คำสอนของอัลกุรอาน สำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า

คำสอนของอัลกุรอาน สำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า


ในอิสลาม "การทำดีต่อผู้อื่น" การแสดงเพื่อตอบโต้ต่อการกระทำที่ไม่ดีต่างๆ ของพวกเขาถูกนับว่าเป็นวิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นสื่อในการดึงดูดและปรับปรุงพฤติกรรมของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของสังคมอีกด้วย"


     การใช้ชีวิตในสังคมที่ทุกคนกำลังดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และหากไม่มีความอดทนอดกลั้น บางทีอาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับบางคน ในแต่ละวันบนท้องถนนและตรอกซอยหรือแม้แต่ในที่ทำงาน ที่สภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิตเราจะต้องเผชิญกับฉากต่างๆ โดยที่วิธีปฏิสัมพันธ์และการจัดการของเรากับสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันและบางทีแม้แต่ชีวิตของเรา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เราจะต้องเผชิญกับพวกเขาในความสัมพันธ์ทางสังคมและการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของพวกเขาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ในวิถีชีวิตแบบอิสลามได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสวยงามในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ คำแนะนำนี้เป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันมีความก้าวหน้าและสวยงาม นั่นคือ "การทำดีต่อผู้อื่น"


     ศาสนาอิสลามได้กล่าวถึงเกี่ยวกับการทำดีและการปฏิบัติดีต่อผู้อื่นไว้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกเราจำเป็นต้องทำดีตอบแทนผู้อื่นที่ทำดีต่อเรา พระเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :

 


هَلْ جَزَاءُ الْإِحْسَانِ إِلَّا الْإِحْسَانُ


"จะมีการตอบแทนคุณความดีอันใดนอกจากการทำดีตอบกระนั้นหรือ?" (1)


    รูปแบบที่สองซึ่งจะเหนือกว่ารูปแบบก่อนหน้านี้และบางทีอาจจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า นั่นก็คือ จำเป็นที่เราจะต้องทำดีตอบต่อการกระทำที่ไม่ดีของผู้อื่น ดั่งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า


ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ السَّيِّئَةَ


"จงปัดป้อง (ตอบโต้) สิ่งเลวร้ายด้วยสิ่งที่ดีงามยิ่ง" (2)


    และพระองค์ยังได้ทรงตรัสไว้อีกเข่นกันว่า :


وَلَا تَسْتَوِي الْحَسَنَةُ وَلَا السَّيِّئَةُ ادْفَعْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ فَإِذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيمٌ


"และความดีและความชั่วนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน เจ้าจงปัดป้อง (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่ดีกว่า แล้วเมื่อนั้น ผู้ที่มีความเป็นศัตรูกันระหว่างเจ้าและระหว่างเขาก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน" (3)


สองประเด็นที่สวยงาม


    จากโองการเหล่านี้เหล่านี้ทำให้รับรู้ได้ว่า การทำดีต่อผู้อื่นแม้ว่าต่อบุคคลที่ทำความเลวต่อเราก็ตาม จะมีผลกระทบที่สำคัญยิ่งสองประการ ซึ่งผลประการหนึ่งจะปรากฏในตัวบุคคลและอีกประการหนึ่งจะปรากฏในสังคม


การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรภาพ


    หนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดกับปัญหาต่างๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวและในกรณีที่ความไม่ดีต่างๆ จากผู้อื่นมาประสบกับเรา คือการมองข้าม การให้อภัยและการเชิญชวนสู่ความรักและความใกล้ชิด ตัวอย่างมากมายของการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จนี้ จะพบเห็นได้ในการอบรมขัดเกลา (ตัรบียะฮ์) มนุษยชาติในชีวิตของปวงศาสดาและบรรดาวะลีย์ (ผู้ใกล้ชิด) ของพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ก็ทรงชี้ถึงประเด็นนี้ไว้ในอัลกุรอานโองการที่ 34 ของบทฟุศศิลัตว่า :

 


فَإِذَا الَّذِي بَيْنَكَ وَبَيْنَهُ عَدَاوَةٌ كَأَنَّهُ وَلِيٌّ حَمِيمٌ؛


"แล้วเมื่อนั้น ผู้ที่มีความเป็นศัตรูกันระหว่างเจ้าและระหว่างเขาก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน" (4)


การปัดป้องความเลวร้ายออกไปจากสังคม


    หนึ่งในคำแนะนำที่สวยงามที่สุดของอิสลามสำหรับการรักษาสัมพันธภาพระหว่างชาวมุสลิมและการสมานรอยร้าวที่อาจเกิดขึ้นในสัมพันธภาพในหมู่ชาวมุสลิม ด้วยผลของความเผอเรอและการละเมิดฝ่าฝืน นั่นคือการทำดีต่อผู้อื่น การให้อภัยต่อความผิดพลาดของพวกเขาและการไม่คิดที่จะแก้แค้นพวกเขา คำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งเกี่ยวกับชาวมุสลิมก็คือ หากมุสลิมคนหนึ่งทำไม่ดีต่อท่าน ท่านจะต้องไม่หาทางเอาชนะคู่แข่งมุสลิมของตน แต่จงพยายามกำจัดการแข่งขันต่างๆ ที่ไม่ดีและเป็นอันตรายให้หมดไป เนื่องจากว่าถ้าหากความเป็นศัตรูและการแข่งขันถูกกำจัดออกไป ความเกลียดชังและความเป็นปฏิปักษ์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นมิตรภาพและความรักใตร่ในระดับสังคม และสิ่งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของสังคมอิสลามในทุกระดับ


ประเด็นสำคัญ


    ประเด็นที่จำเป็นต้องกล่าวถึงในที่นี้เพื่อไม่ให้บางคนเข้าใจและตีความผิดๆ จากโองการเหล่านี้ นั่นก็คือคำสั่งนี้ เฉพาะกรณีต่างๆ ที่ศัตรูจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ และมองการกระทำดังกล่าวว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความอ่อนแอของฝ่ายตรงข้ามและทำให้เขาอุกอาจและฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น


    ในอีกด้านหนึ่งความหมายของคำพูดนี้ไม่ได้หมายถึงการประนีประนอม การยอมรับและยอมจำนนต่อการล่อลวงและการกระซิบกระซาบต่างๆ ของเหล่าศัตรู และบางทีด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้หลังจากการพูดถึงคำสั่งนี้ในโองการต่างๆ ข้างต้นในทันใดก็ออกคำสั่งต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า จงขอความคุ้มครองต่อพระผู้เป็นเจ้าจากการล่อลวงและการกระซิบกระซาบของชัยฏอนมารร้าย :


 وَإِمَّا يَنزَغَنَّكَ مِنَ الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللَّـهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيم


“และหากว่าการยุแยงใด ๆ จากมารร้ายมายั่วยุเจ้า ก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง” (5)

 


เชิงอรรถ :


(1). อัลกุรอานบทอัรเราะห์มาน โองการที่ 60


(2). อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 96


(3). อัลกุรอานบทฟุศศิลัต โองการที่ 34


(4). อัลกุรอานบทฟุศศิลัต โองการที่ 34


(5). อัลกุรอานบทฟุศศิลัต โองการที่ 36


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ