เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 7

 

คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ต่อ “อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์”

 

    อีกผู้หนึ่งที่ได้เสนอแนะให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก คืออับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาลยะซีด ความจริงแล้วเขาก็คือนักต่อสู้คนหนึ่ง และเหตุนี้ทำให้เขาต้องหนีออกจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ เมื่อท่านอิมามเข้าสู่มักกะฮ์แล้วเขาก็ไปมาหาสู่ยังที่พักของท่านอิมามทุกวัน หรือไม่ก็หาเวลาหนึ่งไปเหมือนกับบรรดามุสลิมคนอื่นและร่วมสนทนากับท่าน เมื่อเขาได้ทราบข่าวที่แน่ชัดถึงการตัดสินใจของท่านอิมาม (อ.) ที่จะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก เขาได้มาพบท่านอิมาม (อ.) โดยเสนอแนะให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้เสีย

 

   และตามรายงานของ บะลาดุรีย์ และฏ็อบรีย์ คำพูดของอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ เป็นคำพูดสองแง่สองมุม เพราะเขาได้กล่าวว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ หากแม้นว่าข้าพเจ้ามีพรรคพวกอยู่ในแผ่นดินอิรักเหมือนกับบรรดาชีอะฮ์ของท่านแล้ว ข้าพเจ้าก็จะเลือกไปยังสถานที่แห่งนั้นก่อนสถานที่อื่นเช่นเดียวกัน”

 

   เพื่อไม่ให้เกิดความคลุมเครือ อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ได้พูดเสริมคำพูดของตนต่อไปว่า “แต่ทว่าในสภาพการณ์เช่นนี้ หากท่านเลือกที่จะดำรงอยู่ต่อไปในมักกะฮ์และยังคงปรารถนาที่จะดำรงความเป็นอิมามและเป็นผู้นำในเมืองนี้ต่อไปแล้ว เราก็พร้อมที่จะให้สัตยาบันต่อท่าน และตราบเท่าที่ยังคงเป็นไปได้ เราจะไม่หยุดยั้งการสนับสนุนและการเป็นผู้ร่วมคิดกับท่าน”

 

    ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบเขาไปว่า “บิดาของฉันได้บอกข่าวแก่ฉันว่า แท้จริงจะมีแกะตัวหนึ่งอยู่ในแผ่นดินมักกะฮ์ ซึ่งแกะตัวนี้จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมักกะฮ์ถูกทำลายลง ดังนั้นฉันไม่ปรารถนาที่จะเป็นแกะตัวนั้น (ซึ่งจะถูกเชือดในแผ่นดินมักกะฮ์) และหากฉันจะต้องถูกสังหารนอกเขตมักกะฮ์แม้เพียงคืบหนึ่ง ก็ยังเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหาร ณ แผ่นดินนี้ และหากฉันจะต้องถูกสังหารนอกเขตมักกะฮ์ออกไปถึงสองคืบ ก็จะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งไปกว่าการถูกสังหารห่างออกไปจากมันเพียงคืบเดียว”

 

    ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวเสริมคำพูดของท่านต่อไปว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แม้ว่าฉันจะหลบหนีเข้าไปอยู่ในรูของสัตว์ก็ตาม พวกเขาก็จะนำตัวฉันออกมาเพื่อสังหารให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเขา ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า พวกเขาจะต้องล่วงเกินฉันอย่างแน่นอน เหมือนกับที่บรรดาพวกยะฮูดีได้ล่วงละเมิดและทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของวันเสาร์ (อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา)”

 

     หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า “โอ้ บุตรของซุบัยร์ หากฉันจะถูกฝังลง ณ ชายฝั่งฟุรอต (ยูเฟรติส) แล้ว มันจะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่จะถูกฝังลง ณ ลานแห่งกะบะฮ์นี้”

 

    อิบนิ เกาลูยะฮ์ ได้รายงานว่า ภายหลังจากที่อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ออกไปจากวงสนทนา ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวขึ้นว่า “แท้จริงชายผู้นั้นกำลังจะบอกกับฉันว่า ท่านจงเป็นหนึ่งจากนกพิราบทั้งหลายที่ใช้ฮะรอมเป็นที่พักพิงเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า หากฉันจะต้องถูกสังหารในสถานที่ที่ห่างไกลออกไปจากฮะรอมนี้เพียงหนึ่งศอก ย่อมเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหารโดยห่างจากมันเพียงคืบเดียว และหากว่าฉันจะถูกสังหาร ณ แผ่นดินฏ็อฟ (กัรบะลาอ์) มันย่อมจะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหาร ณ ฮะรอมแห่งนี้”

 

    รายงานจากฏ็อบรีย์และอิบนิอะซีร หลังจากที่อิบนิซุบัยร์ออกไปแล้ว ท่านอิมาม (อ.) กล่าวแก่สาวกของท่านว่า “แท้จริงบุคคลผู้นี้ (แม้ว่าเขาจะแสดงความปรารถนาที่จะให้ฉันอยู่ต่อไปในมักกะฮ์ แต่ความเป็นจริงแล้ว) ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะเป็นที่รักยิ่งสำหรับเขามากไปกว่าการที่ฉันจะออกไปให้พ้นจากแผ่นดินฮิญาซ เพราะเขารู้ดีว่าแท้จริงแล้วประชาชนจะไม่ให้ความสำคัญแก่เขาเท่าเทียมกับฉัน เขาปรารถนาที่จะให้ฉันออกไปเพื่อที่จะได้เป็นการเปิดทางให้กับตนเอง” (1)

 

บทสรุป

 

    แม้ว่าท่านอิมาม (อ.) จะมิได้กล่าวพาดพิงถึงอดีตของอิบนิซุบัยร์ และจุดยืนของเขาในการต่อต้านการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) และมิได้กล่าวถึงสงครามแห่งเมืองบัศเราะฮ์ ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อโค่นล้มและกำจัดรัฐบุรุษเยี่ยงท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) โดยตรง ในสงครามนี้อิบนิซุบัยร์เป็นแกนนำคนสำคัญและเป็นเสาหลักของแผนการนี้ อย่างไรก็ตาม ท่านได้แสดงให้เห็นเส้นทางเดินแห่งอนาคตของท่านและของอิบนิซุบัยร์ให้เราได้รับรู้จากคำพูดของท่าน

 

   ในเรื่องของจุดยืนของท่านนั้นท่านได้กล่าวว่า “ไม่ว่าฉันจะอยู่ในมักกะฮ์หรือจะอยู่ในสถานที่ใด หรือแม้ฉันจะหลบเข้าไปอยู่ในรูของสัตว์ก็ตาม คนของรัฐบาลนี้ก็จะไม่วางมือจากฉัน และความขัดแย้งของฉันที่มีต่อรัฐบาลนี้ก็ไม่สามารถที่จะประนีประนอมได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาปรารถนาจากฉันนั้น ฉันไม่สามารถจะอดทนแบกรับมันได้ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ฉันต้องการจากพวกเขาก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีความพร้อมที่จะยอมรับได้เช่นกัน”

 

   การที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวอ้างถึง “ชายฝั่งแม่น้ำฟุรอต” (ยูเฟรติส) และชื่อหนึ่งของแผ่นดินกัรบะลาอ์ สะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆ อีกหลายประการ

 

   ท่านยังได้เตือนสติอิบนิซุบัยร์อีกว่า “บิดาของฉันได้กล่าวว่า ด้วยสาเหตุของแกะเพียงตัวเดียวที่เกียรติยศแห่งบัยตุลลอฮ์และความศักดิ์สิทธิ์ของฮะรอมแห่งนี้จะต้องถูกทำลายลง และเพื่อที่จะไม่ให้แกะตัวนั้นเป็นฉัน และเพื่อมิให้ความเสื่อมเสียและความน่าตำหนิแม้เพียงเล็กน้อยที่จะเกิดขึ้นกับกะบะฮ์และฮะรอมแห่งนี้ โดยเหตุจากการหลั่งเลือดของฉัน ดังนั้นฉันจำต้องออกไปจากเมืองนี้เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศแห่งฮะรอมและกะอ์บะฮ์นี้ แม้ว่าฉันจะถูกสังหารห่างออกไปจากบ้านของอัลลอฮ์ (ซบ.) แห่งนี้เพียงคืบเดียวก็ตาม ย่อมจะเป็นการดีกว่าที่ฉันจะถูกสังหารลง ณ ที่นั้น และเจ้าก็ไม่สมควรที่จะพึงพอใจในอนาคตของเจ้าด้วย ที่เพียงแต่ความมุ่งหวังที่จะมีชีวิตรอดของเจ้า ก็ทำให้เจ้าต้องทำตัวเหมือนนกพิราบที่ยึดเอาบ้านอันศักดิ์สิทธิ์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) มาเป็นที่พักพิงของเจ้า และในที่สุดเจ้าจะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียและการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแห่งนี้ไป”

 

เหตุการณ์ที่เป็นจริงตามความคาดการณ์ของท่านอิมาม (อ.)

 

    อิบนิซุบัยร์ มิได้ใส่ใจต่อคำตักเตือนของท่านอิมาม (อ.) แต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้บัยตุลลอฮ์ต้องถูกกระหน่ำด้วยก้อนหินถึงสองคราว (ช่วงเวลาเพียง 30 ปี) ทำให้เกิดไฟไหม้และการพังทลายในสถานที่นั้น ซึ่งการคาดการณ์ล่วงหน้าของท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ได้กลายเป็นจริง

 

    เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงสามปี หลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 รอบิอุลเอาวัล ปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 64  เนื่องจากอิบนิซุบัยร์ไม่ยอมให้สัตยาบันต่อยะซีด ดังนั้นหลังจากสงคราม “ฮุรรอฮ์” เมื่อการสังหารและการปล้นสะดมชาวเมืองมะดีนะฮ์ได้ยุติลง ทหารของยะซีดได้เคลื่อนพลมุ่งสู่มักกะฮ์โดยมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มอิบนิซุบัยร์ กองทหารได้ปิดล้อมเมืองมักกะฮ์ไว้ เมื่ออิบนิซุบัยร์เข้าไปหลบภัยในอาคารกะอ์บะฮ์เพื่อเอาตัวรอด ทหารที่ปิดล้อมจึงตีวงแคบเข้ามาและยิงก้อนหินจำนวนมากเข้าไปในมัสยิดิลฮะรอมและถูกตัวอาคารกะอ์บะฮ์ ทหารเหล่านั้นยังได้เหวี่ยงคบเพลิงเข้าไปอีกด้วย ซึ่งผลจากการกระทำครั้งนี้ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารกะบะฮ์พังทลายลงมา ผ้าคลุมอาคาร เพดาน และเขาของแกะที่ถูกส่งมาจากสวรรค์เพื่อใช้เชือดพลีแทนศาสดาอิสมาอีล (อ.) ก็ถูกเผาทำลายไปด้วย และในระหว่างการโจมตีอย่างดุเดือดนี้เอง ข่าวการตายของยาซีดก็มาถึงมักกะฮ์ ทำให้ทหารเหล่านั้นกระจัดกระจายกันไป หลังจากนั้นอิบนิซุบัยร์ได้บูรณะซ่อมแซมอาคารกะอ์บะฮ์ขึ้นมาใหม่

 

    ส่วนเหตุการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของยะซีด อิบนิซุบัยร์ได้เรียกร้องให้ประชาชนมาให้สัตยาบันแก่ตนเอง และมีผู้คนทยอยกันมาให้สัตยาบันกับเขา จนกระทั่งมาถึงปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 73 ซึ่งเป็นช่วงสมัยการปกครองของอับดุลมาลิก เขาได้ส่งฮัจญาจ บินยูซุฟ มาโค่นอิบนิซุบัยร์ ดังนั้นฮัจญาจพร้อมด้วยกองทหารจำนวนหลายพันคนจึงเข้าปิดล้อมมักกะฮ์ไว้ ในการปิดล้อมครั้งนี้อิบนิซุบัยร์ได้เข้าไปหลบอยู่ในอาคารกะอ์บะฮ์เป็นเวลานานหลายเดือน ในที่สุดฮัจญาจก็มีคำสั่งให้ยิงลูกหินเข้าไปในมัสยิดิลฮะรอมจากห้าจุดด้วยกัน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่ออาคารกะอ์บะฮ์ ซึ่งตามรายงานของนักประวัติศาสตร์บางท่าน อาคารกะอ์บะฮ์ได้พังทลายลงอย่างราบคาบ และอิบนิซุบัยร์ก็ถูกสังหารในสงครามครั้งนี้ หลังจากนั้นฮัจญาจ บินยูซุฟก็บูรณะซ่อมแซมกะอ์บะฮ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (2)

 

การนำเอาอิสลามมาเป็นโล่คุ้มกัน กับการเป็นโล่คุ้มกันให้กับอิสลาม

 

    ประเด็นหลักและเป็นประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่งจากคำพูดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต่ออิบนิซุบัยร์ และจากการเปรียบเทียบแนวทางของท่านอิมามและพฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์ เป็นการจำแนกแยกแยะให้เห็นถึงขบวนการยืนหยัดต่อสู้ที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความแตกต่างและจุดเด่นของแต่ละขบวนการต่อสู้เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบุรุษสองคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ในสังคมและสภาพแวดล้อมเดียวกัน และกล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้ต่อสู้กับความอธรรมและความเลวร้ายต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลทั้งสองยังเริ่มต้นการต่อสู้ของตนจากนครมะดีนะฮ์ และเคลื่อนตัวสู่มักกะฮ์ด้วยเช่นเดียวกัน (3)

 

    เมื่อเวลาและสภาพการณ์ต่างๆ ผ่านไป จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สำหรับบุคคลหนึ่ง การที่จะไปให้ถึงอำนาจการเป็นผู้นำและรักษาฐานะของตำแหน่งของตนนั้น เขาได้ใช้กะอ์บะฮ์เป็นปราการและโล่กำบังสำหรับตนเอง ในขณะที่อีกบุคคลหนึ่งได้เอาตนเอง ครอบครัวและผู้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของตน เป็นปราการคุ้มกันและเป็นโล่กำบังให้แก่กะอ์บะฮ์ซึ่งเป็นบ้านของพระผู้เป็นเจ้า ผู้หนึ่งพลีอิสลามให้กับฐานะและตำแหน่งชื่อเสียงของตนเอง ในขณะที่อีกผู้หนึ่งยอมพลีเลือดเนื้อของตนเพื่อปกป้องรักษาบ้านแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลกะอ์บะฮ์)

 

     สรุปแล้วบุคคลหนึ่งเรียกร้องเชิญชวนไปสู่ตนเอง ในขณะที่อีกคนหนึ่งเรียกร้องเชิญชวนไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างประการหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสาเหตุแห่งความสับสนและความผิดพลาด ของผู้ที่มีความคิดและวิสัยทัศน์ที่คับแคบในทุกยุคสมัย พวกเขาไม่สามารถจำแนกความถูกผิดที่แท้จริงได้เลย ว่าการคัดค้านและการต่อต้านที่อิบนิซุบัยร์ปฏิบัติต่อยาซีดนั้นมีเป้าหมายและเจตนารมณ์อันใดติดตามมา ซึ่งตามรูปแบบภายนอกแล้วทั้งสองฝ่ายต่างก็ต่อต้านยาซีดและพวกพ้อง และเป็นการต่อสู่ในหนทางแห่งอิสลาม

 

    หากอิบนิซุบัยร์เป็นผู้สัจจริงต่อคำกล่าวอ้างของตน และมุ่งมั่นในการต่อสู่ในหนทางของอิสลามจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องรักษาความเป็นผู้นำและฐานะส่วนตนแล้ว เขาก็จะต้องรีบเร่งในการต่อสู้กับศัตรูก่อนหน้าอิมามฮุเซน (อ.) เสียอีก ไม่ใช่ปล่อยให้ตนเองต้องถูกฆ่าตายเยี่ยงนกพิราบที่พักพิงอยู่ ณ ฮะรอม ในขณะเดียวกัน ก็ปรารถนาที่จะให้อิมามฮุเซน (อ.) ออกไปให้พ้นจากเขตแคว้นฮิญาซ เพราะเขาตระหนักดีว่า การคงอยู่ของอิมามฮุเซน (อ.) ในแผ่นดินฮิญาซ จะทำให้ไม่มีใครสามารถก้าวสู่เวทีการเมืองได้เลย

 

    ใช่แล้ว! ไม่มีใครเลยที่จะสนใจเขา ดังนั้นเจตนารมณ์ของอิบนิซุบัยร์ในการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ การที่จะได้มาซึ่งอำนาจแห่งการเป็นผู้นำ และเพื่อการดึงดูดความสนใจจากประชาชน เป็นการแสวงหาผลประโยชน์และการครอบงำบุคคลเหล่านั้น

 

พฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์

 

    พฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงเนื้อแท้ของความขัดแย้ง และข้อเท็จจริงของการต่อสู้ของเขากับพรรคพวกของยาซีด (หากสามารถเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้) ในขณะหนึ่งเขาต้องหลบหนีออกจากมะดีนะฮ์ เนื่องจากการต่อต้านยะซีดและไปพำนักอยู่ในมักกะฮ์ แต่อีกขณะหนึ่ง ในช่วงที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ต้องการปลดปล่อยมุสลิมให้พ้นจากการครอบงำจากบรรดาสหายของอุษมาน และต้องการให้พวกเขาหลุดพ้นจากความต่ำต้อยและความไร้เกียรติทั้งหลายในอดีต และปรารถนาที่จะให้อิสลามปลอดภัยจากการบิดเบือนและการอุตริ (บิดอะฮ์)

 

    เมื่อท่านอิมามอะลี (อ.) จะตัดมือผู้ที่ปล้นสะดมและฉวยโอกาสจากบัยตุ้ลมาน อิบนิซุบัยร์ผู้นี้เองที่กลายเป็นจุดหมายในการหลบภัยของบรรดามุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) เป็นแหล่งซ่องสุมของพวกนากีซีน (ผู้ละเมิดสัตยาบัน) และเป็นเกราะคุ้มกันให้พวกมาริกีน (พวกนอกรีตหรือคลอวาริจญ์) โดยการจัดตั้งพลพรรคและเตรียมแผนการชั่วร้ายขึ้นในนครมักกะฮ์ และเขาได้นำแผนการร้ายดังกล่าวไปปฏิบัติในเมืองที่อยู่ห่างไกลที่มีชื่อว่า “บัศเราะฮ์” โดยใช้บรรดาผู้ต่อต้านและผู้ครองนครที่ถูกปลดออกจากอำนาจ (4) รวมทั้งบรรดามุสลิมที่โง่เขลาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (5) ต้องตกเป็นเครื่องมือในการประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) เขาได้ลุกขึ้นต่อต้านอิสลามโดยใช้สัญลักษณ์ของอิสลาม โดยอาศัยมุสลิมผู้อ่อนแอกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในอุ้งมือของคนเหล่านั้นตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองของอุษมาน และพวกนี้ที่ทำให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้น

 

    แต่ด้วยสาเหตุของอดีตที่รุ่งโรจน์ของท่านอิมามอะลี (อ.) และการเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลามนั่นเองที่เป็นเครื่องยับยั้งสัญลักษณ์จอมปลอมในคราบของอิสลาม ที่มุ่งหวังจะทำลายท่านได้อย่างอัตโนมัติ สำหรับการโค่นล้มรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น พวกเขาใช้จุดโจมตีสองประเด็น ซึ่งความจริงประเด็นดังกล่าวนั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับท่านอิมามอะลี (อ.) เลย อย่างไรก็ตามมันก็กลายเป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดในการโจมตีและปักปรำท่าน

 

    ประเด็นแรก คือการแก้แค้นให้อุษมาน ซึ่งพวกเขาได้กล่าวอ้างว่าเป็นสหายและผู้ที่อยู่รอบข้างท่านคือผู้ที่ลอบสังหารอุษมาน และท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นไม่เพียงแต่จะต้องกำจัดคนสนิทของท่าน อย่างเช่น มาลิก อัชตัร และอัมมาร บินยาซีร เท่านั้น แต่ท่านจะต้องจับบุคคลเหล่านี้และส่งมอบให้กับผู้ที่ปฏิวัติอีกด้วย

 

    ประเด็นที่สอง เป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อเป็นภาพลวงตาประชาชนด้วยคำพูดที่ว่า “เสรีภาพและการปกครองเป็นของประชาชน” ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้กล่าวหาว่าระบบการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นระบบเผด็จการและเป็นการจำกัดอำนาจ พวกเขาต่างพูดกันว่า เรามิได้มีความเป็นศัตรูกับอะลี แต่เขาจะต้องละมือออกจากกการปกครอง และประชาชาติมุสลิมจะคัดเลือกบุคคลที่พวกเขาต้องการขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองและเป็นผู้นำของเขาโดยอิสระและปราศจากเงื่อนไขใดๆ

 

    แม้ว่าแผนการอันชั่วร้ายของอิบนิซุบัยร์ จะถูกกำจัดไปพร้อมกับการหลั่งเลือดมุสลิมจำนวนมากกว่าสามพันคน (6) และแม้อิบนิซุบัยร์เองจะกลายเป็นที่ชิงชังของประชาชนจนต้องเก็บตัวเงียบไปชั่วระยะหนึ่งก็ตาม แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าแผนการดังกล่าวนี้เองที่เป็นชนวนและสาเหตุของการเกิดสงครามซิฟฟินและสงครามนะฮ์ระวาน การเป็นชะฮีดของท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เป็นผลพวงมาจากแผนการอันเลวร้ายในการต่อต้านอิสลามในครั้งนี้เช่นกัน (ซึ่งตามความคิดของผู้ไร้สติปัญญานั้นถือว่าการกระทำดังกล่าวนั้นคืออิสลามที่สมบูรณ์แบบ)

 

    สรุปได้ว่า ถึงแม้อิบนิซุบัยร์จะไม่ยอมเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของยาซีด เพียงเพื่อจะรักษาอำนาจของการเป็นผู้นำ และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นประโยชน์ทางด้านวัตถุและเป็นการสวมเขาให้กับประชาชนก็ตาม ในขณะเดียวกันเขาก็ยังทำทุกวิถีทางที่จะโค่นล้มรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) เช่นกัน

 

    ยิ่งไปกว่านั้น อิบนิซุบัยร์ผู้ที่แสดงตนว่าเป็นผู้ต่อต้านยะซีด และกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องทางศาสนาและการเมืองผู้นี้ ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้คนที่ไม่มีความรู้เท่าทัน ต่างกรูกันมาให้สัตยาบันต่อเขา แทนการให้สัตยาบันต่อท่านอิมามอะลี บินฮุเซน (อ.) (อิมามซัยนุลอาบิดีน) และมอบความรักให้แก่เขาในฐานะผู้นำที่มีความเฉลียวฉลาดคนหนึ่ง

 

    ในวันซึ่งมักกะฮ์และสนามแห่งการเมืองไร้อิมามฮุเซน (อ.) และยะซีด จึงเป็นวันที่เขาได้รับความสมหวังสูงสุด แต่เขาก็ยังไม่วางมือจากแผนการชั่วร้าย โดยการแสดงการดื้อด้านและเป็นศัตรูต่อบุคคลในครอบครัว (อะฮ์ลุลบัยต์) ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) นั่นคือในช่วงเวลาที่เขาเป็นผู้นำในมักกะฮ์ซึ่งห่างไกลจากรัฐบาลของยะซีดและอับดุลมาลิก เขาได้ละเว้นการกล่าวนามของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในการอ่านคุฏบะฮ์ (คำเทศนา) ในนมาซญุมอะฮ์ เมื่อได้รับการคัดค้านจากประชาชน เขาให้คำตอบว่า “เพราะว่าท่านศาสนทูตนั้นมีเครือญาติและลูกหลานที่ไม่ดีและเป็นคนชั่วร้ายอยู่ในหมู่มุสลิม การกล่าวนามของท่านจะทำให้พวกเขาเกิดการลำพองตนและมีหน้ามีตา ฉันจึงยับยั้งการเอ่ยนามของท่านศาสนทูต เพื่อจะได้ทำลายความลำพองของพวกเขาให้หมดไป” (7)

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อันซาบุลอัชรอฟ เล่ม 3 หน้า 164, ฏ็อบรีย์ เล่ม 5 หน้า 383, อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 4 หน้า 38, กามิลุซ ซิยารอต หน้า 88

(2) สรุปจากอัลกามิล อิบนิอะซีร, อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์ และตารีคุล คุลาฟาอ์

(3) หรือไม่ทั้งสองก็อาจถูกจำคุกเหมือนกัน

(4) ตัวอย่างดังกล่าว เช่น ฏ็อบรีย์ ได้รายงานว่า ยะอ์ลี บินอุมัยยะฮ์ ผู้ปกครองของอุษมานที่เมืองเยเมน ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในช่วงการปกครองของท่านอะลี (อ.) เขาเข้ามักกะฮ์พร้อมด้วยทรัพย์สินจำนวนมากและอูฐถึง 400 ตัว เพื่อช่วยเหลือผู้ก่อกบฏแห่งเมืองบัศเราะฮ์

(5) จากการรายงานของฏ็อบรีย์ เช่นเดียวกัน (เล่ม 5 หน้า 12) บุคคลจากเผ่าซัดของเมืองบัศเราะฮ์ ต่างแย่งชิงมูลอูฐของอาอิชะฮ์กัน เพื่อแสวงหาตะบัรรุก พวกเขาต่างสูดดมพร้อมกับกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้โห มันช่างหอมอะไรเช่นนี้”

(6) ตารีค ยะอ์กูบีย์ หมวดสงครามญะมัล (สงครามอูฐ)

(7) มุรูญุซซะฮับ เล่ม 3 หน้า 28, รายละเอียดของพฤติกรรมต่างๆ ของอิบนุซุเบร ผู้เขียนและคุณฮาวีซีได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “โดตารีคฮัมกุน”

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม