เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 4

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 4

 

การใช้ความคิดและปัญญาเป็นตัวจักรสำคัญในการสู้กับนัฟซู

 

ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเราต้องต่อสู้กับ"นัฟซู" ต้องต่อสู้กับแรงปรารถนาในด้านมืด ที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เรียกว่าการทำญิฮาดใหญ่ ในสมรภูมินี้มีทั้งคนที่ยอมแพ้ยอมศิโรราบ คนที่ได้ชัยชนะ และคนที่แพ้บ้างชนะบ้างแต่ไม่เคยท้อถอยสู้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามิใช่เป็นเรื่องง่ายดายกับการที่จะต้องต่อสู้กับจิตใจตนเอง แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับมัน เอาชนะมัน ควบคุมแรงปรารถนาด้านมืดของเราให้ได้ ในทางปฏิบัติเราสามารถเอานัฟซูให้อยู่ได้เช่นกัน ด้วยการผ่านเจ็ดขั้นตอนที่เราจะใช้เป็นพื้นฐานในการต่อสู้กับนัฟซูศัตรูตัวฉกาจของเราได้ คือ


 1.ยักฆ์เซาะฮ์(การตื่นรู้)
 2.ตะฟักกุร(การใช้ความคิด)
 3.อัซม์(การตั้งใจอย่างแน่วแน่)
4.มุชาร่อเตาะฮ์(การตั้งเงื่อนไขกับตนเอง)
5.มุรอก่อบะฮ์(การคอยระมัดระวัง)
 6.มุฮาซาบะฮ์(การตรวจทาน/การให้คะแนน)
 7.ตะซักกู้ร(การรำลึก,การตักเตือนและทบทวน)

 

หนึ่ง. การตื่นรู้ (ยักฆ์เซาะฮ์) บางคนหลับใหลไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งยามที่ลืมตาตื่นก็อยู่ในสภาพที่หลับใหล คือใช้ชีวิตแบบไม่มีสาระ ไร้เป้าหมาย ไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร อยู่เพื่ออะไร และสุดท้ายของชีวิตจะเป็นอย่างไร คนที่หลับใหล ไม่ยอมตื่นก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้ดังที่เคยอธิบายไว้ในตอนที่ 3(ย้อนดูบทเรียนที่3เรื่องการรู้จักศัตรู(นัฟซู)

 

สอง.การใช้ความคิด - (ตะฟักกุร)- คือที่เราใช้เวลาในการทบทวนถึงเป้าหมายของตัวเรา เราเกิดมาเพื่ออะไร? อยู่เพื่ออะไร? บั้นปลายจะไปไหน? ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องการใคร่ครวญ ครุ่นคิด ในการตั้งคำถามเรื่องการใช้ปัญญาว่า”เจ้าไม่ใช้ปัญญาหรอกหรือ? ไม่ใคร่ครวญ ไตร่ตรองหรอกหรือ? พวกเจ้าไม่ใช้ความคิดหรอกหรือ? การตั้งคำถามมากมายเหล่านี้ มีในหลายตัวบท เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่ให้นำมันไปปฏิบัติ นำมันไปใช้

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในศาสนาอิสลามเป็นหนึ่งในศาสนาที่ให้ความสำคัญเน้นหนักกับการใช้ความคิด ให้รู้จักท่องไปบนโลก บนชั้นฟ้า ให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ เช่นในเวลาที่เรามองไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน สิ่งที่เราเห็นคือดวงดาว เห็นพระจันทร์ เมื่อเห็นแล้วให้ใช้ความคิดว่า สรรพสิ่งเกิดมาได้อย่างไร? จักวาลอันน่าพิศวงนี้มันเกิดขึ้นมาได้เองหรือ? แล้วความอัศจรรย์ของแกแลคซี่ล่ะ? นอกจากนั้นยังให้ใช้ความคิดต่อยอดศึกษาภายในนัฟซูของเรา เพื่อที่จะยกระดับให้เข้าถึงด้านลึกของจิตใจไปอีกขั้นนึง

 

เรื่องการใช้ความคิดเป็นเรื่องที่ท้าทายมนุษย์ เป็นอย่างมาก มีรายงานฮะดิษจากบรรดาอิมามที่กล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ว่า “การใช้ความคิดเพียงชั่วขณะนึง มีความประเสริฐกว่าการทำอิบาดัตถึง 70 ปี” ขยายความจากฮะดิษนี้ได้ว่า การทำนมาซและการอ่านดุอาอ์ หรืออิบาดัตต่างๆ หากทำด้วยความไม่เข้าใจก็คงไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง คนที่รู้จักใช้ความคิดแม้เพียงเสี้ยวนาทีกลับได้ประโยชน์มากกว่า เพราะการใช้ความคิดคือการไม่ปิดกั้นตัวเองจากประตูแห่งความรู้

 

ในคัมภีร์อัลกุรอานได้ตอกย้ำในเรื่องการใช้สติปัญญาเอาไว้อย่างชัดเจน พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า“แท้จริงสัตว์ที่ชั่วร้ายยิ่ง ณ อัลลอฮ์นั้น คือ ที่หูหนวก ที่เป็นใบ้ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ใช้ปัญญา “ { ศึกษาซูเราะฮ์อันฟาน :22 } ซึ่งขยายความได้ว่า “แท้จริงสัตว์ที่เลวร้ายที่สุดคือสัตว์ประเภทที่หูหนวก(ไม่รับฟังสัจธรรม-ไม่อยากรับรู้อะไร) เป็นใบ้ (รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่ไม่พูด) และไม่ใช้สติปัญญาครุ่นคิดคือมีชีวิตอยู่ไปวันๆไม่อยากคิดเยอะ เราสังเกตได้ง่ายๆในวันนี้เวลาที่เราพูดถึงบุคคลที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ มีทรัพย์สินและมีบริวารมากมาย ณ.วันที่เขามีชีวิตอยู่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่ไม่เหลืออะไรเลย นอกเสียจากเรื่องเล่า แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความคิด ทุกวันนี้ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆยังมีการนำเอาตำราทางวิชาการของนักปราชญ์ที่เป็นที่รู้จักในอารยธรรมกรีก เช่น เพลโต - อริสโตเติ้ล ที่ผ่านมากว่าสองพันปีแล้ว มาเป็นตำราการศึกษาเป็นรากฐานก่อนที่จะเริ่มต่อยอดไปเรียนศาสตร์ในด้านอื่นๆ คติความคิดในทางศาสนาก็เช่นเดียวกันถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์พระเวทหรืออุปนิษัทของพราหมณ์/ฮินดู การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา แนวคิดของขงจื้อ ทั้งหมดนี้ต้องจะสื่อให้เห็นว่าการใช้ความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญและเปี่ยมล้นด้วยคุณค่า จนกลายเป็นมรดกความคิดของมนุษยชาติ การให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้และการใช้ความคิดและสติปัญญาในศาสนาอิสลามถูกตอกย้ำอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานในหลายบทด้วยกัน

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้สิ่งที่เป็นคุณค่าคือการใช้ความคิด การใช้สติปัญญา พระองค์ทรงสร้างเราขึ้นมาพร้อมกับมอบสติปัญญามาให้ ฉะนั้นควรใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด นอกเหนือจากที่เราคิดได้ในเรื่องเป้าหมายของชีวิต ค้นพบว่าชีวิตมีเป้าหมายที่แท้จริงซ่อนอยู่ และต้องขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า ก็ยังต้องคิดถึงผลร้ายของแรงปรารถด้านมืด คิดถึงผลร้ายของการเป็นเชลยของนัฟซู เห็นผลร้ายของผู้ที่ทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ ใช้ความคิดพิจารณาถึงบั้นปลายของผู้ที่พ่ายแพ้ต่อนัฟซู ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าคิดได้ ก็ย่อมช่วยให้เขารอดพ้นจากการถูกนัฟซูพาไปสู่ความตกต่ำ รอดพ้นจากการอยู่โดยไร้เป้าหมายและยังทำให้เขารอดพ้นจากความขาดทุนที่แท้จริงได้อีกด้วย


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม