อะลี บิน อะบูฏอลิบ คือ ใคร?

อะลี บิน อะบูฏอลิบ คือ ใคร?

 

บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

 

ท่านอิมามอะลี เกิดวันที่ 13 เดือนรอญับ ปีช้าง(อามุลฟีล) ในวิหารอัลกะอ์บะฮ์ ณ  เมืองมักกะฮ์


บิดาชื่อ : อบูฏอลิบ


มารดาชื่อ : ฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัด

 

เสียชีวิตวันที่ 21 เดือนรอมฏอน ปีฮิจเราะฮ์ที่ 40 เมืองกูฟะฮ์ รวมอายุ 63 ปี


หลุมฝังศพ : อยู่ที่เมืองนะญัฟ ประเทศอิรัก

 

บทบาทของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

เราสามารถแยกบทบาท ของท่านอิมามอะลี (อ.)  ที่มีต่อศาสนาอิสลาม ออกเป็น 2 ช่วงด้วยกันคือ


1- ช่วงที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) ยังดำรงชีวิตอยู่

 

2 - ช่วงเวลาหลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.)

 

ในช่วงยุคสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.)เป็นช่วงที่อิสลามเริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งประสบปัญหานานัปการ เช่น ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จากกลุ่มชนที่เคารพบูชาเจว็ดและจากบรรดาผู้มีอิทธิพลในเมืองมักกะฮ์ ซึ่งบางครั้ง หลายต่อหลายคนที่เข้ารับอิสลาม ถูกข่มขู่และถูกทรมานต่างๆนานา


แต่เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ. ได้อพยพไปเมืองมะดีนะฮ์ ประชาชนที่นั่นได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้างท่าน จนในที่สุดท่าน นบีมุฮัมมัดสามารถจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นที่เมืองมะดีนะฮ์ และท่านก็อาศัยอยู่ที่เมืองนี้ด้วย ช่วงที่ท่านนบีมุฮัมมัดอาศัยอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ มีสงครามเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่อิสลามสามารถปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงได้ และก็ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

 

อิมามอะลี (อ.) คือ ชายคนแรกที่เข้ารับอิสลาม

 

บทบาทที่โดดเด่นของท่านอิมามอะลีในยุคของท่านนบีมุฮัมมัด คือ ท่านอะลีเป็นบุคคลแรกที่ตอบรับการเชิญชวนของท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งท่านอะลีถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เข้ารับอิสลาม

 

บุคคลแรกที่เข้ารับอิสลามกับท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ.) คือ อะลี บินอบีฏอลิบ (รายงานโดยท่านเซด บินอัรก็อม ดู มุสนัดอะหมัด ฮะดีษที่ 18501)

 

เชคอัลบานี กล่าวว่า : แท้จริงเขา( ท่านอะลี) นั้นยังเด็กอยู่ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งเป็นที่รู้กันดี และพวกเขาเหล่านี้คือ อะฮ์ลุลบัยต์นบี (ศอฮีฮุซ-ซีเราะติน-นะบะวียะฮ์ โดยเชคอัลบานี เล่ม 1 : 119)

 

บุคคลแรกที่นมาซกับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ.) คือท่านอิมามอะลี (อ.) (รายงานโดยอิบนุอับบาส ดู ศอฮีฮุต-ติรมิซี ฮะดีษที่ 2936 ตรวจทานโดยเชคอัลบานี)

 

ท่านอะลี เป็นลูกผู้น้องของท่านนบีมุฮัมมัดและยังเติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูจากท่านนบีอีกด้วย (ท่านมีอายุอ่อนกว่าท่านนบี (ศ็อลฯ.) 30 ปี) หลังจากนั้นท่านอิมามอะลียังได้แต่งงานกับบุตรสาวสุดที่รักยิ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) ซึ่งก็คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ตลอดเวลาที่ท่านนบีมุฮัมมัดพำนักอยู่ที่เมืองมักกะฮ์ ท่านอะลีคอยติดตามรับใช้อยู่อย่างใกล้ชิด

 

อิมามอะลี (อ.) ในคืนที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) อพยพไปยังมะดีนะฮ์

 

เมื่อครั้นที่ท่านนบีมุฮัมมัดอพยพ(ฮิจเราะฮ์)ออกจากเมืองมักกะฮ์ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ท่านอะลีย์ก็ได้เสียสละชีวิตโดยเป็นผู้นอนแทนที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ปรารถนาจะลอบสังหารท่านนบีมุฮัมมัดเข้าใจว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) ยังนอนอยู่ในบ้าน แต่ที่จริงท่านนบีฯได้ออกจากบ้านไปแล้ว จากเหตุการณ์เสียสละนี้จึงมีโองการอัลกุรอานประทานลงมาว่า "ส่วนหนึ่งจากหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ที่ขายตัวของเขาเพื่อแสวงหาความพอพระทัยของอัลลอฮ์" (อัลกุรอานบท 2 โองการที่ 207)

 

ท่านกุรฏุบีกล่าวว่า : บางคนกล่าวว่า (โองการนี้) ถูกประทานลงมาเกี่ยวกับท่านอะลีขณะที่ท่าน นบี (ศ็อลฯ.) ได้ทิ้งให้ท่านนอนบนที่นอนของท่านในคืนที่ท่านนบีออกไปยังถ้ำ (ตัฟซีรอัลกุรฏุบี เล่ม 3 : 23)

 

ท่านอะลี บุตรฮุเซน (บุตรอะลี บุตร อบีฏอลิบ) เล่าว่า : แท้จริงบุคคลแรกที่ขายตัวของเขาเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์คือ ท่านอะลี บินอบีฏอลิบ 


(อัลมุซตัดร็อกอัลฮากิม ฮะดีษที่ 4264 ท่านอัซซะฮะบี นิ่งไม่ได้วิจารณ์ฮะดีษนี้ว่าศอเฮียะฮ์หรือฎออีฟ)

 

หลังจากที่รัฐอิสลามก่อตัวขึ้นที่เมืองมะดีนะฮ์ สงครามน้อยใหญ่ได้เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามซึ่งสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความกล้าหาญและความเก่งกาจของท่านอะลีในสงครามที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น สงครามบะดัร อุฮุด ค็อนดัก ค็อยบัร และอีกหลายต่อหลายสงคราม

 

อิมามอะลี (อ.) คือ  ผู้พิชิตป้อมค็อยบัรของชาวยิว (ยะฮูดี)

 

ปีที่ 7 ฮิจเราะฮ์ศักราช ท่านนบีตัดสินใจที่จะเข้ายึดป้อมค็อยบัรของพวกยิว เพื่อเป็นการลดกำลังความสามารถของพวกยิว เป้าหมายของท่านนบีในการเข้ายึดครั้งนี้มี 2 ประเด็นคือ

 

1. ค็อยบัร คือ ศูนย์กลางที่พวกยิวใช้ในการวางแผนหรือปลุกระดมคนเพื่อต่อต้านการปกครองอิสลามที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และหลายต่อหลายครั้งที่พวกยิวใช้ป้อมค็อยบัรเป็นที่วางแผนการเพื่อทำลายเมืองมะดีนะฮ์ร่วมกับศัตรูอิสลามกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามอะฮ์ซาบ

 

2. ในช่วงสมัยนั้นอาณาจักรโรม(อิตาลี)และอาณาจักรเปอร์เซีย(อิหร่าน)ถือว่ายิ่งใหญ่ และถ้าหากยิวต้องการที่จะทำสงครามกับอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งต้องทำสงครามหลายครั้ง และใช้ระยะเวลายาวนานในการพิชิต แต่ทว่าการกำเนิดขึ้นของอาณาจักรอิสลาม ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ สามที่มีความเข้มแข็ง สำหรับพวกยิวแล้วไม่สามารถที่จะประวิงเวลาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ว่า ยิวจะใช้ป้อมค็อยบัรเป็นสถานที่ร่วมมือกับศัตรูอิสลามเพื่อวางแผนทำลายล้างอิสลาม หรือใช้เป็นสถานที่ให้การสนับสนุนศัตรูอิสลาม ซึ่งสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้นให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนพวกยิว

 

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) ทราบถึงปัญหานี้ดี ท่านจึงได้นำกองทหารจำนวน 1,600 นาย เคลื่อนทัพไปที่ป้อมค็อยบัร ป้อมปราการต่าง ๆ ที่ค็อยบัรมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ยากต่อการทำลายล้าง และมีความพร้อมในการรับมือกับผู้รุกรานเป็นอย่างดี ทหารของพวกยิวก็มีความสามารถในการป้องกันตนเองสูง และด้วยความพยายาม ความมานะ

 

และความกล้าหาญของทหารอิสลาม ถึงแม้จะเป็นความยากลำบากในการพิชิตแต่ก็สามารถพิชิตป้อมต่าง ๆ ได้ยกเว้นป้อมที่มีชื่อว่า "กุมูซ" ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกองทหารยิวมีกำลังพลที่เข้มแข็ง กองทหารอิสลามไม่สามารถพิชิตป้อมปราการนี้ การต่อต้านของยิวในป้อมปราการนี้ สร้างความลำบากให้กับท่านศาสดาเป็นอย่างมาก

 

ท่านนบีได้แต่งตั้งแม่ทัพและมอบธงรบให้กับบุคคลต่าง ๆ เพื่อเข้ายึดครองป้อมปราการนี้ ในทุก ๆ เช้าท่านจะทำการแต่งตั้งและมอบธงรบให้คนแล้วคนเล่าแต่ไม่มีใครสามารถพิชิตป้อมปราการนี้ได้สำเร็จ ซึ่งในวันแรกท่านได้มอบธงให้กับท่านอบูบักร และในวันต่อมาท่านได้มอบให้กับท่านอุมัร ซึ่งทั้งสองท่านไม่สามารถพิชิตป้อมปราการนี้ได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความยุ่งยากให้กับท่านนบีเป็นอย่างมาก ท่านสะอัด บิน อบีวักก็อศ เล่าว่า

 

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) กล่าวว่า : "(พรุ่งนี้)ฉันจะมอบธงรบให้กับชายคนหนึ่งที่เขารักอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ และอัลลอฮ์กับรอซูลของพระองค์ก็รักเขา ท่านซะอัดเล่าว่า (รุ่งเช้าทุกคนมารวมตัวกันที่กระโจมท่านนบี) พวกเราพยายามยืนตัวให้สูง(ท่านนบีจะได้มองเห็น) เพื่อจะได้รับธงรบนั้น ท่านนบีกล่าวว่า พวกท่านจงไปเรียกอะลีมาหาฉันที แล้วก็มีคนพาเขามา ซึ่งตาเขาเจ็บ ท่านได้เอาน้ำลายป้ายไปที่ดวงของเขา และมอบธงรบกับเขา แล้วอัลลอฮ์ได้ประทานชัยชนะให้กับเขา" (ศอเฮียะฮ์มุสลิม ฮะดีษที่ 6373)

 

ท่านอะลีได้นำทัพด้วยความกล้าหาญอย่างที่ไม่มีใครเหมือน จนสามารถพิชิตป้อมปราการค็อยบัรของชาวยิวได้สำเร็จ

 

อิมามอะลี (อ.) คือ ผู้ประกาศซูเราะฮ์อัลบะรออะฮ์ (อัตเตาบะฮ์)

 

เดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีที่ 9 ฮิจเราะฮ์ศักราชในเทศกาลฮัจญ์ อิบนุฮะญัรกล่าวว่า : ท่านอิมามอะหมัดได้รายงานฮะดีษบทหนึ่งด้วยสายรายงานที่ฮะซัน (ดี) จากท่านอะนัสเล่าว่า : แท้จริงท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้ส่งซูเราะฮ์อัลบะรออะฮ์ไปกับท่านอบูบักร เมื่อเขาเดินทางมาถึงซุลฮุลัยฟะฮ์(ชื่อสถานที่) ท่านนบีกล่าวว่า : ไม่มีใครจะประกาศมัน(ซูเราะฮ์อัลบะรออะฮ์)ได้ยกเว้นฉันหรือชายที่มาจากอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน แล้วท่านได้ส่งมัน(ซูเราะฮ์อัลบะรออะฮ์)ไปกับท่านอะลี (ท่านติรมิซีกล่าวว่าเป็นฮะดีษฮาซัน เฆาะรีบ

 

สถานะฮะดีษ ฮาซัน ดูฟัตฮุลบารี อิบนุฮะญัร เล่ม 13 : 88 ฮะดีษที่ 4289)

 

อิมามอะลี (อ.) คือ ผู้ที่อยู่ในวันที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ทำมุบาฮะละฮ์ (สาบานสาปแช่ง) กับชาวคริสต์ (นะศอรอนี)

 

วันที่ 24 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีที่ 9 ฮิจเราะฮ์ศักราช ชาวคริสต์แห่งเมืองนัจญ์รอนส่งตัวแทนเดินทางมาพบท่านนบีมุฮัมมัดเพื่อพิสูจน์การเป็นศาสดาของท่านนบีมุฮัมมัด ชาวคริสต์กล่าวว่าพระเยซู(นบีอีซา)คือบุตรของพระเจ้า แต่ท่านนบีได้แสดงเหตุผลว่า นบีอีซาเป็นศาสดาคนหนึ่งที่อัลลอฮ์ส่งมาแม้ว่าการเกิดของท่านจะแปลกประหลาดกว่ามนุษย์ทั่วไปก็ตาม กล่าวคือมารดาท่านได้ให้กำเนิดมาโดยไม่มีชายใดสัมผัสนาง

 

ท่านนบีได้ยกตัวอย่างว่าท่านนบีอาดัมไม่มหัศจรรย์กว่าอีกหรือหากจะว่าไปแล้ว เพราะนบีอาดัมถือกำเนิดมาโดยที่ไม่มีบิดาและมารดา แล้วทำไมชาวคริสต์จึงไม่นับถืออาดัมเป็นพระเจ้าเหมือนเยซู หลังการสนทนาชาวคริสต์ไม่ยอมรับเหตุผลของท่านนบี อัลเลาะฮ์ (ซ.บ) ได้ประทานโองการลงมาว่า "ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้า (มุฮัมมัด) ในเรื่องของอีซา (ว่าเป็นบุตรของพระเจ้า) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า ท่านทั้งหลาย (ชาวคริสต์) จงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเรา และลูกของพวกท่านและเรียกบรรดาผู้หญิงของเรา และบรรดาผู้หญิงของพวกท่านและตัวของเรา และตัวของพวกท่าน และเราจะมาวิงวอน (ต่อพระเจ้า) กัน ด้วยความนอบน้อม โดยที่เราจะขอให้อัลลอฮ์ทรงลงโทษทัณฑ์แก่บรรดาผู้โกหก" (ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 61)

 

ท่านซะอัด บุตร อบีวักกอศ เล่าว่า : เมื่อโองการนี้ได้ประทานลงมาคือ : ดังนั้นจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเรา และลูกของพวกท่าน... (อัลกุรอานบทที่ 3 : 61)

 

ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ได้เรียก อะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซัน และฮุเซนมา แล้วกล่าวว่า : โอ้อัลลอฮ์ พวกเขาเหล่านี้คือ ครอบครัวของข้าพเจ้า (แล้วท่านนบีฯได้นำบุคคลทั้งสี่ออกไปสาบานกับชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอน ผลปรากฏว่าฝ่ายคริสต์ไม่ขอสาบานด้วย)


 (ศอเฮียะฮ์มุสลิม ฮะดีษที่ 4420)

 

นับได้ว่า นี่เป็นความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของท่านอะลีและอะฮ์ลุลบัยต์ เพราะฝ่ายคริสต์ได้หวั่นเกรงบารมีของท่านนบีและอะฮ์ลุลบัยต์จึงไม่กล้าท้าพิสูจน์ความจริงด้วย นับเป็นชัยชนะแห่งอิสลามโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด