บทพิสูจน์เรื่อง อิมามมะฮ์ดี(อ) ประสูติแล้ว ตอนที่ 6

บทพิสูจน์เรื่อง อิมามมะฮ์ดี(อ) ประสูติแล้ว ตอนที่ 6

 

หัวข้อที่ 4


เราไม่มีสิทธิอิจญ์ติฮาด(วิจัย)เรื่องศาสนาที่ขัดกับตัวบทหลักฐาน

(اِجْتِهاَدُ فِیْ مُقاَبِلِ النَّصِّ)

ในเมื่อเรามีตัวบทหลักฐาน (نَصٌّ) จากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ ที่บอกไว้ชัดเจนและมีสายรายงานที่สมบูรณ์จากสองวิธีการดังกล่าว เพื่อความเข้าใจขอให้ท่านพิจารณาตัวอย่างดังนี้

 

อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

 

وَأقِيمُوا الصَّلاَةَ وَآتُوا الزَّكَاة

 

พวกเจ้าจงดำรงนมาซ และจ่ายซะกาต

 

ซูเราะฮ์ อัลบะกอเราะฮ์ : 43

 

อัลกุรอานโองการนี้บ่งบอกชัดเจนว่า ต้องการให้มุสลิมทำนมาซและจ่ายซะกาต เรียกว่า طَلَبٌ ความต้องการ และเรียกร้องให้กระทำ

 

สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ คำสั่งนี้เป็นวาญิบหรือมุสตะฮับ เราไม่ต้องไปวิจัยในประเด็นอื่น ดังนั้นถือว่าไม่ถูกต้องที่มุสลิมคนหนึ่งจะออกมาประกาศว่า อายัตนี้ว่า มันไม่ได้บ่งบอกว่า อัลลอฮ์ต้องการให้ทำนมาซและจ่ายซะกาต ซึ่งถ้าใครจะมาวิจัยเช่นนี้ ถือว่าเป็นการวิจัยเรื่องศาสนาที่ขัดกับตัวบทหลักฐาน

 

แต่ถ้าจะมาวิจัยว่าความต้องการในอายัตนี้ เป็นวาญิบหรือมุสตะฮับ อันนี้อนุญาติให้อิจญ์ติฮาดได้ กรณีฮะดีษเกี่ยวกับเรื่องอิมามมะฮ์ดี(อ)เกิดแล้วก็เช่นกัน มุสลิมไม่มีสิทธิจะมากล่าวว่า ขอวิจัยฮะดีษที่บอกว่าอิม่ามมะฮ์ดีถือกำเนิดแล้ว เป็นการกระทำที่ไร้ความหมาย เพราะฮะดีษที่รายงานว่า อัลมะฮ์ดีถือกำเนิดแล้วเป็นฮะดีษมุตะวาติร

 

การอิจญ์ติฮาด(การวิจัย)ในเรื่องนี้จึงไม่มีผลตอบสนองใดๆ เพราะ เป็นฮะดีษที่มีสายรายงานเป็นมุตะวาติร ที่แพร่หลายนั่นเอง


บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

โปรดติดตามตอนต่อไป