เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 11

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่ 11

 

บนเส้นทางสู่เมืองกูฟะฮ์

 

อิบนิกะซีร ชาวดามัสกัส และอิบนะมา ได้เล่ารายงานจากชายชาวกูฟะฮ์ผู้หนึ่งโดยเขากล่าวว่า หลังจากที่ข้าพเจ้าประกอบพิธีฮัจญ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้ารีบเร่งกลับสู่เมืองกูฟะฮ์ และในระหว่างเส้นทางข้าพเจ้าได้เห็นค่ายพักจำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าสอบถามเจ้าของค่ายเหล่านั้น พวกเขาตอบว่าเต้นเหล่านี้เป็นของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) เมื่อข้าพเจ้าได้ยินคำพูดประโยคนี้ ข้าพเจ้าจึงมุ่งหน้าไปยังบุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ข้าพเจ้าพบท่านด้วยใบหน้าของชายผู้หนึ่งที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยชรา และข้าพเจ้าเห็นท่านกำลังหมกมุ่นอยู่กับการอ่านอัลกุรอาน ในสภาพที่น้ำตาไหลรินสู่ใบหน้าและเคราของท่าน

 

   ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า “ขอยอมพลีพ่อและแม่ของข้าพเจ้าเพื่อท่าน โอ้ ผู้เป็นบุตรชายแห่งบุตรีของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องรอนแรมมายังท้องทะเลทรายที่ไร้ซึ่งน้ำและพืชพันธุ์เช่นนี้”

 

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาเช่นนี้ว่า “แท้จริงพวกเหล่านี้ (บนีอุมัยยะฮ์) ได้ทำการข่มขู่ฉัน และส่วนนี่ก็คือจดหมาย (เชิญชวน) ต่างๆ ของชาวกูฟะฮ์ (ที่เขียนมาถึงฉัน) โดยที่พวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้สังหารฉัน และเมื่อพวกเขาได้กระทำการดังกล่าว อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงส่งบุคคลผู้หนึ่งในหมู่พวกเขา ที่จะสร้างความต่ำต้อยไร้เกียรติให้กับพวกเขา จนกระทั่งพวกเขาจะกลายเป็นผู้ที่ต่ำต้อยไร้เกียรติเสียยิ่งกว่าผ้าอนามัยซับเลือดของสตรี” (1)

 

การพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าของท่านอิมาม (อ.)

 

    สิ่งที่น่าสนใจจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ก็คือ การพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าของท่านอิมาม (อ.) เกี่ยวกับประชาชนชาวกูฟะฮ์ ซึ่งท่านกล่าวว่า “ประชาชนเหล่านี้จะเป็นผู้สังหารฉัน” และหลังจากการก่ออาชญากรรมดังกล่าวของพวกเขา อัลลอฮ์จะทรงให้ผู้หนึ่งที่มีอำนาจเหนือพวกเขาเช่นกัน โดยที่บุคคลเหล่านั้นจะทำการเข่นฆ่าพวกเขา จะสร้างความต่ำต้อยและไร้เกียรติเป็นที่สุด

 

    การคาดการณ์ล่วงหน้าดังกล่าวนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงหลายครั้งหลายคราในคำพูดของท่าน ณ “บัฏนุลอุกบะฮ์” และในขณะที่ออกเดินทางจากนครมะดีนะฮ์ ในช่วงที่ท่านได้ตอบข้อเสนอของอิบนุอับบาส และในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งที่สองของท่านในวันอาชูรอ ณ เบื้องหน้าประชาชนชาวกูฟะฮ์ โดยมีใจความว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า พวกท่านทั้งหลายจะไม่ถูกประวิงเวลาหลังจากสงครามครั้งนี้ นอกเสียจากประดุจดังช่วงเวลาที่ขึ้นขี้ม้า ซึ่งมันจะทำให้พวกท่านหมุนไปเสมือนดั่งการหมุนของโม่หิน และมันจะสร้างความอลหม่าน (กลียุค) ให้เกิดขึ้นกับพวกท่าน ประดุจดังความสับสนอลหม่านของเสาแกนโม่หิน”

 

การบรรลุสู่ความเป็นจริงในความต่ำต้อยไร้เกียรติของประชาชนชาวกูฟะฮ์

 

    ณ ที่นี้เรามาดูการคาดการณ์ล่วงหน้าของท่านอิมาม (อ.) เกี่ยวกับประชาชนชาวกูฟะฮ์ว่าเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อใด ในสภาพเช่นไร และด้วยฝีมือของบุคคลใด และบุคคลผู้นี้คือใครกันที่กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือประชาชนเหล่านั้น และได้ฉุดกระชากพวกเขาเข้าสู่ความต่ำต้อยไร้เกียรติอย่างที่ไม่เคยมีประชาชาติใดและกลุ่มใดๆ เคยประสบมาก่อน

 

    มันเป็นความจริงตามที่ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากเหตุการณ์แห่งอาชูรอ ประชาชนชาวกูฟะฮ์มิได้พานพบกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มและความสุขใดๆ อีกเลย นอกเสียจากในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เพราะทันทีทันใดที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งของเมืองนี้ได้ยืนหยัดขึ้น ภายใต้นามชื่อ “เตาวาบีน” (กลุ่มชนผู้สำนึกผิด) และหลังจากนั้นไม่นานนัก วิกฤติการณ์จากการปรากฏตัวของ “มุคตาร” ก็มาถึง รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยการฆ่าฟันและการหลั่งเลือด กลายเป็นเหตุแห่งกลียุคและความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์

 

    ในที่สุด มันได้จบลงด้วยกับโทษทัณฑ์ที่ติดตามมาแก่บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์แห่งกัรบะลาอ์ กลียุคและความสับสนอลหม่านดังกล่าวก็ดำเนินต่อไปตลอดช่วงเวลาของการปกครองแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินอิรัก และศูนย์กลางของมันคือเมืองกูฟะฮ์ ซึ่งเป็นไปตามคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ที่ว่า “(โอ้ อัลลอฮ์) ขอพระองค์ทรงทำให้บรรดาผู้ปกครองรู้สึกไม่พึงพอใจต่อพวกเขาตลอดไป”

 

    แต่ทว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวกูฟะฮ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ข่มขื่นที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของประชาชนชาวกูฟะฮ์ ได้แก่ช่วงเวลายี่สิบปีที่ฮัจญาจ บินยูซุฟ ซะกอฟีย์ ได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้ปกครองนคร ผู้ที่มีความมุทะลุและใช้อำนาจกดขี่อย่างที่สุดของแผ่นดินอิรัก (ซึ่งครอบคลุมถึงส่วนหนึ่งของแผ่นดินอิหร่าน) โดยในช่วงเวลาแห่งการปกครองของเขา (ตั้งแต่ปีที่ 75 จนถึงปี ฮ.ศ. ที่ 95) เขาได้ทำให้ประชาชนชาวอิรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์ ต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหง ทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นบนหัวใจของประชาชนเหล่านั้นอย่างรุนแรง เขาได้สังหารประชาชน จับกุมคุมขัง ทำทารุณกรรม และฉุดกระชากประชาชนเหล่านั้นลงสู่ความต่ำต้อยไร้เกียรติ สู่ความหายนะและความอับโชค ถึงขนาดที่ว่าไม่มีคำเปรียบเทียบใดที่จะเหมาะสมยิ่งไปกว่านี้ “(พวกเขาจะกลายเป็น) ผู้ที่ต่ำต้อยไร้เกียรติยิ่งเสียกว่าผ้าอานามัยซับเลือดเสียของสตรี”

 

อาชญากรรมโดยสังเขปที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของ “ฮัจญาจ”

 

     มีปรากฏในหนังสือ “มุรูญุซซะฮับ” และหนังสือ “กามิล อิบนิกะซีร” ว่า เมื่อฮัจญาจ บินยูซุฟ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแผ่นดินอิรัก เมื่อเขาเข้าสู่เมืองกูฟะฮ์อันเป็นสถานที่ตั้งมั่นของรัฐบาลของเขา คำปราศรัยครั้งแรกของเขาซึ่งประกอบไปด้วยคำข่มขู่และสร้างความหวาดผวา ด้วยสีหน้าของผู้ที่กระหายเลือด และเริ่มต้นคำพูดโดยไม่มีการกล่าว “พระนามของอัลลอฮ์” (บิสมิลลาฮ์ฯ) ส่วนหนึ่งจากคำปราศรัยครั้งแรกของเขามีดังนี้คือ

 

    “โอ้ ประชาชนชาวอิรัก โอ้ บรรดาผู้ชอบความแตกแยกและความกลับกลอก และเป็นผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่ต่ำทราม ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า แท้จริงข้าได้เห็นบรรดาต้นคออันยาวระหงในหมู่พวกเจ้า และบรรดาศีรษะที่กำลังสุกงอม ซึ่งเวลาสำหรับการเก็บเกี่ยวมันได้มาถึงแล้ว และข้าเองจะเป็นผู้เก็บเกี่ยวมัน โอ้ ประชาชนชาวอิรักเอ๋ย พวกเจ้าพึงสังวรไว้เถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ข้าจะไม่มองข้ามข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งสิ้นของพวกเจ้า และข้าจะไม่ตอบรับคำขออภัยใดๆ ของพวกเจ้าอย่างเด็ดขาด” (2)

 

    และเขาก็ออกคำสั่งว่า “พวกเจ้าจะต้องออกไปรวมตัวกันนอกเขตเมือง และจงรีบเร่งไปช่วยเหลือมะฮ์ลับ ซึ่งกำลังสู้ศึกสงครามกับบรรดาผู้ต่อต้านรัฐบาลในเมืองบัศรอฮ์ และบุคคลใดก็ตามที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวข้าจะตัดหัวเขา และจะทำลายบ้านเรือนของเขาให้พินาศ” ในวันที่สาม ขณะที่ฮัจญาจกำลังดูการเคลื่อนขบวนของประชาชนชาวกูฟะฮ์ที่มุ่งหน้าสู่เมืองบัศรอฮ์ มีชายชราคนหนึ่งจากหัวหน้าเผ่าของเมืองกูฟะฮ์ซึ่งมีชื่อว่า “อะมีร บินฏอบีย์” ได้เข้ามาหาเขาและกล่าวกับเขาว่า “โอ้ อะมีร ข้าพเจ้าแก่ชราภาพและมีร่างกายที่อ่อนแอ แต่ทว่าลูกชายที่ยังหนุ่มแน่นของข้าพเจ้าหลายคนได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ขอให้ท่านพิจารณาคนหนึ่งคนใดจากพวกเขาแทนตัวข้าพเจ้า และโปรดยกเว้นข้าพเจ้าจากการเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยเถิด”

 

    คำพูดของชายชราผู้นั้นยังไม่ทันจบลง ฮัจญาจออกคำสั่งให้ตัดศีรษะของเขา และยึดทรัพย์สินทั้งหมดของเขา ประชาชนชาวกูฟะฮ์เมื่อเห็นการบีบบังคับเช่นนี้ พวกเขาต่างออกไปรวมตัวกันนอกเมือง และเข้าร่วมในสงครามแห่งเมืองบัศรอฮ์กันอย่างเนื่องแน่น พวกเขากะวีกะวาดกันออกไปจนถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจำนวนมากต้องตกจากสะพานลงสู่กระแสน้ำยูเฟรตีสและจมน้ำตาย เนื่องจากการเบียดเสียดกันอย่างมาก (3)

 

    เป็นไปตามคำรายงานของนักประวัติศาสตร์ ฮัจญาจ บินยูซุฟ ได้จบชีวิตลงในปี ฮ.ศ.ที่ 95 หลังจากเป็นผู้ปกครองได้ 20 ปี จำนวนของผู้ที่ถูกสังหารจากน้ำมือของเขาในช่วงเวลานั้นมีถึงหนึ่งแสนสองหมื่นคน (จำนวนดังกล่าวไม่ได้รวมถึงผู้ที่ถูกสังหารในสงครามต่างๆ) และในช่วงที่ฮัจญาจเสียชีวิตนั้นมีบุรุษถึงห้าหมื่นคน และสตรีสามหมื่นคน ถูกคุมขังอยู่ในคุกของเขา ซึ่งจำนวนหนึ่งหมื่นคนจากบรรดาสตรีเหล่านั้นต้องเปลือยเปล่าปราศจากเครื่องนุ่งห่ม

 

   มัสอูดีย์ กล่าวหลังจากอ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นว่า ฮัจญาจได้คุมขังบรรดาบุรุษและสตรีไว้ในที่เดียวกัน และคุกของพวกเขาเหล่านั้นไม่มีหลังคาที่ใช้กำบังแสงแดดที่ร้อนจัด กระแสลมแรงและฝน รวมทั้งความหนาวเย็นของฤดูหนาว (4)

 

   มีปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ของอิบนิเญาซีย์ ว่า อาหารของบรรดาคนคุกเหล่านั้นคือแป้งจากข้าวบาเล่ห์ ขี้เถ้าและเกลือ ทุกคนหลังจากถูกขังอยู่ในคุกใดคุกหนึ่งของฮัจญาจเพียงไม่กี่วัน ผลจากอาหารประเภทนี้และจากการถูกเผาอยู่ท่ามกลางแสงแดด เขาจะกลายเป็นคนที่มีผิวดำไหม้เกรียมเหมือนนิโกร (5)

 

   อิบนิกุตัยบะฮ์ ดัยนูรีย์ อ้างอิงไว้ว่า เนื่องจากการต่อต้านฮัจญาจ บินยูซุฟของประชาชนชาวเมืองบัศรอฮ์ ทำให้ในวันศุกร์ของเดือนรอมฏอน เมื่อเขาเดินทางเข้าสู่เมืองนี้ และด้วยแผนอุบาทว์ที่เขาวางไว้ ภายในมัสยิดญาเมี๊ยะอ์ของเมืองบัศรอฮ์ เขาได้บังคับประชาชนถึงเจ็ดหมื่นคนให้เดินฝ่าคมดาบออกไป ซึ่งไม่มีโศกนาฏกรรมใดๆ ที่จะพบเห็นเช่นนี้มาก่อนเลยตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ (6)

 

   มัรฮูม เชคมุฮัมมัดญะวาด มุฆนียะฮ์ นักเขียนผู้เรืองนามชาวเลบานอนท่านหนึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้อ่านประวัติศาสตร์และตรวจสอบถึงความหยาบช้าและความกระหายเลือดแล้ว ข้าพเจ้าไม่พบเห็นบุคคลใดที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่า “ฮัจญาจ” ยกเว้นแต่เพียง “นีรูน” ผู้ที่เผากรุงโรมและนั่งดูเปลวไฟที่ลุกไหม้โชติช่วงด้วยความตลกขบขันต่อเปลวไฟที่เผาไหม้บรรดาสตรี เด็กๆ และคนชรา และแน่นอนว่าฮัจญาจนั้นเป็นศัตรูกับอัลลอฮ์และกับความเป็นมนุษย์ อันเป็นลักษณะทั่วไปของผู้ที่เป็นศัตรูของมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด” (7)

 

   ท้ายที่สุด อุมัร บินอับดุลอะซีร ได้กล่าวเกี่ยวกับฮัจญาจ บินยูซุฟ ว่า “หากประชาชาติทั้งมวลทำการคัดเลือกบุคคลที่เลวร้ายที่สุด และเป็นผู้ที่กระหายเลือดที่สุดของพวกเขา เพื่อประกวดประขัน

 

   ถึงความชั่วชาสามาลย์และเป็นผู้ก่ออาชญากรรม เราจะส่งฮัจญาจ บินยูซุฟเข้าแข่งขัน ในความต่ำทรามแห่งสัญชาตญาณดังกล่าว และเราจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน” (8)

 

จากจุดนี้เองที่ความหมายของคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ได้เป็นที่ประจักษ์แจ้งสำหรับพวกเรามากขึ้นในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวว่า “อัลลอฮ์จะทรงทำให้บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือพวกเขา ซึ่งจะสร้างความต่ำต้อยไร้เกียรติแก่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาจะกลายเป็นผู้ที่ต่ำต้อยไร้เกียรติยิ่งไปกว่าผ้าอานามัยซับเลือดประจำเดือนของสตรี”

 

คำตอบที่มีต่อท่านหญิงซัยนับ (อ.)

 

    ท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) เดินทางมาถึงที่พักแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “คุซัยมียะฮ์” ซึ่งอยู่ในเส้นทางของท่านที่จะมุ่งหน้าสู่แผ่นดินกัรบะลาอ์ ท่านหยุดพักที่นั้นเป็นเวลาหนึ่งวันกับหนึ่งคืนเต็มๆ ในยามเช้าตรู่ ณ สถานที่แห่งนั้น ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เข้ามาหาท่าน และกล่าวกับท่านว่า “โอ้ พี่ชายที่รัก บทกวีสองบทนี้ดูเหมือนว่ามันได้ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ และเข้าสู่หูของฉัน ซึ่งมันได้สร้างความสับสนและความกระวนกระวายใจให้กับฉันมากยิ่งขึ้นไปอีก”

 

     “โอ้ ดวงตาเอ๋ย จงเตรียมพร้อมเถิดด้วยความบากบั่น (ในการร้องไห้) เพราะว่าจะมีผู้ใดอีกหรือที่จะร้องไห้ให้กับบรรดาชะฮีดภายหลังจากนี้

 

     (จงร้องไห้) ให้กับกลุ่มชนผู้ซึ่งความตายอันเป็นลิขิตแห่งพระผู้เป็นเจ้า ได้ผลักดันพวกเขาเข้าสู่การกระทำที่ทำให้บรรลุซึ่งคำมั่นสัญญา”

 

    ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวตอบท่านหญิงซัยนับ (อ.) ด้วยประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวที่ว่า “โอ้ น้องสาวของฉัน สิ่งใดก็ตามที่มันได้ถูกกำหนดไว้แล้ว มันย่อมจะต้องเกิดขึ้น” (9)

 

จุดมุ่งหมายของคำว่า “กำหนดการ” ในที่นี้คืออะไร

 

    จากการอรรถาธิบายเกี่ยวกับคำว่า “ความประสงค์” และ “ความต้องการ” ทั้งในด้านของการสร้างสรรค์และในด้านของบทบัญญัติ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในบทที่ผ่านมา ประกอบกับการพิจารณาถึงเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมต่างๆ อันเป็นเฉพาะที่ท่านอิมาม (อ.) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับมันในแง่มุมของภารกิจหน้าที่อันเป็นข้อบัญญัติทางศาสนา เราคิดว่าปัญหาของคำว่า “กำหนดการ” จากคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ในที่นี้จำเป็นจะต้องกล่าวเพื่อให้เกิดความกระจ่างขึ้นในอีกระดับหนึ่ง และจุดมุ่งหมายของคำว่า “กำหนดการ” ในที่นี้คือคำสั่งและภารกิจแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและสภาวะต่างๆ อันเป็นเฉพาะดังกล่าว และทำให้ภารกิจอันนี้บรรลุสู่ขั้นตอนการปฏิบัติโดยการกระทำของท่านอิมาม (อ.) นั่นเอง

 

    เพราะคำว่า “กำหนดการ” หมายถึงภารกิจที่แน่นอนตายตัว และอยู่ในช่วงเวลาของการที่จะทำให้ความต้องการและความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าบรรลุสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ และ “กำหนดการ” นี้มันเป็นช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจาก “ความต้องการ” หรือ “ความประสงค์”

 

ณ สถานที่พักที่มีชื่อว่า “ซะอ์ละบียะฮ์”

 

    คาราวานของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) หลังจากออกมาจากคุซัยมียะฮ์และซัรวัด ก็ได้มาถึงสถานที่พักอีกที่หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ซะฮ์ละบียะฮ์” และในสถานที่แห่งนี้ คำพูดของท่านอิมาม (อ.) ได้ถูกรายงานไว้ ซึ่งเป็นคำพูดหนึ่งที่กล่าวขึ้นในช่วงที่มุสลิม บินอะกีล ได้รับชะฮาดัต และอีกสองคำพูดเป็นการตอบคำถามของคนสองคน ซึ่งเราจะนำเอาคำพูดทั้งสามมากล่าวในที่นี้ตามลำดับของมัน

 

คำพูดแรก เนื่องในช่วงเวลาของการเป็นชะฮาดัตของมุสลิม บินอะกีล ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวนี้ท่านฏ็อบรีย์และนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ ได้รายงานไว้โดยละเอียดจากอับดุลลอฮ์ บินมุสลิม เรื่องราวโดยสรุปมีดังนี้คือ

 

    อิบนิซะลีม หนึ่งจากประชาชนชาวกูฟะฮ์ได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมทางของข้าพเจ้าคือมัซรีย์ หลังจากเสร็จสิ้นการประกอบพิธีฮัจญ์ พวกเราได้รีบเร่งเพื่อที่จะไปให้ถึงยังคาราวานของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) โดยเร็ว เพื่อที่จะได้รับรู้ข่าวคราวความเป็นไปของท่านในสถานที่พักแห่งซัรวัด เราจึงตามมาทันคาราวานในสถานที่แห่งนี้ เราได้พบกับผู้เดินทางคนหนึ่งนามว่า “บะกีร” ซึ่งมาจากเมืองกูฟะฮ์ เราจึงสอบถามเกี่ยวกับเมืองของเขา เขากล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันมิได้อยากจะออกมาจากเมืองกูฟะฮ์ แต่เนื่องจากพวกเขาได้สังหารมุสลิม บินอะกีล และฮานีย์ บินอุรวะฮ์เสียแล้ว ฉันได้เห็นกับตาของฉัน พวกเขาได้ลากร่างอันไร้วิญญาณของชะฮีดทั้งสองไปบนพื้นดินเวียนรอบเมืองกูฟะฮ์”

 

    อับดุลลอฮ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับรู้ข่าวดังกล่าว เราจึงเข้าร่วมยังคาราวานของท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) จนกระทั่งในช่วงเวลาดวงอาทิตย์ตกดิน เราได้มาถึงสถานที่พักซึ่งมีชื่อว่า “ซะอ์ละบียะฮ์” และในบ้านแห่งนี้เราได้พบกับท่านอิมาม (อ.) อย่างใกล้ชิด พวกเรานำข่าวการเป็นชะฮีดของมุสลิมและฮานีย์มาบอกแก่ท่าน

 

    อิบนิซะลีม กล่าวว่า เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้รับทราบข่าวนี้ ท่านกล่าวว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะกลับคืนไปยังพระองค์” พร้อมกันนั้นน้ำตาก็ได้ไหลรินสู่ใบหน้าของท่านและผู้ร่วมทางของท่าน และบนีฮาชิมก็ได้ร้องไห้เช่นกัน เสียงร้องไห้คร่ำครวญของบรรดาสตรีได้ดังขึ้น หลังจากการสงบลงของที่ชุมนุม อับดุลลอฮ์และเพื่อนร่วมทางของเขาก็เสนอต่อท่านอิมาม (อ.) ว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ข่าวการถูกสังหารของมุสลิมและฮานีย์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านนั้นไม่มีพรรคพวกที่จะคอยสนับสนุนท่านอยู่เลยในกูฟะฮ์ ดังนั้นเป็นการดีที่ท่านจะหันหน้ากลับเสีย ณ สถานที่แห่งนี้”

 

    และอีกด้านหนึ่งลูกหลานของอะกีลก็กล่าวขึ้นว่า “ไม่ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราจะไม่หยุดยั้งการเดินทางในครั้งนี้ นอกเสียจากว่าเราจะได้ล้างแค้นให้แก่มุสลิม ต่อผู้ที่ได้สังหารเขา หรือไม่เช่นนั้นเราก็จะขอกลิ้งเกลือกไปบนเลือดของตนเองเหมือนกับเขา”

 

    การสนทนาและโต้แย้งกันระหว่างฝ่ายหนึ่ง คืออับดุลลอฮ์และผู้ร่วมทางของเขา และอีกฝ่ายหนึ่งคือลูกหลานของท่านอะกีลที่ได้ดำเนินไปอย่างยืดยาว แต่ละฝ่ายต่างก็หยิบยกเหตุผลและหลักฐานต่างๆ ขึ้นมาสนับสนุนทัศนะของตนเอง ในช่วงเวลานั้นเองที่ทุกคนต่างรอคอยว่าท่านอิมาม (อ.) จะแสดงทัศนะและการตัดสินใจของตนออกมาอย่างไร แล้วท่านอิมาม (อ.) ก็กล่าวเช่นนี้ว่า “ไม่มีความดีงาม (และประโยชน์) ใดๆ อีกแล้วสำหรับการมีชีวิตอยู่ภายหลังจากบุคคลเหล่านี้” (คือหลังจากการเป็นชะฮีดของมุสลิมและฮานีย์) (10)

 

บทสรุปในที่นี้ก็คือ จากทัศนะของท่านอิมาม (อ.) ผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาอิสรชน ท่านถือว่าการมีชีวิตอยู่ในสังคมหนึ่งๆ จะไม่มีคุณค่าและความดีใดๆ อีกแล้ว หากสังคมหนึ่งที่บรรดาบุรุษเช่นมุสลิม บินอะกีล และฮานีย์ บินอุรวะฮ์ ต้องถูกสังหารดังเช่นที่เกิดขึ้นในเมืองกูฟะฮ์ อันเป็นฐานกำลังแห่งอิสลาม โดยที่เรือนร่างของบุคคลเหล่านั้นต้องถูกลากประจานไปทั่วตลาดของเมืองนั้น ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเสียงตักเตือนและการเทศนาของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้แผ่คลุมไปทั่ว

 

    ใช่แล้ว! หลังจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว และหลังจากการถูกสังหารของบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้ และในสภาพสังคมเช่นนี้ การมีชีวิตอยู่จะไม่มีความหมายใดๆ อีก หากการมีชีวิตอยู่อย่างต่ำต้อยเช่นนี้จะยังคงความหวานชื่นและเบิกบานใจสำหรับความเป็นมนุษย์ก็เพียงแค่รูปร่างของพวกเขาเท่านั้น แต่มิใช่จิตวิญญาณด้านในของพวกเขา

 

คำตอบต่อคำถามหนึ่ง ณ สถานที่พักแห่ง “ซะอ์ละบียะฮ์”

 

   เป็นไปตามคำรายงานของเชคซอดูก (รฎ.) นักรายงานฮะดีษผู้ยิ่งใหญ่ของชีอะฮ์ และท่านคอฏีคอวาริซมีย์ ณ สถานที่พักแห่งซะอ์ละบีย์ที่ชายผู้หนึ่งได้เข้ามาพบกับท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) เขาถามท่านเกี่ยวกับตัฟซีรโองการที่ว่า “ในวันกิยามะฮ์ เราจะเรียกมนุษย์ทุกคนพร้อมด้วยอิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขา” (11)

 

   ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาว่า “อิมามหนึ่งจะเรียกร้องเชิญชวนสู่ทางนำ ดังนั้นอิมามของพวกเขา (คือกลุ่มชนหนึ่ง) จะตอบรับมัน และอิมาม (ผู้นำ) หนึ่งจะเรียกร้องเชิญชวนสู่ความหลงผิด ดังนั้นพวกเขา (คืออีกกลุ่มชนหนึ่ง) ก็จะตอบรับมัน ชนกลุ่มแรกจะได้เข้าสู่สวรรค์ ส่วนกลุ่มที่สองจะอยู่ในไฟนรก” (12)

 

   หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) กล่าวต่อไปว่า “และนี่คือความหมายของพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า “กลุ่มชนหนึ่งจะอยู่ในสวรรค์ และอีกกลุ่มชนหนึ่งจะอยู่ในไฟนรก” (13)

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อิบนิอะซากิร หน้า 211, อัล บิดายะฮ์ วันนิฮาบะฮ์ เล่มที่ 8 หน้า 169, มุซีรุล อะฮ์ซาน หน้า 21, และในตัวบทหนึ่งจากอัลบิดายะฮ์ และอิบนิกะซีร ที่เรามีอยู่ ประโยคแรกๆ ของคำพูดนี้มิได้ปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามันอาจถูกบิดเบือนด้วยอำนาจทางการเมือง

 

(2) มุรูญุซซะฮับ เล่มที่ 3 หน้า 143, กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 4 หน้า 34

 

(3) มุรูญุซซะฮับ เล่มที่ 3 หน้า 137

 

(4) อ้างอิงเล่มเดิม

 

(5) ซะฟีนะตุล บิฮาร เล่มที่ 1 หน้า 222

 

(6) รายละเอียดของเรื่องราวนี้ ค้นคว้าได้จากหนังสือ อัลบะฮ์ วิซซิยาซะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 32

 

(7) ชีอะฮ์ วัลฮากิมูน เล่มที่ 2 หน้า 211

 

(8) ตะซีบุตตะฮ์ซีบ เล่มที่ 2 หน้า 211

 

(9) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 225

 

(10) อันซาบุล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 168, ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 294, กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้า 278, อัลบิดายะฮ์ อิบนิกะซีร เล่มที่ 8 หน้า 168, อิรชาร เชคมุฟีด หน้า 222, อัล ลุฮูฟ หน้า 41, ซีรุอะฮ์ลามิล นับอาอ์ เล่มที่ 3 หน้า 208

 

(11) อัลกุรอาน บท อัลอิซรออ์ โองการที่ 71

 

(12) อามาลีย์ ซอดูก มัญจ์ลิสที่ 30, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 221

 

(13) อัลกุรอาน บท อัชชูรอ โองการที่ 7

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

 

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม