การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 9

การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 9

 

สติปัญญากับนัฟซู มหากาพย์สงครามที่ไม่มีวันจบ

 

ในทุกๆสงครามจะมีผู้บัญชาการคอยสั่งการให้บรรดาเหล่าพลทหารออกไปปฏิบัติการต่อสู้กับข้าศึกในสมรภูมิเพื่อชัยชนะอยู่เสมอ ในสงครามใหญ่ที่เราต้องต่อสู้กับนัฟซูศัตรูภายในใจของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เช่นเดียวกัน ตามความหมายของนัฟซูในมุมกว้าง คือแรงปรารถนา ความต้องการ ความอยาก ที่อยู่ในจิตใจที่พร้อมจะปะทุออกมาด้วยกับการกระทำภายนอกผ่านกองทัพทั้งเจ็ด (ตา หู ปาก มือ เท้า ท้อง อวัยวะเบื้องล่าง) สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจต่อไปอีกคือ แล้วนัฟซูมันใช้พลังอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนกองทัพทั้งเจ็ดดังกล่าว ในการที่จะสำแดงออกมา ไม่ว่าในด้านบวกหรือในด้านลบ กองทัพทั้งเจ็ดจึงเปรียบเสมือนทหารแนวหน้าที่ผู้บัญชาการสั่งให้ออกไปรบก็ต้องไป เช่น ออกไปปกป้องมาตุภูมิซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่ถ้าออกไปยึดอำนาจเพื่อสนองผู้ปกครองที่อธรรมก็เป็นเรื่องที่น่าประณาม ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการว่าเป็นใคร กองทัพทั้งเจ็ดดังกล่าวถ้าอยูภายใต้การชี้นำจากสติปัญญาที่ดี ก็ย่อมทำในสิ่งที่ดีแต่ถ้าถูกครอบงำด้วยนัฟซูประเภทอัมมาเราะฮ์(ที่คอยสั่งไปสู่แรงปรารถนาด้านลบ) ก็ย่อมพาไปสู่ด้านมืดของมนุษย์

 

นักปราชญ์ระดับสูงในด้านอัคลาก(จริยศาสตร์) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า มนุษย์ยังมีพลังขับเคลื่อนด้านลึกภายในอีก 3.พลัง ที่สำแดงออกมาสู่ภายนอกในรูปแบบของการกระทำที่สามารถนำใช้ในมุมบวกหรือลบก็ได้ มันคือพลังที่ใช้เพื่อขับเคลื่อนกองทัพทั้งเจ็ดให้ออกไปปฏิบัติการ ไม่ว่าเป็นการกระทำในด้านลบหรือด้านบวก ซึ่งนำเสนอแบบคร่าวๆก่อนก็คือ

 

1. วาฮิมะฮ์ - หรือความรู้สึกนึกคิด เช่น ความรัก ความเกลียด อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้หากเรานำไปใช้ถูกที่ถูกทางมันจะเกิดคุณประโยชน์มากมาย แต่หากเรามุ่งใช้ในทางที่เลวร้าย ผลสะท้อนก็จะกลับเข้าสู่ตัวเราเอง

 

2. ชะฮ์วียะฮ์-หรือชะฮ์วัต หมายถึงความต้องการที่ใช้ตอบสนองร่างกายของเรา เช่น การกิน เรื่องเพศ - มนุษย์ที่หมกมุ่นในเรื่องของการกิน ต้องหาของที่ดีที่สุด ร้านที่อร่อยที่สุด ไกลแค่ไหนก็ไป แพงที่สุดหรือกินเพื่อการโอ้อวด กลายเป็นว่าเราเป็นทาสทางด้านความอยากกิน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรามุ่งไปสู่เรื่องของดุนยามากเสียจนเป็นอุปสรรคในการไปสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์ ซึ่งไม่ต่างไปจากในเรื่องของเพศ ตัณหาราคะถูกใช้ไปในทุกสังคม ทุกองค์กร มีการใช้เรื่องเพศเพื่อให้กลุ่มตนได้ประโยชน์ ตั้งแต่การใช้สายลับหรือนกต่อในแวดวงการเมืองตั้งแต่ระดับโลก ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น การใช้สรีระร่างกายของสตรีเพศเพื่อการโฆษณา มีบุรุษมากมายที่ก้าวพลาดพลั้งในชีวิตด้วยเรื่องสตรีเพศตั้งแต่กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต จนถึงบุรุษเพศชายทั่วไป มุมลบของความต้องการเหล่านี้สามารถพาเราดำดิ่งสู่ความมืดมนต่ำต้อยในชีวิต มีมนุษย์มากมายที่ติดอยู่กับเรื่องตัณหาราคะ และส่วนใหญ่ของการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระเจ้าก็มาจากเรื่องนี้ หากแต่เราก็ยังสามารถใช้มุมบวกของมันได้โดยการนิกะอ์แต่งงานให้ถูกต้องตามหลักการศาสนา และเราสามารถหาทิศทางชี้นำที่ถูกต้องในเรื่องของอารมณ์ทางเพศได้

 

3. ฆอซอบียะฮ์หรือ ฆอฎอบ( ความโกรธโมโห โทสะ) ศาสนาโดยส่วนใหญ่ได้กล่าวย้ำถึงแง่ลบของมัน ดังประโยคที่เคยได้ยินบ่อยครั้ง "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า" ซึ่งพลังแห่งโทสะ ความโกรธ และความโมโห เหล่านี้มันจะพาเราออกห่างจากความสงบมั่นในใจ เพราะมันพาเราออกนอกหนทาง มันจะพาเราไปสู่ความเป็นสัตว์ดุร้าย ดังที่เราจะได้เห็นในภาพข่าวการทำร้ายร่างกาย การใช้อาวุธในการเข่นฆ่ากัน บางเหตุการณ์ก็มาด้วยกับโทสะชั่ววูบเพียงชั่วขณะ แต่ถึงกับต้องติดคุกติดตะราง ในศาสนาอิสลาม มีมุมมองว่า การใช้โทสะนั้นเป็นกุญแจแห่งความชั่วร้ายทั้งมวลมีการแนะนำให้ใช้การวุฏูอ์ในการดับโทสะในเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังสามารถใช้โทสะในมุมบวกได้ คือการใช้อารมณ์โทสะในปกป้องเราจากศัตรู ปกป้องดินแดน ปกป้องประเทศและปกป้องศาสนา

 

ในศาสนาอิสลามไม่ได้ต่อต้านพลังเหล่านี้ หรือให้ควบคุมโดยดับมันทิ้งอย่างสิ้นเชิง แต่มีทางออกให้กับมัน พลังเหล่านี้มีอยู่ด้านในของมนุษย์ ย่อมต้องถูกนำมาใช้ แต่ต้องใช้อย่างมีขอบเขตจำกัดและอยู่ในบทบัญญัติของพระองค์ ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้อย่างอิสระเสรี อย่างเช่นในกรณีที่หิวก็ต้องหาอาหารกิน ไม่ใช่ใช้วิธีอดอาหารต่อสู้กับความต้องการ แต่ต้องกินอย่างพอเหมาะ ไม่ละเมิดสิ่งของๆผู้อื่น ความรู้สึกทางเพศก็เช่นกัน ต้องมีทางออก ไม่ใช่ใช้วิธีการดับ ในกรณีของโทสะก็เช่นเดียวกัน ต้องมีที่ใช้ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายที่จะกล่าวต่อไป

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบทนำที่ให้เรารับรู้ถึงพลังที่ซ่อนอยู่ภายในของเรา ซึ่งสามารถทำให้เราผาสุกได้ และสามารถให้ความวิบัติแก่เราได้เช่นกัน หรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งก็คือ พลังที่ซ่อนอยู่ภายในของเรานี้สามารถทำให้กองทหารทั้งเจ็ดของเราเป็นกองทหารแห่งพระเจ้าได้ แล้วก็ยังสามารถทำให้มันเป็นกองทัพของชัยฏอนมารร้ายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสติปัญญาหรือนัฟซู ผู้ใดเล่าเป็นผู้ควบคุมศูนย์บัญชาการของกองทัพนี้ ซึ่งรายละเอียดของมันจะกล่าวในคราวต่อไป...

 

เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี