เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทยูนูส โองการที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทยูนูส โองการที่ 2

 


อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงการเป็นศาสดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และคำใส่ร้ายของผู้เป็นปรปักษ์ที่ใส่ร้ายท่าน อัลกุรอาน กล่าวว่า

 

أَكَانَ لِلنَّاسِ عَجَباً أَنْ أَوْحَيْنَا إِلَى‏ رَجُلٍ مِنْهُمْ أَنْ أَنذِرِ النَّاسَ وَبَشِّرِ الَّذِينَ آمَنُوا أَنَّ لَهُمْ قَدَمَ صِدْقٍ عِنْدَ رَبِّهِمْ قَالَ الْكَافِرُونَ إِنَّ هذَا لَسَاحِرٌ مُبِينٌ‏

 

คำแปล :

 

 2. เป็นที่อัศจรรย์แก่มนุษย์หรือการที่เราได้ให้วะฮีย์แก่ชายคนหนึ่งจากพวกเขา ให้เตือนสำทับมวลมนุษย์และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า แท้จริงสำหรับเขาทั้งหลายนั้นจะได้รับตำแหน่งอันสูง ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา บรรดาพวกปฏิเสธกล่าวว่า แท้จริง ชายคนนี้เป็นมายากลอย่างแน่นอน

 

คำอธิบาย :

 

1. บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าได้ท้วงติงหลายต่อหลายครั้งว่า ทำไมวะฮฺยูของพระเจ้าจึงได้ถูกประทานแก่มนุษย์ แล้วเป็นเพราะเหตุใดที่มลาอิกะฮฺจึงไม่มาเป็นศาสดาเสียเอง

 

โองการข้างต้นได้ใช้คำว่า มินฮุม เท่ากับได้ตอบข้อสงสัยของชนเหล่านั้น กล่าวคือ การที่ให้ผู้นำหรือศาสดามาจากพวกเจ้า ก็เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของพวกเจ้า และความเจ็บปวดต่างๆ ซึ่งไม่มีความประหลาดใจแต่อย่างใด แน่นอน ถ้าส่งศาสดาลงมาแต่ไม่ได้มาจากพวกเจ้าตรงนี้ย่อมมีความประหลาดใจเกิดขึ้น

 

2. ส่วนการกล่าวถึงคำว่า “เกาะดะมะซิดกิน” มีคำอธิบายอยู่ 3 ทัศนะด้วยกัน กล่าวคือ

 

ทัศนะแรก กล่าวว่าหมายถึง ความศรัทธา ซึ่งเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ตามความเป็นจริงแล้วบรรดาผู้ศรัทธาได้มีอาวุธสำคัญคือ ความศรัทธา  ซึ่งได้เน้นย้ำถึงธรรมชาติดั้งเดิมของความเป็นมนุษย์เอาไว้[1]

 

ทัศนะที่สองกล่าวว่าหมายถึง ตำแหน่งและฐานันดรของมวลผู้ศรัทธา ณ พระผู้อภิบาลในวันปรโลก

 

ทัศนะที่สาม กล่าวว่าพระเจ้าได้ประทานผู้นำผู้ซื่อสัตย์แก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

แน่นอน ไม่มีอุปสรรคอันใดถ้าจะกล่าวว่าทั้งสามทัศนะนั้นถูกต้อง

 

3. รายงานบางบทกล่าวว่าจุดประสงค์ของคำว่า “เกาะดะมะซิดกิน” หมายถึง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หรือวิลายะฮฺของท่านอิมามอะลี (อ.)[2]

 

แน่นอน รายงานเหล่านี้ได้อธิบายให้เห็นถึงภาพที่แท้จริงอันเป็นจุดประสงค์ของโองการ

 

4. บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ได้ดูถูกเหยียดหยามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ต่างๆ นานา แม้กระทั่งใส่ร้ายท่านว่า เป็นมายากล

 

เนื่องจากพวกเขาได้เผชิญคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่เปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์ และบทบัญญัติทีบรรเจิดยิ่ง แต่ไม่สามารถเป็นคำตอบแก่พวกเขาได้ พวกเขาได้เรียกท่านว่า นักมายากล เพื่อมาตบตาพวกเขาให้หลงกล

 

5. บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้เน้นย้ำถึงเรื่อง การใส่ร้ายว่าท่านศาสดาว่าเป็นนักมายากล แสดงให้เห็นว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ปฏิบัติภารกิจที่เหนือธรรมชาติ และโองการต่างๆมีความดึงดูดใจอันเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)  มาจากหมู่พวกท่าน ดังนั้น ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่พวกท่านทั้งหลายรู้จักกันเป็นอย่างดี

 

2. หน้าที่ของผู้นำแห่งพระเจ้าคือ การตักเตือนบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและกระทำบาปทั้งหลาย และการให้รางวัลแก่บรรดาผู้ศรัทธา

 

3. บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่มีเหตุผลแต่อย่างใด ทว่าเมื่อเผชิญหน้ากับผู้นำแห่งพระเจ้าพวกเขาจะใช้วิธีใส่ร้าย และดื้อรั้นยืนกรานการปฏิเสธของพวกเขา


เชิงอรรถ


1.บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 24 หน้าที่ 40, 41


2.ตัฟซีรบูรฮาน เล่มที่ 2 หน้าที่ 177 ตัฟซีร กุรฎูบีย์ เล่มที่ 5 หน้าที่ 3145 กาฟีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 422 เล่มที่ 8 หน้าที่ 364 สำนักพิมพ์ ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม