ชีวประวัติท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ (ซ) โดยสังเขป

 

ชีวประวัติท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ (ซ) โดยสังเขป

 


ชื่อของท่านหญิง คือ “ฟาติมะฮ์” และฉายานามที่เป็นที่รู้จักของท่านหญิงคือ “มะอ์ซูมะฮ์” บิดาของท่านคือท่านอิมามมูซากาซิม (อ) อิมามท่านที่เจ็ดของมุสลิมชีอะฮ์อิมามียะฮ์ มารดาของท่านหญิงมีนามว่า “นัจญมะฮ์ คอตูน” ซึ่งเป็นภรรยาผู้ทรงเกียรติของท่านอิมามท่านที่เจ็ดนั่นเอง ท่านหญิงคือน้องสาวของท่านอิมามริฎอ (อ) อิมามท่านที่แปดของมุสลิมชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมแม่เดียวกัน


 
ท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ ถือกำเนิดในวันที่หนึ่งของเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 173 ในนครมะดีนะฮ์ ซึ่งหลังจากท่านหญิงถือกำเนิดได้ไม่นานท่านหญิงก็ต้องสูญเสียบิดาของท่านไปในวัยไม่กี่ขวบ ซึ่งบิดาของท่านถูกทำชะฮาดัต (ถูกฆ่าในหนทางของพระองค์) ระหว่างการถูกจองจำในคุกของฮารูน เมืองแบกแดกประเทศอิรัก ต่อจากนั้นท่านหญิงก็ได้อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูจากพี่ชายของท่าน ก็คือท่านอิมามอะลีริฎอ (อ)

 

ในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 200 ผู้ปกครองมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาซีย์ ได้บังคับท่านอิมามริฎอ (อ) ให้เดินทางไปยังเมืองมัรว์ ซึ่งท่านอิมามริฎอ (อ) ก็มุ่งหน้าสูแคว้นโคราซาน และไม่อนุญาตให้คนในครอบครัวของท่านเดินทางร่วมไปกับท่านแม้แต่คนเดียว

 

หนึ่งปีหลังจากนั้นท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) มีความคิดถึงต่อพี่ชายสุดที่รักของท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านหญิงต้องการพบกับพี่ชายของท่าน ท่านหญิงประสงค์ที่จะออกประกาศสาส์นของท่านหญิงซัยนับ (อ) สาส์นแห่งวิลายัต ท่านหญิงจึงออกเดินทางร่วมกับญาติๆ ผู้ชายอีกไม่กี่คนยังเมืองโคราซาน ซึ่งตลอดทางที่ท่านหญิงได้เดินทางผ่านก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างอบอุ่นทุกพื้นที่

 

และท่านหญิงก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศสาส์นแห่งการถูกกดขี่ของพี่ชายของท่านต่อประชาชนผู้ศรัทธาเหล่านั้น ท่านหญิงได้ประกาศความชั่วร้ายของราชวงศ์อับบาสีย์ที่พวกเขาได้กระทำต่อลูกหลานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) เฉกเช่นการป่าวประกาศสาส์นของท่านหญิงซัยนับ (อ) ผู้เป็นย่าของท่านหญิงเช่นเดียวกัน

 

ด้วยการประกาศสัจธรรมนั้นเอง เมื่อท่านหญิงได้เดินทางมาถึงยังเมือง ซาเวะฮ์ ก็ได้มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสมุนของผู้ปกครองมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาซีย์ ผู้ตั้งตนเป็นศัตรูกับลูกหลานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้ขัดขวางการเดินทางท่านหญิง และเกิดการปะทะกันระหว่างบรรดาสมุนของมะอ์มูน และเหล่าชายชาตรีที่ร่วมเดินทางมากับท่านหญิงทันที

 

สุดท้ายกำลังของคนเพียงไม่กี่คน บวกความเหน็ดเหนี่อยกับการเดินทางมาหลายวัน ทำให้เหล่าชายชาตรีทีเดินทางมากับท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ถูกสังหารทั้งหมด และได้รับฐานะการพลีชีวิตในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ในรายงานบันทึกว่าในวันนั้นท่านหญิงถูกสมุนรับใช้พวกนั้นวางยาพิษ

 

และต่อมายาพิษก็เริ่มออกฤทธิ์ จนส่งผลให้ท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ได้ล้มป่วยลงในเวลาต่อมา และเมื่อท่านหญิงเห็นว่าท่านคงไม่มีความสามารถที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองโคราซานได้อีกแล้ว ท่านจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่เมืองกุมทันที ท่านหญิงได้ถามจากประชาชนที่นั่นว่า “จากที่นี่ (ซาเวะฮ์) ไปยังเมืองกุมมีระยะทางอีกเท่าไหร่?” ประชาชนก็ได้ตอบแก่ท่านหญิง และท่านหญิงจึงขอร้องให้พาท่านไปยังเมืองกุม เนื่องจากฉันเคยได้ยินจากบิดาของฉัน อิมามมูซากาซิม (อ) ได้กล่าวว่า “เมืองกุมคือศูนย์กลางแห่งชีอะฮ์ของเรา”

 

บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองกุม พอทราบข่าวการเดินทางมายังเมืองกุมของท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ต่างก็ดีใจออกมาให้การต้อนรับท่านหญิงกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะ “มูซา บิน คัซรัจญ์ บิน ซะอ์ อัลอัชอะรีย์” ได้จับสายคล้องคออูฐที่ท่านหญิงประทับไว้บนบ่าของท่านและจูงเข้าไปในเมืองกุม โดยมีประชาชนมาห้อมล้อมอย่างมากมายด้วยความดีใจ

 

ในวันนั้นตามรายงานบันทึกว่า เป็นวันที่ 23 รอบิอุลเอาวั้ล ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 201 อูฐของท่านหญิงได้เดินไปตามตามถนนเข้าสู่เมืองกุม และอูฐตัวนั้นก็ได้ย่อเขาลงในสถานที่หนึ่ง (วงเวียนมีร ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน้าบ้านของ มูซา บินคัซรัจญ์ นั่นหมายความว่านางจะมาเป็นแขกของเขา

 

ท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกุมเป็นเวลา 17 วัน ซึ่งเป็น 17 วันที่ท่านหญิงได้ปฎิบัติอิบาดะฮ์อย่างมากมายต่อพระผู้เป็นเจ้า และสถานที่ซึ่งท่านหญิงได้ใช้ในการปฎิบัติอิบาดะฮ์ในวันนั้น วันนี้ถูกขนานนามว่า “บัยตุลนูร” ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่บรรดาชีอะฮ์ได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อเป็นบารอกัต (สิริมงคล) ในวันนี้

 

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 รอบีอุษษานี ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 201 ท่านหญิงก็ได้หวนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า ประชาชนชาวเมืองกุมทั้งหมดต่างโศรกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของท่านเป็นยิ่งนัก พวกเขาได้ทำการฝังร่างของท่านหญิงไว้ในสถานที่หนึ่งซึ่งมีนามว่า “บอฆบาบิลาน” ซึ่งเป็นสถานที่ฝังที่อยู่ในปัจจุบันนี้

 

ขณะที่หลุมเพื่อขุดไว้สำหรับฝังร่างของท่านหญิงเตรียมพร้อมแล้ว ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ใครจะเป็นคนนำร่างอันไร้วิญญาณของท่านหญิงลงหลุมได้ ในรายงานได้บันทึกว่าทันใดนั้นเอง ก็มีบุคคลสองคนสวมหน้ากากได้ควบม้ามายังสถานที่นั้นจากด้านกิบลัต (ด้านที่ผินหน้าไปขณะปฎิบัตินมาซ) ด้วยความเร็ว เมื่อมาถึงหนึ่งในสองคนนั้นก็ได้เริ่มนมาซญะนาซะฮ์ และอีกคนก็ได้นำร่างอันไร้วิญญาณของท่านหญิงลงฝังในหลุมทันที และบุคคลลึกลับสองคนดังกล่าว เมื่อพิธีการฝังเสร็จสิ้น ยังไม่มีใครได้สอบถามอะไร พวกเขาทั้งสองก็ได้ควบม้าหายไปจากสถานที่นั้นในทันที

 

บรรดานักวิชาการ บรรดาอุลามาอ์ผู้อาวุโส ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า บุคคลทั้งสองคือ อิมามอะลีริฎอ (อ) และอิมามญะวาด (อ) ผู้เป็นตัวแทนแห่งพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นภิภพนี้ เนื่องจากว่าคราใดก็ตามที่มีการทำพิธีฝังร่างของบรรดาลูกหลานท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ก็จะต้องมีบรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์ร่วมอยู่ด้วยเสมอ

 


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ ahlulbaytonline