ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 9

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 9


คำตอบที่มีต่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และอัมร์ บินสะอีด


เป็นไปตามการรายงานของ ฏอบารีย์ และ อิบนิกะซีร โดยอ้างสายสืบไปยังอิมามซัจญาด (อ.) ว่า มีบุคคลสี่คนที่ได้เสนอแนะให้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก และยืนกรานอย่างหนักแน่นในข้อเสนอนี้ นั่นก็คืออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร โดยหลังจากการเคลื่อนขบวนของท่านอิมาม (อ.) ออกจากนครมักกะฮ์ไปแล้ว เขาได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งตามไป โดยบุตรชายสองคนของเขาคืออูนและมุฮัมมัด เนื้อความในจดหมายมีดังนี้

 

    “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เมื่อท่านได้รับจดหมายฉบับนี้ของข้าพเจ้า ขอให้ท่านหยุดยั้งการเดินทางของท่านที่กำลังดำเนินอยู่ และกลับสู่นครมะดีนะฮ์เถิด เพราะข้าพเจ้าเกรงว่าด้วยสาเหตุของการเดินทางของท่านในครั้งนี้ท่านจะต้องถูกสังหาร และลูกหลานของท่านจะต้องถูกปราบอย่างสิ้นซาก และด้วยการถูกสังหารของท่านผู้ซึ่งเป็นธงแห่งธรรม และเป็นที่มุ่งหวังของบรรดามุสลิม รัศมีของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องดับลง ท่านจงอย่าได้รีบเร่งการเดินทางของท่านเลย เพราะข้าพเจ้าเองก็กำลังจะติดตามท่านไปด้วยเช่นกัน” (1)

 

   อับดุลลอฮ์ อิบนิญะอ์ฟัร พร้อมผู้ร่วมเดินทางคือยะฮ์ยา ได้มาถึงยังคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ที่อยู่นอกเมืองมักกะฮ์ และมอบจดหมายประกันความปลอดภัยฉบับดังกล่าว

 

   อับดุลลอฮ์แสดงความต้องการของตนเองและของยะฮ์ยา บินซะอีดต่อท่านอิมาม พร้อมกับขอร้องให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก

 

   ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบอับดุลลอฮ์และยะฮ์ยา บินซะอีดว่า “แท้จริงฉันฝันเห็นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในความฝัน ครั้งนี้ฉันถูกบัญชาให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งฉันจะต้องปฏิบัติมันให้ลุล่วงไป ไม่ว่ามันจะเป็นผลร้ายต่อฉันหรือว่าจะเป็นผลดีต่อฉันก็ตาม”

 

   อับดุลลอฮ์ ขอร้องให้ท่านอิมาม (อ.) ให้ความกระจ่างมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความฝันและภารกิจที่ท่านได้กล่าวถึงมัน ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ก็ได้ตอบเขาไปว่า “ฉันยังมิได้บอกกล่าวให้กับผู้ใดได้รับรู้ถึงความฝันนี้ และฉันจะไม่บอกมันแก่ผู้ใดจนกว่าฉันจะกลับไปพบกับพระผู้อภิบาลของฉัน”

 

ในเนื้อความของจดหมายข้างต้นก็เช่นกัน ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนโต้ตอบจดหมายประกันความปลอดภัยของอัมร์ บินซะอีด โดยมีใจความว่า

 

   “แท้จริงบุคคลที่เรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกร และประกอบคุณงามความดี และได้กล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ เขาจะไม่แสดงความเป็นศัตรูต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ และแน่แท้ฉันคือผู้เชิญชวนสู่การมีศรัทธามั่น สู่คุณธรรมความดีและการผูกสัมพันธ์ ดังนั้นหลักประกันแห่งความปลอดภัยที่ดีที่สุด คือหลักประกันแห่งความปลอดภัยของอัลลอฮ์ และในวันกิยามะฮ์อัลลอฮ์จะไม่ทรงให้ความปลอดภัยแก่บุคคลที่ไม่มีความยำเกรงแก่เราในโลกนี้ เราวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้ประทานความยำเกรงแก่เราในโลกนี้ อันจะเป็นสาเหตุนำเราสู่ความปลอดภัยของพระองค์ในวันกิยามะฮ์ และหากจุดประสงค์ของท่านในการเขียนจดหมายประกันความปลอดภัยนี้ เพื่อการผูกมิตรไมตรีและแสดงถึงคุณธรรมที่มีต่อฉันแล้ว ท่านก็จะได้รับรางวัลที่ดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วัสลาม”

 

   เป็นไปตามการรายงานของบาลาซารีย์ ของฏ็อบรีย์ และของอิบนิซุบัยร์ เมื่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และยะฮ์ยา บินซะอีด สิ้นหวังในข้อเสนอแนะของตน ทั้งสองจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครมักกะฮ์ อัมร์ บินซะอีดก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาหมดหวังจากหนทางแห่งความผูกพันดังกล่าว เขาได้ออกคำสั่งแก่น้องชายของตนเป็นครั้งที่สอง ให้เดินทางไปพบฮุเซน บินอะลีอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับกองกำลังติดอาวุธ และจงบังคับให้เขากลับมาให้ได้ เมื่อกลุ่มชนดังกล่าวมาถึงยังคาราวานของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาเกิดความขัดแย้งกันเองในประเด็นที่ว่า จะพูดดีหรือไม่พูดดี และใครจะเป็นคนพูด และพวกเขาก็ทำร้ายกันเองด้วยแซ่ม้า ยะฮ์ยาและสหายของเขาไม่สามารถอดทนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้ จึงเดินทางกลับสู่นครมักกะฮ์

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)

 

    จากคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และในการตอบจดหมายของอัมร์ บินซะอีด มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งเป็นการดีที่เราจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวคือ

 

    คำตอบของฮุเซน บินอะลี (อ.) ที่มีต่ออับดุลลอฮ์ : ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่อย่างหนึ่งที่ถูกเสนอแก่ท่านโดยศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในโลกแห่งความฝัน จึงเป็นความจำเป็นที่ท่านจะต้องปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้ลุล่วงไป แม้ว่ามันจะต้องจบลงด้วยอันตรายที่จะมาประสพกับตัวท่านก็ตาม ท่านตอกย้ำถึงภารกิจและคำสั่งที่เป็นความลับดังกล่าวว่า ท่านมิได้บอกกล่าวให้บุคคลใดรับรู้มาก่อน จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของท่าน ท่านก็มิได้เปิดเผยให้ใครได้รับรู้

 

    ภารกิจสำคัญที่ว่านี้คืออะไร : มันคือการญิฮาดและการเป็นชะฮาดัตของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และการตกเป็นเชลยของบรรดาสตรีและลูกหลานของท่าน ในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ? และสิ่งต่างๆ ที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวกับมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากนครมะดีนะฮ์ และตลอดระยะทางจากนครมะดีนะฮ์จนกระทั่งการเป็นชะฮาดัตของท่าน บางครั้งท่านจะกล่าวในลักษณะเป็นนัย และบางครั้งจะกล่าวด้วยคำพูดที่ชัดเจน สิ่งดังกล่าวมันคือภาระหน้าที่และเป็นคำบัญชาการลับประเภทใดกันที่ทำให้ท่านอิมาม (อ.) กล่าวถึงมันอย่างหนักแน่นเช่นนั้น และเป็นเหตุทำให้ความมุ่งหวังของอับดุลลอฮ์ต้องหลายเป็นความสิ้นหวัง ซึ่งทำให้เขาต้องปิดปากและมุ่งหน้ากลับสู่นครมะดีนะฮ์ ทั้งๆ ที่ได้ใช้ความพยายามและความอุตสาหะอย่างเต็มที่แล้ว และเราทราบได้อย่างไรถึงคำสั่งดังกล่าวในเมื่อท่านอิมามเองได้กล่าวว่า “และฉันจะไม่บอกกล่าวถึงภารกิจอันนี้แก่ผู้ใด จนกว่าฉันจะกลับไปพบกับพระผู้อภิบาลของฉัน”

 

    คำตอบที่มีต่อจดหมายประกันความปลอดภัย : ท่านอิมาม (อ.) เริ่มต้นชี้ให้เห็นอย่างเป็นนัยถึงแผนงานของท่านว่า เป็นการเรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวกับอัมร์ บินซะอีด ด้วยคำกล่าวอันละเอียดอ่อนว่า “ในวันกิยามะฮ์ บุคคลที่ได้รับหลักประกันแห่งความปลอดภัยจากพระผู้เป็นเจ้า คือผู้ที่ยืนหยัดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามภารกิจของตนที่ได้รับมอบหมายบนโลกนี้ อันเป็นสาเหตุมาจากความเกรงกลัวและความยำเกรงต่อพระองค์”

 

    อย่างไรก็ตาม การที่ท่านใช้ “อิน อัชชัรฏียะฮ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประโยคเงื่อนไข ซึ่งมีความหมายว่า “หากว่า” มันเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงเป้าหมายหลักและสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของท่าน เพราะในฐานะของดุอาอ์ (การวิงวอนขอ) การนำเอาประโยคเงื่อนไข “หากว่า” เข้าไปใช้นั้น มันจะมีความหมายเป็นคำถาม การแสดงการตำหนิและการประณาม

 

การสนทนากับฟัรซะดัก    

 

    เพื่อให้อิมามฮุเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก เป็นคำเสนอแนะของฟัรซะดัก นักกวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอาหรับ ในขณะที่ท่านอิมาม (อ.) เดินทางออกจากนครมักกะฮ์มุ่งสู่แผ่นดินอิรัก ฟัรซะดักก็เดินทางมายังนครมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์เช่นกัน เขาได้มาพบกับคาราวานของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นอกเมืองมักกะฮ์ เขาจึงไต่ถามถึงเรื่องราวการเดินทางของท่าน ท่านอิมามได้ตอบคำถามดังกล่าว แล้วเราจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์การพบปะกันในครั้งนี้มานำเสนอโดยละเอียด ซึ่งท่านมัรฮูม เชคมุฟีด ได้อ้างรายงานโดยตรงมาจากตัวของฟัรซะดักเอง (2)

 

    ฟัรซะดักได้เล่าว่า ในปี ฮ.ศ. 60 ฉันเดินทางมุ่งสู่นครมักกะฮ์พร้อมกับมารดาของฉันเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ เมื่อฉันมาถึงเขตของฮะรัม (แผ่นดินมักกะฮ์) ฉันจับบังเหียนอูฐของมารดาของฉันและจูงมันไปยังคาราวานของท่านฮุเซน (อ.) ซึ่งกำลังออกจากนครมักกะฮ์มุ่งหน้าไปยังแผ่นดินอิรัก ฉันรีบกระวีกระวาดที่จะเข้าไปพบท่าน

 

    หลังจากให้สลามและแสดงความเคารพต่อท่าน ฉันได้กล่าวท่านว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ข้าพเจ้าขอพลีพ่อแม่เพื่อท่าน เพราะอะไรทำให้ท่านต้องรีบเร่งออกจากพิธีฮัจญ์” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “หากฉันไม่รีบเร่ง ฉันอาจถูกจับกุมตัวไปอย่างแน่นอน”

 

    ฟัรซะดักได้กล่าวต่อไปว่า ท่านอิมามถามฉันว่า “เจ้าเป็นใคร” ฉันตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งจากชาวอาหรับ” ฟัรซะดักกล่าวเสริมว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านอิมามมิได้ถามอะไรจากฉันมากไปกว่านี้เลย ในการทำความรู้จักกับฉัน

 

    หลังจากนั้นท่านถามถึงทัศนะของประชาชน (ชาวอิรัก) เกี่ยวกับสถานการณ์ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร ฉันตอบท่านไปว่า “ท่านถามมันกับผู้ที่มีความรู้ (เกี่ยวกับมัน) อยู่พอดี แท้จริงหัวใจของประชาชนนั้นอยู่กับท่าน แต่ทว่าดาบของพวกเขานั้นจะทำการเชือดเฉือนท่าน และการกำหนดชะตากรรมทั้งหลายนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์จะทรงทำให้บรรลุในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์”

 

    ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบฉันเช่นนี้ว่า “เจ้าพูดถูกต้องแล้ว กำหนดทั้งหลายอยู่ในอำนาจของอัลลอฮ์ และในทุกๆ วัน พระองค์ทรงดำเนินภารกิจ หากกำหนดทั้งหลายได้เกิดขึ้นตามที่เราปรารถนาและพึงพอใจ เราก็ขอสรรเสริญสดุดีต่ออัลลอฮ์บนความโปรดปรานทั้งหลายของพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงให้ความช่วยเหลือในการขอบคุณพระองค์ แม้ว่ากำหนดนั้นจะกีดขวางความมุ่งหวังของผู้ซึ่งมีเจตนาบริสุทธิ์และมีหัวใจที่ยำเกรงก็ตาม แต่ก็ไม่อาจทำให้เขาล่วงละเมิด (ออกไปจากหนทางอันถูกต้อง)” (3)

 

   ฟัรซะดักกล่าวว่า เมื่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ดำเนินมาถึงตรงนี้ ฉันกล่าวจึงกล่าวว่า “ใช่แล้ว คำพูดของท่านนั้นถูกต้อง ขออัลลอฮ์ทรงประทานสิ่งที่ท่านพึงปรารถนาด้วยเถิด” และฉันก็ถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับพิธีฮัจญ์รวมทั้งปัญหาอื่นๆ หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) ตอบคำถามเหล่านั้นแก่ฉัน เราได้แยกจากกัน ณ ที่แห่งนั้น

 

สองประเด็นที่น่าสนใจ

 

   จากคำกล่าวข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) เราได้รับรู้ในสองประเด็นที่น่าสนใจและมีคุณค่า

 

   ปัญหาเกี่ยวกับความรอบรู้ : ดังที่เราได้ชี้แจ้งไปแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า ถึงแม้เราจะไม่กล่าวอ้างถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความรอบรู้แห่งความเป็นอิมามัต” ที่มีอยู่ในตัวของท่าน

   อิมาม (อ.) ก็ตาม ท่านก็ยังคงมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในแผ่นดินอิรัก และเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ได้รับรู้มาจากหนทางปกติทั่วไป และท่านดำเนินการแผนการของท่านต่อไปด้วยความรอบรู้ที่สมบูรณ์ดังกล่าว ประเด็นเหล่านี้สำหรับบุคคลธรรมอย่างเช่นฟัรซะดักก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน ดังที่เขาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “บรรดาหัวใจของประชาชนอยู่กับท่าน แต่คมดาบทั้งหลายของพวกเขานั้นจะเชือดเฉือนท่าน”

 

   ปัญหาทางด้านจริยธรรม : เป็นปัญหาของความบริสุทธิ์ใจและการพึ่งพิงยังอัลลอฮ์ (ซบ.) การเดินทางของท่านในครั้งนี้กระทำไปเพื่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายและเป็นภารกิจแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นการไปถึงยังเป้าหมายและเจตนารมณ์ทางจิตวิญญาณ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อชัยชนะทางด้านภายนอกเพียงอย่างเดียว ท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) ได้วางรากฐานการเดินทางของท่านให้เป็นไปตามคำพูดของตนเองที่ว่า “และหากกำหนด (ของอัลลอฮ์) ได้กีดขวางความมุ่งหวัง (ของเรา) แล้ว บุคคลที่มีความตั้งใจ (เหนียต) ที่บริสุทธิ์ และหัวใจของเขามีความยำเกรง เขาก็จะไม่ก่อการละเมิดแต่ประการใด”

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อิรชาร เชคมุฟีด หน้าที่ 219, อัล บิดายะฮ์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 167, ตารีค อิบนิอะซากิร หน้าที่ 202, แต่ อิบนิอะซีร รายงานว่า ส่วนแรกที่เป็นคำตอบแก่อับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร เป็นในรูปของจดหมาย

(2) แม้ว่าฏ็อบรีย์จะกล่าวว่าสถานที่พบปะกันคือ “ซอฟาฮ์” และได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัซกิรอตุล ฮุฟฟาซ” เล่มที่ 1 หน้าที่ 33 ว่าเป็นที่ “ซาตุลอะรัก” และคำถามของฟัรซะดักก็มีความแตกต่างกัน แต่คำตอบของท่านอิมาม (อ.) เหมือนกันดังเช่นในตัวบทนี้ และเนื่องจากเราเห็นว่าทัศนะของท่านเชคมุฟีด ตามรูปการแล้วมีความถูกต้องมากกว่า เราจึงอ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไปยังบทที่มีอยู่ในหนังสือ “อิรชาด”

(3) อันซาบุ้ล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้าที่ 164, ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้าที่ 272, กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้าที่ 276, อิรชาด เชคมุฟีด หน้าที่ 218, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 223, อัล บิดายะฮ์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 166

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ