สงครามยุคสุดท้ายในมุมมองของศาสนาอิสลาม ตอนที่ 2

สงครามยุคสุดท้ายในมุมมองของศาสนาอิสลาม ตอนที่ 2

 

การยืนหยัดต่อสู้กับซุฟยานี

 

ก. การยืนหยัดต่อสู้ของคุรอซานี:

 

     ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลาม การยืนหยัดต่อสู้จะเกิดขึ้นในคุรอซาน โดยมีเป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือและการเตรียมพื้นฐานก่อนการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และกองทัพคุรอซานนี้จะเคลื่อนพลมุ่งสู่อิรัก

 

     กองทัพนี้จะเคลื่อนพลออกจากคุรอซาน ซึ่งในระหว่างทางบุรุษผู้หนึ่งจากเมืองเรย์ มีนามว่า ชุอัยบ์ บินซอและห์ จะเข้าสมทบกับกองทัพนี้พร้อมด้วยไพร่พลของตนอีกสี่พันคน และหน้าที่การบัญชาการกองทัพก็จะถูกมอบให้แก่เขา

 

     ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

     "ชายผิวสีน้ำตาลผู้มีไหล่กว้างและเคราบางมีนามว่า ชุอัยบ์ บินซอและห์ จะออกมาจากเมืองเรย์พร้อมด้วยไพร่พลสี่พันคน เขาจะเป็นผู้เตรียมการสำหรับ (การปรากฏตัว) ของมะฮ์ดี จะไม่มีผู้ใดยืนเผชิญหน้าเขา เว้นแต่เขาจะสังหารคนผู้นั้น" (20)

 

     ในขณะที่กองทัพนี้กำลังเคลื่อนพลมุ่งสู่อิรัก ซุฟยานีจะส่งกองทัพของตนไปยังกูฟะฮ์เพื่อจับกุมและการเข่นฆ่าประชาชน ในระหว่างทางซุฟยานีได้ล่วงรู้ข่าวการเคลื่อนพลของกองทัพนี้ จึงส่งกองทัพหนึ่งไปยังคุรอซานเพื่อเผชิญหน้ากับพวกเขา สงครามระหว่างสองกองทัพนี้จะเกืดขึ้นในเมืองชีราซ โดยที่กองทัพของซุฟยานีจะพ่ายแพ้และถอยหนี

 

     ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

     "ในขณะที่กองทัพของซุฟยานีกำลังเคลื่อนพลสู่กูฟะฮ์ ซุฟยานีจะส่งไพร่พลกลุ่มหนึ่งไปค้นหาชาวคุรอซานที่กำลังออกมาเพื่อช่วยเหลือมะฮ์ดี กองทัพของซุฟยานีจะเผชิญหน้ากับกองทัพของซัยยิดฮาชิมี (ซัยยิดคุรอซานี) ในบริเวณประตูทางเข้าเมืองอิศตักร์ (Estakhr) โดยที่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า ชุอัยบ์ บินซอและห์ จะเป็นผู้บัญชากองทัพของคุรอซานีและพวกเขาจะมีธงสีดำอยู่ในมือ สงครามที่หนักหน่วงจะเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งท้ายที่สุดกองทัพธงดำจะได้รับชัยชนะและกองทัพของซุฟยานีจะหลบหนี" (21)

 

     แต่กองทัพนี้ก็ยังไม่หยุดจากการเคลื่อนพลต่อไป กองทัพนี้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการพิชิตกองทัพซุฟยานี และนั่นก็คือ การช่วยเหลือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ด้วยเหตุนี้เองกองทัพนี้จึงเคลื่อนพลมุ่งสู่อิรักและไม่มีสิ่งใดที่จะกีดขวางพวกเขาได้ จนกระทั่งพวกเขาไปถึงยังแม่น้ำไทกริส และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองก็เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองฮัยเราะฮ์

 

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

     "ซุฟยานีจะส่งกองทัพหนึ่งไปยังกูฟะฮ์ ที่นั่นพวกเขาจะพบกับกลุ่มหนึ่งจากชาวชีอะฮ์วงศ์วานของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และจะเข่นฆ่าและแขวนตรึงคนเหล่านั้น และธง (กองทัพ) จากคุรอซานก็จะมุ่งหน้ามาจนกระทั่งมาถึงยังแม่น้ำไทกริส และชายที่อ่อนแอผู้หนึ่งจากอิหร่านก็จะยืนหยัดขึ้นต่อสู้ แต่แล้วเขาและบรรดาผู้ติดตามของเขาก็จะถูกสังหารในกูฟะฮ์" (22)

 

     กองทัพคุรอซานนี้เพื่อที่จะไปสมทบกับกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะเคลื่อนพลมุ่งสู่ปาเลสไตน์และจะไปถึงกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และชุอัยบ์ บินซอและห์ ก็จะได้เป็นผู้ถือธงรบ (นำทัพ) ของกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ด้วยเช่นกัน

 

     ท่านอิมามซอดิกได้กล่าวบรรยายคุณลักษณะของชุอัยบ์ บินซอและห์ว่า :

 

     "ชายหนุ่มอายุน้อย ผิวเหลืองน้ำตาลผู้มีเคราบาง ไม่มีใครยืนเผชิญหน้าเขา นอกจากจะถูกสังหาร และหากเขาทำการต่อสู้ (เผชิญหน้า) กับขุนเขา เขาก็จะทำลายมันลงจนกระทั่งเขาจะเข้าสู่ดินแดนอีลียาอ์ (อัลกุดส์) เขาจะเป็นผู้ถือธงรบของมะฮ์ดี (อ.)" (23)

 

ข. การยืนหยัดต่อสู้ของยะมานี :

 

     หนึ่งในสัญญาณการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) คือการยืนหยัดต่อสู้ของยะมานีซึ่งจะเกิดขึ้นจากเมืองซ็อนอาอ์ (ซานา) ของเยเมน ในช่วงเวลาเดียวกันกับซุฟยานี ความสอดคล้องตรงกันของช่วงเวลานี้คือสัญญาณและเครื่องหมายหนึ่งเดียวสำหรับการรู้จักและการจำแนกยะมานี เนื่องจากยะมานีเป็นบุคคลที่มีความสูงส่งและโดดเด่น ด้วยเหตุนี้เอง การชี้ถึงคุณลักษณะต่างๆ ทางภายนอกของเขาจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของบรรดายะมานีปลอมขึ้นในตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ดังนั้น ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายเกี่ยวกับสัญญาณต่างๆ ของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จึงเน้นย้ำว่า ยะมานีจะปรากฏในช่วงเวลาเดียวกับซุฟยานีและจากเมืองซ็อนอาอ์ของเยเมนเท่านั้น

 

     ในริวายะฮ์บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

قد يكون خروجه وخروج اليماني من اليمن مع الرايات البيض في يوم واحد وشهر واحد وسنة واحدة

 

"การออกมาของเขา (ซุฟยานี) และการออกมาของยะมานีจากเยเมนพร้อมกับธงสีขาวนั้น จะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน เดือนเดียวกันและปีเดียวกัน" (24)

 

     ท่านได้กล่าวในอีกฮะดีษหนึ่งว่า :

 

 اليماني والسفياني كأنهما فرسا رهان

 

"ยะมานีและซุฟยานีนั้น (จะชิงกันออกมา) ประหนึ่งทั้งสองเป็นม้าแข็ง" (25)

 

     ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อื่นๆ ก็ได้อธิบายไว้ว่า การยืนหยัดต่อสู้ของคุรอซานีและยะมานีจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเช่นกัน ตัวอย่างเช่น :

 

     ฟัฎล์ บินชาซาน ได้รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ด้วยสายสืบที่ซอเฮียะฮ์ เชื่อถือได้ ว่า :

 

خروج الثلاثة الخراساني والسفياني واليماني في سنة واحدة ، في شهر واحد ، في يوم واحد ، فليس فيها راية بأهدى من راية اليماني ، تهدي إلى الحق

 

"การออกมาของทั้งสาม คือ คุรอซานี ซุฟยานีและยะมานีนั้น จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน เดือนเดียวกันและวันเดียวกัน ซึ่งในท่ามกลางธงเหล่านั้นไม่มีธงใดที่จะชี้นำทางมากไปกว่าธงของยะมานี มันจะชี้นำไปสู่สัจธรรม" (26)

 

ค. การยืนหยัดต่อสู้ของฮะซะนี

 

     การยืนหยัดต่อสู้ของฮะซะนี ก็เป็นอีกหนึ่งจากการยืนหยัดต่อสู้กับการปรากฏตัวของซุฟยานี หนึ่งในลักษณะเฉพาะของการยืนหยัดต่อสู้นี้ คือการเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการยืนหยัดต่อสู้ของยะมานี การเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของการยืนหยัดต่อสู้ของยะมานีกับซัยยิดฮะซะนีนั้น มีฮะดีษต่างๆ บ่งชี้ไว้ ตัวอย่างเช่น ริวายะฮ์ที่เชคกุลัยนีได้รายงานไว้ด้วยสายสืบที่ซอเฮียะฮ์มีเนื้อหาดังนี้

 

      มีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า "ฟะร็อจ" (การคลื่คลายความทุกข์ยาก) ของชีอะฮ์ของท่าน (หรือการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี) นั้น จะเกิดขึ้นเมื่อใด? ท่านตอบว่า :

 

اذا اختلف ولد العباس و وهى سلطانهم وطمع فيهم من لم يكن يطمع وخلعت العرب اعنتها ورفع كل ذي صيصية صيصيته وظهر الشامي واقبل اليماني وتحرك الحسني خرج صاحب هذا الامر من المدينة الى مكة بتراث رسول الله ص

  

  "เมื่อลูกหลานของอับบาสได้ขัดแย้งกัน และอำนาจการปกครองของพวกเขาได้อ่อนแอลง บรรดาผู้ที่ไม่เคยโลภหลง (อำนาจ) ในหมู่พวกเขาก็จะโลภหลง และชาวอาหรับก็จะปลดบังเหียนของตน และแต่ละคนที่มีเครื่องป้องกันตัว (อาวุธ) ก็จะหยิบเครื่องป้องกันตัวของตนขึ้น และชามี (ซุฟยานี) จะปรากฏตัว ยะมานีก็จะมา ฮะซะนีก็เคลื่อนไหว เจ้าของอำนาจปกครองนี้ (หมายถึงอิมามมะฮ์ดี) ก็จะออกจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์พร้อมกับมรดกของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)" (27)

 

     ในฮะดีษบทนี้ได้พูดถึงช่วงเวลาเดียวกันของการปรากฏตัวของยะมานี ซุฟยานีและซัยยิดฮะซะนี เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า อำนาจการปกครองของบนีอับบาสนั้นได้สิ้นสลายลงในปี ฮ.ศ.666 สามารถตีความเนื้อหาของฮะดีษบทนี้ได้เช่นนี้ว่า ในช่วงใกล้การปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) อำนาจการปกครองหนึ่งจะถูกวางรากฐานขึ้นโดยที่ผู้วางรากฐานมันมาจากเชื้อสายของบนีอับบาส หรืออาจจะเป็นรูปแบบการปกครองแบบเดียวกันกับพวกเขา กล่าวคือ ภาพภายนอกแสดงออกถึงความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในขณะที่ภายในจิตใจนั้นเป็นศัตรูต่อพวกท่าน ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

 

     "การปกครองของบนีอับาสซึ่งเป็นการปกครองที่ใช้เล่ห์หลอกลวงจะสิ้นสลายไป จนกระทั่งกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่จากมัน หลังจากนั้นมันจะเกิดขึ้นใหม่จนกระทั่งกล่าวได้ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับมัน" (28)

 

ง. การจลาจลในเมืองฮัยเราะฮ์

 

      หลังจากที่ซุฟยานีได้ยึดครองเมืองกูฟะฮ์ ประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็ก่อจลาจลต่อต้านเขาอีก ในครั้งนี้ความหายนะจะเกิดขึ้นโดยผู้นำกองทัพคนหนึ่งของซุฟยานี ซึ่งในระหว่างเมืองกูฟะฮ์และเมืองฮัยเราะฮ์จะเกิดอาชญากรรมต่างๆ ขึ้น โดยที่การสังหารหมู่ครั้งนี้จะเป็นสัญญาณหนึ่งของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)

 

      ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) กล่าวว่า :

 

     "เป็นไปได้อย่างไรที่การปรากฏตัวของมะฮ์ดีจะเกิดขึ้น ในขณะที่จนถึงขณะนี้การเข่นฆ่าอย่างมากมายในระหว่างกูฟะฮ์และฮัยเราะฮ์ยังไม่เกิดขึ้น" (29)

 

      ญาบิร ญุอ์ฟี รายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

     "เมื่อชายที่ไม่ใช่ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในกูฟะฮ์ผู้หนึ่งได้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้พร้อมกับผู้อ่อนแอ (มุสตัฎอะฟีน) จากชาวกูฟะฮ์กลุ่มหนึ่ง ผู้บัญชาการกองทัพของซุฟยานีจะสังหารเขาในระหว่างกูฟะฮ์และฮัยเราะฮ์" (30)

 

จ. การปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.) และปฏิกิริยาของซุฟยานี

 

     ในขณะที่กองทัพของซุฟยานีกำลังปล้นสะดมถ์เมืองมะดีนะฮ์ ข่าวได้ไปถึงซุฟยานีว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้ปรากฏตัวแล้ว และขณะนี้อยู่ในเมืองมักกะฮ์ ซุฟยานีเพื่อที่จะทำการต่อสู้และทำลายท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) เขาจะส่งกองทัพที่อยู่ในมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ กองทัพของซุฟยานีจะถูกธรณีสูบในดินแดนที่อยู่ระหว่างมะดีนะฮ์และมักกะฮ์ ซึ่งมีชื่อว่าบัยดาอ์ กองทัพทั้งหมดของซุฟยานีจะถูกธรณีสูบและเหลือรอดอยู่เพียงสองพี่น้อง

 

     อัศบัฆ บินนะบาตะฮ์ ได้รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า:

 

     "กองทัพ (ซุฟยานี) ภายใต้การบัญชาการของชายชาวเผ่าฆ็อฏฟานคนหนึ่ง ได้เดินทางมุ่งสู่มักกะฮ์ ในระหว่างทางเมื่อไปถึงยังทะเลทรายสีขาว พวกเขาได้ถูกธรณีสูบ โดยที่ไม่มีใครเหลือรอดยกเว้นเพียงสองคนซึ่งจะเป็นสัญญาณ (อุทาหร) สำหรับคนอื่นๆ โดยที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้ใบหน้าของพวกเขาบิดไปอยู่ด้านหลัง" (31)

 

     ทั้งสองบุคคลนี้คือผู้ที่จะรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และแก่ซุฟยานี

 

     กองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะเคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะทำลายบรรดาผู้อธรรม และในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอยู่ในสภาพของการทำสงครามตลอดเวลา

 

     ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า :

 

     "ในช่วงเวลาที่กออิม (มะฮ์ดี) ของเรายืนหยัดขึ้นต่อสู้นั้น (ร่างกาย) จะมีแต่เลือด และเหงื่อ อยู่บนหลังม้า และอยู่ในสภาพการทำสงครามในสนามรบต่างๆ" (32)

 

การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพอิมามมะฮ์ดี (อ.) กับกองทัพซุฟยานี

 

    กองทัพของอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะยึดคืนอิรักและอียิปต์ ซึ่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของซุฟยานีได้อย่างรวดเร็วและจะเคลื่อนพลไปยังซุฟยานี ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะพำนักอยู่ในกูฟะฮ์ช้่วเวลาหนึ่ง และจะไปหยุดที่อัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) อย่างรวดเร็ว เมื่อซุฟยานีได้ล่วงรู้ข่าว เมื่อพิจารณาถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในดินแดนบัยดาอ์ ความปราชัยและการสูญเสียดินแดนต่างๆ ทำให้เขายอมจำนนต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แต่ด้วยกับเล่ห์เหลี่ยมกลลวงของบรรดาผู้ร่วมทางของเขา ทำให้เขาทำลายสัตยาบัน (บัยอัต) ของตน และเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) แต่ในที่สุดกองทัพของซุฟยานีก็ปราชัยอย่างหนักหน่วงต่อท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งชะตากรรมของเขาก็คือการถูกบั่นคอ

 

     ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

     “เมื่อผู้ลี้ภัยไปยังมักกะฮ์ผู้นั้น (หมายถึงมะฮ์ดี) ได้ทราบข่าวการถูกธรณีสูบในดินแดนบัยดาอ์ ก็จะยืนหยัดขึ้นต่อสู้พร้อมด้วย (ผู้ช่วยเหลือ) 12,000 คน ซึ่งในหมู่พวกเขามี "อับดาล" (ปวงบ่าวพิเศษของพระเจ้า) ร่วมอยู่ด้วย เขาจะออกเดินทางจากมักกะฮ์จนกระทั่งไปถึงยังอีลิยาอ์ (อัลกุดส์) เมื่อซุฟยานีได้ยินข่าวนี้ เขาจะกล่าวว่า: ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า! พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงทำให้บุรุษผู้นี้เป็นข้อเตือนใจหนึ่ง ฉันได้ส่งกองทัพที่ทรงพลังและมีอาวุธพร้อมไปยังเขา แต่พวกเขาได้ถูกธรณีสูบ สิ่งนี้เป็นข้อเตือนใจ ด้วยเหตุนี้ซุฟยานีจึงยอมจำนนต่อเขาและยอมตามเขา

 

     ซุฟยานีได้เดินทางออกไปจากที่นั่น จนกระทั่งไปพบเจอกับบรรดาลุงของเขาจากเผ่าบนีกัลบ์ พวกเขาได้ตำหนิประณามเขา โดยกล่าวว่า พระเจ้าได้สวมเสื้อ (ความเป็นผู้นำ) ให้แก่เจ้าแล้ว แต่ตัวเจ้าเองกลับปลดเปลื้องมันออก เขากล่าวว่า พวกท่านมีความเห็นอย่างไร ฉันควรจะคืนสัตยาบันแก่เขาใช่ไหม พวกเขากล่าวว่า ใช่แล้ว! จากนั้นซุฟยานีจึงกลับไปยังอิมาม (มะฮ์ดี) ที่เมืองอีลิยาอ์ และกล่าวว่า ท่านจงเอาสัตยาบันของฉันคืนไป ท่านอิมามกล่าวว่า เจ้าต้องการเช่นนั้นหรือ เขากล่าวว่า ใช่! ท่านอิมามได้ยกเลิกสัตยาบันของเขา จากนั้นท่านกล่าวว่า ชายผู้นี้ได้ออกจากการเชื่อฟังฉันแล้ว..." (33)

 

จุดจบของซุฟยานี

 

     ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า :

 

إِنَّ السُّفْيَانِيَّ يُذْبَحُ عَلَى بَلَاطَةِ بَابِ إِيْلِيَاءَ

 

"ซุฟยานีจะถูกเชือดบทแท่นหินปากประตูเมืองอีลิยาอ์ (บัยตุลมักดิส)" (34)

 

บั้นปลายของโลกหลังจากสงครามเหล่านี้

 

     ตามคำกล่าวของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลาม ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะยังคงพิชิตดินแดนต่างๆ ต่อไป และจะเคลื่อนพลไปยังตุรกี และอีกด้านหนึ่งท่านจะส่งกองทัพใหญ่ไปเพื่อพิชิตยุโรปและอเมริกา และกองทัพนี้จะได้รับชัยชนะในสงครามทั้งหมดของพวกเขา หลังจากนั้น การปกครองที่เที่ยงธรรมแห่งพระเจ้าจะถูกจัดตั้งขึ้นทั่วทั้งทุกมุมของโลก โดยมือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาหรับ (อะญัมหรือชาวอิหร่าน) ของท่าน และมนุษย์ทั้งหมดจะศรัทธาและเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว จวบจนถึงช่วงเวลาหนึ่งที่วันสิ้นโลก (กิยามะฮ์) จะเกิดขึ้น

 

เชิงอรรถ :

 

20.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1054

21.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1051

22.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1031

23.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1058

24.กิฟายะตุลมุฮ์ตะดี ฟี มะอ์ริฟะติลมะฮ์ดี, มีรเลาฮี ซับซะวารี, หน้า 262

25.อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้า 661

26.กัชฟุลฮักก์, มุฮัมมัดซอดิก คอตูนออบอดี, หน้า 169

27.อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 8, หน้า 189

28.อัลฆ็อยบะฮ์, อิบนุอบีซัยนับ, หน้า 256; อัลฆ็อยบะฮ์, นุอ์มานี, หน้า 303

29.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1131

30.อิมามมะฮ์ดี อาซ วิลาดัต ทอซุฮูร, ซัยยิดมุฮัมมัดกาซิม ก็อซวีนี, หน้า 355

31.ชิช มอเฮ่ พอยอนี, มุจญ์ตะบา อัซซาดะฮ์, หน้า 194

32.พัยฎอเย่ เพนฮอน, พูรซัยยิดอากออี, หน้า 41

33.ตารีค พัซซาซ ซุฮูร, ซัยยิดมุฮัมมัด ศ็อดร์, หน้า 338

34.รูซกอเร่ ระฮออี (แปล - เยามุลค่อลาศ), กามิล สุไลมานี, เล่ม 2, หน้า 1133

 

บทความก่อนหน้านี้


สงครามยุคสุดท้ายในมุมมองของศาสนาอิสลาม ตอนที่ 1

 

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากบทความของนิตยสาร “มัชริก เมาอูด” ฉบับที่ 44
แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ