เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 21-24

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 21-24

 

อัลกุรอาน ทั้งสองโองการนี้กล่าวถึงความเสียหายและการขาดทุนของบรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย โองการกล่าวว่า

21 و22. أُولئِكَ الَّذِينَ خَسِرُوا أَنفُسَهُمْ وَضَلَّ عَنْهُم مَا كَانُوا يَفْتَرُونَ* لَا جَرَمَ أَنَّهُمْ فِي الآخِرَةِ هُمُ الأَخْسَرُونَ‏

คำแปล :

21. ชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาขาดทุน และสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นก็ได้เตลิดไปจากพวกเขา

22. โดยไม่ต้องสงสัย พวกเขาในปรโลก พวกเขาเป็นผู้ขาดทุนยิ่ง

คำอธิบาย :

ผู้ขาดทุนที่สุดในหมู่ประชาชน

1.ความขาดทุนที่ได้ตกมาถึงมนุษย์นั้น บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สิน บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องบุตรหลานและครอบครัว แต่ความขาดทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ความขาดทุนและการสูญเสียด้านจิตวิญญาณ เนื่องจากมนุษย์ได้ปล่อยให้ทุนมนุษย์สูญเสียหรือหลุดลอยมือไป จนกลายเป็นผู้ล้มละลาย และเขาต้องรับผิดชอบในหน้าที่นั้นอย่างเต็มสมบูรณ์โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่สุดตัวเองก็ต้องถูกลงโทษในไฟนรก เนื่องจากผู้อธรรมทั้งหลายบนหน้าแผ่นดินล้วนเป็นผู้ขาดทุนทั้งสิ้น และในวันปรโลกพวกเขาคือผู้ที่ขาดทุนที่สุดในหมู่ประชาชน

2. วัฒนธรรมของอัลกุรอานกล่าวว่า โลกนี้เปรียบเสมือนตลาดซึ่งมีประชาชนเป็นผู้ขาย ส่วนชีวิต ทรัพย์สิน และการงานของมนุษย์คือสินค้าที่วางขายในตลาด ดังนั้น มนุษย์สามารถขายสินค้าของตนเองกับพระเจ้าด้วยราคาแห่งสวรรค์ อันเป็นราคาพิเศษที่ได้รับผลกำไรมาก หรืออาจขายสินค้าของตนให้คนอื่นด้วยราคาถูกเป็นพิเศษ และตนต้องแบกรับความขาดทุนและความเสียหาย

3.ความขาดทุนที่แท้จริงและจัดว่าเป็นความเสียหายที่สุดในหน้าที่การงานคือ ความเสียหายที่เกิดกับอายุขัยและชีวิตของมนุษย์ ซึ่งไม่อาจตอบแทนได้อย่างแน่นอน

4. คำพูดที่ไม่ถูกต้องและเทพเจ้าจอมปลอมทั้งหลายมีภาพปรากฏภายนอก แต่ไม่มีสิ่งใดเป็นความสัจจริงสิ่งเหล่านั้นจึงเตลิดไปจากพวกเขาจนหมดสิ้น

5. ในกลุ่มโองการทั้ง 5 โองการนี้ (จากโองการที่ 18-22) ของบทฮูดนี้ ได้กล่าวถึงคุณลักษณะ 11 ประการอันเป็นคุณลักษณะพิเศษสำหรับบรรดาผู้อธรรมและผู้มุสาทั้งหลาย ซึ่งประกอบด้วยการสาปแช่งของพระเจ้าที่มีต่อพวกเขา พวกเขาปิดกั้นแนวทางของอัลลอฮฺ, ส่วนใหญ่ของพวกเขาชอบปรากฏและแสดงตน, ปฏิเสธคนอื่นทั้งหมด,ไม่สามารถหลีกหนีการลงโทษของพระเจ้าไปได้, จะไม่พบผู้ช่วยเหลือคนใดทั้งสิ้น,ไม่สามารถรับฟังคำพูดที่สัจจริงและไม่สามารถมองความจริงได้, พวกเขาก่อความเสียหายให้แก่ตัวเอง, ทุกสิ่งที่เขาสั่งสมไว้จะอันตรธานหายไปสิ้น,และในวันปรโลกเขาคือผู้ที่ขาดทุนมากที่สุด

บทเรียนจากโองการ :

1. จงอย่าทำคนเป็นผู้อธรรมเด็ดขาด เพราะเท่ากับได้สร้างความเสียหายแก่ตนเอง

2. เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการลงโทษอันแสนสาหัสย่อมเกิดขึ้นกับผู้อธรรมมากที่สุด        

อัลกุรอาน โองการที่ 23 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคุณสมบัติต่างๆ ของบรรดาผู้ศรัทธาและรางวัลของพวกเขา โองการกล่าววว่า

23. إِنَّ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَأَخْبَتُوا إِلَى‏ رَبِّهِمْ أُولئِكَ أَصْحَابُ الْجَنَّةِ هُمْ فِيهَا خَالِدُونَ‏

คำแปล :

23. แท้จริงบรรดาผู้มีศรัทธาและประกอบการดีทั้งหลาย ได้ถ่อมตนเองต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา ชนเหล่านั้นคือชาวสวรรค์ ซึ่งพวกเขาพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป

คำอธิบาย :

1.โองการนี้ได้อธิบายถึง 3 คุณสมบัติสำคัญได้แก่ ความศรัทธา (อีมาน) การกระทำความดี และการถ่อมตนว่าเป็นความเจริญผาสุกสำหรับมนุษย์ ที่อยู่ต่อหน้ากลุ่มชนที่อธรรมข่มเหงซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ขาดมากที่สุด

2. ผลของความศรัทธาคือ การทำความดี การนอบน้อมถ่อมตน การยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า และมีความเชื่อมั่นในสัญญาต่างๆ ของพระองค์ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากความศรัทธาและการปฏิบัติความดี เนื่องจากความศรัทธาที่ถูกต้องและการกระทำที่บริสุทธิ์ก็คือ แหล่งที่มาของคุณลักษณะอันสูงส่งในขณะที่ตนยังมีอายุขัยอยู่

3.อัลกุรอานได้ใช้วิธีเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอบรมสั่งสอน ซึ่งในโองการข้างต้นนี้ได้นำเอาผู้อธรรมที่มุสามาเปรียบเทียบกับผู้ศรัทธาที่แท้จริง อีกทั้งได้นำเอาความขาดทุนของพวกเขา มาเปรียบเทียบกับผลรางวัลของมวลผู้ศรัทธา เพื่อให้สิ่งนี้เป็นบทชี้นำทางสำหรับปวงผู้มีสติต่อไป

4.ประโยคที่กว่าว่า (أَخْبَتُوا) มาจากรากศัพท์คำว่า อิคบาตะ หมายถึง พื้นดินที่ราบเรียบแต่กว้างใหญ่ ซึ่งมนุษย์สามารถก้าวเดินไปบนพื้นดินนั้นได้อย่างมั่นใจ ด้วยเหตุนี้ บางครั้งคำๆ จึงให้ความหมายว่า มั่นใจ หรือบางครั้งหมายถึง สมาธิและการนอบน้อมถ่อมตน หรือยอมจำนน เนื่องจากแผ่นดินดังกล่าวนั้นให้ความมั่นใจขณะก้าวเดินไปบนนั้น อีกทั้งยังสร้างสมาธิเมื่ออยู่ต่อหน้าบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย

ดังนั้น ประโยคที่กล่าวว่า พวกเขาได้ถ่อมตนต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา บางที่อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงหนึ่งใน 3 ประการต่อไปนี้ หรืออาจเป็นทั้งสามประการก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด ได้แก่

1.มวลผู้ศรัทธาที่แท้จริงคือผู้นอบน้อมถ่อมตน ณ องค์พระผู้อภิบาล

2. พวกเขาเป็นผู้ยอมจำนนต่อพระบัญชาของพระองค์

3.พวกเขามีความเชื่อมั่นในสัญญาของพระองค์

บทเรียนจากโองการ :

1.ปวงมนุษย์ผู้ศรัทธาทั้งหลายเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี และยอมจำนนต่อพระเจ้า พวกเขาคือชาวสวรรค์

2. ปวงผู้ศรัทธาที่ประกอบคุณงามความดีด้วยการนอบน้อมถ่อมตนเขาจะขับเคลื่อนไปสู่องค์พระผู้อภิบาลของเขา

อัลกุรอาน โองการที่ 24 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ ได้เปรียบเทียบผู้ศรัทธาที่แท้จริงกับผู้อธรรมที่มุสา ด้วยการยกตัวอย่างประกอบที่มีความเหมาะสมยิ่ง โองการกล่าวว่า

24. مَثَلُ الْفَرِيقَيْنِ كَالْأَعْمَى‏ وَالْأَصَمِّ وَالْبَصيرِ وَالسَّمِيعِ هَلْ يَسْتَوِيَانِ مَثَلًا أَفَلَا تَذَكَّرُونَ‏

คำแปล :

24. อุปมาของทั้งสองฝ่ายนี้ อุปมัยดั่งเช่นคนตาบอดและหูหนวก กับคนมองเห็นและคนได้ยิน อุปมาทั้งสองนี้จะเท่าเทียมกันหรือ เมื่อเปรียบเทียบ สูเจ้าไม่ได้ไตร่ตรองดอกหรือ

คำอธิบาย :

1. การเปรียบเทียบสติปัญญาเข้ากับความรู้สึก เป็นวิธีการหนึ่งสำหรับการบรรยายเรื่องราวที่ง่ายดาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสำหับประชาชนโดยทั่วไป อัลกุรอานได้เลือกใช้วิธีการนี้ทำให้ความจริงที่สำคัญและความรู้สึกได้ประจักษ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับการอบรมสั่งสอนมนุษย์ อัลกุรอานด้เลือกใช้วิธีเปรียบเทียบและถามตอบ

2. โองการที่ 23 ของบทนี้ได้กล่าวอธิบายไปแล้วว่า ผู้อธรรมที่มุสาและผู้ปฏิเสธศรัทธา ไม่สามารถฟังความจริงได้ และยังไม่อาจมองความถูกต้องได้ ซึ่งโองการข้างต้นได้อุปมาพวกเขาว่า เป็นคนตาบอดและหูหนวก ซึ่งไม่อาจรับรู้ความจริงที่อยู่รายรอบตัวเองได้

3. โองการนี้ได้อุปมาผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่าคล้ายเหมือนกับคนตาดีและได้ยิน ซึ่งพวกเขาได้เปิดหูเปิดตาของตนเอง จึงมองเห็นทุกการเคลื่อนไหว และได้ยินทุกคำพูด อีกทั้งสามารถรับรู้ความจริงได้เป็นอย่างดี พวกเขาจึงโน้มนำตนเองไปสู่ความเจริญผาสุกแห่งปรโลกหน้า

4. การอุปมาดั่งคนตาบอดและหูหนวกประหนึ่งเป็นการดูหมิ่นคนพวกนั้นอย่างรุนแรง ว่าเป็นพวกหัวใจมืดบอดที่ไม่มีความดีงามแต่อย่างใด และนี่เป็นตัวอย่างที่รู้จักกันโดยทั่วไป ทำนองเดียวกันกี่มากน้อยแล้วที่คนตาบอดจริงแต่สติปัญญาและหัวใจของเขากับเปิดสว่างด้วยพลังแห่งความศรัทธา ซึ่งตรงกันข้ามกับคนตาดีและหูไม่หนวกแต่จิตใจของเขากับบอดสนิทมองไม่เห็นและไม่ได้ยินความจริงอันใดทั้งสิ้น

ดังนั้น เกณฑ์ที่เป็นมาตรวัดความดีของมนุษย์ว่าดีกว่าคนอื่นไม่ใช่การมองเห็น หรือได้ยินภายนอกเท่านั้น ทว่าขึ้นอยู่กับการรับรู้ความจริง การรู้จัก ความศรัทธาและการกระทำความดี

บทเรียนจากโองการ :

1.บรรดาผู้อธรรมทั้งหลายอุปมาดั่งคนตาบอดมองไม่เห็นและคนหูหนวกที่ไม่ได้ยิน ส่วนผู้ศรัทธาอุปมาดั่งผู้ที่ได้ยินและมองเห็นตลอดเวลา ซึ่งพวกเขารับรู้ความจริงเสมอ

2. จงนำเอาอุปมาของอัลกุรอานไปเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตตนเถิด

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม