เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 12-15

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 12-15

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงข้ออ้างต่างๆ ของบรรดาผู้ปฏิเสธ และกล่าวถึงอุปสรรคของท่านศาสดา มุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) โองการกล่าวว่า

12. فَلَعَلَّكَ تَارِكُ بَعْضَ مَا يُوحَى‏ إِلَيْكَ وَضَائِقُ بِهِ صَدْرُكَ أَن يَقُولُوا لَوْلَا أُنْزِلَ عَلَيْهِ كَنْزٌ أَوْ جَاءَ مَعَهُ مَلَكٌ إِنَّمَا أَنتَ نَذيرٌ وَاللَّهُ عَلَى‏ كُلِّ شَيْ‏ءٍ وَكِيلٌ‏

คำแปล :

12. บางทีเจ้าจะละทิ้งบางส่วนที่ถูกวะฮียฺแก่เจ้า และหัวอกของเจ้าจะอึดอัดต่อสิ่งนั้น เนื่องจากพวกเขากล่าวว่า ไฉนเล่าขุมทรัพย์จึงไม่ถูกส่งลงมา หรือมีมะลักลงมาพร้อมกับเขา อันที่จริงเจ้าเป็นเพียงผู้ตักเตือนเท่านั้น และอัลลอฮฺ ทรงเป็นผู้พิทักษ์ทุกสิ่ง

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

มีรายงานว่าชนชั้นผู้นำของเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธชาวมักกะฮฺ ได้มาหาท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และกล่าวว่า ถ้าหากท่านพูดจริงว่า ท่านเป็นศาสดามาจากพระเจ้า จงเสกภูเขาในเมืองมักกะฮฺให้กลายเป็นทองคำสำหรับพวกเราซิ หรือนำเอาบรรดามลาอิกะฮฺลงมายืนยันการเป็นนบีของท่านแก่พวกเราซิ โองการข้างต้นจึงถูกประทานลงมา

บางรายงานกล่าวว่า โองการข้างต้นได้ถูกประทานลงมาตามคำวิงวอนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เกี่ยวกับการแต่งตั้งให้ลูกผู้พี่ของท่านคือ อะลี บุตรของอบูฏอลิบ (อ.) เป็นตัวแทนของท่าน ซึ่งคำวิงวอนของท่านได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทำให้บรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลายต่างหาข้ออ้างต่างๆ นานา และพาลไปว่าเพราะเหตุใด้ท่านศาสดาจึงไม่นำเอามวลมลักและขุมทรัพย์มาด้วย[1]

แน่นอนว่า ไม่เกินความจริงเลยที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหลาย หรือบางทีอาจเป็นไปได้เช่นกันว่า โองการได้ถูกประทานลงมาเนื่องจากความเหมาะสมในหลายวาระด้วยกัน

คำอธิบาย :

1. ความต้องการของบรรดาผู้ตั้งภาคีทั้งหลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างและเป็นความดื้อรั้น มิใช่ความต้องการที่เกิดจากใจที่ต้องการเห็นปาฏิหาริย์จากท่านศาสดา เพื่อว่าเขาจะได้ค้นหาความจริงต่อไป แน่นอน มาตรว่าปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้นจริงพวกเขาก็จะไม่ยอมรับความจริงอยู่ดี ซึ่งสามารถเข้าใจและใช้ประโยชน์ได้จากโองการที่กล่าวคล้ายกับโองการนี้ เช่น กุรอานบทอัลอิสรอ โองการที่ 90-93 ได้กล่าวว่า พวกเขาได้วิงวอนขอปาฏิหาริย์เพื่อจะได้เป็นบันไดในการยอมรับความจริง ทั้งที่ความจริงพวกเขามิได้มีความคิดเช่นนั้นแม้แต่น้อย

2. คำว่า ละอัลละ (หวังว่า) โดยทั่วไปจะถูกใช้เพื่อเผยความหวัง เพื่อกระทำการบางอย่าง แต่ว่าความหมายข้างเคียงที่จำเป็นในที่นี้คือ การห้ามมิให้กระทำ หมายถึงการกล่าวว่า บางที่สูเจ้าอาจจะละทิ้งโองการบางโองการ (นั่นคือเจ้าจะต้องไม่กระทำเช่นนั้นเด็ดขาด หรือจะต้องไม่กระทำอย่างเด็ดขาด)

3. ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากบาปและความผิดทั้งปวง ท่านปฏิบัติตามวะฮฺยู (วิวรณ์) ด้วยความเคร่งครัด และประกาศสิ่งนั้นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา แต่บางครั้งช่วงเวลาของการประกาศอาจจะกว้างและมองดูว่านาน ซึ่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะพิจารณาที่ความเหมาะสมของสังคม ด้วยเหตุนี้ บางที่ท่านปล่อยเวลาให้ล่าออกไป ดังเช่นเรื่องราวของเฆาะดีรคุมที่เกิดขึ้นนั่นเอง

โองการข้างต้นประหนึ่งว่าได้สนับสนุนท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ในแง่ของจิตวิทยา เพื่อว่าท่านจะได้ไม่ปล่อยให้ข้ออ้างของบรรดามุชริกทั้งหลายแพ่งพรายเข้ามาในจิตใจของท่าน ท่านจึงได้รีบประกาศวะฮฺยูออกไป

บทเรียนจากโองการ :

1. บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าได้รับการสนับสนุนด้านจิตวิทยาอย่างเต็มที่ เพื่อว่าจะได้ยืนหยัดอย่างสง่าผ่าเผยต่อหน้าคำกล่าวอ้างของบรรดาผู้ตั้งภาคีและบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย

2. บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ได้กลั่นแกล้งบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าด้วยข้อกล่าวหาและข้ออ้างต่างๆ ท่านจงเตรียมพร้อมเนื่องจากท่านก็จะประสบเช่นเดียวกัน

3. การท้าทายและเรียกร้องการต่อสู้ และสิ่งที่คล้ายคลึงกันเป็นวัตถุประสงค์ของอัลกุรอาน

อัลกุรอาน โองการที่ 13 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้ท้าทายบรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์ให้นำสิ่งที่คล้ายเหมือนกับอัลกุรอานมาแสดง โองการล่าวว่า

13. أَمْ يَقُولُونَ افْتَرَاهُ قُلْ فَأْتُوا بِعَشْرِ سُوَرٍ مِثْلِهِ مُفْتَرَيَاتٍ وَادْعُوا مَنِ اسْتَطَعْتُم مِن دُونِ اللَّهِ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ‏

คำแปล :

13.หรือพวกเขากล่าวว่า "เขาได้ปลอมแปลงอัลกุรอานขึ้นมา" จงกล่าวเถิด ดังนั้น จงนำมาสักสิบซูเราะฮฺ เยี่ยงนี้ที่ถูกปลอมแปลงขึ้น และจงเรียกผู้ที่มีความสามารถในหมู่พวกท่านอื่นจากอัลลอฮฺ (ให้มาช่วย) ถ้าพวกท่านสัตย์จริง

คำอธิบาย :

1.อัลกุรอานคือสิ่งปาฏิหาริย์อันอมตะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ในแง่ของวาทศาสตร์ และโวหารกล่าวคือ มีความไพเราะและดึงดูดใจมีความเข้าใจที่ชัดเจน ถ้าในแง่ของสาระแล้วมีความสูงส่ง อีกทั้งมีกฎเกณฑ์มีความเป็นระเบียบ และยังได้บ่งชี้ถึงหลักวิชาการในศาสตร์ต่างๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับกาลเวลาในสมัยนั้นแล้ว อัลกุรอาน มิได้มาจากน้ำมือของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากอัลกุรอานปราศจากความขัดแย้งกัน ในแง่นี้จึงถือว่าอัลกุรอานเป็นปาฏิหาริย์พิเศษ[2]

2. นับเป็นระยะเวลาล่วงเลยผ่านไปแล้วเกินกว่า 14 ศตวรรษ อัลกุรอานได้กล่าวท้าท้ายประชาคมโลกให้ประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานขึ้นมาสัก 10 บท (ซูเราะฮฺ) แต่จวบจนถึงปัจจุบันบรรดาผู้ที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ก็ยังไร้ความสามารถไม่อาจกระทำได้ พวกเขาพร้อมที่จะลงทุนก่อสงครามการสู้รบด้านกำลัง หรือการโฆษณาต่างๆ แต่ไม่พร้อมที่จะต่อสู้กับอัลกุรอาน หรือแม้แต่ในบางครั้งพวกเขาได้ลงมือกระทำแล้ว แต่ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่สุด ได้รับความอับอายต่อหน้าประชาคมโลกทั้งหลาย

3.อัลกุรอานได้ท้าทายบรรดาผู้เป็นปรปักษ์ให้นำสิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานมา ดังปรากฏในบทอัลอิสรอ โองการที่ 88 บางครั้งท้าให้นำมาสัก 10 บทที่คล้ายกับอัลกุรอาน ดังโองการที่กำลังวิพากษ์อยู่ขณะนี้ บางครั้งท้าให้นำมาสักหนึ่งบท ดังกล่าวไว้ในบทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 23

ความแตกต่างและการลดจำนวนคำท้าทายจากมากให้น้อยลง แสดงให้เห็นถึงความไร้สามารถของกลุ่มชนผู้เป็นปรปักษ์ หรืออาจเป็นเพราะว่าคำที่อัลกุรอานใช้อาจให้ความหมายว่า ทั้งหมด หรือ บางส่วน ทำนองเดียวกันคำว่า ซูเราะฮฺ นั้นหมายว่า โองการกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเพียงซูเราะฮฺหรือบทที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม

4. บรรดาผู้ปฏิเสธส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่มีเหตุผล พวกเขาจึงใส่ร้ายท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ต่างๆ นานา หรือแม้แต่ใส่ร้ายว่าท่านศาสดาได้ประดิษฐ์อัลกุรอานขึ้นมา ขณะที่พวกเขาไม่มีความสามารถประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานแม้เพียงบทเดียวก็ตาม

บทเรียนจากโองการ :

1. อัลกุรอาน เป็นปาฎิหาริย์อมตะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกนี้จะนำสิ่งที่คล้ายเหมือนกับอัลกุรอานขึ้นมาได้

2.จงเชิญบรรดาศัตรูของอิสลามให้เป็นคู่ต่อสู้อัลกุรอาน เพื่อว่าการไร้ความสามารถ และสัจธรรมของอัลกุรอานจะได้ประจักษ์ชัดขึ้นมา  

การเรียกร้องให้เป็นคู่ต่อสู้ของอัลกุราอนและปาฏิหาริย์

1.ระดับของการเป็นคู่ต่อสู้กับอัลกุรอาน

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงการเป็นปาฏิหาริย์ของอัลกุรอานคือ การท้าทายให้มาต่อสู้กับอัลกุรอานตลอดระยะเวลา 14 ศตวรรษทีผ่านมา อัลกุรอานได้ท้าทายมาโดยตลอดแต่ยังไม่มีบุคคลใดสามารถกระทำได้

ผู้เป็นปรปักษ์กับอัลกุรอานจำนวนมากมายทั้งที่เป็นชาวอาหรับ และไม่ใช่ชาวอาหรับ แต่พวกเขาก็ไร้ความสามารถในการนำสิ่งที่คล้ายเหมือนกับอัลกุรอานมาแสดง และทุกครั้งที่พวกเขาคิดจะแสดงความสามารถ ก็ไร้ความสามารถทุกครั้งอัลกุรอานได้ท้าทายว่า

- ถ้าหากเจ้าพูดจริง จงนำคำพูดที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานมา (บทฏูร 34, บทอิสรออฺ 88)

- ถ้าหากเจ้าพูดจริง จงนำสิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานมาสัก 10 บท (ฮูด 13)

- ถ้าหากเจ้าพูดจริง  จงนำสิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานมาสัก 1 บท (ยูนุส 38, บะเกาะเราะฮฺ 23)

สิ่งที่น่าสนใจคือ อัลกุรอานได้กล่าวท้าทายคู่ต่อสู้ให้นำสิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานมา ถ้าทำไม่ได้ก็จงนำมาสัก 10 บท แต่ถ้าทำไม่ได้อีกก็ให้นำมาสักบทเดียวก็ได้ บ่งบอกให้เห็นว่ามนุษย์เป็นผู้ไร้ความสามารถอย่างแท้จริง

2. แนวคิดด้านปาฏิหาริย์ของอัลกุรอาน

อัลกุรอานเป็นปาฏิหาริย์ในหลายมิติสำหรับคนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือทุกคนสามารถใช้วิชาการและความเชี่ยวชาญของตนศึกษามิติที่เป็นปาฏิหาริย์ของอัลกุรอาน เช่น นักอักษรศาสตร์สามารถใช้วาทศาสตร์พิสูจน์วาทศาสตร์ของอัลกุรอานได้ หรือนักนิติบัญญัติสามารถพิสูจน์บทบัญญัติที่สูงส่งและชาญฉลาดยิ่งของอัลกุรอานได้ ขณะเดียวกันนักสังคมวิทยา หรือนักมนุษย์ศาสตร์สามารถใช้ความรอบรู้ของตนพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอานได้เช่นกัน กล่าวคือ

- ด้านวาทศาสตร์ของอัลกุรอาน จะเห็นว่าอัลกุรอานได้กล่าวด้วยสำนวนและโวหารที่สูงส่งยากที่จะหาที่เปรียบเปรย

- บทบัญญัติของอัลกุรอานสูงส่งไร้ข้อบกพร่องและคำตำหนิติเตียน

- ปาฏิหาริย์ด้านวิชาการ (ซึ่งจะกล่าวอธิบายแยกต่างหากใน บทลุกมาน โองการที่ 10)

- โวหารและสำนวนที่ไพเราะด้านจิตวิญญาณของอัลกุรอาน

- ความเป็นระเบียบที่มีความพิเศษยิ่งของอัลกุรอาน

- วิชาการอันสูงส่งของพระเจ้าที่ปรากฏในอัลกุรอาน ซึ่งถูกอธิบายโดยบุคคลที่อ่านไม่เป็นเขียนไม่ได้

- เหตุผลอันยอดเยี่ยมของอัลกุรอาน

- ข่าวคราวความเร้นลักต่างๆ ทั้งในอดีตทีผ่านมา และในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

- ความมั่นคงในคำอธิบายและการแสดงออกของอัลกุรอาน โดยปราศจากความขัดแย้ง

- การสร้างการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงสังคม

อัลกุรอาน โองการที่ 14 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงความปราชัยของเหล่าบรรดาผู้เป็นปรปักษ์กับอัลกุรอาน ขณะเดียวกันก็ได้พิสูจน์ความสัจจริงของอัลกุรอานไปในตัวด้วย โองการกล่าวว่า

14. فَإِلَّمْ يَسْتَجِيبُوا لَكُمْ فَاعْلَمُوا أَنَّمَا أُنزِلَ بِعِلمِ اللَّهِ وَأَن لَا إِلهَ إِلَّا هُوَ فَهَلْ أَنتُم مُسْلِمُونَ‏

คำแปล :

 14 หากพวกเขาไม่ตอบรับการเรียกร้องของสูเจ้า จงรู้เถิดว่า อัลกุรอานถูกประทานลงมาด้วยความรู้แห่งอัลลอฮฺ และไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ฉะนั้น สูเจ้ายังไม่สวามิภักดิ์อีกหรือ

คำอธิบาย :

1. นักอรรถาธิบายส่วนใหญ่กล่าวว่า กลุ่มชนที่อัลกุรอานกล่าวถึงคือ บรรดามุสลิม หรือผู้แสดงตนเป็นปรปักษ์ และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย กล่าวคือถ้าหากบรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์ไม่สามารถตอบมุสลิมได้ แสดงให้เห็นถึงความสัจจริงของอัลกุรอาน อีกด้านหนึ่งถ้าหากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่สามารถสนองตอบการเป็นคู่ต่อสู้ หรือแสดงตนเป็นปรปักษ์กับอัลกุรอานได้ ก็เป็นเหตุผลที่บ่งบอกให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของอัลกุรอานอีกเช่นกัน

2. ปาฏิหาริย์ของอัลกุรอาน บ่งบอกให้เห็นถึงบทสรุปทางความเชื่อ 2 ประการ กล่าวคือ

2.1 พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัตย์จริงและการที่อัลกุรอานเป็นพจนารถของอัลลอฮฺ (ซบ.) เนื่องจากว่าตราบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีบุคคลใดสามารถประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานขึ้นมาได้

2.2 พิสูจน์ความเป็นเอกะของพระเจ้า เนื่องจากถ้ามีพระเจ้าอื่นใดอีกนอกจากอัลลอฮฺแล้ว เขาต้องช่วยเหลือเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาแน่นอน เพื่อว่าจะได้สามารถประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนกับอัลกุรอานขึ้นมาได้

บทเรียนจากโองการ :

1.การไร้ความสามารถของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลายในการนำสิ่งที่คล้ายเหมือนกับอัลกุรอาน เป็นเหตุผลที่บ่งบอกให้เห็นว่าอัลกุรอานเป็นพระดำรัสของพระเจ้าจริง

2. แหล่งที่มาของอัลกุรอานคือ วิชาการและความรู้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด

3. ปาฏิหาริย์ของอัลกุรอาน คือ หนทางที่นำไปสู่การนอบน้อมต่อพระเจ้า

อัลกุรอาน โองการที่ 15 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงผลสรุปในภารกิจการงานของผู้ที่ลุ่มหลงโลก โองการกล่าวว่า

15. مَن كَانَ يُرِيدُ الْحَيَاةَ الدُّنْيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيْهِمْ أَعْمَالَهُمْ فِيهَا وَهُمْ فِيهَا لَا يُبْخَسُونَ‏

คำแปล :

15. ผู้ใดปรารถนาชีวิต (เลวร้าย) บนโลกนี้และความบรรเจิดของโลก เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วน ซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้ และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในโลกนี้แต่อย่างใด

คำอธิบาย :

1.โองการนี้ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงแบบฉบับและหลักการของพระเจ้าที่ว่า ผลแห่งการงานที่ดีของมนุษย์จะไม่ถูกทำลายเด็ดขาด ถ้าหากวัตถุประสงค์ของเขาคือวัตถุปัจจัย เขาก็จะได้รับผลตอบแทนเฉพาะบนโลกนี้เท่านั้น แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของเขาคือพระเจ้าแล้วละก็ เขาจะได้รับประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

2.การที่อัลกุรอานใช้คำว่า ซีนัต ในโองการข้างต้นต้องการบ่งชี้ให้เห็นถึงการแสวงหาผลประโยชน์ และปัจจัยบนโลกนี้ไม่มีอุปสรรคปัญหาแต่อย่างใด แต่สำหรับความหลงใหลในปัจจัยทางโลก และการแสวงหาความสุขชนิดเลยเถิดย่อมได้รับการประณามหยามเหยียด เนื่องจากความประพฤติเช่นนั้นจะทำให้มนุษย์ออกห่างจากปรโลก

3. การกล่าวโดยใช้คำว่า อิรอดะฮฺ ของโองการข้างต้นหมายถึง ถ้าหากบุคคลใดนำเอาโลกเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตน เขาก็จะออกห่างจากมโนธรรม คุณธรรม และปรโลกหน้า แต่สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเป็นไปตามธรรมชาติถือว่าไม่เป็นไร เนื่องจากโลกนี้คือปฐมบทสำหรับโลกหน้า

4.ถ้าบุคคลใดบนโลกนี้ประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือรับใช้ด้านวิชาการแก่สังคมและมนุษย์ชาติ แต่วัตถุประสงค์ที่กระทำมิใช่การมุ่งหวังความใกล้ชิด หรือความพึงพอพระทัยของพระเจ้า พระองค์จะทรงตอบแทนคุณาประโยชน์ด้านวัตถุในการงานเหล่านั้น ไปตามสภาพแก่เขาบนโลกนี้ เช่น บางครั้งเขาอาจได้รับคำชมเชยและเสียงยกย่องจากสังคมจนเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม แต่ทว่าการกระทำเหล่านี้มิได้มีประโยชน์อันใดในปรโลกแม้แต่นิดเดียว

5.โองการข้างต้นเน้นย้ำว่าผลรางวัลของกลุ่มชนที่ลุ่มหลงโลกจะได้รับรับการตอบแทนอย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าในวันปรโลกพวกเขามิมีสิ่งใดผูกพันกับอัลลอฮฺ (ซบ.) อีกต่อไป

บทเรียนจากโองการ :

1. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนรางวัลแก่กลุ่มชนผู้บูชาโลกอย่างครบสมบูรณ์ แต่พวกจะถูกกีดกันผลรางวัลทุกประการในปรโลก

2. อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนผลรางวัลไปตามเป้าหมายของงานนั้นๆ

3. รางวัลของแต่ละบุคคลจะได้รับการตอบแทนสมบูรณ์ (แม้ว่าจะไม่มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ก็ตาม)

 

อ้างอิง

[1]มัจญฺมะอุล บะยาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว , บิฮารุลอันวาร เล่ม 9 หน้า 103,104

[2]อัลกุรอานบทบะเกาะเราะฮฺ โองการ 23-24

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม