เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 30-35

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 30-35

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึงบทบาทของเหล่าบรรดาผู้ศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง โดยกล่าวว่า

30. وَيَا قَوْمِ مَن يَنصُرُنِي مِنَ اللَّهِ إِن طَرَدتُّهُمْ أَفَلَا تَذَكَّرُونَ‏

คำแปล :

30. โอ้ หมู่ชนของฉันเอ๋ย ผู้ใดจะช่วยฉัน ณ ที่อัลลอฮฺ ถ้าฉันขับไล่พวกเขา (ผู้ศรัทธา) พวกท่านไม่คิดบ้างดอกหรือ ?

คำอธิบาย :

1. การขับไล่มวลผู้ศรัทธามิใช่ภารกิจง่ายดายแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขาอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งความยุติธรรมของพระเจ้า และในที่นั้นไม่มีผู้ใดสามารถขับไล่คนหนึ่งคนใดได้ และไม่สามารถช่วยเหลือผู้ขับไล่ได้แม้สักคนเดียว นอกจากนั้นแล้วบนโลกนี้บรรดาผู้ศรัทธานั่นเองที่ได้รับการกีดกัน แต่พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือศาสนาของพระเจ้า

2. คำว่า ตะซักกะรุ จะถูกนำไปใช้ในประเด็นซึ่งก่อนหน้านั้นมนุษย์ได้เคยรับรู้ถึงสิ่งนั้นมาก่อนแล้ว โดยธรรมชาติ หรือโดยการสอนสั่งก็ตาม หลังจากนั้นได้กล่าวเตือนเพื่อให้รำลึกถึงอีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มชนของนูฮฺ (อ.) ตามความเป็นจริงแล้วเขาได้ประพฤติเลวร้ายกับธรรมชาติของตนเอง เขาได้ลืมอัลลอฮฺ และลืมวันแห่งการสอบสวนจนหมดสิ้น

บทเรียนจากโองการ :

1.จงตื่นจากความหลับใหลและความหลงลืมเถิด

2. ถ้าหากได้ขับไล่ผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ แน่นอน ท่านต้องได้รับความโกรธกริ้วและการลงโทษจากพระเจ้า

อัลกุรอาน โองการที่ 31 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้ถึงการปกป้องของนูฮฺ (อ.) ที่มีต่อบรรดาผู้ศรัทธาที่ได้รับการกีดกันอีกครั้งหนึ่ง โองการกล่าวว่า

31. وَلَا أَقُولُ لَكُمْ عِندِي خَزَائِنُ اللَّهِ وَلَا أَعْلَمُ الْغَيْبَ وَلَا أَقُولُ إِنِّي مَلَكٌ وَلَا أَقُولُ لِلَّذِينَ تَزْدَرِي أَعْيُنُكُمْ لَن يُؤْتِيَهُمُ اللَّهُ خَيْراً اللَّهُ أَعْلَمُ بِمَا فِي أَنفُسِهِمْ إِنِّي إِذاً لَمِنَ الظَّالِمِينَ‏

คำแปล :

31.ฉันไม่ได้กล่าวแก่พวกท่านหรือว่า ฉันมีขุมคลังของอัลลอฮฺ และฉันมิได้รู้สิ่งที่พ้นญาณวิสัย และฉันไม่ได้กล่าวว่า ฉันเป็นมะลัก และฉันไม่ได้กล่าวแก่บรรดาผู้ที่สายตาของพวกท่านเหยียดหยามว่า อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานความดีอันใดแก่พวกเขา อัลลอฮฺทรงรอบรู้ดียิ่งถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเขา แท้จริง ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันจะอยู่ในหมู่ผู้อธรรม

คำอธิบาย :

1. โองการนี้ได้ตอบคำถามอีกประการหนึ่งแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่มีความแคลงใจในตัวนูฮฺ  ซึ่งโองการที่ 27 ของบทนี้ได้กล่าวถึงคำพูดของพวกตั้งตนเป็นปรปักษ์ที่กล่าวว่า พวกท่านไม่ได้ดีเด่นไปกว่าพวกเราเลย ศาสดานูฮฺ (อ.) ได้ตอบพวกเขาว่า “ฉันไม่ได้กล่าวแก่พวกท่านหรือว่า ฉันมีขุมคลังของอัลลอฮฺ ฉันรู้สิ่งที่อยู่พ้นญาณวิสัย ถ้าท่านรอคอย ให้ฉันนำขุมคลังของพระเจ้า หรือสิ่งเร้นลับของพระองค์ที่อยู่ในอำนาจของฉันมาแสดง ถือว่าเป็นการรอคอยที่ไร้สาระ และฉันไม่ได้มีความพิเศษอันใดเว้นเสียแต่ว่าได้รับวะฮฺยูจากพระองค์”

บรรดาผู้เป็นปรปักษ์กล่าวว่า ท่านเป็นสามัญชนเหมือนกับพวกเรา (แล้วทำไมมากล่าวอ้างการเป็นนบีกับเรา ?)

นูฮฺ (อ.) ตอบว่า ฉันไม่ได้กล่าวกับพวกท่านดอกหรือว่า ฉันไม่ได้เป็นมลัก ทว่าฉันเป็นสามัญชนเหมือนกับพวกท่าน เพียงแวะฮฺยูได้ลงมาที่ฉันเท่านั้น

2. การล่วงรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ กล่าวคือ

2.1 การล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างแจ่มแจ้งโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งสิ่งนี้เป็นเฉพาะสำหรับพระเจ้า

2.2  การล่วงรู้ในขอบเขตจำกัด กล่าวคือตามความพอดีที่อัลลอฮฺ (ซบ.) เห็นสมควรให้เขารู้ ซึ่งพระองค์จะมอบความรู้นั้นไว้ในอำนาจของบรรดาศาสดา และบรรดาหมู่มวลมิตร (เอาลิยาอ์) ของพระองค์

โองการข้างต้น การล่วงรู้สิ่งพ้นญาณวิสัย แบบสมบูรณ์ได้ถูกปฏิเสธไปจากบรรดาศาสดาทั้งหลาย แต่อัลกุรอานบางโองการ กล่าวว่าความรู้นั้นได้ถูกจัดไว้สำหรับเราะซูลเท่านั้น ดังกล่าวในบทญิน โองการที่ 26,27

ดังนั้น ความรู้สิ่งพ้นญาณวิสัยโดยตัวตนสมบูรณ์เป็นของอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น ซึ่งบุคคลอื่นไม่ว่าจะรู้มากหรือน้อยเพียงใดเป็นเพียงความรู้เสริมที่เพิ่มเข้ามา มีขอบเขตจำกัด และต้องได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺ (ซบ.)

3.โองการข้างต้นได้บ่งขี้ถึงชนชั้นนำและบรรดาเศรษฐีจากกลุ่มชนของนูฮฺ อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาได้มองเหล่าสหายของนูฮฺด้วยสายตาเหยียดหยามและดูหมิ่น เนื่องจากมาตรฐานความดีในสายตาของพวกเขาคือ ความร่ำรวย ตำแหน่งและยศถาทางสังคม ขณะที่เหล่าสหายของนูฮฺล้วนเป็นเยาวชนที่เปลี่ยนแปลงตัวเองแต่ยากจน

ขณะที่ในคำสอนของศาสนาแห่งพระเจ้าได้ตั้งเกณฑ์กำหนดความเป็นมนุษย์ไว้ที่ ความรู้ ความศรัทธา ความเสียสละ และการขอบคุณ

4.โองการข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบรรดาศาสดาทั้งหลาย ไม่ได้โอ้อวดตำแหน่งที่สูงส่งและความยิ่งใหญ่ของตนแต่อย่างใด ทว่าท่านได้อธิบายทุกสิ่งไปตามสภาพของความเป็นจริง

บทเรียนจากโองการ :

1.คำพูดโอ้อวดที่เกินเลยความจริง มิได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากบรรดาศาสดาอย่างแน่นอน และพวกท่านก็ไม่เคยกล่าวอ้างทำนองนั้นแม้แต่น้อย

2. การขับไล่บรรดาผู้ศรัทธาที่อ่อนแอและยากจน เช่น เยาวชนที่เปลี่ยนแปลงและศรัทธากับนูฮฺ (อ.) ถือเป็นการกดขี่และความอธรรมอย่างหนึ่ง

3. จงอย่าได้พยากรณ์ล่วงหน้าว่า ในอนาคตอัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงจัดการอย่างไรกับประชาชาติ

อัลกุรอาน โองการที่ 32 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคำตอบในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามของกลุ่มชนที่มีต่อนูฮฺ (อ.) และการโจมตีการเผยแผ่ของพวกเขา พร้อมกับเรียกร้องการลงโทษจากพระเจ้า โองการกล่าวว่า

32. قَالُوا يَانُوحُ قَدْ جَادَلْتَنَا فَأَكْثَرْتَ جِدَالَنَا فَأْتِنَا بِمَا تَعِدُنَا إِن كُنْتَ مِنَ الصَّادِقِينَ‏

คำแปล :

32. พวกเขากล่าวว่า โอ้ นูฮฺเอ๋ย! แน่นอน ท่านได้โต้เถียงกับเรา และท่านได้สาวความมากขึ้น ดังนั้น จงนำสิ่งที่สำทับเราไว้ (การลงโทษ) มาให้เราเถิด ถ้าท่านอยู่ในหมู่ผู้สัตย์จริง

คำอธิบาย :

อย่าสาวความยาวแต่จงนำการลงโทษมา

1.คำพูดของบรรดาผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับนูฮฺได้บ่งชี้ให้เห็นว่า เหตุผลที่นูฮฺได้หยิบยกมานั้นพวกเขาไม่ยอมรับ คำเตือนสำทับเรื่องการลงโทษพวกเขาก็ไม่กลัว ดังนั้น ไม่ต้องสาวความยาวให้มากไปกว่านี้อีก พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับฟังอีกแล้ว ใช่ พวกเขาได้ประกาศความเพียงพอในการโต้เถียงและการเจรจาตกลงแล้ว จึงได้ร้องขอการลงโทษจากพระเจ้า แน่นอน แบบอย่างการสนทนาเช่นนี้ที่พวกเขาได้แสดงกับนูฮฺ (อ.) เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงความไร้มารยาท ผนวกกับการดูถูกเหยียดหยามที่แฝงไว้ด้วยความดื้อด้าน และความอคติที่เกิดจากความโง่เขลางมงายของพวกเขา

2. อัลกุรอานโองการนี้และคำพูดของนูฮฺในโองการอื่น เช่น บทนูฮฺ โอการที่ 5-13 เข้าใจได้ว่า ท่านได้ใช้ความพยายามในการเชิญชวนและชี้นำประชาชาติอยู่นานมาก และพยายามใช้โอกาสเพื่อการชี้นำพวกเขา จนกระทั่งผู้ที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ได้แสดงความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับคำพูดของนูฮฺ (อ.) ออกมา

3. บรรดาชนชั้นนำและพวกเศรษฐีที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับนูฮฺ ได้โจมตีการเผยแผ่ของนูฮฺ และได้โต้เถียงคำพูด เหตุผล และคำเตือนของนูฮฺอย่างรุนแรง ในลักษณะที่ว่าเป็นการเปรียบเปรย และกล่าวเรียกนูฮฺว่าเป็นจอมมุสา

บทเรียนจากโองการ :

1. ศาสดาแห่งพระเจ้ายืนหยัดและติดตามงานเผยแผ่ของตนเสมอ

2.บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าและนักเผยแผ่ศาสนาทั้งหลายจงเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม และผู้ตั้งตนเป็นปรปักษ์

อัลกุรอาน โองการที่ 33 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ ได้กล่าวถึงสัญญาและเงื่อนไขการลงโทษ ตลอดจนความไร้สามารถของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา โองการกล่าวว่า

33. قَالَ إِنَّمَا يَأْتِيكُم بِهِ اللَّهُ إِن شَاءَ وَمَا أَنتُم بِمُعْجِزِينَ‏

คำแปล :

33. เขา (นูฮฺ) กล่าวว่า  แท้จริงอัลลอฮฺเท่านั้นที่จะทรงนำ (การลงโทษ) มายังพวกท่าน หากพระองค์ทรงประสงค์ ขณะที่พวกท่านมิใช่ผู้ทำให้ (อัลลอฮฺ) ไร้ความสามารถ

คำอธิบาย :

1.คำว่า มุอ์ญิซีน มาจากรากศัพท์คำว่า อะอ์ญาซ หมายถึงการทำให้คนอื่นหมดความสามารถ คำๆ นี้ บางครั้งใช้ในความหมายของการเป็นอุปสรรคขวางการงานของคนอื่น บางครั้งก็ใช้ในความหมายของการหนีออกจากเขี้ยวเล็บของคนอื่น ซึ่งทั้งสองความหมายนั้นก็อยู่ในความหมายของ การทำให้คนอื่นไร้ความสามารถ ซึ่งโองการข้างต้นอาจใช้ได้ทั้ง 2 ความหมายที่กล่าวมา

2. นูฮฺ  (อ.) กล่าวว่า มาตรว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์ บ่งชี้ให้เห็นว่า การลงโทษของพระเจ้ามิได้อยู่ในอำนาจของฉัน ฉันเป็นเพียงผู้ถูกส่งมาจากพระองค์เท่านั้น เพื่อนำสารมาเผยแผ่และเตือนสำทับให้รู้ถึงการลงโทษของพระองค์

บทเรียนจากโองการ :

1. การลงโทษผู้หลงผิดอยู่ในอำนาจของพระเจ้าเท่านั้น

2.จงอย่าวิงวอนขอการลงโทษของพระเจ้า เพราะถ้ามันเกิดขึ้นจริงท่านจะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น

อัลกุรอาน โองการที่ 34 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้เตือนสำทับให้รู้ว่า ภารกิจทั้งหมดอยู่ในอำนาจของพระเจ้า ซึ่งบั้นปลายสุดท้ายของมนุษย์ล้วนกลับไปหาพระองค์ทั้งสิ้น อัลกุรอานกล่าวว่า

34. وَلَا يَنفَعُكُمْ نُصْحِي إِنْ أَرَدْتُّ أَنْ أَنصَحَ لَكُمْ إِن كَانَ اللَّهُ يُرِيدُ أَن يُغْوِيَكُمْ هُوَ رَبُّكُمْ وَإِلَيْهِ تُرْجَعُونَ‏

คำแปล :

34. โอวาทของฉันจะไม่อำนวยประโยชน์แก่พวกท่าน แม้ฉันปรารถนาจะให้โอวาทแก่พวกท่านก็ตาม ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์จะให้พวกท่านระหน (เพราะบาปกรรม) พระองค์คือพระผู้อภิบาลของพวกท่าน และพวกท่านจะถูกนำกลับคืนสู่พระองค์

คำอธิบาย :

1.บางครั้งอัลลอฮฺ (ซบ.) ประสงค์ให้มนุษย์ระหนไปตามทาง หมายถึง เมื่อมนุษย์ได้กระทำงานบางอย่างซึ่งผลลัพธ์ของงานคือ การหลงทางหรือระหนไปจากสัจธรรมความจริง เช่น การกระทำความผิด (บาปกรรม) ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง ดื้อดึงกับความจริงโดยปิดกั้นความคิดเห็นในลักษณะที่ว่ามองไม่เห็นความจริงอีกต่อไป ซึ่งในบั้นปลายคือการหลงผิดและหลงทางออกไป อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงปล่อยให้เขาระหนอยู่ในสภาพของตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงได้กล่าวว่าอัลลอฮฺ ทรงให้พวกเขาหลงทาง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมนุษย์ได้กระทำด้วยเจตนารมณ์เสรีของตนเองทั้งสิ้น

2. การใช้คำว่า พระองค์คือพระผู้อภิบาลของท่าน (ฮุวะร็อบบุกุม) เป็นการอธิบายที่ชัดเจนถึงแก่นแท้ที่ว่า พระเจ้าคือผู้ทรงเลี้ยงดูและให้การอบรมสั่งสอนพวกท่าน ซึ่งภารกิจของผู้ให้การฝึกฝนอบรมคือ การอบรมสั่งสอนไปตามความรู้ความสามารถ ความคิด การกระทำ และศักยภาพในการรับของแต่ละคน ดังนั้น ในความเป็นจริงพระเจ้าคือมิตรของท่านมิใช่ศัตรูที่หวังร้ายแต่อย่างใด

บทเรียนจากโองการ :

1. การชี้นำทางและการยอมรับการอบรมสั่งสอนก็อยู่ในอำนาจของพระเจ้าเช่นกัน

2. บั้นปลายสุดท้ายของท่านคือการย้อนกลับไปสู่พระเจ้า ดังนั้น พึงระวังการงานของท่านให้ดีที่สุด

อัลกุรอาน โองการที่ 35 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้ปกป้องวะฮฺยู และชี้ให้เห็นถึงการประพฤติสิ่งขัดแย้งของบรรดาปรปักษ์ทั้งหลาย โองการกล่าวว่า

35. أَمْ يَقُولُونَ افْتَرَاهُ قُلْ إِنِ افْتَرَيْتُهُ فَعَلَيَّ إِجْرَامِي وَأَنَا بَرِي‏ءٌ مِمَّا تُجْرِمُونَ‏

คำแปล :

35. หรือพวกเขา (มุชิริก) กล่าวว่า เขาได้ปลอมแปลงขึ้นมา (โดยอ้างไปยังอัลลอฮฺ) จงกล่าวเถิดว่า ถ้าฉันปลอมแปลงขึ้นมาจริง ความผิดของฉันย่อมตกอยู่ที่ฉัน และฉันไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่พวกท่านกระทำผิด

คำอธิบาย:

1.บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอานส่วนใหญ่ได้อธิบายโองการนี้เป็น 2 ลักษณะกล่าวคือ

หนึ่ง โองการนี้กล่าวถึงศาสดานูฮฺ (อ.) โดยอ้างอิงคำพูดของท่าน เนื่องจากโองการก่อนหน้าและหลังจากนี้ยังคงกล่าวถึงคำพูดของนูฮฺ (อ.) อยู่เช่นกัน

สอง สิ่งที่โองการกล่าวถึงนั้น ประโยคหนึ่งเป็นคำพูดท้วงติงหมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ซึ่งได้กล่าวอ้างจากคำพูดของท่าน โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับโองการก่อนหน้าและหลังจากนี้ ซึ่งถ้าสังเกตจากเครื่องหมายก็ได้ใช้ประโยชน์ทำนองนี้เช่นกัน

2.คำว่า อิจญ์รอมี มาจากรากศัพท์คำว่า ญุรมุน ซึ่งตามรากเดิมหมายถึง การเด็ดผลไม้ที่ยังไม่แก่หรือสุกได้ที่ หลังจากนั้นได้ถูกนำไปกล่าวกับทุกภารกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก หรือบ้างครั้งใช้เรียกความผิดว่า ญุรม์ เหมือนกัน เนื่องจากความผิดหรือบาปคือสิ่งที่ปกปิดและครอบงำมนุษย์ แยกเขาให้ออกห่างจากพระเจ้า และเนื่องจากคล้ายกับผลไม้ที่ยังไม่แก่ผลเสียของมันจึงมีมากกว่าประโยชน์

3.จุดประสงค์ของโองการไม่ต้องการทีจะดูหมิ่นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หรือดูหมิ่นศาสดานูฮฺ (อ.) แต่อย่างใด ทว่าคำพูดดังกล่าวได้ครอบคลุมเหนือการพิสูจน์และเหตุผลหลากหลาย ถ้าสมมุติว่าไม่ได้มาจากพระเจ้าจริง ความผิดย่อมตกอยู่กับเราอยู่แล้ว แต่เมือพิสูจน์ด้วยสติปัญญาก็เป็นที่แน่นอนว่าสิ่งนั้นถูกต้องและเป็นความจริง ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ เท่ากับต้องถูกลงโทษเนื่องจากกระทำความผิด และบาปกรรมของเขา

บทเรียนจากโองการ :

1. ไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าใครเป็นผู้พูด แต่จงสนใจว่าเขาพูดว่าอะไร ถ้าเป็นคำพูดที่ดีสูงส่ง ดังนั้น การแสดงตนขัดแย้งหรือเป็นปรปักษ์เท่ากับเราได้กรุทำความผิด

2. เหล่าบรรดาผู้นำของพระเจ้าจะออกห่างจากการกระทำความผิดของผู้คน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม