การรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 6


การรู้จักศัตรู(นัฟซู) ตอนที่ 6

 

บันไดสามขั้นสู่การเผชิญหน้ากับนัฟซู

 

ถ้าเราต้องการที่จะยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูเช่นนัฟซู เราต้องใช้ปฏิบัติการ 7 ขั้นตอนที่เราจะใช้เป็นพื้นฐานในการต่อสู้กับนัฟซูศัตรูตัวฉกาจของเราได้ คือ


 1.ยักฆ์เซาะฮ์(การตื่นรู้)
2.ตะฟักกุร(การใช้ความคิด)
 3.อัซม์(การตั้งใจอย่างแน่วแน่)
 4.มุชาร่อเตาะฮ์(การตั้งเงื่อนไขกับตนเอง)
 5.มุรอก่อบะฮ์(การคอยระมัดระวัง)
 6.มุฮาซาบะฮ์(การตรวจทาน/การให้คะแนน)
 7.ตะซักกู้ร(การรำลึก)

 

 เราได้อธิบายไปแล้ว 3 หัวข้อในตอนก่อนหน้า ตอนนี้เราจะมากล่าวถึงอีก 3 ขั้นตอน ซึ่งบรรดานักปฏิบัติด้านจิตวิญญานและบรรดาอาริฟใช้ 3 ขั้นนี้ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน คือเน้นให้ต้องนำมาปฏิบัติทุกวันเพื่อเอามาคานกับแรงปรารถนาด้านมืดและอารมณ์ใฝ่ต่ำ คือตื่นรู้แล้ว ครุ่นคิดได้แล้ว ตั้งใจจะทำแล้ว (ผ่านการเตาบะฮ์สำนึกผิดแล้ว) ก็เริ่มลงสู่สนามปฏิบัติจริง (พร้อมออกเดินทาง)

 

4.มูชาร่อเตาะฮ์ - การตั้งเงื่อนไข คือการตั้งเงื่อนไขกับตัวเองในการทำกิจวัตรใดๆก็ตาม ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับตา เราจะใช้ศูนย์บัญชาการ(หัวใจ) ควบคุมกองทัพทั้ง 7 ของเรา(ตา หู ปาก มือ ท้อง เท้า อวัยวะเบื้องล่าง)ไม่ให้ทำผิดบาป การตั้งเงื่อนไขกับตนเอง เช่น ในวันนี้เราจะทำนมาซช่วงต้นของเวลา จะอ่านอัลกุรอานให้ได้หนึ่งยุซอ์ ไม่ทำผิดทำบาป การตั้งเงื่อนไขกับตัวเองคือการทำสัญญาระหว่างเรากับตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชีวิตคนเรามันช่างสั้นน้อยนิด แต่เรากลับคิดว่ามันยาวนาน เลยไม่ใส่ใจที่จะทำคุณประโยชน์หรือพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ดีงาม ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ขาดทุนเป็นอย่างมาก เพราะมนุษย์บนโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็จากไป ตั้งเท่าไหร่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ร่ำรวย คนที่สวยหล่อ มีอำนาจและมีทรัพย์สินมากมาย มาแล้วก็จากไปด้วยกันทั้งนั้น อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะหยุดเวลาไว้ได้แม้เพียงเศษเสี้ยวของวินาที และไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ ลองแวะไปเยี่ยมสุสานบ้างแล้วพิจารณาดูว่าแต่ละหลุมที่อยู่ต่อหน้านี้ ก่อนหน้านั้นก็มีชีวิตเหมือนกับเราแล้ววันนี้เขาเอาอะไรไปได้บ้าง {ศึกษา ซูเราะฮ์ อัลอัศร์ : 1 - 3 }"ขอสาบานกับกาลเวลา แท้จริงมนุษย์อยู่ในความขาดทุน..."

 

5.มูรอก่อบะฮ์ - การระมัดระวัง คอยดูแลสิ่งที่เราได้ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองไว้ ดูแลรักษาการกระทำของตัวเองให้ครบถ้วน และยังใช้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานในการช่วยควบคุมความประพฤติอีกชั้นนึง (ศึกษาซูเราะฮ์ อะลัก/14 )"เขาไม่รู้หรอกหรือว่าพระองค์อัลลอฮ์ทรงเห็น" ถ้าใครที่เชื่อศรัทธาเช่นนั้นจริงๆว่าพระองค์ทรงเห็นการกระทำของเราทุกขณะ จะมีใครที่บังอาจทำบาปต่อหน้าพระองค์ ฉะนั้นคนที่กล้าละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าก็เท่ากับว่า เขาไม่เห็นการมองดูอยู่ของพระองค์อยู่ในสายตาของเขา อิมามโคมัยนีได้กล่าวไว้ว่า "โลกอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของอัลลอฮ์ ดังนั้นจงอย่าละเมิดฝ่าฝืนต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์" ถ้าเราตระหนักอยู่เสมอและศรัทธาอย่างแท้จริง เราจะไม่ทำบาป

 

6.มูฮาซาบะฮ์ - การตรวจสอบ การให้คะแนนตัวเองก่อนที่เราจะนอน ตรวจสอบว่าในวันนี้สิ่งที่เราได้ตั้งเงี่อนไขไว้ เราทำสำเร็จตรงไหนแล้วบ้าง? เราผิดพลาดตรงไหน? เราหลุดอะไรไปตรงไหนบ้างหรือเปล่า? สายตาของเราพลาดไปมองอะไรที่เป็นบาปหรือไม่? หูได้ไปฟังอะไรที่ไม่ดีมาหรือเปล่า? ปากไปพูดอะไรไม่ดีออกไปหรือเปล่า? ถ้าไม่พลาดเลยก็ขอขอบคุณต่อพระองค์ เพราะการขอบคุณพระองค์จะเพิมพูลให้ (ศึกษาซูเราะฮ์อิบรอฮีม /7 )ถ้าหากเราพลาดก็ต้องขอเตาบะฮ์ แล้วเริ่มต้นกันใหม่ เริ่มฝึกไปทีละนิด เราควรเริ่มสำรวจตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะโดนตรวจสอบในวันกิยามัต เราควรเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะลมหายใจสุดท้ายจะหมดไปเมื่อไหร่ไม่รู้ ท่านศาสดาได้สอนไว้ว่า" ให้ตรวจสอบตัวเจ้าเองก่อนที่จะโดนตรวจสอบ"หรือคำสอนของอิมามมูซากาซิม(อ.)ที่กล่าวเตือนว่า “คนที่ไม่เคยตรวจสอบตัวเองในทุกๆวัน ไม่ได้มาจากเรา”

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมนุษย์โดยส่วนใหญ่มักชอบตรวจสอบคนอื่นมากกว่าตรวจสอบตัวเอง เรามักมองข้ามการตรวจสอบเรื่องของตนเองว่าเราผิดพลาดตรงไหน อะไรที่ประสบความสำเร็จ อะไรที่ต้องพยายามต่อ ถ้าหากผ่านไประดับขั้นนึงแล้วประสบความสำเร็จก็ต้องขอขอบคุณพระองค์ ถ้าคะแนนในแต่ละวันดีขึ้น เราก็ควรตั้งเงื่อนไขให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย เช่น เพิ่มการนมาซที่เป็นมุสตะฮับ นอกจากการนมาซที่เป็นวายิบ เพิ่มการอ่านอัลกุรอานและดุอาอ์ หรือเพิ่มการถือศิลอดมุสตะฮับ หากเงื่อนไขที่เราตั้งใจไว้ประสบความสำเร็จจะทำให้เราผ่านไปอีกระดับขั้น ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน และความเปลี่ยนแปลงนี้จะพาเราเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดคือความดีงามและความผาสุกที่แท้จริง


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เปรียบเสมือนเราได้ใบสั่งยา เมื่อเราได้รับการวินิจฉัยโรคแล้ว รู้อาการแล้ว รู้แล้วว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน แต่แค่ใบสั่งยาอย่างเดียวไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ ต้องไปซื้อยาแล้วนำมากิน เพื่อให้ได้ผลในการรักษา เปรียบได้กับการที่เราได้เรียนรู้เทคนิคและวิธีการในการต่อสู้กับศัตรู(นัฟซู)เพื่อมารักษาโรคทางจิตวิญญาน ซึ่งแค่เรียนรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องนำเอาเทคนิคและวิธีการนั้นมาปฏิบัติด้วยจึงจะเกิดผล ฉะนั้นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าแค่ใบสั่งยาไม่สามารถรักษาโรคได้ฉันใด เรียนรู้วิธีต่อสู้กับนัฟซูแต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ฉันนั้น...

 


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี