เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปรัชญาของการมีชีวิตจากคำสอนของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 ปรัชญาของการมีชีวิตจากคำสอนของท่านอิมามญะอ์ฟัร  ซอดิก (อ.)

 

   อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ไม่มีสาเหตุใดๆ ที่จะมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบีบบังคับให้พระองค์สร้างโลกนี้ขึ้นมา และเมื่อเหตุผลนั้นมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ดังนั้นเมื่อมุวะฮ์ฮิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่งคนใดจะกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาจากพระเมตตาธิคุณของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักเอกภาพ (เตาฮีด) แต่อย่างใด”

 

คำสนทนาระหว่างท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) กับลูกศิษย์ของท่าน

 

    ญาบิร : ไม่เป็นการสะดวกกว่าและดีกว่าดอกหรือ ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้มนุษย์ได้ถือกำเนิดเกิดมาในโลกภายหลังจากความตาย ซึ่งเป็นโลกที่ดีกว่าและจีรังยั่งยืนกว่านับตั้งแต่เริ่มแรก โดยไม่ต้องให้เราต้องมามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน และไม่ต้องให้เราต้องประสบกับความตาย?

 

    อิมามซอดิก (อ.) : ...มาตรว่าผู้ที่มิได้มีความเชื่อศรัทธาในศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ตั้งคำถามกับฉัน เพื่อต้องการที่จะทราบถึงวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ) ของพระองค์ ฉันจะตอบเขาดังนี้ว่า “เจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ผ่านขั้นตอนการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย ก็เพื่อให้พวกเขาได้ผ่านการขัดเกลาตนเอง และวิวัฒนาการในแต่ละขั้นตอนแห่งการดำเนินชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าพวกเขาจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคู่ควรที่จะเข้าไปสู่โลกที่สมบูรณ์กว่าและจีรังยั่งยืนกว่านั่นเอง...”

 

วิทยปัญญาของการสร้างมนุษย์

 

     ญาบิร : คำถามต่อมาก็คือ มีความจำเป็นอันใดหรือที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องสร้างมนุษย์ เป็นไปได้ไหมที่พระองค์จะทรงละเว้นไม่ต้องสร้างมนุษย์ขึ้นมา?

 

     อิมามซอดิก (อ.) : มุสลิมทุกคนย่อมทราบดีถึงเจตนารมณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาว่า เพื่อให้พวกเขาได้ทำความรู้จักพระองค์ กล่าวคือ ให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักกับที่มาและความเป็นไปของตัวเอง และมุสลิมทุกคนมีความเชื่อว่าของขวัญอันล้ำค่าที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่มนุษย์ ก็คือการสรรสร้างเขามานั่นเอง...

 

วิทยปัญญาสูงสุดของการสรรสร้าง

 

     ญาบิร : ปรัชญาขั้นสูงสุดในการสรรสร้างคืออะไร?

 

     อิมามซอดิก (อ.) : พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้กระทั่งวัตถุธาตุ

 

     ญาบิร : พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น เพื่อเป้าหมายหรือเจตนารมณ์อันใด?

 

     อิมามซอดิก (อ.) : เจ้าไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจเจตนารมณ์ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้แม้สักกรณีเดียวหรือ?

 

     ญาบิร : ผู้คนส่วนใหญ่มักจะทำความดีโดยมีเป้าหมายแฝงเร้น บางส่วนทำความดีเพื่อตัวของพวกเขาเอง

 

     อิมามซอดิก (อ.) : แต่สำหรับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระองค์มิได้ทรงประทานความเมตตาและความโปรดปรานเพื่อการโอ้อวดหรือเพื่อหวังรางวัลตอบแทนแต่อย่างใด และพระองค์ทรงสรรสร้างสรรพสิ่งทั้งมวลเพียงเพื่อให้สรรพสิ่งเหล่านั้นไปสู่ความดีงามนั่นเอง

 

     แต่ถ้าถามว่านอกเหนือจากนี้แล้ว พระองค์ทรงมีเหตุผลอื่นในการสรรสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายอีกหรือไม่  ฉันจะกล่าวกับเจ้าว่า จงอย่าได้ถามเช่นนี้ เพราะไม่เป็นการสมควรสำหรับผู้ที่ยอมจำนนในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า (มุวะฮ์ฮิด) ที่จะตั้งคำถามทำนองนี้

 

    ญาบิร : สาเหตุที่ฉันตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ก็เพื่อทำความเข้าใจและนำความเข้าใจไปตอบข้อสงสัยแก่ผู้ที่ไม่เชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ยามที่ฉันต้องเผชิญกับคำถามเช่นนี้

 

    อิมามซอดิก (อ.) : นอกจากเกียรติคุณและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว โดยวิทยปัญญาแล้วถือว่าไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่พระองค์จะทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะมาตรว่ามีเหตุผลและความจำเป็นที่นอกเหนือจากเจตนารมณ์ของพระองค์แล้วไซร้ ก็เท่ากับเหตุผลเหล่านั้นเข้าไปมีอิทธิพลและอำนาจเหนือพระองค์ และบีบบังคับให้พระองค์ต้องสร้างโลกนี้ขึ้นมา (ซึ่งในทางสติปัญญาแล้วถือว่า) พระเจ้าที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลอื่นนั้น ไม่อาจจะเป็นพระเจ้าที่แท้จริงได้

 

    ญาบิร : เป็นไปได้ไหมว่ามีเหตุผลที่ทำให้พระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกนี้ โดยที่เหตุผลนั้นมิได้มีอิทธิพลเหนือพระองค์แต่อย่างใด?

 

    ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงบันดาลโลกนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทอดพระเนตรผลงานที่เต็มไปด้วยพระปรีชาญาณและเดชานุภาพของพระองค์เอง และเพื่อพระองค์จะทรงพึงพอพระทัยในผลงานที่พระองค์ทรงสร้าง

 

    อิมามซอดิก (อ.) : การมองดูและแสวงหาความพึงพอใจในผลงานที่ตนได้ประกอบขึ้นมานั้น เป็นธรรมชาติและคุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์เท่านั้น พฤติกรรมทั้งสองเกิดจากความปรารถนาและความต้องการ เนื่องจากเรามีความต้องการ เราจึงพยายามที่จะทำให้หัวใจของเรามีความสุขความเบิกบาน และเนื่องจากเรามีความต้องการ เราจึงพยายามที่จะแสวงหาความพึงพอใจ เมื่อประสบความสำเร็จในภารกิจหนึ่ง เราจะสำแดงความยินดีและความพึงพอใจออกมา ต่างจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ไม่ทรงมีความต้องการใด ๆ ทั้งสิ้น

 

    นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของความต้องการและความพึงพอใจทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดจากอวัยวะภายในร่างกายของเรา ในขณะที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงมีเรือนร่างแต่อย่างใด

 

    ญาบิร : เหตุผลในการสร้างมิใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ดอกหรือ  ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำตอบของท่านด้วย?

 

    อิมามซอดิก (อ.) : ถูกต้อง! แต่มิได้เป็นเหตุผลที่จำเป็นหรือสำคัญแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่มีสาเหตุใด ๆ ที่จะมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบีบบังคับให้พระองค์สร้างโลกนี้ขึ้นมา และเมื่อเหตุผลนั้นมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ดังนั้นเมื่อมุวะฮ์ฮิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่งคนใดจะกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาจากพระเมตตาธิคุณของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักเอกภาพ (เตาฮีด) แต่อย่างใด

 

    ญาบิร : แต่ฉันยังสันนิษฐานว่า สาเหตุดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอยู่

 

    อิมามซอดิก (อ.) : ไหนท่านลองอธิบายเพิ่มเติมมาหน่อยซิ

 

    ญาบิร : พระผู้เป็นเจ้าสามารถเปลี่ยนเจตนารมณ์ของพระองค์ใช่ไหม?

 

    อิมามซอดิก (อ.) : เป็นสิ่งที่ชัดเจน พระองค์ทรงสามารถ

 

    ญาบิร : แต่พระองค์มิได้เปลี่ยนเจตนารมณ์ และทรงสร้างโลกมาด้วยกับพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งไม่ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันหรือว่าพระองค์ไม่อาจที่จะยับยั้งจากการใช้พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้

 

     อิมามซอดิก (อ.) : สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้นเป็นลักษณะของการแย้งเพื่อหาข้อพิพาท  (ญะดัล – การเล่นคำสำบัดสำนวน) มิใช่เป็นการแย้งเพื่อแสวงหาคำตอบ (บะฮ์ษ์)

 

     ถามว่า เมื่อท่านให้เกียรติใครสักคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่การให้เกียรตินั้นมิได้เป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็นของท่าน หมายความว่าท่านถูกบีบบังคับกระนั้นหรือ?

 

     ญาบิร : ไม่ครับ

 

     อิมามซอดิก (อ.) : ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นความเมตตาและความโปรดปรานแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย ด้วยกับพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริงของพระองค์ โดยมิได้ตกอยู่ภายใต้การบีบบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ฉันเป็นมุวะฮ์ฮิด (ผู้ศรัทธาในพระเจ้า) คนหนึ่ง ฉันไม่อาจที่จะใช้สติปัญญา..

.

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) ซินเดกีนอเมะฮ์ 14 มะอฺซูม, อายะตุลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัดตะกีย์ มุดัรริซ, หน้า 602

(2) อุซุลกาฟี, ฉบับแปลมุฮัมมัด บากิร, เล่มที่ 1, หน้า 211-217

(3) อิฮ์ติยาจญ์ เฏาะบัรซีย์, เล่มที่ 2, หน้า 75

 

บทความ : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม