เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 41-44

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 41-44

อัลกุรอาน โองการนี้ได้มีคำสั่งในนูฮฺ (อ.) ลงเรือ และอธิบายถึงรหัสในการเคลื่อนเรือ โองการกล่าวว่า

41. وَقَالَ ارْكَبُوا فِيهَا بِسْمِ اللَّهِ مَجْريها وَمُرْسَاهَا إِنَّ رَبِّي لَغَفُورٌ رَحِيمٌ‏

คำแปล :

41. และเขา (นูฮฺ) กล่าวว่า "พวกท่านจงลงเรือด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ทั้งในยามแล่นและในยามจอดของมัน แท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันเป็นพระผู้ทรงอภัย พระผู้ทรงปรานีเสมอ

คำอธิบาย :

ศาสดานูฮฺ (อ.) ได้รวบรวมเครือญาติ พรรคพวกที่มีศรัทธา เนื่องจากพายุกำลังจะโหมกระหน่ำ และการลงโทษของพระเจ้ากำลังจะเกิดขึ้น ท่านจึงได้สั่งให้พวกเขาลงเรือโดยเร็วด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ไม่ว่าเรือจะแล่นหรือจอดก็เป็นไปด้วยพระนามของอัลลอฮฺทั้งสิ้น

1.รหัสในการเคลื่อนและหยุดเรือของนูฮฺ (อ.) คือ บิสมิลลาฮฺ กล่าวคือ ต้องไม่ลืมการรำลึกถึงพระเจ้าและการขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากพระองค์

2.รายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ทุกภารกิจการงานที่สำคัญถ้าหากไม่ได้เริ่มต้นด้วยนามของอัลลอฮฺ แล้วจะประสบความล้มเหลว[1]

แน่นอน การเอ่ยนามของอัลลอฮฺ มิใช่เป็นเพียงการพิธีการเท่านั้น ทว่าเป็นแนวคิดและเป็นเป้าหมาย เนื่องจากเท่ากับได้ย้อมสีของภารกิจการงานด้วยสีของอัลลอฮฺ ซึ่งไม่ว่าภารกิจการงานใดก็ตามที่มิได้เริ่มต้นพระนามของอัลลอฮฺ หรือไม่ได้มีวัตถุประสงค์และแนวคิดเพื่ออัลลอฮฺ เป้าหมายของงานนั้นก็จะกลายเป็นวัตถุสิ่งของไป และมีขอบเขตและที่สิ้นสุด แต่ถ้างานนั้นมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮฺ มันจะเป็นอมรดุจดังเช่นอาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์

3.ชีอะฮฺและซุนนีย์รายงานฮะดีซจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวว่า “อะฮฺบัยตฺ (ทายาท) ของฉันเปรียบประดุจดังเรือของนบีนูฮฺ บุคคลใดได้ลงเรือเขาจะได้รับความช่วยเหลือ ส่วนบุคคลใดผละออกจากเรือเขาจะพบกับความหายนะ”

แน่นอน ดังเช่นที่ศาสดานูฮฺ (อ.) ได้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือประชาชาติของท่าน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ก็เป็นผู้เป็นผู้ช่วยเหลือประชาชาติของท่านเช่นกัน โดยผ่านสื่อของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ดังนั้น เมื่อประชาชาติประสบกับพายุที่โหมกระหน่ำทั้งด้านความคิด ความเชื่อ และสังคมเขาจึงรีบเข้าหาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ในฐานะที่เป็นฝั่งที่ให้การช่วยเหลือเขาโดยทันที

4. โองการนี้ยังได้กล่าวถึงความเมตตาและการอภัยโทษของพระเจ้าอีกด้วย กล่าวคืออัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กำหนดความเมตตาของพระองค์ โดยมอบเรือแห่งความช่วยเหลือไว้ในอำนาจของประชาชน เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาได้รับการอภัยและรอดพ้นจากสิ่งไร้สาระทั้งหลาย

5. โองการข้างต้นกับโองการก่อนหน้านี้เข้าใจได้ว่า โครงการของพระเจ้าคือการรักษาขั้นตอนและระบบซึ่งถือเป็นหลัก หมายถึง อันดับแรกอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาให้นูฮฺ (อ.) ลงเรือ หลังจากนั้นให้นูฮฺสั่งให้ประชาชนลงเรือ

บทเรียนจากโองการ :

1. นามของอัลลอฮฺ คือรหัสแห่งการขับเคลื่อนทั้งหลาย ดังนั้น เราจะต้องไม่ลืมเด็ดขาด

2. บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้าและนักเผยแผ่ศาสนาทั้งหลาย จงเรียกร้องเชิญชวนประชาชนไปสู่เรือแห่งการช่วยเหลือเถิด

อัลกุรอาน โองการที่ 42 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงการแล่นเรือและคำพูดของนูฮฺ (อ.) ที่มีต่อบุตร โองการกล่าวว่า

42. وَهِيَ تَجْرِي بِهِمْ فِي مَوْجٍ كَالْجِبَالِ وَنَادَى‏ نوحٌ ابْنَهُ وَكَانَ فِي مَعْزِلٍ يَا بُنَيَّ ارْكَبْ مَعَنَا وَلَا تُكُن مَعَ الْكَافِرِينَ‏

 คำแปล  :

42. และเรือแล่นพาพวกเขาไปท่ามกลางคลื่นใหญ่เท่าภูเขา และนูฮฺได้ร้องเรียกบุตรชายของเขาซึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวว่า โอ้ ลูกของฉันเอ๋ย! จงขึ้นมาบนเรือกับเราเถิด และจงอย่าอยู่ร่วมกับผู้ปฏิเสธเลย

คำอธิบาย :

ในที่สุดช่วงเวลาสุดท้ายก็ได้มาถึง บัญชาให้ลงโทษประชาชาติที่ดื้อรั้นได้ถูกสั่งลงมา เช่น เมฆบนท้องฟ้าที่มืดครึ้มดุจกลางคืนก็ว่าได้ มันแผ่ปกคลุมทั่วท้องฟ้าซ้อนกันหนาทึบไปหมดซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ประกายฟ้าแลบ เสียงฟ้าร้อง และเสียงฟ้าผ่าได้ดังสนั่นกึกก้องไปทั่วท้องฟ้า ประกายแสงได้ส่องสว่างทั่วท้องฟ้า นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้รู้ถึงเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวเต็มไปด้วยอันตรายอันยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ฝนได้เริ่มโปรยปรายเม็ดลงมา หนักขึ้นและหนักขึ้นตามลำดับ เม็ดฝนเริ่มใหญ่ขึ้นที่ละน้อยและตกหนาเม็ดขึ้น ดังเช่นที่อัลกุรอาน โองการที่ 11 บทเกาะมัรกล่าวว่า “เวลานั้น เราจึงได้เปิดประตูแห่งชั้นฟ้าให้น้ำฝนเทลงมาอย่างหนักต่อเนื่อง” อีกด้านหนึ่งระดับน้ำที่อยู่ใต้พื้นดินได้เอ่อล้นจากทุกด้านทุกมุม ด้วยเหตุนี้  น้ำจากพื้นดินและจากฟากฟ้าที่ตกลงมาได้ไหลมารวมกัน จนเอ่อล้นท่วมไปทั่วบริเวณพื้นดิน ภูเขา ที่ราบ หุบเขา ทะเลทราย น้ำได้ไหลท่วมอย่างรวดเร็วและในเวลาไม่นานพื้นดินได้กลายเป็นพื้นมหาสมุทรที่กว้างไพศาล

กระลมที่พัดกรรโชกทำให้มองเห็นกระแสคลื่นมหึมาลูกเท่าภูเขาที่สาดซัดอยู่เหนือมหาสมุทร ซึ่งคลื่นเหล่านั้นได้สาดซัดสลับซับซ้อนกันอย่างหนาแน่น

ศาสนูฮฺ (อ.) มีบุตรชายสี่คนด้วยกันนามว่า ซาม ฮาม ยาฟัซ และกันอาน ทั้งหมดได้ศรัทธาต่อนูฮฺหมดยกเว้น กันอาน ซึ่งพวกเขาได้ขึ้นเรือไปพร้อมกับนูฮฺ

แน่นอน รายงานบางบทกล่าวว่า กันอานเป็นบุตรชายที่ติดภรรยา นูฮฺมา มิใช่ลูกที่แท้จริงของนูฮ[2]

กันอานเป็นบุตรชายของนูฮฺ ซึ่งสิ่งนี้ได้ทำให้หน้าที่ของนูฮฺเพิ่มหนักเป็นสองเท่า ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้พยายามอย่างยิ่งจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้ายท่านก็ได้พยายามที่จะชี้นำพวกเขา และนี่ถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของบิดาที่มีต่อบุตร และท่านก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว

นักอรรถาธิบายกุรอานบางท่านกล่าวว่า กันอานได้ถอดคราบของผู้กลับกลอกออก เขาไม่ใช่ทั้งผู้ศรัทธา และไม่ใช่ทั้งผู้ปฏิเสธ ด้วยเหตุนี้เองนูฮฺจึงได้คิดว่าเขาได้สำนึกผิดแล้ว หรืออาจเป็นไปได้ที่นูฮฺ (อ.) ได้พูดกับบุตรของตนเองก่อนที่จะออกเรือ และก่อนที่กระแสคลื่นจะโหมกระหน่ำ เนื่องจากหลังจากนั้นแล้วไม่มีผู้ได้รอดชีวิตเหลืออยู่อย่างแน่นอน

บทเรียนจากโองการ :

1.ขณะที่เผชิญหน้ากับกระแสคลื่นที่เต็มไปด้วยความหน้ากลัว จงอย่าออกห่างจากผู้นำแห่งพระเจ้า

2. มนุษย์เมื่อสัมพันธ์ไปยังบุตรหลานของตนเขามีหน้าที่อันหนักอึ้งที่สุด ซึ่งต้องพยายามชี้นำพวกเขามากกว่าคนอื่น

3. บรรดาผู้นำแห่งพระเจ้ามีความระมัดระวังบุตรหลานไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

4. การอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเป็นสิ่งอันตรายที่สุด

อัลกุรอาน โองการที่ 43 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงคำสนทนาของนูฮฺ (อ.) กับบุตรของท่านอีกครั้งหนึ่ง และได้กล่าวถึงผู้ปกครองและความสัมพันธ์ของพวกเขา โองการกล่าวว่า

43. قَالَ سَآوِي إِلَى‏ جَبَلٍ يَعْصِمُني مِنَ الْمَاءِ قَالَ لَا عَاصِمَ الْيَوْمَ مِنْ أَمْرِ اللَّهِ إِلَّا مَن رَحِمَ وَحَالَ بَيْنَهُمَا الْمَوْجُ فَكَانَ مِنَ الْمُغْرَقِينَ‏

 คำแปล :

43. เขา (บุตรชาย) กล่าวว่า ฉันจะไปอาศัยภูเขาลูกหนึ่งมันจะคุ้มครองฉันจากน้ำนี้ได้ (นูฮฺ) กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดคุ้มครองให้รอดจากพระบัญชาของอัลลอฮฺได้ เว้นแต่ผู้ทีพระองค์ทรงเมตตา และคลื่นได้ซัดเข้ามาระหว่างเขาทั้งสอง และ (ลูกชาย) ได้อยู่ในหมู่ผู้จมน้ำ

คำอธิบาย :

บุตรชายที่ดื้อร้นและมีความคิดตื่นเขินของนูฮฺ เขาคิดว่าเขาสามารถต่อสู้กับความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺได้  เขาได้ร้องตะโกนว่า โอ้ บิดาของฉันไม่ต้องเสียใจและเป็นกังวลต่อฉัน ในไม่ช้านี้ฉันจะไปอาศัยยอดเขาที่สูงตระหง่าน เพื่อหลบภัยให้มันจะช่วยให้ฉันรอดตายจากการจมน้ำ และน้ำจะท่วมขึ้นมาไม่ถึงฉันอย่าแน่นอน ซึ่งภูเขาจะช่วยให้ฉันรอดปลอดภัยแน่นอน

1.เกี่ยวกับพายุของนูฮฺ มีทัศนะอยู่ 2 ประการด้วยกันกล่าวคือ หนึ่ง กล่าวว่าน้ำได้ท่วมทั่วทั้งโลก ซึ่งทัศนะนี้ตรงกับความหมายภายนอกของอัลกุรอานบางโองการ เช่น บทฮูด โองการที่ 44,และนูฮฺ โองการที่ 26 ประกอบรายงานทางประวัติศาสตร์และธรณีวิทยาที่ได้กล่าวถึงช่วงสมัยที่ฝนตกหนักจนกระทั่งน้ำท่วม ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังมีรายงานฮะดีซบางบทก็ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย

ทัศนะที่สอง กล่าวว่าน้ำได้ท่วมเฉพาะแถบตะวันออกกลางเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งโลกเนื่องจากหมู่ชนของนูฮฺ อยู่ในเขตเมืองกูฟะฮฺ ประเทศอีรัก และแถบบริเวณรอบๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า อัรฎิ ในอัลกุรอานบางครั้งก็หมายถึง เขตบางพื้นที่ที่มีความกว้างใหญ่ หรืออาจหมายถึงแผ่นดินอันเฉพาะเจาะจง[3]

นอกจากนั้น พายุของนูฮฺได้ถูกประทานลงมาเพื่อลงโทษหมู่ชนที่ดื้อรั้น และไม่มีเหตุผลอันใดบ่งบอกเลยว่าการเชิญชวนของนูฮฺ (อ.) ได้แผ่กระจายไปทั่วทั้งโลก ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอันใดทั้งสิ้นที่จะต้องลงโทษคนอื่นที่อยู่บนโลกในสมัยนั้น

แน่นอน วัตถุประสงค์ของอัลกุรอานต้องการอธิบายอดีตของนูฮฺ และประชาชาติของเขาอันเป็นบทเรียนสำคัญยิ่ง ดังนั้น ไม่ว่าน้ำจะท่วมทั้งโลกหรือบางที่ก็ไม่มีผลต่อการอบรมสั่งสอนแต่อย่างใด

2. บุตรของนูฮฺ ได้ไปอาศัยภูเขาเป็นที่กำบังเพื่อหลบการลงโทษของอัลลอฮฺ เขาได้คิดผิดอย่างมหันต์ ว่าภูเขาจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ และสามารถเป็นสิ่งกีดขวางความประสงค์ของพระเจ้าได้ เฉกเช่นบุคคลที่คิดว่าทรัพย์สิน ตำแหน่ง อำนาจต่างๆ ทางโลก กำลัง ร่างกาย และความคิดของมนุษย์ สามารถเป็นที่พึ่งพิงสำหรับตนเองได้ ขณะที่อำนาจทั้งหมดที่เป็นสสารวัตถุนั้นไร้ความสามารถ และสั่นคอน ดังนั้น สถานที่กำบังที่ดีที่สุดคือพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะไม่สั่นหวั่นไหวอย่างแน่นอน

บทเรียนจากโองการ :

1. ไม่มีมีอำนาจอื่นใดสามารถกีดขวางอำนาจของอัลลอฮฺได้ย่างแน่นอน

2.คามโครงการของอัลลอฮฺ กฎเกณฑ์คือผู้ปกครองที่ดีที่สุด มิใช่ความสัมพันธ์ทางครอบครัว

3. แทนที่จะไปพึ่งพิงอำนาจอื่นซึ่งไม่แน่นอน พึ่งพิงอำนาจของพระเจ้าดีกว่าแน่นอนมั่นคง

โองการที่ 44 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงการสิ้นสุดการลงโทษที่มีต่อประชาชาตินูฮฺ โองการกล่าวว่า

44. وَقِيلَ يَا أَرْضُ ابْلَعِي مَاءَكِ وَيَا سَماءُ أَقْلِعِي وَغِيضَ الْمَاءُ وَقُضِي الْأَمْرُ وَاسْتَوَتْ عَلى الْجُودِيِّ وَقِيلَ بُعْداً لِلْقَوْمِ الظَّالِمِينَ‏

คำแปล :

44. และได้มีการกล่าวว่า โอ้ แผ่นดินเอ๋ย! จงกลืนน้ำของเจ้า โอ้ ฟ้าเอ๋ย! จงหยุดตกเถิด และน้ำได้ลดลงกิจการได้ถูกตัดสิน และเรือได้ค้างอยู่ที่ภูเขาอัลญูดีย์ และได้มีคำกล่าวว่า โอ้ หมู่ชนผู้อธรรม จงห่างจากความเมตตาไปเถิด

คำอธิบาย :

1.โองการนี้เป็นโองการที่อาจกล่าวได้ว่า มีวาทศาสตร์ที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากมีรูปประโยคสั้น ให้ชีวิตชีวา ง่าย และมีความจับใจมาก แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์อิสลามได้กล่าวว่า บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาชาวกุเรชกลุ่มหนึ่ง แสดงเจตจำนงที่จะต่อสู้กับอัลกุรอาน และต้องการนำเอาโองการยึ่ยงอัลกุรอานมาแสดง แต่เมื่อพวกเขาเห็นโองการดังกล่าว พวกเขารู้สึกประหลาดใจ ต่างสิ้นหวังไปตามๆ กันและยกเลิกการต่อสู้กับอัลกุรอาน

ซึ่งโองการที่กำลังกล่าวถึงได้สาธยายถึงขั้นตอนของการออกคำสั่ง รายละเอียดและบทสรุปของคำสั่ง ด้วยประโยคสั้นๆ แต่เปี่ยมด้วยโวหารและความหมาย มีความสละสลวย ซึ่งได้กล่าวไว้ด้วยประโยคเพียง 6 ประโยคเท่านั้น กล่าวว่า พระองค์ได้มีบัญชาแก่พื้นดินว่า “โอ้ แผ่นดินเอ๋ย! จงกลืนน้ำของเจ้า”

ทรงมีบัญชาแก่ฟ้าว่า “โอ้ ฟ้าเอ๋ย! จงหยุดตกเถิด”

“และน้ำได้ลดลง”

“กิจการได้ถูกตัดสิน”

“และเรือได้ค้างอยู่ที่ภูเขาอัลญูดีย์”

“ และได้มีคำกล่าวว่า โอ้ หมู่ชนผู้อธรรม จงห่างจากความเมตตาไปเถิด”

2. ช่วงเวลาที่เรือของศาสดานูฮฺ (อ.) ได้ล่องลอยอยู่กลางเวหานับตั้งแต่ 7 วัน จนถึง 6 เดือน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเราะญับ จนถึงสิ้นเดือน ซิลฮิจญฺ หรืออาจเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เดือนเราะญับ จนถึงวันอาชูรอ (10 มุฮัรรอม)[4]

3. ตายรายงานฮะดีซ กล่าวว่าเรือของนบีนูฮฺ (อ.) ได้ล่องลอยไปยังจุดต่างๆ แม้กระทั่งแผ่นดินมักกะฮฺและโดยรอบกะอ์บะฮฺ[5]

4. คำว่า ญูดีย์ เป็นชื่อสถานที่หนึ่ง ซึ่งเรือของนบีนูฮฺ (อ.) ค้างอยู่ ณ ที่นั่น ซึ่งเกี่ยวกับ ญูดีย์ นี้นักตัฟซีรได้แสดงทัศนะต่างกัน อาทิเช่น

4.1 นักตัฟซีรบางท่านกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ ญูดีย์ หมายถึงภูเขาหรือพื้นดินที่มีความแข็งแรง[6]

4.2 นักตัฟซีรบางท่านกล่าวว่า ญูดีย์ เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง อยู่ใกล้กับเมือง มูซิล ประเทศอีรัก หรืออยู่ในเส้นทางไปประเทศซูเรีย[7] หรืออยู่ใกล้กับ อามัด[8] หรือใกล้กับ อัลญะซีเราะฮฺ ในตอนเหนือของประเทศอีรัก หรือแม้แต่นามของญูดีย์ บางพื้นที่ ออกเสียงว่า ฆอรดีน หรือฆอรโด เป็นสำเนียงของชาว โกรดีย์ หรืออ่านว่า โญรดีย์ ตามภาษากรีก

มีรายงานว่าจนถึงยุคสมัยของ นบีอับบาส ซากไม้จากเรือของนบีนูฮฺ (อ.) ยังคงหลงเหลืออยู่บนยอดเขาดังกล่าว แต่สิ่งที่ฮะดีซอิสลามได้รายงานไว้ก็คือ สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่จอดเรือของนบีนูฮฺ (อ.) ใกล้ๆ กับเมืองมูซิล หรือใกล้ๆ กับกูฟะฮฺนั่นเอง ซึ่งทัศนะส่วนใหญ่ก็เห็นพร้องกับทัศนะดังกล่าวนี้[9]

4.3 ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า บริเวณ ญูดีย์ นั้นอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย

4.4 หนังสือกุญแจคัมภีร์เตารอตและอินญีล กล่าวว่า สถานที่จอดเรือของนบีนูฮฺ (อ.) อยู่ที่ ภูเขาอารารัตหมายถึง ภูเขา Masys อยู่ระหว่างแม่น้ำ  Aras และทะเลสาบ วาน และอุรูมีเยะฮฺ (Urmia) ตั้งอยู่ในอาร์เมเนีย[10]

แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ถูกค้นพบราวศตวรรษที่ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากการแปลคัมภีร์เตารอตผิดพลาด[11] ซึ่งรากเดิมคือ อักรอด แผงมาเป็น อารารัต

บทเรียนจากโองการ :

1.การสิ้นการลงโทษโดยพระบัญชาของพระเจ้า เหมือนดั่งที่ได้เริ่มต้นการลงโทษก็เป็นไปโดยพระบัญชาของพระองค์

2. จงอย่าเป็นผู้กดขี่ข่มเหง เพราะจะทำให้ท่านห่างไกลจากความเมตตาของพระเจ้า

[1]บิฮารุลอันวาร เล่ม 73 หน้า 305 เล่ม 89 หน้า 242, สะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม 4 หน้า 299

[2]ตัฟซีรอะยาชี เล่ม 2 หน้า 148, ตัฟซีรนูรรุซซะเกาะลัยน์ เล่ม 2 หน้า  363

[3]อัลกุรอานบทอะอ์รอฟ 137

[4]ตัฟซีร กุรฏุบีย์ เล่ม 5 หน้า3269, อบุลฟุตูฮฺ รอซีย์ เล่ม 6 หน้า 278 มัจญฺมะอุลบะยาน เล่ม 5 หน้า 164, ฏ็อบรีย์ เล่ม 12 หน้า 29, บิฮารุลอันวารเล่ม 11 หน้า 333, 334

[5]บิฮารุลอันวารเล่ม 11 หน้า 312, 335, เล่ม 12 หน้า 99

[6]บิฮารุลอันวาร เล่ม 11 หน้า 339,มัจญฺมะอัลบะยาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

[7]มัจญฺมะอุลบะยาน เล่ม 1 หน้า 424 หมวดคำว่า ญูดีย์

[8]บิฮารุลอันวาร เล่ม 11 หน้า 339, มัจมะอุลบะฮฺเรน เล่ม 1 หน้า 424 หมวดคำว่า ญูดีย์, มัจญฺมะอุลบะยาน  ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

[9]ตัฟซีรมัจญฺมะอุลบะยาน,  รูฮุลมะอานีย์, กุรฏุบีย์, ตอนอธิบายโองการดังกล่าว, บิฮารุลอันวาร เล่ม 11 หน้า 333 ,334

[10]กอมูซ มุก็อดดัส หน้า 30

[11]อิอ์ลอมกุรอาน หน้า 281

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม