การทำบุญบ้านคนตายในอิสลาม

การทำบุญบ้านคนตายในอิสลาม

 

นิยามของ การทำบุญบ้านคนตาย คือ การทำบุญเนื่องจากการตาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน นั่นคือ การที่ครอบครัวผู้ตาย เตรียมอาหาร พร้อมเครื่องดื่ม และเชิญบรรดาเพื่อนบ้านใกล้เคียง , บรรดามุอ์มิน และบรรดาโต๊ะครู มาชุมนุมกันที่บ้านผู้ตาย เพื่ออ่านอัลกุรอาน ดุอา และการขออิซติฆฟารให้แก่ผู้ตาย และเพื่อเนียตอุทิศผลบุญเป็นฮะดียะฮ์ให้วิญญาณผู้ตาย ในวันที่ตาย หรือ 3 วัน 7 วัน 40 วัน เป็นต้น

 

ทำเนียมปฏิบัติตามคำสอนอัลอิสลามหลังการตาย ที่เป็นภาคบังคับ(วายิบ) ให้ต้องปฏิบัติ คือ

 

1.การอาบน้ำให้ศพ ด้วยกับ 3 น้ำ
2. การทำฮุนูตให้ศพ
3. การห่อศพด้วยผ้ากะฟั่น 3 ชิ้น (ผ้านุ่ง )
4. การนมาซญะนาซะฮ์
5.การฝังศพ

 

ทำเนียมปฏิบัติตามคำสอนอัลอิสลามหลังการตาย ที่เป็นภาคซุนนะฮ์(ส่งเสริม) ให้ปฏิบัติ

 

ทำเนียมปฏิบัติหลังจากการตายตามแบบฉบับของรอซุลลอฮ์ และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ หรือที่เรียกกันในแวดวงชาวบ้านว่า “การปฏิบัติที่อยู่ในประเภทซุนนะฮ์ หรือมุสตะฮับ” มีให้ปฏิบัติมากมายเพื่อเนียตเป็นกุศลทานให้แก่ผู้ตาย เช่น

 

1)- การอ่านอัลกุรอาน และดุอาเนียตฮะดียะฮ์ให้ผู้ตาย

 

อับดุรเราะฮ์มาน บิน อะลา บิน ลัจญ์ลาจญ์ รายงานมาจากบิดาของเขา ว่า :


จากอับดุรเราะฮ์มาน อิบนุล อะลาอ์ อิบนุ ลัจญ์ลาจญ์ จากพ่อของเขา (อัลอะลาอ์)  กล่าวว่า พ่อของฉัน (ลัจญ์ลาจญ์) ได้กล่าวกับฉันว่า โอ้ลูกเอ๋ย เมื่อฉันตายก็จงทำลูกหลุมฝังศพของฉัน และเมื่อเจ้าวางฉันลงในลูกหลุมของฉันก็จงกล่าวว่า “บิสมิลลาฮิ วะอะลา มิลละติรอซูลิลลาฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม” หลังจากนั้นก็กลบร่างของฉันจนดินเสมอพื้น เสร็จแล้วจงอ่านทางด้านศรีษะของฉันด้วยกับตอนต้นของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ และตอนท้ายของซูเราะฮ์นี้ เพราะแท้จริงฉันเคยได้ยินท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้เช่นนั้น”


(อัตฏอบรอนีย์ บันทึกฮะดีษบทนี้ไว้ในอัลกะบีร โดยบรรดาผู้รายงานได้รับความน่าเชื่อถือ จาก อัยซามี)

 

รายงานจากอิบนุอุมัรได้กล่าวว่า :


ฉันได้ยินรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ กล่าวว่า เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเสียชีวิต พวกท่านอย่าได้รอช้า โดยจงรีบนำเขาไปยังหลุมศพของเขา และจงอ่าน ซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ ที่ศีรษะของเขา(มัยยิต) และอ่านช่วงสุดท้ายของซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ที่สองเท้าของเขา (มัยยิต)ที่ หลุมศพของเขา

 

2)- จัดเลี้ยงอาหาร หรือบริจาคอาหารเพื่อเนียตฮะดียะฮ์ให้กับผู้ตาย

 

ปัญหาเรื่องบ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหาร  เพื่อส่งผลบุญให้แก่ผู้ตาย ซึ่งชาวบ้าน ทั่วๆไปจะเรียกกันว่า  ทำบุญบ้านคนตาย นัั้น ในบัญญัติอิสลามไม่ได้ระบุว่า “ทำไม่ได้”
แต่ทางกลับกัน มีระบุไว้ถึงเรื่องของการทำอาหารเนื่องด้วยมีคนตายไว้ว่า ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ และอะฮ์ลุลบัยต์นบี เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อครอบครัวผู้ตายในช่วง 3 วันแรกของการตาย ที่จะให้เพื่อนบ้านของผู้เสียชีวิต หรือเครือญาติของผู้เสียชีวิตทำอาหารไปเลี้ยงบ้านของคนตาย


ดังที่มีระบุไว้ในวจนะของท่านอิมามศอดิก (อ.) ว่า “ในวันที่ท่านญะฟัร บิน อบูฏอลิบ ได้รับตำแหน่งชะฮีดในสงครามมุตะฮ์ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. ได้สั่งให้ท่านหญิงฟาติมะฮ์ บุตรีของท่าน และผู้หญิงชาวมะดีนะฮ์ได้ทำอาหารไปยังบ้านของอัสมา บิน อุมัยส์ ภรรยาของท่านญะอ์ฟัร เป็นเวลาถึง 3 วัน และสิ่งนี้จึงกลายเป็นซุนนะฮ์ปฏิบัติเรื่อยมา

 

จากท่านญะอ์ฟัร บุตรของคอลิด จากพ่อของเขา จากท่านอับดุลลอฮ์ บุตรของญะอ์ฟัร(เกิดที่ดินแดนฮะบะชะฮ์ (เอธิโอเปีย)  สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 80) เล่าว่า เมื่อข่าวการสิ้นชีวิตของท่านญะอ์ฟัรรู้ถึงท่านรอซูลุลลอฮ์ ท่าน กล่าวว่า


“พวกท่านจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอ์ฟัรเถิด เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก (หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจ) มาประสบกับพวกเขา”


(บันทึกโดยอบูดาวูด ฮะดีษเลขที่ 3130 /ติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 998 / อิบนุ มาญะฮ์ ฮะดีษเลขที่ 1610 / ฮากิม ฮะดีษเลขที่ 1377 บทว่าด้วยญะนาวะฮ์ , /อะฮ์หมัด ฮะดีษเลขที่ 1754 อบูยะอ์ลา ฮะดีษเลขที่ 6801 อับดุรเราะซาก ฮะดีษเลขที่ 6670 / บัยฮะกีย์ ฮะดีษเลขที่ 7197 )

 

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วกล่าวว่า “มารดาของฉันเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทันได้สั่งเสีย แต่ฉันคิดว่าถ้านางมีโอกาสพูด นางคงจะขอให้บริจาคทานเป็นแน่แท้ เช่นนี้แล้ว หากฉันบริจาคแทนนาง นางจะได้รับผลบุญหรือไม่ครับ?” ซึ่งท่านตอบว่า “ได้”


(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ ฮะดีษเลขที่ 1004 และมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1388)

 

ฉะนั้นการบริจาคทานให้กับคนตาย หรือ การทำอาหารบริจาคเพื่ออุทิศส่วนกุศล(ษะวาบ)ให้กับผู้ตายจึงถือว่าเป็นการงานที่มีการส่งเสริมให้ทำ(ซุนนะฮ์)


แต่การรับประทานอาหาร หรือ เลี้ยงอาหารในบ้านผู้ตายในขณะที่เขากำลังมีทุกข์ อันเป็นการสร้างและเพิ่มภาระให้กับครอบครัวผู้ตาย “การเพิ่มภาระให้แก่ครอบครัวที่กำลังมีทุกข์” สิ่งนี้ต่างหากที่ไม่ส่งเสริมให้ทำ (มักรุฮ์) ไม่ใช่ เรื่องของการกินอาหาร หรือ ไม่กินอาหาร ความว่า การทำบุญเนื่องจากการตาย แล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อฮะดียะฮ์ (อุทิศกุศลทาน) และไม่ใช่เป็นการสร้างภาระให้กับครอบครัวคนตาย ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (ซุนนะฮ์) แต่หากไปเพิ่มภาระให้กับครอบครัวคนตายในกรณีเช่นนี้ ที่อิสลามถือว่า มักรุฮ์ (ไม่ส่งเสริมให้ทำ) แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ประจักษ์ชัดว่า “ฮะรอม”

 


ฉะนั้นการไปลงฮุกุ่มว่า “ฮะรอม” มันจึงไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง

 

บทความโดย เชคอันซอร เหล็มปาน

ที่มา azzahra thai