ประวัติโดยสังเขปของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ(อ) ตอนที่ 6

ประวัติโดยสังเขปของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ(อ) ตอนที่ 6

 

6. ฟาฏิมะฮ์ (อ)หลังการเสียชีวิตของบิดา


เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) เดินทางกลับจากการบำเพ็ญฮัจญ์ครั้งสุดท้าย ท่านก็ได้ล้มป่วยลงและอาการป่วยของท่านทวีความรุนแรงขึ้นจนท่านหมดสติ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซ ซะรออ์ได้เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาอาการป่วยของบิดา ท่านต้องหลั่งน้ำตาด้วยความเศร้าโศก ด้วยความปรารถนาที่จะตายแทนบิดาเสียเอง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ลืมตามขึ้นมา ด้วยการตั้งความหวังอยู่กับบุตรสาวคนเดียวของท่าน ท่านได้ขอร้องนางให้อ่านอัล กุรอานด้วยเสียงที่สำรวม โดยมีบิดาผู้ยิ่งใหญ่อ่านคลอด้วยความนอบน้อมที่มีต่อพจนารถแห่งอัลลอฮ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกคลุมบริเวณบ้านหลังนี้อยู่แล้ว ท่านศาสดาต้องการที่จะให้โอกาสสุดท้ายของชีวิตอันจำเริญที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของท่าน หมดสิ้นไปพร้อมกับการอ่านอัล กุรอานคลอตามเสียงของบุตรสาวของท่าน ซึ่งได้ดูแลเอาใจใส่ท่านแต่เล็กแต่น้อยและยืนหยัดเคียงข้างท่านตลอดมากระทั่งเติบใหญ่
ในที่สุดท่านศาสดาก็ได้กลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงสุด การจากไปของท่านก็เป็นความโศกเศร้าอาดูรออย่างใหญ่หลวงสำหรับบุตรสาวผู้บริสุทธิ์ของท่านซึ่งหัวใจของท่านมิอาจจะรับความทุกข์โศกเหล่า นั้นได้ท่านจึงร้องไห้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

 

โศกนาฏกรรมอันขมขื่นหลังการเสียชีวิตของศาสดา (ศ็อลฯ)


6.1 การช่วงชิงสวนฟะดักไปจากฟาฏิมะฮ์(อ)


หลังจากนั้นสถานการณ์ทางด้านการเมืองและกลุ่มผู้ลุ่มหลงในผลประโยชน์ก็ได้สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจให้แก่ท่านหญิงอีกครั้งหนึ่ง โดยการช่วงชิงที่สวนฟะดักของท่านไป และทำเป็นไม่รับรู้ในสิทธิเกี่ยวกับตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของสามีท่าน


ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เมื่ออบูบักรมีอำนาจในฐานะรัฐบาลของมุสลิมสิ่งแรกที่เขาทำคือใช้กำลังเข้าครอบครองฟะดักขับไล่คนของฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ ออกจากที่ดินผืนนั้น และยึดเอาทรัพย์สินที่บิดาของนางได้มอบให้ในขณะที่อยู่ที่นครมะดีนะฮ์ เมื่อฟาฏิมะฮ์ประท้วงการยึดสวนฟะดังในครั้งนี้ อบูบักรตอบนางด้วย “รายงาน” จากบิดาของนางเอง เขากล่าวว่า เคยได้ยินท่านศาสนทูตกล่าวว่า “บรรดาศาสดานั้นไม่มีมรดก” เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วทรัพย์สินใดๆที่มีอยู่ในขณะที่มีชีวิตนั้นตกเป็นของประชาชน ฟาฏิมะฮ์กล่าวว่าฟะดักนั้นมิใช่มรดกจากบิดาของนางแต่เป็น “ของขวัญ” ฟะดักนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของท่านศาสดา และเป็นทรัพาย์สินส่วนตัวที่ท่านศาสดามอบให้แก่นาง อบูบักรถามว่ามีพยานหรือไม่ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เวลาเพิ่งผ่านไปเพียง 4 ปีหลังจากสงครามคอยบัร อบูบักรนั้นไม่เพียงแต่จะร่วมอยู่ด้วยในขณะที่เข้ายึดครอง แต่ยังเป็นผู้ที่พยายามยึดป้อมปราการไว้แต่ไม่สำเร็จ เขาได้เห็นด้วยตาตนเองว่า ท่านศาสดาได้ทำอะไรกับที่ดินฟะดัก ถึงขณะนี้เวลา 4 ปีผ่านไป เขากลับทำเหมือนกับว่าเขาไม่รู้เรื่องใดๆทั้งสิ้น


นักประวัติศาสตร์และนักรายงานฮาดิษ ได้บันทึกเรื่องดังกล่าวไว้อย่างกว้างขวาง เช่นบุคคอรีนักรวบรวมฮะดิษ ได้บันทึกการสนทนาโต้ตอบระหว่างท่านหญิงฟาฏิมะฮ์กับอบูบักร และต่อไปนี้คือการโต้ตอบระหว่างโจทก์และจำเลย


ฟาฏิมะฮ์ : โอ้อบูบักร ถ้าบิดาของท่านตายลงใครจะเป็นทายาท


อบูบักร : ตัวฉันซึ่งเป็นลูกชาย


ฟาฏิมะฮ์ : แล้วใครเป็นทายาทของบิดาของฉัน


อบูบักร : ตัวท่านซึ่งเป็นบุตรสาว


ฟาฏิมะฮ์ : ถ้าฉันเป็นทายาท แล้วเหตุใดท่านจึงยึดฟะดักไป


อบูบักร : เพราะฉันเคยได้ยินท่านศาสนทูตแห่งพระเจ้าเคยกล่าวว่า เราเป็นศาสดาและเราไม่มีทายาทที่จะรับมรดกของเรา ทรัพย์สินใดๆที่เรามีอยู่นั้นจะเป็นของประชาชาติเมื่อเราเสียชีวิต


ฟาฏิมะฮ์ : แต่บิดาของฉันได้มอบฟะดักให้แก่ฉันเป็นของขวัญ ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และมันก็เป็นสิ่งที่ฉันครอบครองอยู่เป็นเวลาหลายปีผ่านมาแล้ว


อบูบักร : ท่านมีพยานหรือไม่ ?


ฟาฏิมะฮ์ : อาลีและอุมมุอัยมัน เป็นพยานให้ฉันได้


อบูบักร : พยานที่เป็นชายเพียงคนเดียวกับหญิงคนเดียวนั้นยังไม่พอ ต้องมีชายสองคนหรือไม่ก็ชายหนึ่งคนกับหญิงสองคน เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นกรณีนี้ก็ถูกยกเลิกไป


หูที่ฟาฏิมะฮ์กำลังพูดให้ฟังนั้น ไม่ยินดีที่จะรับฟังการโต้แย้งหรือเหตุผลใดๆ พยานนั้นก็คงไม่มีประโยชน์ใดๆกับคนที่ตั้งใจจะไม่ฟังอยู่แล้ว ผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นมีข้อโต้แย้งประการเดียวคือ การใช้อำนาจบังคับตามอำเภอใจ เป็นการโต้แย้งที่มีอำนาจที่จะสงบเสียงการโต้แย้งอื่นๆได้


ถ้าว่าจะถือเอาว่า “รายงาน”ที่อบูบักอ้างมานั้นไม่ใช่ของปลอม และทายาทของบรรดาศาสดาไม่สามารถจะรับมรดกได้แล้ว ถ้าเช่นนั้น “กฎ” นี้ก็ควรจะได้นำมาใช้กับศาสดาทุกๆท่าน มิใช่เพียงแต่ใช้กับบุตรสาวของมุฮัมมัดเพียงคนเดียว แต่ตามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน บรรดาศาสดาในอดีตนั้นก็มีทายาท และทายาทเหล่านั้นก็ได้รับมรดกจากบิดาที่เป็นศาสดาด้วย เช่น พระองค์อัลลอฮ์ตรัสถึงการรับมรดกของนบียะฮ์ยา จาก นบีซะกะรียา ว่า:

 

وَإِنِّي خِفْتُ الْمَوَالِيَ مِن وَرَائِي وَكَانَتِ امْرَأَتِي عَاقِرًا فَهَبْ لِي مِن لَّدُنكَ وَلِيًّا يَرِثُنِي وَيَرِثُ مِنْ آلِ يَعْقُوبَ وَاجْعَلْهُ رَبِّ رَضِيًّا

سورة النساء : 5-6

 

“และแท้จริง ข้าพระองค์กลัวลูกๆหลานๆของข้าภายหลัง (การตายของ) ข้าพระองค์และ (อีกด้านหนึ่ง) ภริยาของข้าก็เป็นหมันด้วย ดังนั้น ขอพระองค์ทรงโปรดประทานทายาทที่ดีจากพระองค์แก่ข้าด้วยเถิดผู้ซึ่งจะเป็นผู้สืบมรดกของข้า และผู้สืบทอดมรดกจากทายาทตระกูลของยะอ์กูบและขอพระองค์ทรงโปรดให้เขาเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ด้วยเถิด”

อัลกุรอาน บทอันนิซา โองการที่ 5-6


 เป็นที่แน่ชัดว่า คำ “يَرِثُنِي” ในโองการนี้หมายถึง “มรดกที่มาจากทรัพย์สิน”

 

6.2 การเผาบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ)

 


หลังการเสียชีวิตของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ผู้คนจำนวนมากในมะดีนะฮ์ให้สัตยาบันต่อ อบูบักรด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป แต่มีบางคนไม่ยอมให้ ที่สำคัญที่สุดในบรรดาคนเหล่านั้นคือ อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ ผู้นำคนใหม่แห่งบนีฮาชิม และเป็นผู้นำที่ถูกแต่งตั้งโดยชอบธรรมจากท่านนบี(ศ็อลฯ)


คอลีฟะฮ์แห่งสะกีฟะฮ์และบรรดาที่ปรึกษาเชื่อว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ อะลีต้องให้สัตยาบันแสดงความภักดีเหมือนคนอื่นๆ ดังนั้นจึงส่งคนไปที่บ้าน แต่อะลีปฏิเสธ การปฏิเสธของเขาทำให้อุมัรโกรธมาก


ดังนั้น เขาจึงไปพร้อมด้วยกำลังอารักขา เพื่อบีบบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาล และขู่ว่าจะเผาบ้านของบุตรสาวของมุฮัมมัด ศาสนทูตของพระเจ้า ถ้าอะลีไม่ยอมมา ณ ที่ทำการของคอลีฟะฮ์ เพื่อให้สัตยาบันต่ออบูบักร บางคนเตือนว่าบ้านเป็นของบุตรสาวของศาสดา อุมัรจะเผาได้อย่างไร แต่อุมัรกล่าวว่า ไม่สำคัญว่าบ้านเป็นของบุตรสาวของศาสดา สิ่งสำคัญที่แท้จริงก็คือ อาลีต้องให้สัตยาบันแสดงความภักดี


ดังที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า :

 

بعث ابو بكر عمر بن الخطاب مع جماعة الى علي ومن معه ليخرجهم من بيت فاطمة وقال : إن أبوا عَلَيْكَ فقاتلهم ، فأقبل عمر بشيء من نار على أن يضرم الدار ، فلقيته فاطمة: الى أين يابن الخطاب أجئت لتحرق دارنا ، قال : نعم او تدخلوا فيما دخلت فيه الاُمة

 كتاب عقدالفريد ج 4 ص 260 تاريخ طبرى ج 3 ص 202

 

ช่างเป็นความน่ารักน่าชื่นใจ และความเป็นวีรบุรุษของอุมัรเสียนี้กระไร ต่อการที่จะเผาบ้านของฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ สามวันหลังการเสียชีวิตของมุฮัมมัด ศาสนทูตแห่งพระเจ้า อุมัรมายังประตูบ้านของฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ พร้อมสมุนที่จะวางเพลิงซึ่งอยู่กับเขา เรียกร้องแกมบังคับให้อะลีให้สัตยาบันต่ออบูบักร


การแสดงความเป็น “วีรบุรุษ” ครั้งนี้ คงจะได้รับ “ความพึงพอพระทัย” จากพระเจ้ามากทีเดียวโดย เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อในบ้านนั้นนอกจากอะลี และฟาฏิมะฮ์แล้ว ยังมีเด็กเล็กอีกสี่คน ซึ่งเป็นบุตรของทั้งสอง และเป็นหลานของศาสดาแห่งอิสลาม ที่มีอายุไล่กันตั้งแต่ 2 ถึง 8 ขวบ เด็กๆต้องตกตะลึงขนาดไหนหากพวกเขาได้เห็นภาพอันน่าตื่นเต้นของ “เปลวเพลิง” ที่เริ่งร่าเหมือนกับที่อุมัรจะแสดงต่อพวกเขาหากเมื่อใดก็ตามที่ อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ บิดาของพวกเขาไม่ยอมให้สัตยาบันแสดงความภักดีต่ออบูบักร


ในที่สุดอุมัรก็ได้เผาประตูบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ และจับอะลีไว้ และได้นำตัวเขาไปยังอบูบักร ณ ที่นั้น อุมัรส่งสัญญาณให้ประกาศสัตยาบันซ้ำอีก แต่อะลีก็กล่าวว่า
“ฉันเป็นบ่าวของพระเจ้า และฉันเป็นน้องชายของมุฮัมมัด ศาสดาของพระองค์ บ่าวของพระเจ้าไม่อาจเป็นบ่าวของผู้ใดได้ ถ้าหากท่านประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐบาลของมุฮัมมัด เนื่องจากเหตุผลที่พวกท่านกล่าวว่า ท่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่านศาสดามากกว่าพวกอันศอร (ดังที่อบูบักรได้อ้างกับชาวอันศอร) ดังนั้นฉันก็ขอกล่าวว่า ฉันเป็นน้องชายของท่าน มีใครในหมู่พวกท่านสามารถกล่าวอ้างได้ว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่านมากกว่าฉัน? มุสลิมทุกคนควรให้สัตยาบัน แสดงความภักดีของพวกเขาต่อฉัน มิใช่ให้ต่อผู้ใดทั้งสิ้น พวกท่านปล้นสดมภ์สิทธิของครอบครัวของผู้เป็นนายของพวกท่านเอง พวกท่านกล่าวโน้มน้าวให้ชาวอันศอรเชื่อ โดยโต้เถียงกับพวกเขาว่า ท่านศาสดาของพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพวกท่าน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพวกอันศอร และพวกเขายอมมอบตำแหน่งคอลีฟะฮ์ให้กับพวกท่าน ขณะนี้ฉันใช้คำโต้แย้งเดียวกับที่ท่านใช้กับพวกอันศอร เราเป็นทายาทของท่านศาสดาของพระเจ้า ทั้งในขณะที่ท่านมีชีวิต และหลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว ถ้าท่านศรัทธาต่อการเป็นศาสดาของมุฮัมมัดและถ้าหากท่านรับอิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ ดังนั้น จงอย่าแย่งชิงสิทธิของเรา ”


อุมัรกล่าวตอบว่า ท่านเป็นบ่าวของพระเจ้า แต่ท่านไม่ใช่น้องชายของศาสดาของพระองค์ ไม่ว่ากรณีใดท่านต้องให้สัตยาบันต่ออบูบักร และเราจะมี่ปล่อยท่านจนกว่าท่านจะปฏิบัติตามนี้ ท่านอิมามอาลีกล่าวตอบว่า


“โอ้อุมัร มันเป็นเรื่องพอจะเข้าใจได้ที่ท่านกระตือรือร้นอย่างบ้าคลั่งที่จะสนับสนุน อบูบักร วันนี้ท่านทำให้เขาเป็นผู้นำ วันหนึ่งข้างหน้าเขาก็จะทำให้ท่านเป็นผู้นำเช่นกัน ฉันจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านเรียกร้อง ฉันจะไม่ให้สัตยาบันต่อเขา”


บะซีร บิน ซะอัด ชาวอันศอรที่ให้สัตยาบันต่ออบูบักรที่ซะกีฟะฮ์ พูดขัดจังหวะอะลีว่า โอ้ อะลี ถ้าหากท่านบอกเราเช่นนี้ก่อนแล้วละก็ เราจะไม่ให้สัตยาบันต่อใคร นอกจากท่านอะลี กล่าวว่า


“ท่านไม่ทราบเรื่อง ทั้งหมดนี้มาก่อนเลยหรือ? ขอสาบานต่อพระเจ้า การสืบทอดอำนาจของมุฮัมมัด เป็นสิทธิของเรา ท่านเองได้ประกาศไม่ใช่เพียงครั้งเดียว แต่ย้ำหลายครั้งว่ามีใครในหมู่พวกท่านหรือไม่ที่มีความรู้และความเข้าใจในอัลกุรอานมากไปกว่าฉัน มีใครในหมู่พวกท่านหรือไม่ที่มีความรู้ในด้านการปฏิบัติและคำพูดของท่านศาสนทูตของพระจ้ามากกว่าฉัน มีใครในหมู่พวกท่านสามารถบิรหารงานเกี่ยวกับรัฐของท่านดีไปกว่าฉันหรือไม่ ถ้าหากว่ามีช่วยบอกชื่อของเขามา ฉันจะปฏิบัติตามเขา แต่หากไม่มี ฉันเท่านั้นที่สามารถมอบสันติภาพ ความรุ่งเรืองและความยุติธรรมที่แท้จริงกับมุสลิมทั้งหมดได้


พวกท่าน กล่าวว่า ทำใมฉันไม่ไปยังซะกีฟะฮ์หรือ สิ่งที่ท่านได้ให้คำแนะนำก็คือ จะให้พวกเราทิ้งท่านศาสดาเช่นที่พวกท่านได้กระทำทันทีที่ศาสดาเสียชีวิตกระนั้นหรือ ฉันควรทิ้งศาสดาไว้และไปยังซะกีฟะฮ์ เพื่อชิงการเป็นคอลีฟะฮ์กับพวกท่านด้วยกระนั้นหรือ ฉันไม่อาจทำเช่นนั้นได้ดอก การทำเช่นนั้นเป็นสิ่งไม่มีคุณค่าสำหรับฉัน ฉันไม่สามารถละทิ้งท่านศาสดาของพระเจ้าในขณะที่ท่านเสียชีวิตได้ เหมือนอย่างที่ฉันไม่เคยละทิ้งท่านขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ”


หลังจากกล่าวเช่นนั้น อะลีก็ละจากที่ประชุมซึ่งจัดให้มีขึ้นที่มัสยิดของท่านศาสดา แต่สัตยาบันก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อการให้สัตยาบันส่วนตัวกระทำขึ้นที่ซะกีฟะฮ์ และการให้สัตยาบันในที่สาธารณะกระทำขึ้นที่มัสยิดของท่านศาสดาเสร็จสิ้นแล้ว อบูบักรจึงเป็นคอลีฟะฮ์คนใหม่ของประชาชาติมุสลิม และรัฐบาลที่เป็นผลผลิตจากซะกีฟะฮ์ ก็ได้อุบัติขึ้น ณ บัดนั้น

 

บทความโดย เอกภาพ ชัยศิริ