เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 25-29

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 25-29

 

อัลกุรอาน ทั้งสองโองการนี้ได้กล่าวอธิบายถึงสาส์นและโปรแกรมงานของศาสดานูฮฺ (อ.) โองการกล่าวว่า

25 و26. وَلَقَدْ أَرْسْلْنَا نُوحاً إِلَى‏ قَوْمِهِ إِنِّي لَكُمْ نَذِيرٌ مُبِينٌ* أَن لَا تَعْبُدُوا إِلَّا اللَّهَ إِنِّي أَخَافُ عَلَيْكُمْ عَذَابَ يَوْمٍ أَلِيمٍ‏

คำแปล :

25.แน่นอน เราได้ส่งนูฮฺไปยังกลุ่มชนของเขา (โดยกล่าวว่า) "แท้จริงฉันเป็นผู้ตักเตือนอันแน่ชัดแก่พวกท่าน"

26. คือพวกท่านอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ แท้จริงฉันกลัวแทนพวกท่านถึงการลงโทษในวันอันเจ็บปวด"

คำอธิบาย :

ชะตาชีวิตอันน่าสะพรึงกลัวของศาสดานูฮฺ (อ.) และกลุ่มชนของท่าน

ดังที่กล่าวไปตอนต้นซูเราะฮฺ (บท) ว่าอัลกุรอานบทนี้ได้ประทานลงมาเพื่อปลุกความคิดของประชาชาติ และเรียกร้องพวกเขาไปสู่ความจริงแห่งชีวิต ชะตาชีวิตที่เลวร้าย และการกระทำความผิด และในที่สุดอัลกุรอานได้นำเสนอแนวทางแห่งการช่วยเหลือ ความสำเร็จ และชัยชนะ อีกทั้งยังได้อธิบายบางส่วนที่เป็นเกร็ดชีวิตของเหล่าบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น

1. ท่านศาสดานูฮฺ (อ.) เป็นหนึ่งในศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ซึ่งวิธีการดำเนินชีวิตและการต่อสู้ของท่านในหนทางของพระเจ้าได้ถูกกล่าวไว้อัลกุรอาน บทต่างๆ เช่น บทอะอฺรอฟ โองการที่ 59,64, บทยูนุส โองการที่ 71-73 เป็นต้น การยืนหยัดต่อสู้ของศาสดานูฮฺ (อ.) ต่อบรรดาผู้อธรรมที่ละเมิดในสมัยนั้น ได้กลายเป็นสาเหตุให้พวกเขาถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส ถือเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับประชาชาติรุ่นหลัง

2. บรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าส่วนใหญ่เป็นผู้มาตักเตือนและให้คำแนะนำ ส่วนโองการนี้ และโองการอื่นอีก เช่น บทฮัจญ์ โองการที่ 49 ,บทชุอ์อะรอ โองการที่ 115, บทอังกะบูต โองการที่ 50,บทฟาฏิร โองการที่ 42, บทซ็อด โองการที่ 70, บทอิฮฺกอก โองการที่ 9 ได้บ่งเน้นถึงการ ตักเตือนของบรรดาศาสดา ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าการปลุกระดมให้ประชาชาติตื่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องประกาศให้ทราบถึงภยันตรายและเตือนพวกเขา เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์นั้น ตราบที่ยังไม่มีอันตรายพวกเขาก็จะไม่ขยับเขยื้อน

3. การตักเตือนของเหล่าบรรดาศาสดาทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการหลงทางทางความคิด เช่น การตั้งภาคีเทียบเคียง การเปลี่ยนแปลงการกระทำ และกระทำบาปกรรม ทั้งหมดเป็นความสกปรกที่มนุษย์ได้ปรนเปื้อน ด้วยเหตุนี้บรรดาศาสดาจึงตักเตือนมนุษย์ให้ระวังการลงโทษอันเจ็บปวดของพระเจ้า

4.คำว่า มุบีน หมายถึง ความกระจ่างหรือความชัดเจน การใช้คำนี้ในโองการข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่าสารของศาสดานูฮฺ (อ.) เป็นที่ชัดเจนและมีความกระจ่างอยู่เสมอ

5.โปรแกมของบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าต่างเรียกร้องประชาชนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และห่างไกลจากตั้งภาคีเทียบเคียงพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภารกิจทั้งหมด ดังนั้น ถ้าประชาชนยอมละทิ้งเทวรูปทั้งภายในและภายนอก ละทิ้งการลุ่มหลงโลก ความเห็นแก่ตัว และความตระหนี่ถี่เหนียว และไม่เคารพภักดีสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า เขาก็จะสามารถสร้างวิถีการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

6.จากการอธิบายของนูฮฺ (อ.) ที่กล่าวว่า แท้จริงฉันกลัวแทนพวกท่านถึงการลงโทษในวันอันเจ็บปวด เข้าใจได้ว่าบรรดาศาสดาทั้งหลายต่างรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยประชาชาติของตนเป็นอย่างยิ่ง มีความหวังดีกับพวกเขา การที่ท่านตักเตือนพวกเขาก็เพื่อว่าต้องการช่วยเหลือพวกเขาให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

บทเรียนจากโองการ :

1. หน้าที่ของบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าคือการเผยแผ่คำสอนของพระเจ้า ตักเตือนประชาชน และสร้างความกระจ่างชัดแก่พวกเขา

2. เป้าหมายหลักของบรรดาศาสดาคือ การเชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว

3. เหล่าบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้ามีความเป็นห่วงเป็นใยประชาชาติ และต้องการช่วยเหลือพวกเขาให้รอดปลอดภัยจากอันตราย

อัลกุรอาน โองการที่ 27 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงปฏิกิริยาของบรรดาผู้นำกลุ่มชนของนูฮฺ (อ.) และข้อทักท้วงของพวกเขา โองการกล่าวว่า

27. فَقَالَ الْمَلَأُ الَّذِينَ كَفَرُوا مِن قَوْمِهِ مَا نَرَاكَ إِلَّا بَشَراً مِثْلَنَا وَمَا نَرَاكَ اتَّبَعَكَ إِلَّا الَّذِينَ هُمْ أَرَاذِلُنَا بَادِيَ الرَّأْيِ وَمَا نَرَى‏ لَكُمْ عَلَيْنَا مِن فَضْلٍ بَلْ نَظُنُّكُمْ كَاذِبِينَ‏

คำแปล :

27. แล้วบรรดาหัวหน้าผู้ปฏิเสธจากกลุ่มชนของเขากล่าวว่า เราไม่เห็นท่านเป็นอื่นใด นอกจากสามัญชนเช่นเรา และเรายังไม่เห็นผู้ใดปฏิบัติตามท่าน นอกจากบรรดาผู้ต่ำต้อยจากพวกเรา ที่มีความคิดเห็นตื้น ๆ และเราไม่เห็นว่าพวกท่านดีเด่นกว่าพวกเรา แต่เราคิดว่าพวกท่านเป็นพวกมุสา

คำอธิบาย :

1.คำว่า มะละอุ หมายถึงบรรดาผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความชั่วช้า กล่าวคือผู้มั่งคลั่งและเป็นเศรษฐี พวกเขาเป็นหัวหน้ากลุ่มชนมีความร่ำรวย ซึ่งพวกเขาจะเป็นแหล่งแห่งความชั่วร้ายของทุกสังคม และยังวางตนเป็นหัวหน้าที่ต่อต้านบรรดาศาสดาอย่างชัดแจ้ง

2.คำว่า อะรอซิล หมายถึงสรรพสิ่งเลวร้ายและต่ำทรามยิ่ง ซึ่งเหล่าบรรดาชนชั้นนำเหล่านั้นได้ใช้คำนี้เรียก บรรดาผู้ยากไร้อ่อนแอ ซึ่งศาสดานูฮฺ (อ.) ก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้คนเหล่านั้นเช่นกัน โดยปกติแล้วบรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าจะเป็นผู้แบกรับความทุกข์ยาก ความยากจน และการถูกกีดกันของผู้อ่อนแอในสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พวกเขามีศรัทธาต่อท่านอย่างรวดเร็ว แล้วเป็นสาเหตุให้ผู้คนชั้นนำในยุคนั้นดูถูกเหยียดหยาม เนื่องจากมาตรฐานวัดความเป็นมนุษย์ของพวกเขาคือ บุคลิกภาพ ฐานะ และหน้าตาทางสังคม ฉะนั้น พวกเขาจึงเรียกกลุ่มชนของศาสดานูฮฺว่า พวกต่ำต้อยทั้งหลาย

3. คำว่า บาดิยัลเราะอ์ยิ หมายถึงกลุ่มชนที่ภายนอกของพวกเขาดูเหมือนว่าไม่มีการศึกษา เป็นพวกที่มีความคิดเห็นตื้นเขินยิ่งนัก ถ้าเห็นสิ่งใดเพียงครั้งเดียวก็จะมีใจรักและผูกพันกับสิ่งนั้น ในที่นี้จะเห็นว่าบรรดาชนชั้นนำเหล่านั้น ได้ใช้เรียกบรรดาเยาวชนที่เชื่อฟังและมีศรัทธาต่อนูฮฺ (อ.) ทั้งที่เยาวชนเหล่านั้นเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจ เป็นคนสะอาดปราศจากความอคติ พวกเขาจึงเข้าใจสัจธรรมความจริงได้อย่างรวดเร็ว และได้มีศรัทธาต่อนูฮฺ (อ.) ในที่สุด

4. จากโองการข้างต้นทำให้เข้าใจถึงปัญหาเรื่อง สังคมวิทยาประการหนึ่ง ซึ่งเราจะพบว่าในสังคมมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่แล้วชนชั้นผู้นำและพวกมั่งคลั่งจะต่อต้านและปฏิเสธแนวทางของบรรดาศาสดา ส่วนคนยากจนและผู้ถูกกีดกันจากสังคมส่วนใหญ่จะยอมรับและปกป้องแนวทางของพระเจ้า

5.จากโองการข้างต้นทำให้เข้าใจปัญหาด้านจิตวิทยาเบื้องต้นว่า เกณฑ์และมาตรฐานด้านบุคลิกภาพในทัศนะของกลุ่มต่างๆ มีความแตกต่างกัน ในมุมมองของบรรดาชนชั้นนำที่ยโสโอหังมาตรฐานของเขาคือ ความร่ำรวย ดังนั้น บุคคลใดที่ถูกกีดกันจากสังคม พวกเขาจึงเป็นคนชั้นต่ำต้อยที่สุด และจะได้รับการดูถูกเหยียดหยาม แต่ในทัศนะของศาสนากล่าวว่า มาตรฐานในการแบ่งชนชั้นคือ ความศรัทธา ความสำรวมตน ความรู้ และการต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า

6. บรรดาชนชั้นนำจากประชาชาติของศาสดานูฮฺ (อ.) ต่างคิดว่าศาสดานั้นต้องมาจากมวลมลักทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงปฏิเสธคำกล่าวอ้างการเป็นศาสดาของนูฮฺ (อ.) โดยสิ้นเชิงและกล่าวหาศาสดาว่ามุสา ขณะที่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดของความเป็นมนุษย์ด้วยกันได้อย่างดี และสำหรับมนุษย์ที่มีความบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่คนอื่นได้

7. บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจากกลุ่มชนของนูฮฺ  (อ.) พวกเขาได้พากันท้วงติงศาสดา และเฝ้าจับผิดประชาชาติของนูฮฺ ซึ่งข้อทักท้วงของพวกเขาคือ

- นูฮฺเป็นสามัญชนเหมือนกับพวกเขา แล้วทำไมมากล่าวอ้างการเป็นศาสดา

- บรรดาผู้ปฏิบัติตามนูฮเป็นชนชั้นต่ำ ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามและเป็นเยาวชนที่ไม่รู้ประสีประสา

- นูฮฺกับกลุ่มชนของเขาไม่ได้ดีเด่นไปกว่าพวกเขาเลยแม้แต่นิดเดียว

อัลกุรอาน หลายโองการได้กล่าวถึงคำตอบที่นูฮฺได้ให้แก่พวกเขา ซึ่งจะกล่าวอธิบายในโอกาสต่อไป

บทเรียนจากโองการ :

1.บรรดาชนชั้นนำส่วนใหญ่เป็นผู้ขัดขวางแนวทางของบรรดาศาสดา

2. บรรดาชนชั้นนำจะคิดว่าพวกเขาวิเศษและดีกว่าคนอื่นเสมอ ดังนั้น พวกเขาจึงมองผู้ศรัทธาด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยามเสมอ และแทนที่การพิสูจน์ด้วยเหตุผลพวกเขาจะคิดคาดเดาไปเอง

3.จำเป็นต้องรับรู้ถึงแบบอย่างของพวกฝ่าฝืนและตั้งตนเป็นปรปักษ์กับผู้นำของพระเจ้า เพื่อเราจะได้ไม่ปฏิบัติตามพวกเขา

อัลกุรอาน โองการที 28 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคำตอบของนูฮฺ (อ.) ที่ต่อผู้ปฏิเสธ เป็นคำตอบที่ครอบคลุมและมีเหตุผลยิ่ง โองการกล่าวว่า

28. قَالَ يَا قَوْمِ أَرَأَيْتُمْ إِن كُنتُ عَلَى‏ بَيِّنَةٍ مِن رَبِّي وآتَانِي رَحْمَةً مِنْ عِندِهِ فَعُمِّيَتْ عَلَيْكُمْ أَنُلْزِمُكُمُوهَا وَأَنتُمْ لَهَا كَارِهُونَ‏

คำแปล :

28. เขา (นูฮฺ) กล่าวว่า "โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย! พวกท่านเห็นแล้วใช่ไหมว่า หากฉันมีหลักฐานอันแจ้งชัดจากพระผู้อภิบาลของฉัน และพระองค์ทรงประทานความเมตตาจากพระองค์แก่ฉัน แต่ยังมืดมนสำหรับพวกท่าน เราจะบังคับพวกท่านให้ยอมรับทั้ง ๆที่พวกท่านชิงชังกระนั้นหรือ ?

คำอธิบาย :

1.บางทีโองการนี้อาจจะตอบข้อทักท้วงของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้ง 3 ประการ ที่มีต่อนูฮฺตามที่กล่าวอธิบายไปในโองการก่อนหน้านี้

- พวกเขากล่าวว่า นูฮฺเป็นสามัญชนเหมือนกับพวกเขา แล้วทำไมมากล่าวอ้างการเป็นศาสดา ?

นูฮฺ (อ.) ได้ตอบพวกเขาว่า ฉันเป็นสามัญชนเยี่ยงพวกท่าน แต่ฉันได้นำเอาปาฏิหาริย์ และหลักฐานอันชัดแจ้งมาเพื่อพิสูจน์สภาวะการเป็นนบีของฉัน

- พวกเขากล่าวว่า บรรดาผู้ปฏิบัติตามนูฮเป็นชนชั้นต่ำ ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามและเป็นเยาวชนที่ไม่รู้ประสีประสา ?

นูฮฺ (อ.) ได้ตอบพวกเขาว่า ฉันได้นำเอาเหตุผลอันชัดแจ้งจากพระผู้อภิบาลมาแสดง มันคลุมเครือสำหรับพวกท่าน แต่พวกเขากับเข้าใจและยอมรับได้ และมีศรัทธาต่อฉัน ดังนั้น พวกท่านต่างหากที่ไม่รู้ประสีประสา มิใช่พวกเขา

- พวกเขากล่าวว่า นูฮฺกับกลุ่มชนของเขาไม่ได้ดีเด่นไปกว่าพวกเขาเลยแม้แต่นิดเดียว ?

นูฮฺ (อ.) ตอบพวกเขาว่า ใครจะดีกว่าหรือสูงส่งกว่าใคร ซึ่งอัลลอฮฺทรงให้ฉันได้รับความเมตตาจากพระองค์

2. คำตอบของศาสดานูฮฺ (อ.) ได้อธิบายด้วยความอ่อนโยน อีกด้านหนึ่งท่านได้กล่าวเรียกหมู่ชนของท่านด้วยความเมตราสงสารว่า โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย

ในทางกลับกันก็ไม่ได้กล่าวว่า พวกท่านไม่เข้าใจเหตุผลของฉัน หรือพวกท่านดื้อดึงต่อการเป็นนบีของฉันแต่อย่างใด ทว่ากล่าวว่า เหตุผลและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลยังมืดมนและเรือนลางสำหรับพวกท่าน

บทเรียนจากโองการ :

1.สภาวะการนบีเป็นความเมตตาจากพระผู้อภิบาล

2. การเชิญชวนของเหล่าผู้นำแห่งพระเจ้าและนักเผยแผ่ศาสนาทั้งหลาย จำเป็นต้องมีเหตุผลอันชัดแจ้งเพื่ออ้างอิง

3. ความเข้าใจและการยอมรับเหตุผลของศาสนา มิใช่การบีบบังคับแต่อย่างใด

อัลกุรอาน โองการที 29 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้อธิบายถึงคำตอบอีกประการหนึ่งของนูฮฺ (อ.) ที่มีต่อบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย อีกทั้งยังได้กล่าวถึงความชาญฉลาดของเหล่าผู้นำแห่งพระเจ้า กับความโง่เขลาของเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย โองการกล่าวว่า

29. وَيَا قَوْمِ لَا أَسْأَلُكُم عَلَيْهِ مَالًا إِنْ أَجْرِيَ إِلَّا عَلَى اللَّهِ وَمَا أَنَا بِطَارِدِ الَّذِينَ آمَنُوا إِنَّهُم مُلَاقُوا رَبِّهِمْ وَلكِنِّي أَرَاكُمْ قَوْماً تَجْهَلُونَ‏

คำแปล :

29. โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย! ฉันไม่ได้ร้องขอทรัพย์สินใดจากพวกท่านสำหรับการเผยแพร่นี้ แท้จริงรางวัลของฉันอยู่ที่อัลลอฮฺ และฉันจะไม่เป็นผู้ขับไล่บรรดาผู้มีศรัทธาดอก แท้จริงพวกเขาจะเป็นผู้พบพระผู้อภิบาลของพวกเขา แต่ฉันเห็นว่าพวกท่านเป็นหมู่ชนที่ผู้งมงายโง่เขลา

คำอธิบาย :

1.โองการนี้ได้ตอบข้อท้วงติงและข้อสงสัยต่างๆ ของหมู่ชนของนูฮฺ ซึ่งในโองการที่ 27 ของบทนี้ได้กล่าวถึงข้อสงสัยของพวกเขาไปแล้ว

2. หนึ่งในความแคลงใจของพวกปฏิเสธที่มีต่อผู้เชื่อฟังปฏิบัติตามนูฮฺ (อ.) คือ พวกเขาเป็นชนชั้นต่ำที่ได้รับการดูหมิ่น เป็นเยาวชนไร้เดียงสา และยากจน ศาสดานูฮฺ (อ.) จึงได้ตอบพวกเขาว่า

ประการแรก ฉันมิได้เรียกร้องรางวัลหรือทรัพย์สมบัติใดๆ จากพวกท่าน เพื่อตัวฉันหรือเพื่อพวกเขาแต่อย่างใด

ประการที่สอง ฉันเห็นว่าบุคคลที่จะได้พบกับพระผู้อภิบาลของพวกเขานั้น ดีและมีความประเสริฐกว่าพวกท่านที่โง่และงมงาย

3.โองการได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าบรรดาศาสดาและเหล่าผู้นำแห่งพระเจ้า มิได้ใฝ่ใจอยู่กับทรัพย์สมบัติแต่อย่างใด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นของบรรดาผู้กล่าวมุสาต่อเหล่าบรรดาผู้นำของพระเจ้า

4. คำว่า ญะฮัล บางที่ใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับความรู้ บางครั้งก็ใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับสติปัญญา ซึ่งในโองการนี้ถูกใช้ในความหมายที่สอง กล่าวคือบรรดาผู้เป็นปรปักษ์กับศาสดานูฮฺ (อ.) ล้วนเป็นผู้โง่เขลาและงมงาย ซึ่งมาตรฐานความประเสริฐได้เลือนรางหายไปจากพวกเขา พวกเขาจึงได้ค้นหามันจากทรัพย์สมบัติ ตำแหน่ง และเกียรติยศทางสังคม และอีกเหตุผลหนึ่งที่แสดงว่าพวกเขาโง่เขลาคือ พวกเขาคิดเอาเองว่าผู้เป็นศาสดาต้องเป็นมลัก ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกัน

บทเรียนจากโองการ :

1. บรรดาศาสดาแห่งพระเจ้าจะไม่ใส่ใจต่อทรัพย์สมบัติทางโลกแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ยืนยันถึงความสัจจริงของพวกเขา

2. เหล่าบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าจะต้องไม่เรียกร้องความสนใจจากชนชั้นสูงจนเกินกว่าเหตุ จนกระทั่งต้องละทิ้งชนชั้นกลาง หรือชนชั้นต่ำของสังคม

3. การตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับเหล่าบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาอย่างยิ่ง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม