อะฮ์ลุลบัยต์ในอัลกุรอาน ตอนที่ 8

 

โองการที่ 67 ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลีเป็นผู้นำสืบทอดต่อหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ)


อัลกุรอานกล่าวว่า


يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ

 

“โอ้รอซูลเอ๋ย! จงประกาศในสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า ถ้าเจ้าไม่ปฏิบัติเท่ากับเจ้าไม่ได้ประกาศสารของพระองค์เลย และอัลลอฮ์ทรงคุ้มกันเจ้าให้พ้นจากมวลมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงชี้นำกลุ่มชนที่ปฏิเสธศรัทธา”

 

บรรดานักตัฟซีร์ทั้งหลายของชีอะฮ์ และบางคนของซุนนี อาทิเช่น ท่านฟัครุรรอซีย์ และตัฟซีรอันมะนาร ได้พูดว่าโองการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับท่านอิมามอะลี (อ.) และเหตุการณ์ในฆอดีรคุม

 

คำพูดของโองการข้างต้นกับโองการก่อนและหลังนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอัลกุรอานทั้งหมดมีเฉพาะโองการนี้เท่านั้นที่มีการขู่บังคับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ให้ประกาศสารว่า หากท่านศาสดาไม่ยอมประกาศ การงานทั้งหมดที่ทำมาตลอด 23 ปีนั้นถือว่าเปล่าประโยชน์ ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงมีบัญชามาต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

แง่คิดจากโองการ


1.ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ ถูกประทานลงมาในช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)

 

2.ในโองการได้แทนที่การใช้คำว่า  ياأيّهاالنبي  เป็นคำว่า ياأيهاالرسول  เป็นการแสดงให้เห็นว่าสารนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

3.โองการได้ย้ำเตือนท่านศาสดาว่าหากไม่ประกาศสารสำคัญดังกล่าวถือว่าการงานที่ทำมาทั้งหมดต้องสูญเปล่า

 

4.ท่านศาสดามีความหวั่นเกรงในการประกาศสิ่งนั้น แต่อัลลอฮ์ได้ทรงปลอบว่าฉันจะปกป้องเจ้าจากความชั่วร้ายของประชาชน

 

5.ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่ได้กลัวอันตรายจะเกิดขึ้นกับตัวท่าน เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการทำลายเจว็ดในมักกะฮ์ การทำสงครามกับศัตรูครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านไม่เคยกลัวอันตรายแม้แต่นิดเดียวหลายครั้งที่ท่านถูกขว้างด้วยก้อนหินจนสาวกหลายคนได้รับบาดเจ็บ แล้วท่านเพิ่งจะมานึกกลัวในบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตกระนั้นหรือ ?

 

6.ความสำคัญของสารนั้นถือว่า เป็นรากฐานสำคัญของอิสลาม เพราะหากเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย อัลลอฮ์(ซบ.) ก็ไม่จำเป็นต้องข่มขู่ให้ท่านศาสดาต้องกระทำ

 

7.สิ่งสำคัญในสารนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ เตาฮีด นุบูวัต หรือมะอาดแน่นอน เพราะสิ่งสำคัญเหล่านี้ท่านศาสดาได้เผยแพร่ตั้งแต่ตอนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดา ไม่จำเป็นต้องมาแนะนำกันอีกในบั้นปลายสุดท้าย

 

8. สิ่งสำคัญนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนมาซ ศีลอด ซะกาต ฮัจญ์ และญิฮาดแน่นอน เพราะตลอด 23 ปีท่านศาสดาได้เชิญชวนให้ประชาชนไปสู่ และพวกเขาก็ได้ปฏิบัติกันมาตลอดโดยไม่มีความกลัวใดๆ

 

9. .สิ่งสำคัญสิ่งนั้นคือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในฆอดีรฺคุม วันนั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ทำการแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นตัวแทนและเป็นคอลิฟะฮ์ต่อภายหลังจากท่าน ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยเสียงที่ดังชัดเจน หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า


 "ฉันขอฝากสิ่งสำคัญสองสิ่งไว้ให้เป็นอะมานะฮ์แก่พวกท่านอันได้แก่ คัมภีร์แห่งอัลลอฮ์ (อัลกุรอาน) และอิตรอตี ผู้เป็นทายาทของฉัน สองสิ่งนี้จะไม่มีวันแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด โอ้ประชาชนเอ๋ย! พวกท่านจงอย่าล้ำหน้าและอย่าหล้าหลัง จากสิ่งทั้งสอง เพราะมันจะเป็นสาเหตุทำให้พวกท่านต้องหลงทางตลอดไป"

 

ในเวลานั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้จับมือท่านอะลี (อ.) ชูขึ้นและแนะนำต่อประชาชน หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า "ใครคือ ผู้ที่รู้ดีกว่าผู้ศรัทธาทั้งหลาย? พวกเขาพูดว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) และรอซูลของพระองค์เป็นผู้ที่รู้ดีกว่าใครทั้งหมด" ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)กล่าวว่า "อัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นผู้ปกครองฉัน ส่วนฉันเป็นผู้ปกครองมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย และฉันมีความประเสริฐกว่าพวกเขาและชีวิตของเขา" หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า "ใครก็ตามที่ฉันเป็นผู้ปกครองเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองเขาด้วย ขออัลลอฮ์ทรงรักผู้ที่รักเขา และเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับเขา" หลังจากนั้นมลาอิกะฮ์ญิบรออีลได้นำวะฮีย์ลงมาว่า “วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกจ้าสมบูรณ์แล้วแก่พวกเจ้า และข้าได้ให้ความเมตตาของข้าอย่างครบถ้วนแก่พวกเจ้า"

 

10.ตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของท่านอิมามอะลี (อ) เหมือนกับเรื่องอะฮ์กามในแง่ที่ว่าทั้งสองเป็นวะฮีย์จากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งท่านศาสดาได้ทำหน้าที่ประกาศ และเมื่อสิ่งนี้เป็นวะฮีย์จึงปราศจากข้อผิดพลาด การหลงลืม ความต้องการส่วนตัว และความผูกพันทางครอบครัวอย่างสิ้นเชิง สิ่งนี้เป็นพระบัญชาของอัลลอฮ์

 

11.ท่านศาสดาไม่มีหน้าที่ต้องทำอย่างอื่น นอกจากการประกาศสารและอะฮ์กามของพระองค์ ไม่ว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ดังความต้องการส่วนตัวของท่านศาสดาจึงไม่อาจมีอิทธิพลต่อภารกิจนั้นได้ เช่นกันการแต่งตั้งบรรดาศาสดาทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ สรุปก็คือการแต่งตั้งท่านศาสดา และตัวแทนเป็นภาระกิจของอัลลอฮ์โดยตรง ดังนั้นคำว่า (بلغ) จึงตรงประเด็นตามที่เรากล่าวอ้าง และทำให้รู้ว่าการแต่งตั้งตัวแทนของท่านศาสดา ไม่ใช่หน้าที่ของท่านศาสดา ท่านไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพียงแค่เป็นผู้ประกาศวะฮ์ยูแก่ประชาชนตามพระประสงค์ของพระองค์ ฉะนั้น เมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังไม่สามารถแต่งตั้งตัวแทนของท่านได้แล้ว แน่นอนบุคคลก็ไม่ต้องกล่าวถึงอีกเลย ซึ่งสิ่งนี้สามารถเข้าใจได้จากคำว่า (بلغ) ดังนั้นแต่งตั้งตัวแทนจึงไม่ใช่หน้าที่ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 

12.ตำแหน่งตัวแทนของท่านอิมามอะลี (อ.) ในยุคนั้นเป็นหน้าที่เฉพาะที่ถูกประทานลงมาให้กับท่านศาสดาซึ่งได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่วันแรก ดังเช่นอะฮ์กามอิสลามที่ได้ถูกกำหนดมาตั้งแต่วันแรกเช่นกัน เพียงแต่อัลลอฮ์ได้ประกาศแก่ประชาชนตามวาระโอกาสที่พระองค์เห็นว่ามีความเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า “ฉันเป็นนบีตั้งแต่ท่านอาดัมยังอยู่ระหว่างน้ำกับดิน” ดังตำแหน่งของการเปิดเผย จึงมาก่อนการแต่งตั้ง เหตุผลของการกล่าวอ้าง คือคำว่า อันซะละ นั้นบ่งบอกว่าพระบัญชานั้นได้มาจากองค์พระผู้อภิบาล

 

13. การให้ความสำคัญต่อตำแหน่งอิมามและวะศีย์ในอิสลาม หมายถึง ศาสนานั้นขึ้นอยู่กับอิมาม และในความเป็นจริง อิมามัตคือแก่นของศาสนา ดังนั้นอุปมาของศาสนาที่ปราศจากอิมาม จึงเหมือนกับคนที่ไม่มีหัวใจ ดังเช่นที่ อัลลอฮ์ทรงกำชับอย่างหนักกับท่านศาสดาว่า “ถ้าท่านไม่ทำเท่ากับว่าไม่เคยประกาศสารของข้าเลย” ประโยคดังกล่าวต้องการสื่อว่ามันสมองของอะฮ์กาม หรือฐานรากของมันนั้นคือ วิลายะฮ์และอิมาม นั่นเอง

 

14.ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พยายามใช้อิทธิพลและอำนาจที่ตนมีอยู่บีบบังท่านศาสดา ถ้าท่านศาสดาประกาศสารนั้นเมื่อใดพวกเขาจะจัดการกับท่านทันที ดังนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “อัลลอฮ์จะทรงคุ้มครองท่านจากบรรดาประชาชน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

อะฮ์ลุลบัยต์ในอัลกุรอาน ตอนที่ 5

อะฮ์ลุลบัยต์ในอัลกุรอาน ตอนที่ 6

อะฮ์ลุลบัยต์ในอัลกุรอาน ตอนที่ 7

 

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์