เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ของดินแดนชาม จะดำเนินไปจนถึงการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ของดินแดนชาม จะดำเนินไปจนถึงการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.)

 

ริวายะฮ์แรก : ฮะดีษ “ร็อจฟะตุชชาม” ในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของเชคฏูซี

 

     หนึ่งในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่พูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของดินแดนชามก่อนการมาของซุฟยานี คือ ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่เชื่อถือได้ (มุวัซซัก) จากท่านอิมามอะลี (อ.) ที่บันทึกอยู่ในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของเชคฏูซี ซึ่งก็มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานีด้วยสายรายงานอื่นด้วยเช่นกัน ขั้นตอนและเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการปรากฏตัวของซุฟยานีได้ถูกรายงานไว้เช่นนี้ คือ :

 

إِذَا اخْتَلَفَ رُمْحَانِ بِالشَّامِ فَهُوَ آيَةٌ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ تَعَالَى قِيلَ ثُمَّ مَهْ (ماذا) قَالَ ثُمَّ رَجْفَةٌ تَكُونُ بِالشَّامِ يَهْلِكُ فِيهَا مِائَةُ أَلْفٍ يَجْعَلُهَا اللَّهُ رَحْمَةً لِلْمُؤْمِنِينَ وَ عَذَاباً عَلَى الْكَافِرِين‏ فَإِذَا كَانَ ذَلِكَ فَانْظُرُوا إِلَى أَصْحَابِ الْبَرَاذِينِ الشُّهْبِ وَ الرَّايَاتِ الصُّفْرِ تُقْبِلُ مِنَ الْمَغْرِبِ حَتَّى تَحُلَّ بِالشَّامِ ... فَإِذَا كَانَ ذَلِكَ فَانْظُرُوا خَسْفَ قَرْيَةٍ مِنْ دِمَشْقَ يُقَالُ لَهَا حَرَسْتَا فَإِذَا كَانَ ذَلِكَ خَرَجَ ابْنُ آكِلَةِ الْأَكْبَادِ مِنَ الْوَادِي الْيَابِسِ حَتَّى يَسْتَوِيَ عَلَى مِنْبَرِ دِمَشْقَ فَإِذَا كَانَ ذَلِكَ فَانْتَظِرُوا خُرُوجَ الْمَهْدِي‏

 

“เมื่อสองหอก (สองกองทัพ) ได้ขัดแย้ง (ต่อสู้) กันในดินแดนชาม มันคือสัญญาณหนึ่งจากบรรดาสัญญาณของอัลลอฮ์ ตะอาลา มีผู้กล่าวว่า : แล้วหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?  ท่าน (อิมามอะลี) กล่าวว่า : หลังจากนั้นจะเกิด “ร็อจฟะฮ์” ขึ้นในชาม จะมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นนับแสนคน (แสดงถึงการตายของคนจำนวนมาก) อัลลอฮ์จะทรงทำให้มันเป็นความเมตตาสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาและเป็นการลงโทษสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ดังนั้นเมื่อถึงเวลาดังกล่าวพวกท่านจงมองดูชาว “อัลบะรอซีนุชชุฮ์บุ” และกองทัพธงเหลืองซึ่งจะมาจากทิศตะวันตก จนกระทั่งเข้าสู่ชาม (1) ... และเมื่อถึงเวลานั้นจงมองดู “ค็อซฟ์” ของเมืองหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “หะรัสตา” และเมื่อถึงเวลานั้นลูกของหญิง (ฮินด์) ผู้กินตับก็จะออกมาจาก “วาดี ยาบิส” (ชายแดนระหว่างจอร์แดนและซีเรียในเขตพื้นที่ “ดัรอา” ทางตอนใต้ของซีเรีย) จนกระทั่งเขาจะขึ้นนั่งบนธรรมาสของดามัสกัส แล้วเมื่อถึงเวลานั้นพวกท่านก็จงรอการออกมาของมะฮ์ดีเถิด” (2)

 

อธิบายความหมายสำนวนภาษาอาหรับบางคำ :

 

- "ร็อจฟะฮ์" (رَجْفَةٌ) ในที่นี้มีความเป็นได้สามแบบ (ตามการอธิบายของบรรดานักวิชาการ) คือ: 1.แผ่นดินไหว 2.การโจมตี (ทางอากาศ) ด้วยอาวุธร้ายแรงและการถูกสังหารมากกว่า 100,000 คน และ 3.สงครามในดินแดนชาม

 

- “อัลบะรอซีนุชชะฮับ” (الْبَرَاذِينِ الشُّهْبِ) คือ ยุทโธปกรณ์และเครื่องจักรสงครามที่ติดตั้งแท่นยิงอาวุธและขีปนาวุธความเร็วสูง

 

- "ค็อซฟ์" (خَسْفَ) หมายถึง แผ่นดินไหว หรือแผ่นดินถล่มอันเนื่องมาจากฝนตกหนัก หรือเหตุการณ์ร้ายแรงเนื่องจากการโจมตีทางทหารด้วยอาวุธร้ายแรงหรือการระเบิดที่รุนแรงในใต้ดินที่ทำให้ระดับพื้นดินทรุดตัวลง

 

     สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ เนื้อหาและความหมายของฮะดีษข้างต้น (ฮะดีษ “ร็อจฟะตุชชาม”) นั้นได้ถูกกล่าวถึงในแหล่งอ้างอิงของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เช่นกัน โดยอ้างจากคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ตัวอย่างเช่น หนังสือ “อัลบิดาอ์ วัตตารีค” (3) ของมุก็อดดะวี, “ฟะรออิดุ ฟะวาอิดิลฟิกร์” (4) ของฮัมบาลี, “อักดุดดุร๊อร” (5) ของมุก็อดดัส ชาฟอี, “อะฮ์วาลุ เยามิลกิยามะฮ์” (6) ของซะฟารีนี (7)

 

ริวายะฮ์ที่สอง : ฮะดีษของญาบิร ญุอ์ฟี รายงานจากอิมามบากิร (อ.) ใน “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี

 

     อย่างไรก็ตาม ลำดับที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นของ "เหตุการณ์และสัญญาณต่างๆ ก่อนการออกมาของซุฟยานี" ในดินแดนชามก็ได้ถูกกล่าวไว้ในฮะดีษของญาบิร ญุอ์ฟี โดยรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ใน “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ไว้อย่างละเอียด สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือว่า ฮะดีษของญาบิร ญุอ์ฟี จากท่านอิมามบากิร (อ.) นั้น มีรายงานมาจากหลายสายรายงาน (ซะนัด) และมีบันทึกอยู่ในหนังสือฮะดีษที่น่าเชื่อถือ (มุอ์ตะบัร) หลายเล่มของชีอะฮ์ ตัวอย่างเช่นในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี (8), “ตัฟซีร อัลอัยยาชี” (9), “อัลฆ็อยบะฮ์” ของเชคฏูซี (10), “อัลอิคติศ๊อศ” (11), และ “อัลอิรชาด” (12) ของเชคมุฟีด, และยังมีกล่าวถึงในหนังสือฮะดีษต่างๆ ในยุคหลัง อย่างเช่น “บิฮารุ้ลอันวาร” (13) ของอัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี แต่ที่สมบูรณ์ที่สุดของริวายะฮ์ (รายงาน) บทนี้ในแง่ของตัวบทและสายสืบ (ซะนัด) ได้กล่าวไปแล้วจากหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี สิ่งที่ควารกล่าวถึงก็คือว่า ฮะดีษของญาบิร ญุอ์ฟี จากท่านอิมามบากิร (อ.) (ในการอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ของฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์) ของดินแดนชามก่อนการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้น เป็นฮะดีษที่ซอเฮี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ที่สุดและมุอ์ตะบัร (น่าเชื่อถือ) ที่สุดที่เกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.) ทั้งในแง่ของสายรายงาน (ซะนัด) และเนื้อหา (14)

 

     ในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี ได้พูดถึงลำดับของ "เหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการมาของซุฟยานี" ในดินแดนชามไว้เช่นนี้ว่า :

 

وَ يَجِيئُكُمُ الصَّوْتُ مِنْ نَاحِيَةِ دِمَشْقَ بِالْفَتْحِ وَ تُخْسَفُ‏ قَرْيَةٌ مِنْ‏ قُرَى‏ الشَّامِ‏ تُسَمَّى الْجَابِيَةَ وَ تَسْقُطُ طَائِفَةٌ مِنْ مَسْجِدِ دِمَشْقَ الْأَيْمَنِ وَ مَارِقَةٌ تَمْرُقُ مِنْ نَاحِيَةِ التُّرْكِ وَ يَعْقُبُهَا هَرْجُ الرُّومِ  وَ سَيُقْبِلُ إِخْوَانُ التُّرْكِ حَتَّى يَنْزِلُوا الْجَزِيرَةَ وَ سَتُقْبِلُ مَارِقَةُ الرُّومِ حَتَّى يَنْزِلُوا الرَّمْلَةَ  ثُمَّ يَخْتَلِفُونَ عِنْدَ ذَلِكَ عَلَى ثَلَاثِ رَايَاتٍ رَايَةِ الْأَصْهَبِ وَ رَايَةِ الْأَبْقَعِ وَ رَايَةِ السُّفْيَانِي

 

“และจะมีเสียงจากทิศทางของดามัสกัสมายังพวกท่านพร้อมด้วยชัยชนะ (การแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับชัยชนะ) และเมืองหนึ่งจากเมืองทั้งหลายของชามซึ่งมีชื่อว่า “ญาบียะฮ์” จะเกิดธรณีสูบ และส่วนหนึ่งจากด้านขวาของมัสยิดดามัสกัสจะพังทะลายลง และมาริเกาะฮ์ (กลุ่มผู้หลงผิด ผู้ก่อกบถที่ออกจากศาสนา) จะออกมาจากทิศทางของชาวเติร์ก และ (เมื่อนั้น) “ฮะร่อญุรรูม” (15) (ฟิตนะฮ์, ความขัดแย้ง,การเข่นฆ่าหรืออาจเป็นสงครามใหญ่ระหว่างชาวโรมันและบรรดาประเทศตะวันตก) จะเกิดขึ้นติดตามมา และในไม่ช้ากลุ่มชนขาวเติร์กก็จะออกมาจนกระทั่งไปถึง “ญะซีเราะฮ์” (16) (ญะซีร่อตุชชาม คือ พื้นที่ต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียที่เชื่อมต่อกับชายแดนอิรัก ประกอบด้วยอัลฮะซะกะฮ์และเดียร์อัลซอร์และอัรร็อกเกาะฮ์) .... และ “มาริก่อตุรรูม” (กลุ่มนอกศาสนาจากชาวโรมัน พันธมิตรชาวตะวันตกของชาวยิวไซออนิสต์) ก็จะ (นำกองทหาร) ติดตามเข้ามาจนกระทั่งไปถึง “ร็อมละฮ์” (พื้นที่ใกล้กับบัยตุลมักดิสในปาเลสไตน์) ... ต่อจากนั้นจะเกิดความขัดแย้ง (และสงคราม) ขึ้นระหว่างสามกองทัพ (ธง) คือ กองทัพอัศฮับ กองทัพอับเกาะอ์และกองทัพซุฟยานี” (17)

 

อธิบายความหมายสำนวนภาษาอาหรับบางคำ :

 

- “ฮะร่อญุรรูม” (هَرْجُ الرُّومِ) คือ ฟิตนะฮ์, ความขัดแย้ง,การเข่นฆ่า หรืออาจเป็นสงครามใหญ่ระหว่างชาวโรมันและบรรดาประเทศตะวันตก

 

-  “มาริกอตุรรูม” (مَارِقَةُ الرُّومِ) คือ กลุ่มนอกศาสนาจากชาวโรมัน พันธมิตรชาวตะวันตกของชาวยิวไซออนิสต์

- “ฮัศฮับ” (الْأَصْهَبُ) คือ ชายร่างสูง ผิวขาวแดง ผู้เป็นปฏิปักษ์กับโลกอาหรับ (ผู้ปกครองดามัสกัส)

 

- “อับเกาะอ์” (الْأَبْقَعُ) : จากบริบทของความหมายในเชิงภาษาทำให้เข้าใจได้ว่า "อับเกาะฮ์" คือ พวกรับใช้ชาวโรมันและลูกหลานของชาวอาหรับที่เกิดจากการแต่งงานของชาวอาหรับกับชาวโรมันและการใช้งานของพวกเขาในภูมิภาค และในวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ในดินแดนชามก่อนการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แนวรบชาวอาหรับที่ต่อต้านและเผชิญหน้ากับแนวรบหรือกองทัพอัศฮับ ซึ่งจะทำหน้าที่รับใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ของชาวโรมัน (ยุโรปและตะวันตก) ก็คือ กองทัพอับเกาะอ์

 

วิกฤตการณ์ของดินแดนชามจะยาวนานและจะดำเนินไปจนถึงซุฮูร

 

    แน่นอนว่าดินแดนชามก่อนซุฮูรนั้นจะเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ ความวุ่นวายและสงคราม และไฟแห่งฟิตนะฮ์นี้จะไม่ดับลงและจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเวลาของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และทุกครั้งที่คิดว่าวิกฤติของชามและสงครามในซีเรียกำลังจะได้รับการแก้ไข ทันใดนั้นไฟต่างๆ ของฟิตนะฮ์ที่เหมือนไฟที่ครุอยู่ใต้เถ้าถ่านก็จะปรากฏขึ้นในที่อื่นอีก :

 

تَكُونُ بِالشَّامِ فِتْنَةٌ كُلَّمَا سَكَنَتْ مِنْ جَانِبٍ طَمَّتْ مِنْ جَانِبٍ، فَلَا تَتَنَاهَى حَتَّى يُنَادِيَ مُنَادٍ مِنَ السَّمَاءِ: إِنَّ أَمِيرَكُمْ فُلَانٌ

   

“จะเกิดวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ขึ้นในดินแดนชามและเมื่อใดก็ตามที่มันได้สงบลงจากด้านหนึ่ง มันก็จะปรากฏจากอีกด้านหนึ่ง โดยที่มันจะไม่สิ้นสุดลง จนกว่าจะมีผู้ประกาศจากฟากฟ้าว่า ผู้ปกครองของพวกท่านคือ คนนั้นคนนี้ (หมายถึงอิมามมะฮ์ดี)” (อักดุดดุร๊อร ฟีอัคบาริลมุนตะซ๊อร, มุก็อดดัซ ชาฟิอี, หน้า 75)

 

    ฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์) ในดินแดนชามซึ่งก็จะเป็นสถานที่ของความขัดแย้งระหว่างพวกเติร์กกับชาวโรมันและระหว่างอาหรับกับอะญัม (ผู้ไม่ใช่อาหรับ หรืออิหร่าน) ด้วยนั้น จะไม่พบทางออกสำหรับมัน ด้วยเหตุนี้เองวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ของดินแดนชามจะยืดเยื้อยาวนานและจะดำเนินไปจนถึงช่วงเวลาของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) :

 

لَا يَظْهَرُ الْقَائِمُ حَتَّى يَشْمَلَ النَّاسَ بِالشَّامِ فِتْنَةٌ يَطْلُبُونَ الْمَخْرَجَ مِنْهَا فَلَا يَجِدُونَهُ

 

  “กออิม (อิมามมะฮ์ดี) จะยังไม่ปรากฏตัว จนกว่าฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์) จะปกคลุมดินแดนชาม โดยที่ประชาชนจะแสวงหาทางออกจากมัน แต่พวกเขาก็ไม่พบทางออก” (อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 279; อิษบาตุลฮุดาต, ฮุร อัลอามิลี, เล่ม 5, หน้า 368)

 

ลำดับวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ในดินแดนชามก่อนการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

 

     ดังนั้น ตามฮะดีษต่างๆ ที่ถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะฮ์) และเชื่อถือได้ (มุวัซซัก) ลำดับของ "เหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)" ในดินแดนชาม ตามคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านอิมามบากิร (อ.) ในหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของนุอ์มานี และหนังสือ “อัลฆ็อยบะฮ์” ของเชคฏูซี จะเป็นดังนี้ คือ :

 

1. เกิดความขัดแย้ง (สงคราม) ระหว่างสองกองทัพ (اختلاف الرمحان بالشام) ได้แก่ กองทัพอัศฮับและกองทัพอับเกาะอ์

(رایة الاصهب و رایة الابقع) ในดินแดนชาม

 

2. จะเกิดสงครามขึ้นในดินแดนชาม หรือเป็นไปได้ว่าอาจเป็นแผ่นดินไหวในดินแดนชาม (رجفة بالشام)

3. การเข้ามาของยุทโธกรณ์ทางทหารและเครื่องจักรสงครามพร้อมด้วยเครื่องยิงอาวุธ ยังสนามแห่งวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ในดินแดนชาม (البراذین الشهب المحذوفة)

4. การเข้าแทรกแซงทางทหารของกองทัพธงเหลืองในสนามแห่งวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ในดินแดนชาม (الرایات الصفر تحل بالشام)

5. การได้ยินเสียง (การแจ้งข่าวดี) เกี่ยวกับการพิชิตและชัยชนะของฝ่ายหนึ่งที่เผชิญหน้ากันในวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ในดินแดนชาม

(وَ يَجِيئُكُمُ الصَّوْتُ مِنْ نَاحِيَةِ دِمَشْقَ بِالْفَتْحِ)

 

6. มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดแผ่นดินไหว หรือแผ่นดินถล่มเนื่องจากฝนตกหนัก หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงอันเนื่องมาจากการโจมตีทางทหารด้วยอาวุธร้ายแรง หรือการระเบิดที่รุนแรงในเขตพื้นที่ “ญาบิยะฮ์ – หะรัสตา” ในดามัสกัส, ซีเรีย

(وَ تُخْسَفُ‏ قَرْيَةٌ مِنْ قُرَى الشَّامِ تُسَمَّى الْجَابِيَةَ)

7. การพังทะลายของส่วนหนึ่งของมัสยิด “ญามิอ์ อะมาวี” ในดามัสกัส

(وَ تَسْقُطُ طَائِفَةٌ مِنْ مَسْجِدِ دِمَشْقَ الْأَيْمَنِ)

8. การก่อกบถของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับชาวเตีร์ก (อาจหมายถึงตุรกี) ในดินแดนชาม

(وَ مَارِقَةٌ تَمْرُقُ مِنْ نَاحِيَةِ التُّرْكِ)

9. ความขัดแย้ง, วิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์), การเข่นฆ่าและสงครามระหว่างชาวโรมันและชาวตะวันตก

(وَ يَعْقُبُهَا هَرْجُ الرُّومِ)

10. การโจมตีของชาวเติร์ก (อาจหมายถึงตุรกี) ยังพื้นที่ต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ (อัลฮะซะกะฮ์, อัรร็อกเกาะฮ์และดัยรุซซูร) ในซีเรีย

(وَ سَيُقْبِلُ إِخْوَانُ التُّرْكِ حَتَّى يَنْزِلُوا الْجَزِيرَةَ)

 

11. การเข้ามาของชาวตะวันตกบางส่วนในสนามวิกฤตการณ์ (ฟิตนะฮ์) ของดินแดนชาม พร้อมกับการปรากฏตัวทางทหารในดินแดน “ร็อมละฮ์” (ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม) ในปาเลสไตน์ (وَ سَيُقْبِلُ مَارِقَةُ الرُّومِ حَتَّى يَنْزِلُوا الرَّمْلَةَ)

 

12. การปรากฏตัวของซุฟยานีจาก “วาดี ยาบิส” ในตอนใต้ของซีเรียและมีอำนาจปกครองเหนือดามัสกัส (18) อย่างไรก็ตามเขาจะปกครองดินแดนชามได้ไม่เกิน 15 เดือนและในที่สุดจะพ่ายแพ้ในสงครามกับกองกำลัง กุดส์ของอิมามมะฮ์ดี (อ.)

 

เชิงอรรถ :

 

1.อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 461; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 216

32.อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 305; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 253

3.อัลบัดอุ วัตตารีค, มุก็อดดะซี, เล่ม 2, หน้า 177

4.ฟะรออิดุ ฟะวาอิดิลฟิกริ ฟิลมะฮ์ดิลมุตะซ๊อร, หน้า 299

5.อักดุดดุร๊อร ฟี อัคบาริลมุนตะซ๊อร, มุก็อดดะซี ชาฟิอี, หน้า 84

6.อะฮ์วาลุ เยามิลกิยามะฮ์ วะอะลามาตุฮัลกุบรอ, ซะฟารีนี นาบุลซี, หน้า 24 อ้างจาก "อิห์กอกุลฮักก์", ชูซตะรี, เล่ม 29, หน้า 587

7.ดูเพิ่มเติม : มุอ์ญัม อัลฮะดีษิลมะฮ์ดี, อะลี กูรอนี, เล่ม 4, หน้า 121 - 123

8.อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 279

9.ตัฟซีร อัลอัยยาชี, เล่ม 1, หน้า 64 และ 244, และเล่ม 2, หน้า 241

10.อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 442

11.อัลอิคติศ๊อศ, เชคมุฟีด, หน้า 255

12.อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, เล่ม 2, หน้า 372

13.บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 212 และ 327

14.อะลามาตุซซุฮูร บะห์ซุน ฟี ฟิกฮิดดะลาละฮ์ วัซซุลูก, ญะลาลุดดีน อะลี อัศศอฆีร, เล่ม 2, หน้า 161 - 164; บัรร่อซี เตาซีฟี วะตะห์ลีลี กิตาบุลฆ็อยบะฮ์ เชคฏูซี, ร็อสตะมี, หน้า 61 - 65; ตะอัมมุลี ดัร นิชอเนะฮ์ฮอเย่ ฮัตมีเย่ ซุฮูร, อายะตี, หน้า 84; ดอนิชนอเมะฮ์ อิมามมะฮ์ดี, เรย์ ชะฮ์รี, เล่ม 7, หน้า 100 และ 125

15.ในตัวบทของหนังสือ "อัลอิคติศ๊อศ" ของเชคมุฟีด ใช้คำว่า "مرج الروم" , หน้า 255

16.ในตัวบทของ "ตัฟซีร อัลอัยยาชี" :

فإذا رأيت الترك جازوها فأقبلت الترك حتى نزلت الجزيرة

"เมื่อเจ้าเห็นชาวเติร์ก " (เล่ม 1, หน้า 64)

 

17.อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 279; อัลอิคติศ๊อศ, เชคมุฟีด, หน้า 255; อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 442; ตัฟซีร อัลอัยยาชี, เล่ม 1, หน้า 64; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 237

18.อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 305; อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 4461; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 216 และ 253; อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 279; อัลอิคติศ๊อศ, เชคมุฟีด, หน้า 255; อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 442; ตัฟซีร อัลอัยยาชี, เล่ม 1, หน้า 64; บิฮารุลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญิลิซี, เล่ม 52, หน้า 237

 

สรุปเนื้อหาจากบทความ “วิกฤตการณ์ในดินแดนชาม” ของ “มุศฏอฟา อะมีรี”

 

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม