การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 12


การรู้จักศัตรู (นัฟซู) ตอนที่ 12

 

บทสรุปของนัฟซู ศัตรูตัวฉกาจ

 

ในโลกแห่งธรรมะ ดังที่เราได้เคยกล่าวไปแล้ว ไม่ว่าในศาสนาใดก็ตาม มีการกล่าวถึงศัตรูที่ร้ายกาจ ศัตรูที่คอยขัดขวางมิให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายแห่งความผาสุกที่แท้จริง ซึ่งศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดก็คือความปรารถนาด้านมืดในตัวเรา เช่นในศาสนาพุทธ มีการกล่าวถึงเรื่อง ตัวกูของกู, การยึดติดและการยึดมั่นในตัวเอง ในศาสนาเชน ถึงกับต้องละทิ้งทุกสิ่งแม้แต่การสวมใส่อาภรณ์เพื่อให้หลุดพ้นต่อพันธนาการแห่งการยึดติดทั้งมวล กล่าวโดยรวมก็คือศาสนาทั้งหลายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมย่อมให้ความสำคัญในเรื่องการยับยั้งต่อนัฟซู แต่อาจมีรายละเอียดที่ต่างกัน ในศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับนัฟซูถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นการทำสงครามใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการสั่งสอนต่อเนื่องกันมาของบรรดาปวงปราชญ์จวบจนปัจจุบัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ที่สอนสั่งบรรดาศอฮาบะฮ์ให้ทำสงครามต่อสู้กับนัฟซู อีกทั้งยังสอดแทรกคำสอนในเรื่องนี้ไว้ในหลายวาระ เช่น เมื่อครั้งที่ท่านเดินผ่านเหล่าสาวกที่กำลังแข่งกันยกก้อนหิน โดยขอร้องให้ท่านเป็นกรรมการตัดสิน ในโอกาสนั้นเองท่านได้ถามพวกเขาว่าอยากรู้ไหมว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุด เหล่าสาวกจึงตอบกลับไปว่าพวกเขาอยากรู้ ท่านจึงกล่าวว่า"มนุษย์ผู้ที่กล้าหาญที่สุดก็คือ ผู้ที่ได้รับชัยชนะเหนือแรงปรารถนาของนัฟซู"

 

สงครามที่เราเห็นโดยทั่วไป มีรูปแบบที่ชัดเจนคือเราจะเห็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ปกป้องกับผู้รุกราน หากแม้นว่าใครเสียชีวิตลงในการทำสงครามถือเป็นการพลีชีพเพื่อชาติ เป็นเรื่องที่สมควรถูกยกย่องสรรเสริญ เพราะพวกเขาเหล่านั้นต้องทำการต่อสู้กับฝ่ายศัตรูที่ต้องการยึดครองประเทศ แต่ทว่าในสงครามใหญ่(สงครามกับนัฟซู) ศัตรูมิได้ต้องการยึดครองบ้านเมืองหรือประเทศชาติของเรา แต่มันต้องการจับให้เราเป็นเชลย ต้องการให้เราหันเหออกจากพระองค์ ต้องการทำลายดีนและความศรัทธาของเราที่มีต่อพระองค์ ที่สำคัญยิ่งก็คือศัตรูไม่เคยอ่อนข้อให้กับเรา มันมุ่งโจมตีเราจากทุกทิศทาง


และในทุกๆช่วงเวลา หากเราต้องการชนะมัน เราต้องอย่าประมาท ต้องระมัดระวังตนอยู่เสมอ ดังที่ท่านร่อซูลไดักล่าวเตือนไว้ว่า”นัฟซูของเราเอง คือ ศัตรูที่ร้ายที่สุด”

 

มีการตั้งคำถามว่าแล้วเราใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการที่จะแยกระหว่างการทำญิฮาดใหญ่และญิฮาดเล็ก ทั้งที่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องเหมือนกัน เราสามารถขยายความให้เห็นภาพได้ว่า ญิฮาดเล็กคือการต่อสู้ปกป้องศาสนาจากศัตรูภายนอกที่เข้ามารุกราน แต่ญิฮาดใหญ่คือการต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับด้านมืดและแรงปรารถนาภายในของตัวเอง ซึ่งในการต่อสู้กับศัตรูภายนอก บุคคลที่ทำการต่อสู้แล้วถูกสังหารในสมรภูมิรบเขาจะกลายเป็นชะฮีด เขาจะถูกยกย่องและชื่นชม ถือเป็นเกียรติยศอันสูงส่ง มีสถานภาพที่ยิ่งใหญ่ คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงสถานภาพของบรรดาชะฮีดว่า “และเจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์นั้นตาย หามิได้ พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ณ พระเจ้าของพวกเขาในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพ” (ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน/169) ในบางโองการพระองค์ตรัสว่า "และพวกเจ้าอย่ากล่าวแก่ผู้ที่ถูกฆ่าในหนทางของอัลลอฮ์ว่า พวกเขาตาย แต่ทว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ แต่พวกเจ้าไม่เข้าใจ"(ซูเราะฮ์บากอเราะฮ์/154)

 

แต่การต่อสู้กับนัฟซูมิได้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนกับการสู้กับศัตรูภายนอก เพราะมิได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำลายล้างกัน การจะทำสงครามชนะหรือแพ้อยู่ที่เราจะสามารถยับยั้งหัวใจของเราให้ต้านทานต่อแรงปรารถนาด้านมืดได้หรือไม่ เราจะสามารถใช้สติปัญญาในการควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำได้หรือไม่ เราต้องขอความเมตตาที่เฉพาะจากพระองค์เท่านั้น ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการยับยั้ง อัลกุรอานได้เล่าเรื่องของท่านนบียูซุฟ และได้นำคำพูดของท่านเมื่อได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่ต้องต่อสู้กับนัฟซูว่า"และฉันไม่อาจชำระจิตใจของฉันให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ แท้จริงนัฟซูได้สั่งให้ทำความชั่ว นอกจากที่องค์อภิบาลของฉันจะทรงเมตตา"(ซูเราะฮ์ยูซุฟ/53) ซึ่งบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าการต่อสู้กับนัฟซูด้วยตัวของเราเองเพียงลำพังนั้นมิเพียงพอ หากยังต้องได้รับความความช่วยเหลือและความเมตตาจากพระองค์ด้วยจึงจะเอามันอยู่ นบียูซูฟคือหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่ทำการต่อสู้กับนัฟซู ได้ดีที่สุด ในการควบคุมจิตใจตนเอง เมื่อภรรยาของเสนาบดีหลงใหลในรูปโฉมของท่านจนอยากมีความสัมพันธ์ด้วย แต่ท่านนบียูซูฟมิได้ทำการละเมิด แต่กลับวิงวอนขอความคุ้มครองจากพระองค์ เมื่อท่านไม่ยินยอมจึงถูกกล่าวหาว่าจะขืนใจภรรยาของเสนาบดีจนถูกจำคุกในที่สุด คือท่านก็ยอมที่จะถูกขังในคุกมากกว่าที่จะทำการละเมิดประเวณี “โอ้ ข้าแต่องค์อภิบาลของข้า คุกนั้นเป็นที่รักยิ่งแก่ข้ากว่าสิ่งที่พวกนางเรียกร้องข้าพระองค์ไปสู่มัน"(ซูเราะฮ์ยูซุฟ/33)

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดาย แต่เราสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับนัฟซูที่อยู่ภายในหรือชัยฏอนที่คอยก่อกวนเราอยู่ภายนอก หากเราเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วโลกนี้มิใช่โลกที่จีรังยั่งยืน มิใช่โลกที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ตลอดไป หากแต่เป็นเพียงแค่ทางผ่าน เป็นสนามทดสอบ เป็นแค่เรือกสวนไร่นาที่ให้เราเก็บสะสมเสบียงเพื่อเดินทางไปสู่โลกหน้า เปรียบเหมือนสะพานข้ามทาง ซึ่งคงไม่มีใครสร้างบ้านที่ถาวรบนสะพาน ฉะนั้นเราจึงอย่าเอาใจไปผูกติดอยู่กับมัน เมื่อสุดท้ายแล้วเราทุกคนต้องพบเจอกับความตาย ไม่มีใครอยู่รอดไปตลอดบนโลกนี้แม้แต่เพียงคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่หรือคนยากจนที่ไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือเราต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอสำหรับการเดินทาง ซึ่งการรำลึกถึงความตายจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการยับยั้งนัฟซู

 

กล่าวได้ว่าในบทเรียนเกี่ยวกับนัฟซู สามารถสรุปแบบสั้นๆได้ว่า หากเราต้องการที่พบเจอกับความผาสุกอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เราต้องรู้จักที่จะควบคุมนัฟซูที่อยู่ในตัวเราให้ได้ เราต้องรู้จักควบคุมมันให้สยบยอมต่อเรา ให้เสมือนกับการฝึกและควบคุมสัตว์ดุร้ายให้มันเชื่อง และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ดุร้าย ตามสัญชาติญานดั้งเดิมของมันทำให้เราไม่สามารถไว้วางใจมันได้ตลอด นั่นหมายความว่าเราควรมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ต้องอย่าประมาท ต้องอย่าหลุดออกจากกรอบในการระมัดระวังตน และให้ระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ซึ่งหวังว่าด้วยความเมตตาของพระองค์จะช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำสงครามอันศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยเถิด

 


เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ


บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี