช่เป็นไปเพื่อความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ แต่ทว่าเป็นไปเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน จะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยมิใช่ทำกันลับๆ”

 

   วะลีดยอมรับข้อเสนอของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขาจึงมิได้ยืนยันที่จะเรียกร้องสัตยาบันจากท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในคืนนั้น

 

    เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) กำลังจะออกจากที่ประชุมนั้น มัรวาน บินฮะกัม ซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย ได้ส่งสัญญาณกับวะลีดด้วยความหมายว่า หากเจ้าไม่สามารถเรียกร้องสัตยาบันจากฮุเซนในคืนนี้ ในที่ประชุมอันรโหฐานนี้ได้แล้ว เจ้าก็จะไม่สามารถบังคับให้เขามาให้สัตยาบันได้อีกเลย ดังนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าที่จะทำให้เขาอยู่ในที่ประชุมนี้ต่อไปอีก เพื่อจะได้ให้สัตยาบันหรือไม่ก็จงตัดคอเขาเสียตามคำสั่งของยะซีด

 

    เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) เห็นพฤติกรรมของมัรวาน ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้บุตรของซัรกออ์ (2) เจ้าหรือว่าวะลีดกันแน่ที่จะสังหารฉัน เจ้ากำลังกล่าวเท็จและกำลังจะทำบาป”

 

    แล้วท่านหันไปทางวะลีดแล้วกล่าวว่า “โอ้ อมีร แท้จริงเราคือครอบครัวแห่งท่านศาสดา และเป็นแหล่งกำเนิดของสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า ครอบครัวของเราคือสถานที่ไปมาหาสู่ของบรรดามลาอิกะฮ์ และเป็นสถานที่ลงมาของความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงให้อิสลามเริ่มต้นจากครอบครัวของเรา และด้วยครอบครัวของเราเช่นกันที่พระองค์ทรงทำให้อิสลามดำเนินไปสู่จุดหมาย ส่วนยาซีดคนที่เจ้าหวังจะให้ฉันให้สัตยาบันต่อเขานั้น คือผู้ที่เสพสุรา ผู้ที่ฆ่าสังหารชีวิตอันบริสุทธิ์ เขาคือผู้ทำลายบทบัญญัติต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ละเมิดและก่อการบาปอย่างเปิดเผยต่อหน้าประชาขน สมควรแล้วหรือทีสถานภาพอย่างฉันจะให้สัตยาบันต่อบุคคลที่ก่อการละเมิดและอธรรมเยี่ยงยาซีด และในสภาพการเช่นนี้เราจงดูกันต่อไปเถิด และจะได้ประจักษ์ว่า ใครคือบุคคลที่สมควรและเหมาะสมยิ่งต่อตำแหน่งแห่งการเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้นำของประชาชน และใครคือผู้ที่เหมาะสมยิ่งต่อการให้สัตยาบันของประชาชน”

 

   ด้วยเสียงอึกทึกในที่ประชุมของวะลีด พร้อมกับวาทะอันแข็งกร้าวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่มีต่อมัรวาน ทำให้ผู้ติดตามของท่านตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) พวกเขาจึงกรูกันมายังท่าน ดังนั้นความหวังของวะลีดที่จะได้รับสัตยาบันจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) และการยอมรับข้อเสนอต่างๆ ของท่านจึงหมดสิ้นไป ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงออกจากที่ประชุมนั้นไป

 

บทสรุป

 

จากสุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ข้างต้น ให้แง่คิดต่างๆ แก่เราดังนี้

 

    การสนทนากันในครั้งนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อธิบายให้เห็นจุดยืนของท่านอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้สัตยาบันแก่ลูกของมุอาวียะฮ์ รวมทั้งการยอมรับการปกครองอย่างเป็นทางการของเขา นอกจากท่านจะพรรณนาคุณลักษณะของครอบครัวของท่าน สถานภาพของท่าน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเหมาะสมของท่านในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ปกครองของประชาชาติแล้ว ท่านยังได้ชี้ให้เห็นข้อเสียของยะซีดซึ่งเป็นข้อบ่งบอกถึงความน่าตำหนิในการกล่าวอ้างตัวเป็นผู้นำ และแสดงให้เห็นความไม่เหมาะสมของเขาในการแอบอ้างดังกล่าวด้วย

 

    ในการสนทนาครั้งนี้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งการยืนหยัด และชี้ให้เห็นแนวทางแห่งอนาคตของท่านเองอย่างชัดเจน ท่านแสดงให้รู้ถึงการตัดสินใจของท่านก่อนที่จะได้รับจดหมายเชิญจากชาวกูฟะฮ์ ก่อนที่พวกเขาจะให้สัตยาบันต่อท่านเสียอีก เพราะคำสั่งของยาซีดที่ให้เรียกร้องสัตยาบันจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ไปถึงวะลีดก่อนที่ข่าวการตายของมุอาวียะฮ์จะล่วงรู้ถึงประชาชน หรือไม่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกัน แต่การเชื้อเชิญจากชาวกูฟะฮ์นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เปิดฉากต่อต้านอย่างกล้าหาญ โดยคัดค้านการให้สัตยาบันต่อยะซีด และการเคลื่อนขบวนมุ่งสู่นครมักกะฮ์ รายละเอียดของเรื่องนี้จะชี้แจงให้ชัดเจนในภายหลัง

 

    กล่าวโดยสรุป แม้ว่าจะมีสาเหตุหลายประการที่นำไปสู่การยืนหยัดเพื่อต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) จนกระทั่งถึงการเป็นชะฮีดของท่าน แต่สาเหตุหลักแห่งการยืนหยัดของท่านก็คือ การโค่นล้มอำนาจหนึ่งซึ่งไม่เพียงแต่ปราศจากความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ชี้ชะตากรรมของประชาชาติมุสลิมเท่านั้น ผลพวงของความไม่เหมาะสมนั้นยังทำให้ความอธรรมและความชั่วร้ายได้แพร่กระจายออกไป อีกทั้งยังฉุดประชาชาติอิสลามให้ตกต่ำและหลงทางอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลเหล่านี้ยังปรารถนาที่จะกำจัดขวากหนามและอุปสรรคของครอบครัวแห่งอบูซุฟยาน ในการต่อสู้กับอำนาจแห่งอิสลามและอัลกุรอานให้หมดสิ้นไป ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยพ่ายแพ้มาแล้ว ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงได้สวมอาภรณ์ของผู้ปกครองแห่งอิสลามเพื่อทำให้แผนการของตนบรรลุผล สำหรับการโค่นล้มอำนาจของยะซีดนั้น บางครั้งถูกอรรถาธิบายไว้ในวจนะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่าเป็น “การกำชับในคุณธรรมความดีและการห้ามปรามความชั่ว”

 

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่เพียงแต่จะชี้แจงถึงจุดยืนดังกล่าวของท่านในที่ประชุมของวะลีดเท่านั้น แต่ท่านยังได้ตอกย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวนี้อีกอย่างชัดเจนเป็นครั้งที่สองโดยไม่ปิดบังใดๆ เมื่อท่านได้เผชิญหน้ากับมัรวาน บินฮะกัม ศัตรูดั้งเดิมของครอบครัวแห่งท่านศาสนทูต และเป็นอดีตผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ในยุคสมัยของมุอาวียะฮ์ อีกทั้งเป็นผู้รับใช้เก่าแก่ของตระกูลอะมาวีย์

 

เชิงอรรถ :

 

(1) กรณีการให้สัตยาบันแก่ยะซีดที่มุอาวียะฮ์จัดขึ้น ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อิสลาม มีอธิบายไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “อัล ฆอดีร” เล่มที่ 10

(2) ซัรกออ์ เป็นยายของมัรวาน ซึ่งเป็นหญิงชั่วและเป็นหญิงโสเภณีในยุคของนาง

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮูเซน บินอะลี (อ.)

 

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ