ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่13

ความประเสริฐของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ตอนที่13

 


คำปราศรัยหลังจากนมาซอัซริ ณ “ชะรอฟ”

 

ดังที่ท่านทั้งหลายได้อ่านไปแล้วในบทก่อนที่ว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้เผชิญหน้ากับฮูร บินยะซีด และกองทหารของเขา ซึ่งเป็นกองทหารกลุ่มแรกที่ถูกส่งมาจากอิบนิซิยาด ณ ตำบล “ชะรอฟ” หลังจากการเสร็จสิ้นการนมาซดุฮ์ริและการกล่าวปราศรัยของท่านอิมาม (อ.) แล้ว ในนมาซอัศริก็เช่นกัน ทหารของทั้งสองฝ่ายได้นมาซภายใต้การนำของท่านอิมาม (อ.) และเมื่อเสร็จสิ้นการนมาซอัศริ ท่านอิมาม (อ.) เริ่มกล่าวคำปราศรัยต่อกองทัพของฮูรเป็นครั้งที่สอง โดยท่านกล่าวว่า

 

     “โอ้ประชาชนเอ๋ย แท้จริงพวกท่านมีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และยอมรับว่าสัจธรรมเป็นของที่คู่ควรสำหรับมันแล้ว ย่อมเป็นที่พึงพอพระทัยสำหรับอัลลอฮ์มากยิ่งกว่า และเราคืออะฮ์ลุลบัยต์ของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เป็นผู้ที่เหมาะสมต่ออำนาจการปกครองและการเป็นผู้นำประชาชนยิ่งกว่าบรรดาผู้นำเหล่านั้น ผู้ที่แอบอ้างตนเองในสิ่งที่มิใช่สิทธิของพวกเขา และเป็นผู้ที่ดำเนินไปบนหนทางแห่งการกดขี่และการเป็นศัตรูกับพระผู้เป็นเจ้า และหากพวกท่านทั้งหลายได้หยุดยั้งเนื่องจากมีความรังเกียจเรา และไม่รู้ซึ้งถึงสิทธิอันชอบธรรมของเรา และหากทัศนคติของพวกท่านในขณะนี้เป็นอื่นไปจากจดหมายทั้งหลายของพวกท่านที่มีมายังฉัน ฉันก็จะหันออกไปจากพวกท่าน”

 

    เมื่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) สิ้นสุดลง ฮูร ได้กล่าวว่า “เราไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับจดหมายเชื้อเชิญเหล่านั้น”

 

    ท่านอิมาม (อ.) ออกคำสั่งให้ “อุกบะฮ์ บินซัมอาน” นำถุงย่ามสองใบที่บรรจุจดหมายของชาวกูฟะฮ์อยู่จนเต็มมาให้ท่าน แต่ฮูรก็ยังคงยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับจดหมายเหล่านี้ หลังจากนั้นจึงมีการพูดคุยกันระหว่างฮูรและท่านอิมาม (อ.) ซึ่งเราจะนำมาพิจารณาในบทต่อไป

 

สามประเด็นที่สำคัญจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)

 

    ในคำปราศรัยครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญสามประเด็น และเป็นจุดที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก นั่นก็คือ

 

    การแนะนำให้รู้จัก “อะฮ์ลุลบัยต์” ซึ่งเป็นครอบครัวและวงศ์วานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และอธิบายให้เห็นถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของพวกท่าน และจากผลของความเป็นผู้ที่สะอาดปราศจากมลทินทั้งหลายนี่เองที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมอบหมายตำแหน่งการเป็นผู้นำ (อิมาม) และผู้ปกครองประชาชาติทั้งมวลให้กับพวกท่าน

 

    การแนะนำให้รู้จักบรรดาผู้ที่ขัดแย้งและต่อต้านท่าน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่กดขี่และอธรรม เป็นกลุ่มชนที่เลวร้ายที่ขึ้นมาสู่อำนาจการปกครองประชาชาติอิสลามอย่างไม่ถูกต้อง ด้วยความอธรรมและการใช้กำลังอำนาจ

 

    สำหรับประเด็นที่สาม สามารถพบได้จากคำปราศรัยครั้งที่สองของท่านอิมาม (อ.) นั่นก็คือ ท่านอิมามได้แจกแจงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเดินทางของท่านมายังกูฟะฮ์ (ว่าไม่ใช่สาเหตุของการยืนหยัดและการต่อสู้) แต่การเดินทางของท่านในครั้งนี้เป็นไปตามการเชื้อเชิญของประชาชนของเมืองนี้ และหากประชาชนของเมืองนี้ (ซึ่งบรรดาทหารของฮูรก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา) ได้เปลี่ยนใจและรู้สึกสำนึกผิดต่อคำเชื้อเชิญของตน ท่านอิมาม (อ.) ก็พร้อมที่จะหันกลับไปยังสถานที่เดิมที่ท่านเดินทางมา

 

หากฮุเซน บินอะลี (อ.) มีอิสระ ท่านจะย้อนกลับไปยังนครมะดีนะฮ์หรือไม่

 

     มีคำถามเกิดขึ้นมาอีกว่า หากประชาชนชาวกูฟะฮ์รวมทั้งบรรดาทหารของฮูร ได้ปล่อยให้ท่านอิมามเป็นอิสระในการตัดสินใจแล้ว ท่านอิมาม (อ.) จะหันหน้ากลับไปยังนครมะดีนะฮ์หรือไม่ และท่านจะวางมือจากการต่อสู้ที่ท่านกำลังดำเนินอยู่หรือไม่ จำเป็นที่เราจะต้องแสวงหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าวนี้จากตัวบทของคำปราศรัยทั้งหลายของท่านอิมาม (อ.) โดยเฉพาะคำปราศรัยที่ท่านได้กล่าวไว้ ณ ตำบล “ชะรอฟ” จากคำปราศรัยทั้งสองของท่านอิมามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คำกล่าวที่ท่านได้กล่าวออกไปนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ซึ่งหลักฐานและข้อผูกมัด เพื่อเป็นการยับยั้งและขจัดข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากประชาชนชาวกูฟะฮ์กลุ่มนั้น ซึ่งท่านได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงไว้อย่างชัดเจนด้วยคำพูดของท่านดังนี้

 

     “แท้จริงการกล่าวคำเทศนาของฉันครั้งนี้ คือ (การทำให้หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล และเป็น) การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ และ (เป็นการทำให้สมบูรณ์ซึ่งหลักฐานข้อผูกมัด) ต่อพวกท่าน (เพื่อจะได้ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ อีก)”

 

    ด้วยคำพูดดังกล่าว ฮุเซน บินอะลี (อ.) ต้องการทำให้พวกเขาเข้าใจว่า “การที่ฉันมายังเมืองของพวกท่านนี้ มิได้มีเจตนาที่จะโจมตีหรือรุกรานประชาชนของเมืองนี้แต่อย่างใด หากว่าบรรดาเหล่าสมุนของบนีอุมัยยะฮ์พยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่ออย่างผิดๆ เพื่อให้เกิดความตรึงเครียดและวิกฤติการณ์ต่างๆ ขึ้นมา ขอกล่าวว่ามันคือความมดเท็จอย่างแท้จริง และเป็นการขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะแท้จริงการเดินทางครั้งนี้ของฉันมันเป็นไปตามการเรียกร้องและเชื้อเชิญของชาวกูฟะฮ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว”

 

    ส่วนประเด็นหลักของปัญหาคือ ท่านอิมาม (อ.) จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปหรือเบี่ยงเบนและหันหลังกลับ ณ สถานที่แห่งนี้ แต่มันมิได้หมายความเช่นนั้น หากประชาชนชาวกูฟะฮ์หันเหและเปลี่ยนแปลงไปจากคำเชื้อเชิญของพวกเขาแล้ว ท่านอิมาม (อ.) จะหันหลังกลับไปยังบ้านของตนและวางมือจากการยืนหยัดต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ชาวกูฟะฮ์หันเหและเบี่ยงเบนออกไปจากการที่เคยเชื้อเชิญท่าน และละทิ้งคำมั่นสัญญาที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือท่านนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า “หากเป็นเช่นนั้นฉันก็จะไม่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองนี้ ส่วนเรื่องที่ฉันจะไม่ยอมบัยอะฮ์ (ให้สัตยาบัน) ต่อยาซีด บินมุอาวียะฮ์ และการยืนหยัดต่อสู้กับเขานั้นมันจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่ามันจะจบลงด้วยการถูกสังหารของพวกเราก็ตาม” เพียงแต่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้หากมันมิได้บังเกิดขึ้นในแผ่นดินอิรัก มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ในดินแดนอื่นๆ

 

    เพราะหากจุดมุ่งหมายของท่านอิมาม (อ.) มิได้เป็นไปดังที่กล่าวมานี้ และหากเครือข่ายรัฐบาลของยาซีดคาดคิดและมีความรู้สึกเช่นที่ว่า ฮูเซนมิเพียงแต่จะวางมือจากการต่อสู้เท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น เขาได้สูญเสียความแน่วแน่มั่นคงของตนเองไปแล้ว และเขาได้ก้าวเข้าสู่ทางสองแพร่งในสภาพที่มีความลังเลและคลางแคลงใจ หากเป็นเช่นนี้จริงๆ หน่วยงานของรัฐบาลยาซีดจะไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับท่านอิมาม (อ.) เพราะพวกเขารู้ดีว่าการเผชิญหน้ากับท่านเช่นนั้นมันจะสร้างความตรึงเครียดและการเสียเปรียบให้กับรัฐบาลของบนีอุมัยยะฮ์

 

สรุปว่า การเผชิญหน้าของกองทัพยาซีดกับท่านอิมาม (อ.) การทำสงครามและการหลั่งเลือดกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ย่อมเป็นหลักฐานข้อพิสูจน์ที่แข็งแรงและชัดเจนที่สุดที่ว่าท่านอิมาม (อ.) มิได้เบี่ยงเบนหรือวางมือจากการต่อสู้ของท่านแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดต่างๆ ของท่านอิมาม (อ.) ตั้งแต่นครมะดีนะฮ์จนกระทั้งการเป็นชะฮีดของท่าน ถือเป็นพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งเช่นกัน ในความมั่นคงหนักแน่นในการตัดสินใจของท่านที่ไม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงและรวนเรได้เลย    

 

    ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ดังนั้นการถูกสังหารของบุรุษด้วยคมดาบในหนทางของอัลลอฮ์นั้นประเสริฐกว่า”

 

    ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ในไม่ช้าฉันจะทำให้บรรลุ (ในสิ่งดังกล่าว) ความตายมิใช่สิ่งน่าตำหนิใดๆ สำหรับบุรุษหนุ่ม”

 

    และท่านผู้กล่าวว่า “ความต่ำต้อยนั้นช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร”

 

    ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ฉันจะไม่ส่งมือของฉันให้กับพวกเขา เหมือนดั่งการมอบของบรรดาผู้ที่ต่ำต้อย และจะไม่ยอมหลบหนีไปจากพวกเขา เหมือนดั่งการหลบหนีของทาส”

 

    ท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “…และยาซีดคือผู้ที่ดื่มสุรา…และ (บุคคลที่มีฐานภาพ) อย่างฉันย่อมจะไม่ให้การยอมรับ (บัยอะฮ์) ต่อบุคคลเยี่ยงเขา”

 

    และท่านผู้ซึ่งกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะไม่ปล่อยให้ความต่ำต้อยเกิดขึ้นจากตัวฉันอย่างแน่นอน”

 

    ใช่แล้ว! ท่านคือผู้ที่อุดมการณ์และทัศนคติของท่านจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและไม่มีสิ่งใดสามารถมาหยุดยั้งการต่อสู้ของท่านได้อย่างแน่นอน มันจะยังคงดำเนินต่อไปและจะไม่มีวันเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายของท่าน ท่านกำลังมุ่งหน้าไปสู่มันไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสิ่งใดก็ตาม

 

    สรุปได้ว่า ในความมีอิสระของท่านอิมาม (อ.) ประชาชนชาวกูฟะฮ์ไม่มีผลแม้แต่น้อยต่อการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ ทำนองเดียวกัน การเชื้อเชิญของพวกเขาก็มิได้เป็นสาเหตุของการยืนหยัดต่อสู้ของท่านเลยแม้แต่น้อยนิด

 

ที่มา : หนังสือสุนทรพจน์ ฮุเซน บินอะลี (อ.)

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ