ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 45-48

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 45-48

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึงการเรียกร้องของนบีนูฮฺ (อ.) อย่างมีมารยาทในการสั่งสอนบุตรชายของท่าน โองการกล่าวว่า

45. وَنَادَى‏ نُوحٌ رَبَّهُ فَقَالَ رَبِّ إِنَّ ابْنِي مِنْ أَهْلِي وَإِنَّ وَعْدَكَ الْحَقُّ وَأَنتَ أَحْكَمُ الْحَاكِمِينَ‏

คำแปล :

45. นูฮฺได้ร้องอุทธรณ์ต่อพระผู้อภิบาลของเขาโดยกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน แท้จริงบุตรชายของข้าฯเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของข้าฯ แท้จริงสัญญาของพระองค์ (ในการช่วยเหลือครอบครัว) นั้นเป็นความจริง และพระองค์นั้นทรงตัดสินเที่ยงธรรมยิ่ง ในหมู่ผู้ตัดสินทั้งหลาย

คำอธิบาย :

โองการก่อนหน้านี้ได้กล่าวว่า บุตรชายของนบีนูฮฺ (อ.) ไม่ยอมรับฟังคำตักเตือนของบิดา จนกระทั่งถึงวินาสุดท้ายก็ไม่ยอมลดละความดื้อรั้นและยอมสละอัตตาตัวตน ในที่สุดเขาได้จมน้ำตายท่ามกลางกระแสคลื่นของพายุที่โหมกระหน่ำ

โองการที่กำลังกล่าวถึงได้กล่าวถึงเหตุการณ์บางตอนที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น กล่าวคือ เมื่อนบีนูฮฺ (อ.) เห็นว่าบุตรชายของตนกำลังแวกว่ายอยู่ท่ามกลางกระแสคลื่น ความอาลัยรักของบิดาก็ได้บังเกิดขึ้น ทำให้ท่านรำลึกถึงสัญญาของพระเจ้าที่ว่าด้วยการช่วยเหลือครอบครัว ท่านจึงได้หันไปสู่พระองค์และวิงวอนของต่อพระองค์ทันที

1.วัตถุประสงค์ของ สัญญาของพระผู้อภิบาล ในโองการที่กำลังกล่าวถึงก็คือคำสัญญาที่พระองค์ได้ให้ไว้ดังที่กล่าวไว้ใน โองการที่ 40 ของบทนี้ กล่าวคือ “จงบรรทุกสัตว์เป็นคู่ ๆ ไว้ในเรือ พร้อมกับครอบครัวของเจ้าและผู้ศรัทธา ยกเว้นผู้ที่พระดำรัสได้ลุล่วงแก่เขาก่อนแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดศรัทธาร่วมกับเขานอกจากจำนวนเล็กน้อย”

แน่นอน นบีนูฮฺ (อ.) คิดว่า ทุกคนในครอบครัวของท่านต้องได้รับความช่วยเหลือ แม้แต่กันอานบุตรชายที่ดื้อรั้น ยกเว้นภรรยาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงของท่านตามลำพังเท่านั้นที่จะจมน้ำตาย

2.บุตรชายของนบีนูฮฺ (อ.) มีสภาพเหมือนคนฝ่าฝืนและอยู่ในฐานะที่ไม่มีความแน่นอน เมื่อเขาตกอยู่ท่ามกลางกระแสคลื่นที่โหมกระหน่ำ ความสงสารของบิดาก็บังเกิดขึ้น ท่านนบีนูฮฺ จึงได้วอนขอต่อพระเจ้าด้วยมารยาทอันดีงามยิ่ง

3. นบีนูฮฺ (อ.) เมื่อเห็นบุตรชายของท่านจมน้ำตายต่อหน้าต่อตา ท่านมิได้ทักท้วงแต่อย่างใด ทว่าท่านได้กล่าวด้วยมารยาทอันดีงาม พร้อมกับรำลึกถึงข้อสัญญาของอัลลอฮฺที่ว่า ด้วยการช่วยเหลือครอบครัวและบุตรชายของท่านในฐานะของตัวอย่างสมบูรณ์ แต่ในที่สุดแล้ว ท่านมอบหมายให้อัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นผู้ตัดสิน

บทเรียนจากโองการ :

1. ท่านจงกล่าวคำพูด หรือวิงวอนต่อพระเจ้าเหมือนกับบรรดาศาสดาทั้งหลายได้กล่าวและวิงวอน อย่างมีมารยาทอันดีงาม

2.สัญญาต่างๆ ของพระเจ้าเป็นจริงเสมอและต้องเกิดอย่างแน่นอน

3. การตัดสินสุดท้ายให้มอบหมายเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺเถิด เนื่องจากพระองค์เป็นผู้ตัดสินที่ดีเยี่ยม

อัลกุรอาน โองการที่ 46 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวเตือนสตินบีนูฮฺ (อ.) ว่าบุตรชายของท่านนั้น มิใช่คนดีแต่อย่างใด โองการกล่าวว่า

46. قَالَ يَانُوحُ إِنَّهُ لَيْسَ مِنْ أَهْلِكَ إِنَّهُ عَمَلٌ غَيْرُ صَالِحٍ فَلَا تَسْأَلْنِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ إِنِّي أَعِظُكَ أَن تَكُونَ مِنَ الْجَاهِلِينَ‏

คำแปล :

46. พระองค์ตรัสว่า โอ้ นูฮฺเอ๋ย แท้จริงเขาไม่ได้เป็นคนหนึ่งในครอบครัวของเจ้า เนื่องจากพฤติการณ์ของเขาไม่ดี ดังนั้นจงย่าขอร้องข้าในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ ดังนั้น ข้าขอเตือนเจ้าว่าอย่าเป็นผู้งมงาย

คำอธิบาย :

ทันใดนั้นเมื่อนบีนูฮฺ (อ.) ได้ร้องขอต่ออัลลอฮฺ ท่านก็ได้รับคำตอบที่ค่อนข้างรุนแรงทันที เป็นคำตอบชัดเจนจากเหตุการณ์ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าการให้ความสำคัญต่อการธำรงอยู่ของแนวทางนั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางครอบครัว

1. โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ (บุตรชายของนูฮฺมีพฤติการณ์ที่ไม่ดี) กล่าวคือเขาได้ปฏิบัติสิ่งที่ไม่มีความเหมาะสม ไม่ดีอย่างมากมาย จนกระทั่งเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำไม่ดีนั้น

2. คำพูดของโองการที่ว่า พฤติการณ์ไม่ดี ของบุตรชายนบีนูฮฺ (อ.) หมายถึงเขาได้หมกมุ่นอยู่กับสิ่งไม่ดี และจมปรักอยู่กับความเสื่อมทรามทั้งปวง ประพฤติผิด ดังนั้น ความผิดของเขาจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพื่อว่าเขาจะได้รับชะฟาอะฮฺเป็นการเยียวยารักษา

3. บางคนกล่าวว่า บุตรที่ประพฤติไม่ดีของนบีนูฮฺ (อ.) เป็นบุตรที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ แต่โองการก็มิได้ปฏิเสธความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นบุตรแต่อย่างใด ทว่าได้กล่าวเพียงว่า พฤติการณ์ของบุตรชายคนนี้ของท่านไม่ดี ดังนั้น จงออกห่างจากเขา

ฮะดีซจากท่านอิมามอะลี ริฎอ (อ.) กล่าวว่า เขาเป็นบุตรชายของบิดาของเขา แต่เมื่อเขาได้กระทำความผิดมหันต์ อัลลอฮฺ ได้แยกเขาออกจากบิดาของเขา หลังจากนั้น กล่าวว่า ดุจดังเช่นบุคคลที่มาจากเรา แต่เมื่อเขาไม่ได้ภักดีต่ออัลลอฮฺ ดังนั้น เขาจึงไม่ได้มาจากเรา[1]

4. รายงานฮะดีซบางบทได้กล่าวเช่นเดียวกันกับโองการ โดยเน้นว่าการธำรงอยู่ของแนวทาง ความเชื่อนั้นเป็นหลัก ส่วนความสัมพันธ์ทางเครือญาตินั้นเป็นรอง ดังเช่น เรื่องราวของซัลมาลอัลฟาร์ซีย์ ท่านมิใช่ผู้มาจากเชื้อสายหรือเป็นเผ่าพันธุ์อาหรับแต่อย่างใด แต่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวกับเขาว่า “เจ้ามาจากเราอะฮฺลุลบัยตฺ” แต่สำหรับบางคนท่านศาสดาได้กล่าวกับเขาว่า “เจ้าไม่ได้มาจากเรา” หรือกล่าวว่า “เจ้าไม่ใช่มุสลิม” ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนรายงานบางบท อาทิเช่นกล่าวว่า

1) รายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามทรยศหักหลังพี่น้องมุสลิมของเขา เขาไม่ใช่พวกเรา”

2) รายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เช่นกันกล่าวว่า “พึงทราบไว้เถิดว่าบุคคลใดก็ตามหากประชาชนได้ให้เกียรติเขา เนื่องจากต้องห่างไกลจากความผิด (บาป) เขาไม่ใช่พวกเรา”

3) รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามกินทรัพย์สินของพี่น้องมุอ์มินด้วยบาปกรรม เขาไม่ใช่พวกเรา”

4) รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามไม่ตรวจสอบตัวเองในทุกวัน เขาไม่ใช่พวกเรา”

5) รายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “บุคคลใดได้ยินเสียงร้องเรียกของพี่น้องมุสลิมว่า โอ้ มุสลิมเอ๋ย โปรดช่วยฉันด้วย แต่เขาไม่ตอบรับ ถือว่าเขาไม่ใช่มุสลิม[2]

5. โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ได้เตือนสตินบีนูฮฺ (อ.) ว่า อย่าเป็นดังเช่นบุคคลที่งมงาย ซึ่งต้องรับรู้ไว้ว่าในความเป็นจริงแล้ว คำเตือนที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานนั้น สำหรับมนุษย์ทุกคน

บทเรียนจากโองการ :

1. การดำรงอยู่ของศาสนาและความเชื่อมีความสำคัญยิ่งกว่าเครือญาติ

2.จงอย่าเป็นคนโง่เขลาที่มีความเชื่องมงายเด็ดขาด

อัลกุรอาน โองการที่ 47 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าว คำขออภัยของนบีนูฮฺ (อ.) โองการกล่าวว่า

47. قَالَ رَبِّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ أَنْ أَسْأَلَكَ مَا لَيْسَ لِي بِهِ عِلْمٌ وَإِلَّا تَغْفِرْ لِي وَتَرْحَمْني أَكُن مِنَ الْخَاسِرِينَ‏

คำแปล :

47. เขา (นูฮฺ) กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน แท้จริงข้าฯขอความคุ้มครองต่อพระองค์ ให้พ้นจากการขอร้องต่อพระองค์ ในสิ่งที่ข้าฯไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น และมาตรว่าพระองค์ไม่ทรงอภัยแก่ข้าฯ และไม่ทรงเมตตาข้าฯแล้ว ข้าฯคงอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน

คำอธิบาย :

1. ปัจจัยมากมายที่เป็นตัวการสำคัญทำให้นบีนูฮฺ (อ.) ต้องขอร้องให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงอภัยโทษแก่บุตรชายของตน ประการแรกคือ ความเป็นบุตรที่ไม่ทรยศ เขามีสภาพที่ไม่ชัดเจน บางครั้งก็อยู่กับผู้ศรัทธา บางครั้งก็อยู่กับผู้ปฏิเสธศรัทธา ประการที่สอง นบีนูฮฺ (อ.) มีความรู้สึกรับผิดชอบในหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อบุตรของตน ประกอบความรักของบิดาที่มีต่อบุตร ความสงสารซึ่งเป็นความรู้สึกทางธรรมชาติขั้นพื้นฐานของมนุษย์บุถุชนทุกคน สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้นบีนูฮฺ (อ.) ได้วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ให้ทรงช่วยเหลือเขา

ประการที่สาม นบีนูฮฺ (อ.) คิดว่าการที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสัญญาจะให้ความช่วยเหลือครอบครัว ดังปรากฏในโองการที่ 40 ของบทนี้ พระองค์จะทรงช่วยเหลือทุกคน ยกเว้นภรรยาที่ดื้อรั้นและตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีจึงได้วอนขอต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เพื่อให้ช่วยเหลือบุตรชายของท่าน

ฉะนั้น ถ้านบีนูฮฺ (อ.) ทราบว่าบุตรชายของท่านเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และไม่ได้รวมอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านก็คงจะไม่ขอร้องให้พระองค์ทรงช่วยเหลือเขา ดังเช่น กรณีของภรรยาของท่าน ซึ่งนบีนูฮฺ (อ.) รู้อยู่แก่ใจตนว่านางไม่เปลี่ยนแปลง ท่านจึงไม่วอนขอต่ออัลลฮฺ (ซบ.) เพื่อนาง  แต่ในส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธาคนอื่นท่านนบีได้วอนขอการสาปแช่งพวกเขา ดังปรากฏในอัลกุรอาน บทนูฮฺ โองการที่ 26

2. การร้องขอของนบีนูฮฺ (อ.) เพื่อให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงช่วยเหลือบุตรชายของท่าน มิได้เป็นความผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างสถาการณ์ให้แก่สภาวะการเป็นนบีของท่าน ซึ่งต้องระมัดระวังคำพูดให้มากกว่านี้ และในการขอร้องของนบีนูฮฺ (อ.) จัดอยู่ในประเภทของ การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่าสำหรับท่าน  ด้วยเหตุนี้ หลังจากความกระจ่างแล้วท่านนบีนูฮฺ (อ.) จึงได้วอนขอการอภัยจากอัลลอฮฺ

3. โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ ได้แสดงให้เห็นมารยาทอันดีงามของศาสดา เมื่ออยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และอยู่ต่อหน้าการตักเตือนสติ ซึ่งท่านนบีได้ขอความคุ้มครองจากพระองค์ และขอการอภัยโทษพร้อมกับความเมตตาจากพระองค์

บทเรียนจากโองการ :

1. จงขอความคุ้มครองและที่พึ่งพิงจากอัลลอฮฺ ให้เราพ้นจากความกริ้วโกรธของพระองค์ เนื่องจากพระองค์คือผู้ให้คุ้มครองแก่มนุษย์

2. ถ้าปราศจากความเมตตาการุณย์และการอภัยของอัลลอฮฺ (ซบ.) มนุษย์จะอยู่ในความขาดทุนตลอดไป

3.จงอย่าวอนขอสิ่งใดจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ในสิ่งที่เราไม่รู้แน่ชัด

อัลกุรอาน โองการที่ 48 บทฮูด

อัลกุรอาน โองการนี้ กล่าวถึงผลรางวัลในสุขภาพสมบูรณ์และความจำเริญแก่นบีนูฮฺ (อ.) โองการกล่าวว่า

48. قِيلَ يَا نُوحُ اهْبِطْ بِسَلَامٍ مِنَّا وَبَرَكَاتٍ عَلَيْكَ وَعَلَى‏ أُمَمٍ مِمَّن مَعَكَ وَأُمَمٌ سَنُمَتِّعُهُمْ ثُمَّ يَمَسُّهُم مِنَّا عَذَابٌ أَلِيمٌ‏

คำแปล :

48. ได้มีการกล่าวว่า โอ้ นูฮฺเอ๋ย จงขึ้นบกด้วยความศานติจากเรา และความจำเริญแก่เจ้า และแก่กลุ่มชนที่อยู่กับจ้าและกลุ่มชนอื่น (จากบุตรหลานของพวกเขา) ที่เราได้ให้การรื่นเริงแก่พวกเขา แล้วการลงโทษอย่างเจ็บปวดจากเราจะประสบแก่พวกเขา

คำอธิบาย :

นูฮฺ (อ.) ได้ขึ้นเรือด้วยความปลอดภัย

โองการที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นโองการสุดท้ายที่กล่าวถึงเรื่องราวของนบีนูฮฺ (อ.) ข้อคิดและบทเรียนต่างๆ ในบทนี้ ซึ่งได้กล่าวถึงการขึ้นเรือของนบีนูฮฺ (อ.) ทำให้ท่านได้พบกับชีวิตใหม่ที่เป็นปกติธรรมดาบนพื้นดิน

1. เนื่องจากน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เป็นการลงโทษจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่มีต่อแผ่นดิน และประชาชาติของนบีนูฮฺ (อ.) แน่นอนว่าเรือกสวนไร่นาต้องได้รับความเสียหายตามไปด้วย และบางทีอาจเป็นไปได้ที่นบีนูฮฺ (อ.) และเหล่าสหายของท่าน ต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งกำลังรออยู่เบื้องหน้า แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ให้ความหวังแก่พวกเขาว่า ประตูแห่งความโปรดปรานและความจำเริญได้เปิดสำหรับพวกเขาเสมอ

2. หลังจากน้ำท่วมได้แห้งหายแล้วเป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บต้องระบาดอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสร้างความมั่นใจแกหมู่ชนของนบีนูฮฺ (อ.) ว่าอันตรายเหล่านั้นจะไม่ก่อความเสียหายอันใดแก่สูเจ้า พวกเจ้าจะได้อยู่ในสังคมที่มีความอุดมและอยู่ในสภาพสมบูรณ์

3. คำว่า อุมัม เป็นพหูพจน์ของคำว่า อุมมัต  ซึ่งการตีความตรงนี้อาจหมายถึง กลุ่มปศุสัตว์ที่อยู่ในเรือพร้อมกับนบีนูฮฺ หรือบางทีอาจบ่งชี้ให้เห็นกลุ่มชนที่ได้อยู่ร่วมกับนูฮฺ ซึ่งแต่ละคนนั้นมาจากเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน

4. บนพื้นฐานของโองการดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าการให้ความโปรดปรานแก่ประชาชาติ การลงโทษ และการทดสอบกุล่มชนที่ดื้อรั้นและยโสโอหังนั้น ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความจริงประการนี้เราจะเห็นได้จากประเทศต่างๆ ที่ร่ำรวยในแถบตะวันตก และบรรดาผู้อหังการแห่งโลกนี้ไม่ว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) จะประทานความโปรดปรานแก่เขามากน้อยเพียงใดก็ตาม พวกเขาจะไม่ขอบคุณ ทว่าพวกเขาจมปรักอยู่กับการหลงลืม การก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน และการกดขี่ ในที่สุดแล้วการลงโทษของพระเจ้าบนโลกนี้จะเกิดในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังเช่น สงครามโลกสองครั้งที่ได้เกิดขึ้นนั่นเอง ส่วนในปรโลกพวกเขาจะถูกลงโทษในไฟนรก และพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป

บทเรียนจากโองการ :

1.แบบอย่างของพระเจ้าในการประทานความโปรดปราน การทดสอบ และการลงโทษนั้นมั่นคงยิ่งนัก

2. การกลั่นกองและการเลือกปรับปรุงมนุษย์ชาติ มิได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มชนของนูฮฺเท่านั้น ในอนาคตก็ต้องมีเหตุการณ์เยี่ยงนั้นเกิดขึ้นอีก

3.จงอยู่ร่วมกับเหล่าผู้นำของพระเจ้า เพื่อท่านจะได้รับความสมบูรณ์และความจำเริญจากพระองค์

 

อ้างอิง

[1] ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า  451

[2]บิฮารุลอันวาร เล่ม 71 หน้า 339, อุซูลกาฟีย์ เล่ม 2 หน้า 164