ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 5

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 5

 

จดหมายถึง “มุสลิม บินอะกีล”

 

     ในกลางเดือนรอมฎอนอันจำเริญ (1) มุสลิม บินอะกีล เดินทางออกจากมักกะฮ์สู่เมืองกูฟะฮ์ ตามคำสั่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในระหว่างทางท่านได้ผ่านมะดีนะฮ์ และหลังจากที่ท่านได้หยุดพักที่นั้นเป็นเวลาสั้นๆ ท่านได้ซิยารัตสถานที่ฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และหลังจากพบปะพรรคพวกและญาติมิตรของท่านแล้ว ท่านก็ออกเดินทางสู่เมืองกูฟะฮ์ โดยมีผู้นำทางสองคนจากเผ่าเกซร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อออกเดินจากมะดีนะฮ์ได้เพียงไม่นานนัก คณะของท่านกลับหลงจากเส้นทาง และต้องระหกระเหินอยู่ในท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ หลังจากพยายามเป็นอย่างหนัก คณะของท่านก็พบเส้นทางที่ถูกต้อง แต่กว่าจะถึงเพื่อนร่วมทางทั้งสองคนของท่านก็ต้องจบชีวิตลง เนื่องจากความร้อนที่รุนแรงและความหิวกระหาย ส่วนท่านมุสลิม บินอะกีลสามารถไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “มุดอยยัก” อันเป็นที่อยู่ของชาวทะเลทรายเผ่าหนึ่งของพวกเคริก ท่านจึงรอดพ้นจากความตายไปได้อย่างหวุดหวิด

 

    หลังจากที่ท่านมุสลิม บินอะกีลไปถึงมุดอยยัก ท่านได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) โดยผ่านผู้ถือสาส์นคนหนึ่งจากเผ่านั้น ในจดหมายฉบับนี้ ท่านได้อธิบายเหตุการณ์ที่ผู้ร่วมเดินทางของท่านต้องเสียชีวิตและการรอดชีวิตของตน ท่านมุสลิมขอร้องท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้ทบทวนการตัดสินใจใหม่อีกครั้งหนึ่งที่จะส่งท่านไปยังเมืองกูฟะฮ์ เป็นการสมควรกว่าที่ท่านอิมามจะแต่งตั้งผู้อื่นไปปฏิบัติภารกิจนี้แทน เพราะท่านเองรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีที่อาจจะเกิดขึ้น และเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นความอับโชค

 

    ท่านมุสลิมได้ย้ำในตอนท้ายของจดหมายว่า “ข้าพเจ้าจะคอยอยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าจะได้รับคำตอบจากท่านโดยผู้ถือสาส์นคนเดิม”

 

    ท่านอิมาม (อ.) ตอบจดหมายดังกล่าวไปว่า “ฉันเกรงว่าจะไม่มีสิ่งใดนอกจากความหวาดกลัวที่จะบีบบังคับเจ้าให้เขียนจดหมายถึงฉัน เพื่อขอยกเลิกภารกิจที่ฉันได้ส่งให้เจ้าไปปฏิบัติ ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติภารกิจของเจ้า ซึ่งฉันได้ส่งเจ้าไปปฏิบัติให้สำเร็จเถิด วัสลาม” (2)

 

ความหวาดวิตกในความขลาดกลัว

 

    จากคำให้กำลังใจของท่านอิมาม (อ.) เราได้รับรู้ว่า มิใช่แต่เพียงผู้นำหรือผู้ที่อยู่ในฐานะเช่นท่านอิมามฮุเซน (อ.) เท่านั้น ที่ปรารถนาจะให้สังคมอิสลามได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข และจะต้องไม่เปิดช่องให้ความหวาดกลัวเกิดขึ้นในหัวใจของเขาแม้เพียงน้อยนิด ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามและผู้ที่จะรับใช้ในหนทางนี้จะต้องมีความกล้าหาญอย่างนี้เช่นกัน มิฉะนั้นการยืนหยัดต่อสู้ของเขาก็จะประสบความพ่ายแพ้ และจะไปไม่ถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์อันสูงส่งตามความหวังของตนได้

 

   ใช่แล้ว! ความหวาดวิตกของท่านอิมาม (อ.) มิได้เกิดจากกำลังพลอันมากมายของบรรดาศัตรู แต่ความหวาดวิตกของท่านนั้นเกิดจากสภาพของความขลาดกลัวและความอ่อนแอ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่ตัวแทนและผู้ถือสาส์นของท่านในบางขณะ

 

สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่มักกะฮ์

 

    เมื่อช่วงเวลาของการบำเพ็ญฮัจญ์ใกล้เข้ามา บรรดาฮุจญาจกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าได้มุ่งหน้าสู่นครมักกะฮ์ ในช่วงแรกๆ ของเดือนซุลฮิจญะฮ์นี่เองที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้รับทราบข่าวว่า “อัมร์ บินสะอัด บินอาซ” ได้เข้ามาสู่มักกะฮ์ด้วย ตามคำสั่งของยาซีด บินมุอาวียะฮ์ ในนามของ “อมีรุลฮัจญ์” แต่เจตนาที่แท้จริงนั้นคือการปฏิบัติตามคำสั่งที่น่าประหวั่นอย่างหนึ่ง คือการสังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดหากมีโอกาสเหมาะ ด้วยเหตุนี้ท่านอิมาม (อ.) จึงตัดสินใจเดินทางออกจากมักกะฮ์ มุ่งสู่ดินแดนอิรักในวันอังคารที่ 8 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ โดยมิได้อยู่รวมในการประกอบพิธีฮัจญ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติและความเคารพต่อแผ่นดินมักกะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์

 

    ก่อนที่ท่านอิมาม (อ.) จะเคลื่อนขบวนออกจากมักกะฮ์ ท่านได้กล่าวปราศรัยในหมู่วงศ์วานแห่งนบนีฮาชิมและชีอะฮ์ของท่าน ที่อยู่กับท่านในมักกะฮ์ โดยมีใจความว่า

 

    “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ (ซบ.) สิ่งใดที่เป็นความประสงค์ของพระองค์ สิ่งนั้นก็ย่อมต้องเกิดขึ้น ไม่มีพลังอำนาจใดๆ นอกจากการช่วยเหลือของพระองค์ ขอพระองค์ทรงประทานพรแด่ท่านศาสนทูตของพระองค์ ความตายของลูกหลานอาดัมได้ถูกกำหนดไว้แล้ว เปรียบได้กับร่องรอยของสายสร้อยที่ย่อมปรากฏขึ้นเหนือต้นคอของหญิงสาว เป็นความปรารถนาและความปลาบปลื้มอย่างยิ่งของฉัน ที่จะได้กลับไปพบกับบรรพบุรุษของฉัน เสมือนหนึ่งการคะนึงหาของยะอ์กูบที่มีต่อยูซุฟ และสถานที่ของการพลีชีพของฉันก็ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ฉันได้เห็นบรรดาสัตว์ร้ายแห่งท้องทะเลทราย (บรรดาทหารแห่งกูฟะฮ์) ที่กำลังฉีกชิ้นส่วนร่างกายของฉันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในแผ่นดินระหว่าง

   “นาวาวิส” และ ”กัรบะลาอ์” พวกนั้นจะบรรจุท้องและกระเพาะของพวกเขาให้เต็มไปด้วยเลือดเนื้อของฉัน

 

    ไม่มีหนทางใดที่จะหลบเลี่ยงไปได้จากวันที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ด้วยปากกาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ความพึงพอพระทัยของพระองค์คือความพึงพอใจของพวกเราอะฮ์ลุลบัยต์ เราจะอดทนต่อการทดสอบของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะเป็นผู้ตอบแทนผลรางวัลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เลือดเนื้อของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และเรือนร่าง (ของลูกหลาน) ของท่าน ย่อมที่จะไม่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ทว่าพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่จะอยู่ร่วมเคียงข้างกับท่านในสรวงสวรรค์อันสูงสุด ซึ่งจะทำให้ดวงตาของท่านเปี่ยมไปด้วยความชื่นฉ่ำจากพวกเขาเหล่านั้น และสัญญา  (การจัดตั้งรัฐบาลแห่งพระผู้เป็นเจ้า) ของท่านก็เช่นเดียวกัน จะสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้ก็โดยผ่านพวกเขาเหล่านั้น

 

    พึงสังวรเถิด สำหรับทุกคนที่พร้อมจะยอมพลีเลือดเนื้อในหนทางของเรา และพร้อมแล้วสำหรับการกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจงเดินทางไปกับฉันเถิด และฉันจะเริ่มออกเดินทางในยามเช้านี้ หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ (อินชาอัลลอฮ์)” (3)

 

บทสรุป

 

     การกล่าวปราศรัยและการเคลื่อนขบวนออกจากนครมักกะฮ์ในครั้งนี้ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงการเป็นชะฮีดของท่านเท่านั้น ท่านยังชี้แจงข้อปลีกย่อยและแง่มุมต่างๆ ที่ชัดเจนในเรื่องการเป็นชะฮีดของท่าน อีกทั้งยังอธิบายให้เห็นเรื่องราวที่จะต้องเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่ร่วมติดตามท่านมา เพื่อว่าหากพวกเขามีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความพร้อมที่จะยอมพลีเลือดเนื้อของตนในหนทางแห่งอัลกุรอาน และปรารถนาที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พวกเขาก็จงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเถิด

 

ทั้งที่รู้ ทำไมท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงยอมถูกสังหาร

 

    มีอีกคำถามหนึ่งที่มักจะถามกันในทุกยุคสมัยว่า การเดินทางเพื่อไปเป็นชะฮีดและการยอมมอบชีวิตของตนยังความตาย ทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วนั้นจะมีความหมายและมีคุณค่าอันใด การรักษาเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลือดเนื้อและชีวิตที่บริสุทธิ์เช่นท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งมิใช่หน้าที่จำเป็นที่อิสลามกำหนดไว้หรือ

 

     คำตอบโดยสรุปก็คือ “ญิฮาด” เป็นบทบัญญัติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของอิสลาม และการเป็น “ชะฮีด” เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของมุสลิมทุกคน ในอัลกุรอานอันจำเริญมีโองการจำนวนนับร้อยโองการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการญิฮาดและการเป็นชะฮีด และไม่มีโองการใดๆ เลยที่ชี้ให้เป็นว่า การต่อสู้ (ญิฮาด) จะต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า จะต้องรู้และมั่นใจในชัยชนะข้างหน้าเสียก่อน ตรงกันข้าม การต่อสู้และการยอมพลีชีพในการเผชิญหน้ากับศัตรูของอิสลาม และการเป็นชะฮีดในหนทางที่จะทำให้สัจธรรมดำรงอยู่ตามจุดมุ่งหมายนั้น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสไว้ว่า

 

   “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงซื้อจากมวลผู้ศรัทธา ซึ่งชีวิตของพวกเขาและทรัพย์สินของพวกเขา โดยการแลกเปลี่ยนกับพวกเขาด้วยกับสรวงสวรรค์ โดยที่พวกเขาต่างทำการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ พวกเขาจะฆ่าและจะถูกฆ่า อันเป็นสัญญาที่สัจจริงสำหรับพระองค์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในคัมภีร์เตารอต อินญีล และอัลกุรอาน และผู้ใดเล่าที่จะรักษาไว้ซึ่งสัญญาของเขาได้ดียิ่งไปกว่าอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงปีติยินดีต่อการค้าของพวกเจ้า ซึ่งพวกเจ้าได้ตกลงซื้อขายกับพระองค์ และนั่นคือความสำเร็จอันใหญ่หลวง” (4)

 

     ในโองการถัดไป พระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะอันสูงส่ง และทรงคุณค่าเก้าประการของบรรดาผู้ศรัทธา ผู้ที่ยอมถวายชีวิตและยอมพลีเลือดเนื้อของตนต่อพระองค์

 

     ในฐานะที่พวกเขาคือผู้ที่รักษาปกป้องข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) หมายความว่า การรักษาและการปกป้องบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) นั่นเองที่เป็นตัวเร่งเร้าให้พวกเขายอมพลีชีพและเลือดเนื้อของตนเอง ดังที่เราจะสามารถพิจารณาได้จากโองการดังกล่าว ซึ่งเหมือนกับหลายๆ โองการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ญิฮาด” ที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับชัยชนะเสมอไป ในทางกลับกัน บางครั้งพวกเขาก็เป็นฝ่ายฆ่าและบางครั้งก็ถูกฆ่า

 

     ประวัติศาสตร์และเรื่องราวการดำเนินชีวิตของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เป็นประจักษ์พยานและสนับสนุนประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าการทำสงครามหลายต่อหลายครั้งนั้น ท่านนำกองทัพมุสลิมเข้าต่อสู้กับกองทัพของศัตรูซึ่งมีกำลังพลเหนือกว่ากองทัพมุสลิมเป็นจำนวนมาก บางครั้งท่านต้องสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่สุดของครอบครัวและญาติพี่น้องของท่าน หากการทำสงครามสามารถกำจัดศัตรูของอิสลามลงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว แน่นอนเหลือเกินว่า การเป็นชะฮีดและการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) จะต้องสูญเสียความหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงไปอย่างแน่นอน

 

     หากภารกิจอันสำคัญในการญิฮาดเพื่อหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) นี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่จำเป็นประการหนึ่งสำหรับประชาชาติมุสลิมแล้ว สำหรับตัวท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้ที่อยู่ในฐานะของผู้ปกป้องรักษาอัลกุรอานและเป็น “สาเหตุแห่งการคงอยู่” หมายถึง เป็นพลังแห่งการปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งอิสลาม หน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับท่านเกินกว่าจะจินตนาการได้

 

     หากท่านอิมาม (อ.) ไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว และยอมสูญเสียความไพบูลย์และความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ไป แล้วใครเล่าที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ หากท่านอิมาม (อ.) ไม่ปกป้องข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ด้วยการยอมพลีเลือดเนื้อและชีวิตของท่าน และบรรดาผู้ที่เป็นที่รักของท่าน แล้วจะมีใครอีกเล่าที่จะเป็นผู้ปกป้องและรักษาไว้ซึ่งข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ

 

     แน่นอน ฮุเซน บินอะลี (อ.) ได้เลือกเอาสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมในการค้าที่เต็มไปด้วยผลกำไรดังกล่าว และท่านได้มองเห็นผลกำไรที่จะได้รับอย่างแน่นอนจากการค้าครั้งนี้ นั่นคือการปลดปล่อยอิสลามและประชาชาติมุสลิม การปลดปล่อยอัลกุรอานและแบบฉบับต่างๆ ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้รอดพ้นจากอำนาจครอบงำของพรรคพวกแห่งยาซีดทั้งหลาย และเป็นการปรับปรุงแก้ไขและพลิกหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ดังนั้นจะมีผลกำไรอะไรอีกเล่าที่จะเลอเลิศยิ่งไปกว่านี้ ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงได้ตัดสินใจที่จะปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

 

เชิงอรรถ :

 

(1) มุรูญุซซะฮับ เล่ม 2 หน้า 79

(2) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 237, อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 204, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 196

(3) อัล ลุฮูฟ หน้า 53, มุซีรุล อะฮ์ซาน หน้า 21

(4) บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 111

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ