การรู้จักกับศัตรู(นัฟซู)ตอนที่ 7


การรู้จักกับศัตรู(นัฟซู)ตอนที่ 7

 

ต้องสำนึกและลงโทษตัวเองเมื่อพลาดพลั้งต่อนัฟซู!

 

นัฟซูคือศัตรูที่พาให้เราดำดิ่งสู่แรงปรารถนาด้านมืด การรับมือกับมันเราใช้วิธีปฏิบัติขั้นพื้นฐาน 7 ขั้นตอน ดังที่กล่าวไปแล้ว ในตอนที่แล้วเรากล่าวถึงขั้นตอนที่ 4-6 ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้รู้ด้านอิรฟานและอัคลาก ใช้วิถีปฏิบัติหลัก คือการตั้งเงื่อนไขกับตัวเอง การคอยระมัดระวัง และการตรวจสอบว่าสิ่งที่เราตั้งเงื่อนไขไปนั้น เราประสบความสำเร็จหรือไม่ หลังจากเราลองลงมือปฏิบัติแล้ว ตรวจสอบแล้วสิ่งที่ติดตามมา หากทำได้ไม่สมบูรณ์ เราต้องเข้าสู่ 2 กระบวนการแยกย่อย( มูอาตาบะฮ์ และ มูอาก่อบะฮ์ ) ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 7 ที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย

 

- มูอาตาบะฮ์ - คือการวิจารณ์ต่อว่าต่อขานตัวเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือประณามตัวเอง ในกรณีที่ว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ เราผิดพลาดตรงไหนและผิดพลาดได้อย่างไร ทำไมเรายังควบคุมกองทัพทั้ง 7 ยังไม่ได้ ทำไมตา หู ปาก ท้อง มือ เท้า อวัยวะเบื้องล่าง ยังไม่หลุดพ้นออกจากสิ่งที่เป็นบาป ความรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาจากสามัญสำนึก อย่างน้อยก็ยังทำให้เราได้รู้ว่า เรายังเหลือสามัญสำนึกในจิตใจ ถือว่านัฟซูด้านดีหรือนัฟซูลเลาวามะฮ์ยังคงทำงานและใช้การได้อยู่ การเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการวิจารณ์ การประณามและการต่อว่าต่อขานตัวเอง มีการกล่าวถึงไว้ในซูเราะฮ์กิยามะฮ์ โองการที่2 ถึงขั้นที่สาบานด้วยกับนัฟซูด้านดีนี้เลยทีเดียว ฉะนั้นนัฟซูลเลาวามะฮ์นี้เป็นนัฟซูที่อยู่เคียงข้างผู้ที่ศรัทธา

 

-มูอากอบะฮ์ - คือการลงโทษ เมื่อประณามและต่อว่าตัวเองแล้ว วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองแล้ว รู้แล้วตรงไหนมีจุดบกพร่องยังไง ต่อไปคือการลงโทษ คือแสดงความฝ่าฝืนกับความตัองการของนัฟซูด้านที่จะพาเราจมดิ่งไปสู่ความมืดบอด การลงโทษในที่นี้คือหากมันจะพาเราไปทางซ้ายเราต้องฝืนมันให้มาทางด้านขวา หากเราตั้งใจอ่านอัลกุรอานให้ได้สัก50โองการ ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ พรุ่งนี้ให้ลงโทษตัวเองโดยอ่านเพิ่มขึ้นเป็น 100 โองการ หรือถ้าวันนี้เราพลาดพลั้งในสิ่งที่เราตั้งเงื่อนไขไว้ พรุ่งนี้เราถือศิลอดมุสตะหับเลย คือลงโทษมันด้วยการกระทำที่ดีทดแทน คือ เราต้องลองสู้กับมัน เป็นคู่ชกที่ไม่โดนมันต่อยอย่างเดียว ต่อยมันกลับด้วย ต่อต้านมัน คือการฝืนกับมันไปเลย หากว่าเราตั้งใจแล้วทำไม่ได้ก็ฝืนกับมันไปเลย ซึ่งถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะใช้ซัดกับแรงปรารถนาด้านมืดของเรา

 

ในการศึกสงครามบะนี กุรอยเฎาะฮ์(เผ่าหนึ่งของยิว)อะบูลูบาบะฮ์ นายทหารของท่านศาสดา ได้ไปเอื้อประโยชน์เพียงเล็กน้อยให้กับพวกยิวซึ่งเป็นฝั่งตรงข้าม หลังจากนั้นเขาก็รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้กับศัตรูได้ล่วงรู้ หลังจากกลับจากการศึก เขาได้กลับมาเตาบะฮ์(ขออภัยต่อพระองค์) และไปที่มัสยิดของท่านร่อซูล โดยให้ลูกสาวผูกติดตัวเขาไว้กับเสา(ต่อมาเรียกว่าเสาแห่งการเตาบะฮ์) เพื่อลงโทษตัวเอง แล้วตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าถ้ายังไม่ได้รับการอภัยก็จะอยู่เช่นนั้น และถ้าได้รับการอภัยก็ขอให้ท่านร่อซูลเป็นคนแก้เชือก หลังจากนั้นอัลกุรอานประทานลงมาซึ่งพระองค์ให้อภัยกับเขา (ศึกษาซูเราะฮ์อันฟาล /27) ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพลาดพลั้งไปต้องลงโทษตัวเองบ้าง เพื่อให้มันหลาบจำ หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยในสายตาของเราเช่นการถกเถียงวิชาการในบทเรียนระดับสูงของท่านอายาตุลลอฮ์บูรูญิร์ดี ผู้นำชีอะฮ์ยุดก่อนอิมามโคมัยนี บางครั้งท่านใช้น้ำเสียงที่ดังกว่าลูกศิษย์เพื่อให้หยุดโต้เถียง ซึ่งจะเป็นที่ทราบดีว่าในวันรุ่งขึ้นท่านจะถือศีลอด เพื่อตอบโต้นัฟซูของท่าน นี่คือความละเอียดอ่อนในการสู้กับนัฟซู สั่งสอนมันด้วยการทำดีทดแทน

 

อิมามอาลี(อ.)ได้กล่าวสอนในเรื่องนี้ว่า “ใครที่ประณามนัฟซูของตัวเอง เขากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น “ หรือ "เมื่อนัฟซูบีบคั้นเจ้า ก็จงกดมันลงเพื่อให้มันสวามิภักดิ์ต่อเจ้า" สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เท่ากับเราเริ่มสนใจตัวเอง ตราบใดที่มนุษย์ยังใช้สามัญสำนึก มันก็ยังมีหนทางที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อยู่ เพราะยังมีสามัญสำนึกอยู่ ตราบใดที่ประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่ถูกปิดลง โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้เสมอ ถ้าปราศจากสามัญสำนึก นั่นหมายถึงหายนะ ชีวิตของคนคนนั้นเตรียมล่มสลายได้เลย เพราะมันจะไม่มีอะไรดึงรั้งเราไว้ได้อีกแล้ว เราจะไม่มีวันฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว คนที่รู้เช่นนี้แล้วยังไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนอะไรเรียกว่า”ใจบอด” เสียงเตือนคงดังไปไม่ถึงหัวใจ หากใครยังรู้สึกถึงสามัญสำนึกนั่นคือความเมตตาของพระองค์ที่มอบให้แก่เรา แต่ถ้ารู้แล้วไม่นำไปปฏิบัติมันจะกลายเป็นแค่ใบสั่งยา

 

การต่อสู้กับนัฟซูไม่ใช่แค่การต่อสู้กับบาปเพียงเท่านั้น แต่ยังคงใช้ได้กับพฤติกรรมประจำวันของเราที่มีต่อคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องภายในบ้าน การใส่ใจความรู้สึกของคนใกล้ตัว ตั้งแต่ พ่อแม่ ภรรยา/สามี ลูกๆหลานๆ การเอาเขามาใส่ใจเรา การถนอมน้ำใจ การควบคุมอารมณ์ การต่อสู้กับทุกสถานการณ์ที่จะพาเราไปสู่อารมณ์ด้านมืด เราควรจะเริ่มปรับเปลี่ยนจากตัวเราเอง ลดละคำพูดที่คอยทิ่มแทงและทำร้ายบุคคลอื่น เพราะมันไม่ได้หมายความว่าการเถียงได้สำเร็จคือชัยชนะ กลับกันมันคือความพ่ายแพ้ต่อกับทั้งตนเองและพ่ายแพ้ต่อผู้อื่นอีกด้วย และสิ่งที่จะช่วยต่อสู้กับนัฟซูได้เป็นอย่างดีคือการควบคุมกองทัพทั้ง7ของเราที่มีหัวใจเป็นศูนย์บัญชาการให้ละเว้นจากการทำบาปและการละเมิดฝ่าฝืนทั้งปวง ให้หัวใจเป็นของพระองค์อย่างแท้จริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่หัวใจเป็นของพระองค์ ทุกอย่างในชีวิตจะราบรื่น เราจะต่อสู้ได้กับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชัยฏอนและนัฟซู...


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี