ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 10

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 10


 จดหมายฉบับที่ 2 ที่ส่งไปยังประชาชนแห่งเมืองกูฟะฮ์

 

เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) มาถึงยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีนามว่า “ฮาญิร” ซึ่งอยู่บนเส้นทางสู่เมืองกูฟะฮ์ ท่านเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงประชาชนชาวกูฟะฮ์ และเพื่อตอบจดหมายของมุสลิม บินอะกีล ซึ่งท่านได้ส่งเขาไปเป็นผู้ถือสาส์นคนหนึ่งของท่าน ซึ่งมีชื่อว่า “เกซ บินมุซะฮ์ฮัร ศอยดาวีย์” ในจดหมายมีใจความว่า

 

   “โดยแน่นอนยิ่ง จดหมายของมุสลิม บินอะกีล ได้มาถึงฉันแล้ว มันเป็นการบอกข่าวกับฉันให้รู้ถึงการรวมตัวกันของพวกท่านในการช่วยเหลือเรา และการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของเรา ฉันวอนขอต่อ    อัลลอฮ์ให้พระองค์ทรงโปรดทำให้กิจการทั้งมวลเป็นสิ่งดีงามสำหรับเรา และขอพระองค์ทรงตอบแทนผลรางวัลให้แก่พวกท่านในการกระทำดังกล่าว แน่นอนยิ่ง ฉันได้ออกเดินทางจากนครมักกะฮ์มายังพวกท่านแล้วในวันอังคารที่ 8 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ดังนั้นเมื่อผู้ถือสาส์นของฉันมาถึงพวกท่าน พวกท่านก็จงรีบเร่งทำให้กิจการงานของพวกท่านเข้ารูปเข้ารอยเสีย เพราะแท้จริงฉันจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้” (2)

 

ทำไมต้องเป็นเมืองกูฟะฮ์

 

    การยืนหยัดต่อสู้และการเดินทางของท่านอิมาม (อ.) บางครั้งถูกวาดภาพและจินตนาการไปว่า สาเหตุหลักที่เป็นตัวเร่งเร้านั้น คือปัญหาของการเชื้อเชิญและการเสนอที่จะให้การสนับสนุนค้ำจุนของประชาชนชาวกูฟะฮ์ในการตั้งรัฐบาลอิสลาม การจินตนาการและการวาดภาพดังกล่าวนอกจากจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงแล้ว มันยังเป็นการมองขบวนการและการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) ด้วยราคาและคุณค่าที่ต้อยต่ำ และยังเป็นการทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องราวที่แสนจะธรรมดาไป ซึ่งบรรดามุสลิมที่เป็นนักต่อสู้ ผู้มีความมั่นคงทางด้านจิตวิญญาณ และมีความมั่นคงต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระผู้เป็นเจ้านั้น พวกเขาก็ต้องปฏิบัติตามแผนการนี้เช่นเดียวกัน

 

    แต่เราในฐานะที่ได้ติดตามคำพูดและสุนทรพจน์ทั้งหลายของท่านอิมาม (อ.) มาตลอด เราได้มองเห็นปัญหาการเชื้อเชิญของชาวกูฟะฮ์และการจัดตั้งรัฐบาลนั้น มิได้มีบทบาทสำคัญหรือเป็นสาเหตุหลักแต่ประการใดต่อการเดินทางและการตัดสินใจของท่านอิมาม (อ.) ในครั้งนี้ เพราะท่านได้ยับยั้งการให้สัตยาบันต่อยาซีด และออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นครมักกะฮ์ด้วยเจตนารมณ์ในการต่อต้านและการต่อสู้อย่างห้าวหาญกับศัตรูที่ก้าวร้าว โดยมีแผนการและนโยบายที่มั่นคงแน่นอน

 

    ท่านอิมาม (อ.) กล่าวกับ อิบนิอับบาสว่า “พวกเขาไม่ละมือไปจากฉันอย่างแน่นอน จนกว่าพวกเขาจะได้หลั่งเลือดของฉันเสียก่อน” และในคำตอบของท่านที่กล่าวกับอิบนิซุบัยร์ที่ว่า “แม้ว่าฉันจะหลบหนีเข้าไปอยู่ในรังสัตว์ก็ตาม พวกเขาก็จะนำตัวของฉันออกมาและสังหารฉันให้จงได้”

 

    หลังจากการตัดสินใจของท่านอิมาม (อ.) และหลังจากการมาถึงยังนครมักกะฮ์ และยิ่งไปกว่านั้น หลังจากรับรู้ข่าวของประชาชนชาวกูฟะฮ์ที่ว่ามีการคัดค้านท่านอิมาม (อ.) นี้ต่างหากเล่า! ที่การเชิญชวนของชาวกูฟะฮ์ได้เริ่มต้นขึ้น มันเป็นที่ชัดเจนว่าการเชิญชวนดังกล่าวมิได้เป็นสาเหตุหลักและเป็นตัวแปรสำคัญในการยืนหยัดต่อการจัดตั้งขบวนการของท่านอิมาม (อ.) ทว่ามันเป็นเพียงสาเหตุและตัวแปรเล็กๆ เท่านั้นที่เข้ามาประกอบการตัดสินใจอันแรงกล้าของท่าน ภายใต้เจตนารมณ์และเป้าหมายอันสูงส่ง และภายใต้แผนการของท่านที่ถูกจัดเตรียมไว้แล้วเป็นอย่างดี

 

    เมื่อท่านอิมาม (อ.) จำเป็นต้องต่อสู้กับยาซีดต่อไป แต่หากการต่อสู้ต้องดำเนินอยู่ในนครมักกะฮ์ ย่อมจะต้องสิ้นสุดลงด้วยการถูกสังหารอย่างลับๆ ของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งผลทางด้านหนึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและเป็นการทำลายเกียรติบ้านของอัลลอฮ์ ส่วนผลอีกด้านหนึ่งนั้น มันจะกลายเป็นผลดีต่อยาซีด บินมุอาวียะฮ์ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นว่า อัมร์ บินสะอีด บินอัมรุ บินอาซ ผู้ที่ถูกบัญชาให้มารับหน้าที่สังหารท่านอิมาม (อ.) ต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะทำให้ท่านอิมาม (อ.) เลิกล้มการเดินทางของท่าน เพื่อกลับคืนสู่นครมักกะฮ์ เริ่มตั้งแต่การสร้างสันติภาพโดยการส่งจดหมายประกันความปลอดภัยมายังท่าน และหนทางอื่นๆ เขาพยายามที่จะทำให้เรื่องราวจบลงในนครมักกะฮ์อย่างเงียบๆ ด้วยการดับแสงแห่งขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ให้หมดสิ้นไป

 

    แต่ทว่าท่านอิมาม (อ.) ควรเลือกเดินทางไปยังสถานที่ใด? ท่านอิมามได้เลือกที่จะเดินทางไปสู่ใจกลางของแผ่นดินอิสลาม นับเป็นจุดระเบิดที่สำคัญจุดหนึ่ง นั้นคือแผ่นดินอิรักและเมืองกูฟะฮ์ เพราะภูมิภาคดังกล่าวนี้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญด้านการทหารที่ไม่ด้อยไปกว่าเมืองชาม ในด้านการขับเคลื่อนกำลังพลในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าในนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ในเรื่องความรอบรู้และความเข้าใจของประชาชนในภูมิภาคนี้ก็เพียงพอแล้ว จากที่จดหมายจำนวนมากของพวกเขาได้มาถึงยังนครมักกะฮ์ และการที่พวกเขาประกาศเตรียมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนท่านอิมาม (อ.) แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งหรือในสถานการณ์อันเป็นเฉพาะ ความรู้และความเข้าใจของประชาชนเหล่านั้นจะถูกครอบงำและถูกขวางกั้นบ้างก็ตาม แต่ในที่สุดแนวความคิดต่างๆ แห่งขบวนการต่อสู้ของท่านอิมาม (อ.) ก็จะส่งผลอย่างแน่นอนต่อการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต ซึ่งมันจะเริ่มขึ้นจากภูมิภาคนี้

 

    นอกเหนือไปจากปัญหาข้างต้นแล้ว สำหรับท่านอิมาม (อ.) ในฐานะผู้นำแห่งประชาชาติ ยังจะมีอุปสรรค์และข้ออ้างใดๆ อีกหรือที่จะล้มเลิกแผนการเดินทางไปยังแผ่นดินอิรักและเมืองกูฟะฮ์ ในเมื่อจดหมายและคำขอร้องต่างๆ จากชาวกูฟะฮ์เป็นที่ชัดเจนเช่นนั้น และหากชาวกูฟะฮ์จะกล่าวอ้างว่า “พวกเราพร้อมแล้วที่จะยอมพลีชีวิตและทรัพย์สินของตนในแนวทางของฮุเซน บินอะลี (อ.) และเราได้เรียกร้องท่านให้ตอบรับการเป็นผู้นำและผู้ปกครองของเรา แต่ท่านกลับมิได้สนใจใยดีต่อข้อเสนอและคำเรียกร้องของพวกเรา” หากคำตอบของท่านอิมาม (อ.) เป็นเช่นนี้ว่า

 

    “เพราะฉันรู้ว่าพวกท่านจะไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับฉัน ด้วยเหตุนี้ฉันจึงไม่ตอบรับการเรียกร้องของพวกท่าน” จะมีเหตุผลเพียงพอกระนั้นหรือ

 

   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ณ จุดนี้ท่านอิมาม (อ.) กำลังอยู่บนเส้นทางสองแพ่งแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งหากท่านไม่ยอมรับการเรียกร้องของประชาชนชาวกูฟะฮ์แล้ว ท่านจะต้องถูกประณามในหน้าประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์จะบันทึกและตัดสินว่า สภาพเงื่อนไขต่างๆ ได้ปูทางไว้เป็นอย่างดีแล้วสำหรับท่าน แต่ท่านกลับไม่ใช้โอกาสทองนี้ให้เป็นประโยชน์ หรือไม่ก็ไม่มีความต้องการที่จะกระทำการอันใด หรือมิเช่นนั้นก็เพราะมีความกลัวเป็นอุปสรรค์ขัดขวางท่าน และอื่นๆ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดข้อครหาและการถูกประณามขึ้นในอนาคต ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงตอบรับการเรียกร้องของประชาชนเหล่านั้น

 

สรุป :

 

ในด้านของภารกิจหน้าที่แห่งบทบัญญัติที่ถูกปิดบัง ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วสำหรับทุกคน เพื่อเป็นการสนองตอบการเรียกร้องของประชาชนชาวกูฟะฮ์ และเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นการเฉพาะที่ปกคลุมแผ่นดินอิรักอยู่ในขณะนั้น จำเป็นที่ท่านจะต้องดึงการต่อสู้ของท่านไปยังทิศทางดังกล่าว และทำให้แผนการของท่านถูกปฏิบัติในภูมิภาคนี้ และท่านได้ประกาศแจ้งการเดินทางของท่านแก่ประชาชนชาวกูฟะฮ์ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นปกติวิสัย และออกคำสั่งให้พวกเขาเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการแยกแยะภารกิจหน้าที่สองประการนี้ออกจากกันจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นสำหรับประชาชนทั่วไป แต่ทว่าบางคำพูดของท่านผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของชีอะฮ์ อาจจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า “ฮุเซน บินอะลี (อ.) ได้รวมระหว่างภารกิจที่ปรากฏให้เห็นภายนอก และภารกิจที่แท้จริงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในเข้าไว้ด้วยกัน และการเดินทางมุ่งสู่เมืองกูฟะฮ์ของท่านนั้น เท่ากับท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองอย่างพร้อมกัน” (3)

 

   แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่สองด้านดังกล่าวนี้หลายต่อหลายครั้ง ท่านได้อรรถาธิบายถึงภารกิจที่แอบแฝงซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของท่าน ด้วยสำนวนคำพูดที่แตกต่างกันไป เช่นว่า เป็นคำบัญชาจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในความฝันขณะที่ท่านนอนหลับ หรือเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและอื่นๆ ส่วนภารกิจหน้าที่ประการที่สองซึ่งเป็นภารกิจที่ปรากฏขึ้นจากภายนอก ซึ่งท่านอิมาม (อ.) มีความรอบรู้เป็นอย่างดีถึงการเป็นผู้ฉ้อฉลและไม่รักษาสัญญาของประชาชนชาวกูฟะฮ์ ท่านได้เลือกเอาแนวทางอันเป็นปกติสามัญ เป็นแนวทางที่บุคคลทั่วไปคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเลือก ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ท่านอิมาม (อ.) ได้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์ในคำพูดและในสุนทรพจน์ต่างๆ ของท่าน เช่น คำสนทนาของท่านกับอิบนิซุบัยร์ เป็นต้น สำหรับคำพูดอื่นๆ ของท่านอิมาม (อ.) ในประเด็นดังกล่าวนี้ ท่านผู้อ่านจะได้สัมผัสในหน้าต่อๆ ไป

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อันซาบุ้ล อัชรอฟ เล่มที่ 2 หน้า 164, อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 219, อัล ลุฮูฟ หน้า 60, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 220

(2) อันซาบุ้ล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 167, ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 289, อัล บิดายะฮ์ วันนิฮาบะฮ์ เล่มที่ 8 หน้า 168

(3) อัลคอซออิซุล ฮะซะนียะฮ์ เชคญะอ์ฟัร ชูตุรี

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ