เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 3 บทยูนุส

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน โองการที่ 3 บทยูนุส

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวแนะนำพระเจ้าและขั้นตอนการสร้างท้องฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน อัลกุรอาน กล่าวว่า

 

إِنَّ رَبَّكُمُ اللّهُ الَّذِي خَلَقَ السَّماوَاتِ وَالْأَرْضَ فِي سِتَّةِ أَيَّامٍ ثُمَّ اسْتَوَى‏ عَلَى الْعَرْشِ يُدَبِّرُ الأَمْرَ مَا مِن شَفِيعٍ إِلَّا مِنْ بَعْدِ إِذْنِهِ ذلِكُمُ اللّهُ رَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ أَفَلا تَذَكَّرُونَ‏

 

คำแปล :

 

3. แท้จริงพระผู้อภิบาลของสูเจ้าคือ อัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินใน 6 วาระ แล้วพระองค์ทรงมั่นอยู่บนบัลลังก์ ทรงบริหารกิจการ ไม่มีผู้ใดให้ความอนุเคราะห์ได้ เว้นแต่ต้องได้รับอนุมัติจากพระองค์ นั่นคืออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลของสูเจ้า ดังนั้น จงเคารพภักดีต่อพระองค์เถิด สูเจ้ายังมิได้ใคร่ครวญอีกหรือ

 

คำอธิบาย :

 

การรู้จักพระเจ้าและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ

 

อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงเรื่องวุฮฺยูและสภาวะการเป็นศาสดาในโองการแรกของบทนี้ไปแล้ว ลำดับต่อไปจะกล่าวถึงหลักอันเป็นแก่นสำคัญ 2 ประการ ซึ่งเป็นคำสอนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย กล่าวคือ เรื่องพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรค์ และวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ซึ่งโองการข้างต้นและโองการถัดไปได้กล่าวอธิบายไว้อย่างสวยหรู ด้วยประโยคสั้นๆ

 

1. คำว่า เยาม์ ตามหลักภาษาหมายถึง วัน แต่บางครั้งคำๆ นี้ให้ความหมายว่าหมายถึง วาระ กล่าวคือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานในระยะหนึ่ง อาจจะเป็นวาระหนึ่ง หรือวันหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ความหมายของโองการก็คือ “อัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินใน 6 วาระ”

 

2. คำว่า อัรช์ หมายถึง เตียง หรือบัลลังก์ หรือสิ่งที่มีหลังคา และบางครั้งก็หมายถึง เตียงที่มีขาสูง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึง อำนาจ

 

ดังที่กล่าวแล้วว่า บุคคลหนึ่งได้นั่งอยู่บนบัลลังก์ ขณะที่เป็นไปได้ว่าเขาอาจนั่งอยู่บนบัลลังก์จริง ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงอำนาจในการดูแลจัดการ

 

คำๆ นี้เมื่อใช้กับพระเจ้าก็ให้ความหมายในลักษณะของการเปรียบเทียบอีกเช่นกัน กล่าวคือ พระเจ้าทรงมีอำนาจบริหารจักรวาลอยู่ในพระหัตถ์

 

3. คำว่า ยุดับบิร มาจากรากศัพท์ของคำว่า ตัดบีร รากเดิมคือ ดะบะเราะ หมายถึง ด้านหลัง ข้างหลัง หรือเบื้องหลังของสิ่งหนึ่ง

 

ด้วยเหตุนี้ ตัดบีร หมายถึง การพิสูจน์หรือการวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังของภารกิจหนึ่ง การทดสอบความถูกต้อง และปฏิบัติไปตามแผนการนั้น ดังนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า พระผู้ทรงสร้างสรรค์คือ อัลลอฮฺ พระผู้ทรงบริหารโลกและจักรวาล หรืออำนาจบริหารทั้งหมดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ทำให้รู้ว่า บรรดาเทวรูปทั้งหลาย หรือรูปปั้นที่ไร้จิตวิญญาณ ไร้ความสามารถและไม่มีศักยภาพอันใด จึงไม่ได้มีบทบาทอันใดต่อชะตาชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้น ในประโยคต่อมาพระองค์จึงตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดให้ความอนุเคราะห์ได้ เว้นแต่ต้องได้รับอนุมัติจากพระองค์”

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. จงรู้จักพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด ซึ่งการรู้จักนั่นเองที่เป็นบันไดก้าวไปสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์

 

2. ในพระหัตถ์ของผู้บริหารกิจการแทนพระองค์นั้นมีการช่วยเหลือ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากพระองค์

 

3. มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วเขารู้จักพระผู้อภิบาลของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอีก

 

ที่มา เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม