เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 6

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 6

 

คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อ “อิบนิ อับบาส”

 

คำเสนอแนะในเชิงคัดค้านการเดินทางของท่านอิมาม (อ.) : เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตัดสินใจประกาศการเดินทางของท่านสู่แผ่นดินอิรัก หลายคนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเดินทางในครั้งนี้ และเสนอแนะต่อท่านให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทาง เหตุผลต่างๆ ของผู้ที่ปรารถนาดีที่นำมาเสนอแนะต่อท่านนั้น เป็นเพราะการมีหัวใจที่ชอบบิดพลิ้วสัญญา และความไม่แน่นอนที่ครอบงำจิตใจของประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์นั่นเอง ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชาวกูฟะฮ์มีอัธยาศัยในการต้อนรับที่ดี แต่เป็นผู้ร่วมทางที่เลว” บุคคลเหล่านี้ต่างคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า การเดินทางในครั้งนี้จะต้องลงเอยที่การถูกสังหารของท่านอิมาม (อ.) และบุคคลในครอบครัวของท่านจะถูกจับเป็นเชลย

 

     แม้ว่าการคาดการณ์ล่วงหน้าของพวกเขาจะถูกต้องก็ตาม แต่พวกเขาได้มองและวิเคราะห์ปัญหาเพียงด้านเดียว จึงได้พยายามยับยั้งท่านอิมามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ท่านรอดพ้นจากการถูกสังหาร ซึ่งตามความเชื่อของพวกเขานั้น สิ่งนี้คือความพ่ายแพ้ของอิสลามและประชาชาติมุสลิม

 

แต่ในมุมมองของท่านอิมาม (อ.) นั้นเป็นอีกด้านหนึ่งของปัญหา นั่นคือสิ่งที่โองการในอัลกุรอานนับสิบๆ โองการ ที่กล่าวถึงและย้ำเตือนแก่ประชาชาติมุสลิมให้เห็นความสำคัญของการ “ญิฮาด” โดยท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการนี้คือ

 

كُتِبَ عَلَيْكُمُ الْقِتَالُ وَهُوَ كُرْهٌ لَّكُمْ ۖ وَعَسَىٰ أَن تَكْرَهُوا شَيْئًا وَهُوَ خَيْرٌ لَّكُمْ

  

    “การรบพุ่งนั้นถูกกำหนดไว้เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย ในขณะที่มันคือความน่ารังเกียจสำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย”

(บทอัล บากอเราะฮ์ โองการที่ 216)

 

الَّذِينَ آمَنُوا يُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللَّـهِ ۖ

     

  “ดังนั้น พวกเจ้าทั้งหลายจงต่อสู้กับพลพรรคของมารร้ายเถิด”

(บทอันนิซาอ์ โองการที่ 76)

 

    ในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านอิมาม (อ.) มองเห็นสถานการณ์และตรวจสอบสภาพเงื่อนไขต่างๆ ในที่สุดก็ได้บทสรุปว่า “ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำสงครามกับพรรคพวกและมิตรสหายของมารร้าย และในขณะนี้จะมีใครอีกเล่าในหน้าแผ่นดินนี้ ที่จะเป็นตัวแทนและสหายของมารร้ายที่เลวร้ายยิ่งไปกว่ายะซีด การต่อสู้กับเขาถือเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับฉันยิ่งกว่ามุสลิมคนใดในฐานะผู้นำแห่งประชาชาติ และเป็นผู้ปกป้องรักษาอิสลาม”

 

    ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านได้ปราศรัยกับบรรดาสหายของท่านอย่างชัดแจ้งว่า “ทุกคนที่พร้อมที่จะยอมพลีเลือดเนื้อของตนเองในหนทางของเรา ซึ่งเป็นหนทางที่จะเป็นการชูธงแห่งอิสลาม และใครก็ตามที่เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเป็นชะฮีดและการกลับไปพบกับอัลลอฮ์ (ซบ.) ดังนั้น จงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเถิด”      

   

     บุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมถึงระดับดังกล่าว ผู้ซึ่งโลกนี้ในสายตาของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน และมองเห็นชีวิตในโลกหน้านั้นสำคัญและมีเกียรติกว่าสำหรับพวกเขา จึงตอบรับเสียงเรียกร้องเชิญชวนของท่านอิมาม และติดตามคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ไป        

 

    เช่นเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทั่วไป ยังมีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นแกนนำในหมู่พวกเขา ที่ไม่เพียงแต่ไม่ยอมเข้าร่วมในการเดินทาง ไม่ตอบรับคำเรียกร้องของท่านอิมาม (อ.) และไม่มีความปรารถนาในความสำเร็จและความไพบูลย์อันเป็นนิรันดรเพียงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่พวกเขาไม่มีความรู้และความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านอิมาม (อ.) และข้อเท็จจริงของการเดินทางของท่านในครั้งนี้ พวกเขาจึงคัดค้านการเดินทางของท่านอย่างเต็มที่

 

     ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในมักกะฮ์และในระหว่างการเดินทาง แม้กระทั่งถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ พวกเขาได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการยับยั้งขบวนการอันยิ่งใหญ่นี้ เนื่องจากความปรารถนาดีและความคิดที่ต้องการแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น จนบางครั้งพวกเขาถึงกับใช้กำลังเข้าขัดขวางคาราวานของผู้เดินทางเหล่านั้น ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งเครือญาติของท่านอิมามเอง บุคคลอื่นๆ และแม้แต่ผู้ต่อต้านท่านก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

 

     ดังนั้น การคัดค้านดังกล่าวจึงเป็นทั้งการคัดค้านของสหายผู้เป็นที่รัก ที่ทำด้วยความห่วงใยและความปรารถนาดีที่มีต่ออิสลาม และต้องการรักษาชีวิตของท่านอิมาม (อ.) ไว้ และการคัดค้านของบรรดาศัตรูผู้รับใช้และสนองตอบเจตนารมณ์ของยะซีด รวมทั้งการยับยั้งขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านยะซีด พวกนี้หวังว่าหากท่านอิมาม (อ.) สนองตอบต่อข้อเสนอแนะของบรรดาผู้ปรารถนาดีเหล่านั้น ก็จะทำให้ความต้องการและความมุ่งหวังของบรรดาศัตรูเป็นจริงขึ้นมา ผลสุดท้ายข้อเสนอแนะของผู้ปรารถนาดีทั้งหลายก็จะกลับกลายมาเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตรงข้าม และจะเป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้นนั่นเอง

 

     อย่างไรก็ตาม คำเสนอแนะเหล่านี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ในนครมะดีนะฮ์ และเกิดขึ้นอีกในนครมักกะฮ์ เมื่อเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าท่านอิมาม (อ.) ตัดสินใจเดินทาง และในระหว่างการเดินทางจนถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ ท่านต้องเผชิญหน้ากับบุคคลมากมายจนนับไม่ถ้วน คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมะดีนะฮ์ที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ และเพื่อไม่ให้เป็นการออกนอกประเด็น เราจะนำเสนอเพียงบางส่วนของคำเสนอแนะเหล่านั้น ซึ่งคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งหลาย และนี่คือสุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ต่อข้อเสนอแนะเหล่านั้น

 

คำเสนอแนะของอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

    บุคคลหนึ่งที่ได้เข้าพบท่านอิมามฮุเซน (อ.) หลังจากที่ทราบข่าวว่าท่านประกาศการเดินทางของท่าน และได้เสนอให้ท่านเลิกล้มการเดินทางเสีย นั่นคือ “อับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส” เขาเริ่มต้นคำพูดของเขาว่า “โอ้บุตรแห่งลุงของฉัน แท้จริงฉันได้พยายามอดทนแล้ว แต่ทว่าฉันไม่สามารถอดทนได้จริงๆ เพราะฉันมีความหวาดกลัวว่าท่านจะต้องถูกสังหารในการเดินทางครั้งนี้ บรรดาลูกหลานของท่านก็จะต้องตกเป็นเชลยของศัตรู เพราะประชาชนชาวอิรักนั้นเป็นกลุ่มชนที่ชอบบิดพลิ้วสัญญา ไม่สมควรที่บุคคลใดจะไว้วางใจพวกเขา”

 

     หลังจากนั้น อิบนิอับบาส กล่าวต่อไปอีกว่า “เพราะว่าท่านคือนายและเป็นผู้นำแห่งแผ่นดินฮิญาซ และเป็นที่เคารพของประชาชนชาวมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ตามความเชื่อมั่นของฉัน ฉันคิดว่าหากท่านเลือกที่จะอยู่ต่อไป ณ นครมักกะฮ์นี้จะดีกว่า และหากประชาชนอิรักเป็นดังที่พวกเขาแสดงออก ว่าพวกเขามีความต้องการในตัวท่าน และพวกเขาต่อต้านรัฐบาลของยะซีดจริงๆ แล้ว สิ่งแรกที่พวกเขาควรทำ คือการขับไล่ผู้ปกครองของยะซีดและศัตรูของพวกเขาออกไปจากเมืองของตนเสียก่อน หลังจากนั้นท่านจึงค่อยเดินทางไปยังพวกเขา”

 

     อิบนิอับบาส กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า “แต่หากท่านยังคงยืนกรานที่จะเดินทางออกจากมักกะฮ์แล้ว เป็นการดีกว่าที่ท่านจะเดินทางสู่เยเมน เพราะนอกจากในเมืองนั้นจะมีชีอะฮ์ของบิดาของท่านอยู่มากมายแล้ว ยังเป็นที่ๆ ห่างไกลและเป็นที่กว้างขวางที่มีภูเขาสูงจำนวนมาก ท่านสามารถปฏิบัติตามความมุ่งมั่นของท่านเองต่อไปได้ โดยอยู่นอกเหนือจากอำนาจรัฐที่จะคอยควบคุมขัดขวาง ท่านจะได้เชิญชวนประชาชนเข้าสู่หนทางนี้ โดยการส่งจดหมายและผู้ถือสาส์นไปยังพวกเขา ด้วยวิธีนี้ฉันเชื่อมั่นว่าท่านจะไปถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านได้โดยปราศจากความทุกข์ยากใดๆ”

 

คำตอบของท่านอิมามต่อ “อิบนิอับบาส”

 

     ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาไปว่า “โอ้ บุตรแห่งลุงของฉัน แท้จริงฉันรู้ดีว่าท่านเป็นผู้ให้การชี้แนะด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ฉันตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก” (1)

 

     เมื่ออิบนิอับบาส ได้ยินคำตอบดังกล่าวก็รู้ได้ทันทีว่าท่านอิมาม (อ.) ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว และไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะใดๆ ก็ไม่อาจทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงมิได้เสนอแนะใดๆ ต่อไป ได้กล่าวแต่เพียงว่า “เมื่อท่านตัดสินใจที่จะเดินทางอย่างแน่วแน่แล้ว ฉันขอร้องว่าท่านอย่าได้นำบรรดาผู้หญิงและเด็กๆ ร่วมเดินทางไปกับท่านด้วยเลย เพราะฉันกลัวว่าพวกเขาจะสังหารท่านต่อหน้าบุคคลเหล่านี้”

 

     ท่านอิมาม (อ.) ตอบกลับไปอีกว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แท้จริงบรรดาผู้หญิงและเด็กจะไม่ละทิ้งไปจากฉัน จนกระทั่งบรรดาศัตรูได้หลั่งเลือดฉัน และเมื่อศัตรูได้กระทำการดังกล่าวแล้ว อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงให้บุคคลผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา ที่จะนำความต่ำต้อยและความไร้เกียรติมาสู่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาได้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยและไร้เกียรติ ยิ่งกว่าผ้าที่ใช้ซับเลือดประจำเดือนของสตรีเสียอีก” (6)

 

สรุป

 

    ความหนักแน่นและความมั่นคงในการเป็นผู้นำจากสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้เราประจักษ์ถึงความศรัทธามั่นของท่านอิมาม (อ.) ต่อเจตนารมณ์และเป้าหมายของท่าน ความหนักแน่นในการเป็นผู้นำที่จะนำพาท่านไปสู่เป้าหมาย ทั้งที่ท่านเองก็เชื่อมั่นในคำทักท้วงและความปรารถนาดีของอิบนิอับบาส ผู้เป็นบุตรของลุงของท่าน ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้ท่านได้รับรู้อย่างถูกต้อง แต่ท่านอิมาม (อ.) กลับกล่าวกับเขาว่า “ฉันจะมุ่งหน้าไปบนหนทางดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคใดๆ ก็ตาม”

 

   เมื่ออิบนิอับบาส ได้เตือนท่านในการที่จะนำเอาผู้หญิงและเด็กๆ ไปด้วย ท่านอิมาม (อ.) ก็ตอบเขาไปอย่างหนักแน่นและมั่นคง และนี่คือความหมายของคำว่า “อิมามัต” และการเป็นผู้นำที่ไม่มีสิ่งใดจะมาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่และความรับผิดชอบได้

 

เชิงอรรถ :

 

     (1. ) อันซาบุล อัซรอฟ เล่ม 8 หน้า 162, ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 270, อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 4 หน้า 39

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม