ท่านหญิงซัยนับ ผู้เปิดโปงความชั่วของบนีอุมัยยะฮ์

 

ท่านหญิงซัยนับ ผู้เปิดโปงความชั่วของบนีอุมัยยะฮ์

 

บทบาทของสตรีในโลกอิสลาม

 

สตรีที่สั่นคลอนบัลลังก์คอลิฟะฮ์แห่งจักรวรรดิอิสลาม

 

สตรีที่เปลี่ยนหยาดน้ำตาให้เป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม

 

 

ภายหลังวันอาชูรอ หลังการสังหารหมู่ กองทัพของยะซีดได้นำขบวนของลูกหลานศาสดาเดินทางไปยังเมืองกูฟะฮ์ท่ามกลางความหวาดกลัวและความอิดโรยจากการถูกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กน้อยและเหล่าสตรี ที่ต้องเดินทางไปพร้อมกับศีรษะของบุรุษผู้เป็นที่รัก ทั้งลูกชาย หลานชาย บรรดาญาติพี่น้อง ท่ามกลางสภาพอากาศบนท้องทะเลทรายที่ร้อนระอุ ขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร ในความยากลำบากนี้ ท่านหญิงซัยนับคือผู้นำคอยเป็นกำลังใจและปลอบประโลมเด็กๆ บรรดาเชลยทุกคนให้มีขวัญกำลังใจตลอดการเดินทาง

 

แม้การมาถึงยังเมืองกูฟะฮ์ ท่านหญิงซัยนับจะถูกดูถูกเหยียดหยามจากอิบนุ ซิยาดเจ้าเมืองกูฟะฮ์ด้วยการนำศีรษะท่านฮุเซนมาหยอกล้อเล่นต่อหน้าท่านหญิงเพื่อให้ท่านหญิงแสดงความทุกข์ใจออกมา แต่ท่านหญิงตอบกลับไปอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวว่า “ฉันไม่เห็นอื่นใดเลยนอกเสียจากความสวยงาม” และในช่วงเวลาที่ท่านอยู่ในกูฟะฮ์ ท่านหญิงแสดงออกถึงความมีเกียรติในความเป็นลูกหลานศาสดาและบอกเล่าเหตุการณ์ที่พบเจอมาให้กับชาวเมืองกูฟะฮ์ได้รับรู้ จนชาวเมืองกูฟะฮ์รู้สึกสำนึกผิดที่เขียนจดหมายเชิญให้อิมามฮุเซนมาเป็นผู้นำ จนนำไปสู่การถูกสังหารบนแผ่นดินกัรบาลา เมื่อรับรู้ถึงความอัปยศที่ได้เกิดขึ้นชาวเมืองกูฟะฮ์ประมาณ 4,000 คนจึงก่อตั้งเป็น”ขบวนการเตาวาบีน”(1)เพื่อล้างแค้นคืนให้กับอิมามฮุเซน

 

แม้แต่การมาถึงยังเมืองชาม เมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามในขณะนั้น ยะซีดได้สั่งประดับประดาเมืองหลวงอย่างสวยงามและมีพิธีแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้สังหารอิมามฮุเซน เมื่อท่านหญิงซัยนับและบรรดาเชลยถูกพาไปยังท้องพระโรง ยะซีดได้ใช้ไม้เขี่ยศีรษะและริมฝีปากของอิมามฮุเซนเล่น และกล่าวคำพูดเย้ยหยันต่อบรรดาลูกหลานศาสดา ท่านหญิงซัยนับจึงกล่าวโต้ตอบยะซีดไปอย่างเด็ดเดี่ยวโดยยกโองการในคัมภีร์อัลกุรอานว่า “ เจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าที่เราประวิงเวลาให้แก่พวกเจ้านั้นเป็นการดีแก่ตัวของพวกเจ้า แท้จริงที่เราประวิงเวลาให้แก่พวกเจ้านั้นก็เพื่อให้พวกเจัาได้เพิ่มพูนบาปกรรมเท่านั้น และสำหรับพวกเจ้านั่นคือการลงโทษอันต่ำช้า และเจ้าจงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าบรรดาผู้ที่ถูกฆ่าในทางของพระผู้เป็นเจ้านั้นตายลง หามิได้พวกเขายังมีชีวิตอยู่กับพระเจ้าของพวกเขาในสภาพที่ได้รับปัจจัยยังชีพที่สมบูรณ์ “ คำกล่าวของท่านหญิงสร้างความอับอายแก่ยะซีดเป็นอย่างมาก

 

แม้ภายหลังเมื่อท่านหญิงซัยนับถูกส่งกลับไปมะดีนะฮ์แล้วก็ตาม การบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมในกัรบาลาของท่านหญิงยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนในเมืองมะดีนะฮ์เริ่มได้รับข้อมูลอีกด้านที่ถูกปกปิดบิดเบือนมาตลอด และเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆมากยิ่งขึ้น เรื่องราวจึงถูกเล่าขานต่อๆกันไปทั่วเมือง จนในที่สุดยะซีดต้องนำท่านหญิงกลับไปอยู่ที่เมืองชามและเสียชีวิตลงที่นั่น แต่อิทธิพลจากการบอกเล่าเรื่องราวในโศกนาฏกรรมกัรบาลานี่เองทำให้ภายหลังชาวเมืองมะดีนะฮ์ทำการแข็งเมือง ต่อต้านอำนาจของยะซีด จนถูกนำกำลังมาปราบปรามในเวลาต่อมา

 

ชีวิตของสตรีนางหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับชาติตระกูลที่สูงส่ง เป็นหลานสาวของศาสดา เป็นลูกสาว น้องสาวของคอลิฟะฮ์แห่งอาณาจักรอิสลาม เมื่อชีวิตได้พบเจอกับโศกนาฏกรรมที่หนักหนาสาหัส ต้องสูญเสียพี่ชาย บุตรชาย หลานชาย ไปในเหตุการณ์เดียวกัน หลังจากนั้นยังได้พบเจอกับการดูถูกเหยียดหยาม การทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ แต่สตรีผู้นี้มิเคยละทิ้งการทำหน้าที่ส่งสาส์นต่อจากผู้เป็นพี่ชาย

 

สตรีผู้นี้คือสตรีที่มีชัยชนะเหนือการเมือง สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม และทัศนคติของผู้คนในทั้งสามเมืองใหญ่ คือ กูฟะฮ์ มะดีนะฮ์ และเมืองชาม ภายหลังจากเหตุการณ์ในกัรบาลา เรื่องราวของอิมามฮุเซนที่ถูกบอกเล่าผ่านบรรดาอะลุลบัยต์ และเหล่าผู้ศรัทธา ทำให้มีการจัดตั้งขบวนการต่อสู้กับผู้ปกครองตามเมืองต่างๆขึ้นอย่างมากมาย ถือเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ล่มสลายลงในเวลาต่อมา

 

ในประวัติศาสตร์อิสลามมิใช่แต่บุรุษที่ทำหน้าที่และมีบทบาทในการปกป้องศาสนา หากแต่สตรีก็มีหน้าที่และบทบาทไม่แพ้กัน หากแต่หน้าที่ของบุรุษและสตรีอาจจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ความสามารถและโอกาส เมื่อเรามีแบบอย่างอย่างท่านหญิงซัยนับ ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารสะดวกสบายเช่นนี้จึงไม่เป็นการยากเลยที่เราจะทำหน้าที่ส่งต่อสาส์นแบบที่ท่านหญิงทำ !

 

“ ถ้าจะตายให้ตายอย่างมีเกียรติแบบฮุเซน ถ้าจะอยู่ให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแบบซัยนับ “

 

“If dying, would die with honor like Husain. “If stay, live with prestige like Zainab.”

 

ส่วนขยาย

 

1.ขบวนการเตาวาบีน เกิดขึ้นจากการสำนึกผิดของชาวกูฟะฮ์ ที่ก่อนหน้านี้ชาวกูฟะฮ์ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเชิญอิมามฮุเซนให้มาเป็นผู้นำ จนเป็นเหตุให้อิมามถูกสังหารในแห่นดินกัรบาลา แต่สุดท้ายขบวนการนี้ก็ถูกปราบปรามจนหมดสิ้น

 

บทความโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ