เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ธารธรรมเดือนรอมฎอน 1441 ตอนที่ 2 อะฮ์ลุลเบต คือ บะรอกัตของอัลลอฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ธารธรรมเดือนรอมฎอน 1441 ตอนที่ 2 อะฮ์ลุลเบต คือ บะรอกัตของอัลลอฮ์

 

โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

 

บะรอกัต คืออะไร

 

คำว่า “บะรอกัต”ในภาษาอาหรับที่เราใช้กันทุกๆคน แม้แต่การให้สลามของพวกเรา ที่ว่า

 

السلام عليكم ورحمةالله وبركاته

 

ขอความสันติจงมีแด่ท่านและเราะฮ์มัตของอัลลอฮ์ จงมีแด่ท่าน และบะรอกัตจากอัลลอฮ์ จงมีแด่ท่าน

 

คำอธิบาย : เพื่อจะชี้ว่า เราขออะไรให้กัน ซึ่งในนี้มีทั้ง สลาม  สันติ  เราะฮ์มัตและความบะรอกัต

 

เมื่อพิจารณาในความสำคัญของความบะรอกัตนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกๆครั้งที่มุสลิมให้สลามนั้น ก็ขอให้ทุกๆคนมีความบะรอกัต เช่น ขอให้ทั้งคนที่มีเงิน มีทอง และขอให้มีทั้งความบะรอกัต เพราะไม่แน่ว่า คนมีเงินมีทองนั้นจะมีความบะรอกัตหรือไม่ และคนยากจนก็เช่นกัน ก็ต้องขอให้มีความบะรอกัต เพราะบางครั้งความยากจนก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีความบะรอกัต

 

ทีนี้ เรามาดูความบะรอกัตอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อที่จะทำความเข้าใจ ในความหมายเบื้องต้นของประโยคที่อยู่ในซิยารัตบทนี้ ที่บอกว่าอะฮ์ลุลเบตคือ

 

وَمَسَاکِنِ بَرَکَةِاللهِ

 

อะฮ์ลุลเบต(อ) คือ ที่อยู่ ที่พำนักของบะรอกัตของอัลลอฮ์(ซ.บ.)

 

ซึ่งความบะรอกัตจริงๆในภาษาอาหรับนั้น เราเรียกว่า “เอี๊ยะซาน” โดยมีภาษาอาหรับเป็นรากฐานของศาสนา เบื้องต้นทำความเข้าใจในภาษาอาหรับก่อน บะรอกัตในภาษาอาหรับนั้น ความจริงแล้วใช้กับเรื่องทางจิตวิญญาณ

 

เบื้องต้น “บะรอกัต” คือ ความดี มีประโยชน์ที่ไม่หมดสิ้น หรือ อะไรที่เป็นความดี อะไรที่มีประโยชน์ทางจิตวิญญาณที่ไม่มีวันหมดสิ้น อาหรับจะเรียกสิ่งนั้นว่า บะรอกัต

 

บะรอกัต คือ เมื่อทำความดีประโยชน์ของมันไม่หมดสิ้นทางจิตวิญญาณนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม แม้นว่า จะมีการใช้กับเรื่องวัตถุ แต่ไม่ได้ใช้ในความหมายที่สมบูรณ์ และความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า “บะรอกัต”ที่ใช้ในภาษาอาหรับ ก็คือ อะไรก็ตามที่มีประโยชน์ มีความดีต่อมนุษย์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เราเรียกสิ่งนั้นว่า “บะรอกัต” คือให้มีความดีอยู่ตลอดเวลา ให้ได้รับประโยชน์ทางจิตวิญญาณตลอดเวลา เราจึงจะเรียกว่า “บะรอกัต”

 

ดังนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นความดี ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ตรงนี้เพื่อย้ำว่า บะรอกัตใช้กับเรื่องทางจิตวิญญาณจึงจะเกิดความสมบูรณ์นั่นเอง

 

เงินที่มีบะรอกัต กับ เงินที่ไม่มีบะรอกัตนั้นแตกต่างกันอย่างไร

 

เงินที่บะรอกัต หมายถึง เงินที่เราสามารถใช้ให้มันเกิดผลบุญกับเราในโลกหน้า

ส่วนเงินที่เราไม่ได้ใช้ไป ให้มันเกิดคุณกับเราในโลกหน้านั้น แสดงว่าเงินนั้นไม่มีบะรอกัต

 

บะรอกัต คือ ความดีทางจิตวิญญาณ เป็นความหมายในภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งที่ให้ประโยชน์ทางจิตวิญญาณของมนุษย์ สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีผลบุญ สิ่งที่ทำให้มนุษย์พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเงินก็สามารถที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้

 

และการที่อัลลอฮ์(ซบ) ให้มนุษย์บริจาคทรัพย์สินเงินทอง เพราะการบริจาคทรัพย์สินเงินทองนั้นทำให้จิตวิญญาณของเขาถูกขัดเกลา

 

“ซะกาต” รากศัพท์ มาจากคำว่า การขัดเกลา ให้เงินขัดเกลาตัวของเราเอง นั้นไม่ได้แปลว่า คนมีเงินแล้วจะมีบะรอกัต ทว่าคนมีเงินแล้วใช้เงินอย่างไรต่างหากที่จะทำให้เงินนั้นมีบะรอกัตหรือเงินนั้นไม่มีบะรอกัต

 

มีพวกเราจำนวนหนึ่ง ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่กล้าบริจาค ไม่กล้าใช้เงินเพื่อให้เกิดบะรอกัต ทว่าความจริงแล้วเพราะเงินของเขามันไม่มีบะรอกัตตั้งแต่แรก จึงไม่สามารถที่จะใช้ไปให้มันเกิดความบะรอกัตได้

 

สมมุติ เราใช้เงิน บริจาค จ่ายซะกาต จ่ายคุมุส ช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือคนเดือดร้อน ถามว่าอานิสงค์ของการใช้เงินนี้มีอยู่ตลอดไปหรือไม่ หรือเงินที่ใช้ไปในหนทางของอัลลอฮฺถามว่าความดีของการกระทำสิ่งนี้ยังคงอยู่หรือไม่ แน่นอนว่า ความดีของมันคงอยู่ตลอดไป เว้นแต่เราไม่ทำลายไปเสียก่อน

 

ดังนั้น พึงรู้ไว้เถิดว่า เงินก็มีบะรอกัตได้ หากใช้ไปในทางที่ดีทางจิตวิญญาณ ใช้ไปในทางที่มีประโยชน์ ส่วนเงินที่เอาไปซื้อของกิน กินแล้วก็หมดไป จบไม่มีอะไรหลงเหลืออะไรนั้นไม่มีประโยชน์

 

กรณีต่อมา สมมติ คนนี้มีลูกที่บะรอกัต ถามว่า ทุกคนได้ลูกมาบะรอกัตทุกคนหรือไม่ แน่นอนว่า ลูกบางคนก็ไม่บะรอกัต ลูกบางคนก็บะรอกัต คำถามต่อมา ลูกที่บะรอกัต คือ แบบไหน นัยยะนี้ต้องการชี้ว่า เรากำลังทำความเข้าใจความหมายของบะรอกัต จะได้รู้ว่า อะฮ์ลุลเบตคือบะรอกัตของอัลลอฮ์ อะฮ์ลุลเบตคือที่อยู่ของบะรอกัตทั้งหมด ซึ่งสูงส่งเป็นอย่างมาก

 

เรากำลังพูดถึงความบะรอกัตของอัลลอฮ์ แต่จะต้องอธิบายจากข้างบนไปข้างล่างก่อน เราต้องทำความเข้าใจบะรอกัตของเงิน บะรอกัตของลูก ได้ภรรยาคนนี้บะรอกัต คืออะไร ได้สามีคนนี้บะรอกัต คืออะไร

 

ตัวอย่าง ลักษณะลูกที่บะรอกัต

 

ขอยกเรื่องลูกที่บะรอกัตก่อน ความหมาย ลูกที่บะรอกัต ก็คือ ลูกที่ซอและฮ์ คนที่ได้ลูกซอและฮ์ถือว่าบะรอกัตหรือไม่ จริงๆแล้ว ความซอและฮ์ ไม่ใช่ความเป็นลูก แต่ความซอและฮ์ทำให้คนๆนี้กลายเป็นลูกที่บะรอกัต

 

 “ความซอและฮ์” ทำให้ลูกมีความบะรอกัต

 

เพราะซอและฮ์ จึงส่งผลดีไปถึงพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่นั้นได้รับผลบุญจากการกระทำของลูก แม้พ่อแม่ลาโลกเป็นผุยผงไปแล้ว แต่ความดีอันนี้ก็ยังไปถึงพ่อแม่ เพื่อชี้ว่า ความหมายของบะรอกัต คือ ความดีทางจิตวิญญาณ สิ่งที่ให้ประโยชน์ทางจิตวิญญาณ บางครั้งมีพ่อแม่ที่มีบะรอกัต บางครั้งมีลูกที่มีบะรอกัต บางครั้งมีภรรยาที่มีบะรอกัต บางครั้งมีสามีที่มีบะรอกัต

 

สามีบะรอกัต หมายถึง การมีสามีคนนี้ทำให้เราเคร่งครัดในศาสนา ทำให้เราได้อยู่ในศาสนา ทำให้เราได้พบในทางนำ การมีภรรยาคนนี้เป็นภรรยาที่บะรอกัตก็คือ ภรรยาที่ทำให้เรานั้นเคร่งครัดศาสนา ภรรยาที่สอนลูกๆของเราให้อยู่ในศาสนา ก็ถือว่ามีภรรยาที่เป็นบะรอกัต ส่วนเรื่องอื่นเราก็นำไปเปรียบเทียบ ซึ่งจริงๆแล้วใช้ได้กับทุกอย่างแม้แต่กับสิ่งที่เป็นวัตถุที่ไม่มีจิตวิญญาณก็ใช้ได้ ดังนี้

 

ตัวอย่าง “มีรถคันนี้บะรอกัต”

 

เพราะรถคันนี้ได้ใช้ในหนทางศาสนา ได้รับส่งคน ช่วยเหลือคน รถถูกใช้ให้ได้ผลบุญ ถามว่า การใช้รถที่ได้รับผลบุญมีหรือไม่ คำตอบ มี ซึ่งในที่นี้หมายถึง รถที่ใช้ไปเพื่อได้รับผลบุญ เช่น ช่วยเหลือคน ส่งคนไปโรงพยาบาล ไม่ใช่ใส่กุญแจปิดล็อกคลุมผ้า ใครจะเดือดร้อนใครจะตายยังไงก็ไม่สตาร์ทรถออก ถ้าเป็นเช่นนี้ นั่นแสดงถึง เขามีรถที่ไม่มีบะรอกัต เพราะไม่ได้รับใช้เพื่อนมนุษย์ และไม่ได้ทำประโยชน์

 

นี่คือ ข้อแตกต่าง เห็นได้ว่า การมีรถที่ไม่ได้ทำให้ตนเองได้รับผลบุญ รถนั้นจึงเป็นรถที่ไม่มีบะรอกัต

 

ตัวอย่าง มีเงินแต่ไม่กล้าบริจาคเงินนั้นก็เป็นเงินที่ไม่มีบะรอกัต ดังนั้น พึงจำไว้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดบะรอกัตได้ เช่น เรามีวิชาความรู้ เราสั่งสอนคน ความรู้ของเราก็มีบะรอกัต

 

เป้าหมายเพื่อจะบอกว่า คำว่า บะรอกัต คือ ทุกอย่างที่ทำให้เกิดความดีทางจิตวิญญาณ ทว่าอะไรที่เป็นผลประโยชน์ทางวัตถุไม่ถือว่าสิ่งนั้นมีบะรอกัต

 

สมมุติ เรามีรถ ใครจะมาใช้รถเราต้องจ่ายเงิน ต้องเติมน้ำมันทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่เคยขาดทุน เราจะเรียกว่ารถนั้นมีบะรอกัตไหม คำตอบ คือ ไม่มี

 

ดังนั้น คนที่มีบะรอกัตอย่างแท้จริง คนที่นับถือศาสนาอย่างแท้จริง ชีวิตของเขาไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากความบะรอกัตเท่านั้นที่เขาจะต้องแสวงหา เพราะบะรอกัตจะให้ผลดี ซึ่งทุกอย่างที่เรามีสามารถแสวงหาความบะรอกัตเข้าสู่ตัวเองได้

 

นี่คือความหมายของคำว่า บะรอกัต ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีมาก ไม่จำเป็นจำต้องมีน้อย ซึ่งหากถามว่า คนที่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมากจำเป็นหรือไม่ ที่เขาจะต้องมีบะรอกัตมา คำตอบ คือ ไม่จำเป็น บางครั้งการมีมากแต่ไม่มีบะรอกัตเลยก็มี แต่บางครั้งคนที่มีน้อยนิด แต่ในความมีน้อยนิดของพวกเขา เขากลับแสวงหาความบะรอกัตได้อย่างมากมาย

 

เรียบเรียงโดย Wanyamilah S.

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม