ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 104-105

ตัฟซีรอัลกุรอาน บทฮูด โองการที่ 104-105

 

อัลกุรอาน โองการนี้กล่าวถึงกาลเวลาของวันกิยามะฮ์ โองการกล่าวว่า

 

 وَمَا نُؤَخِّرُهُ إِلَّا لِاجَلٍ مَعْدُودٍ

คำแปล :

 

104. และเราไม่ได้หน่วงไว้ (กิยามะฮ์) เว้นแต่เพื่อวาระที่ถูกกำหนดไว้

 

คำอธิบาย :

 

1. การหน่วงเวลาแห่งวันกิยามะฮฺให้ล่าช้าออกไปก็เพื่อการทดสอบ และการอบรมสั่งสอนมนุษย์ จนกระทั่งโปรแกรมของบรรดาศาสดาได้ถูกนำไปปฏิบัติครบถ้วน และเมื่อนั้นโซ่ข้อสุดท้ายก็จะปรากฏขึ้น ความสมบูรณ์ของโลกก็จะเผยออกมา หลังจากนั้นทุกอย่างก็ถึงกาลอวสาน

 

2.การที่กล่าวว่า มะอ์ดูดุน หมายถึง การกำหนด หรือการคำนวณ ได้ชี้ให้เห็นถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เนื่องจากทุกสิ่งที่สามารถคำนวณนับได้ย่อมมีขอบเขตกำหนดและใกล้ชิด

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. ไม่มีความว่าสายสำหรับงาน วันกิยามะฮ์กำลังจะมาถึง ดังนั้นจงเตรียมพร้อมเพื่อวันนั้นเถิด

 

2. เวลาของวันกิยามะฮ์ ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว (แม้ว่าไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ได้เลยนอกจากอัลลอฮ์)

 

3. ถ้าหากปล่อยการงานให้ล่าช้าออกไป ก็จงกำหนดเวลาตายตัวแก่มันเถิด

 

อัลกุรอาน โองการที่ 105 บทฮูด

 

อัลกุรอาน โองการนี้ได้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่มีความเจริญรุ่งเรือง และกลุ่มที่มีความตกต่ำ โองการกล่าวว่า

 

يَوْمَ يَأْتِ لَا تَكَلَّمُ نَفْسٌ إِلَّا بِإِذْنِهِ فَمِنْهُمْ شَقِيٌّ وَسَعِيدٌ

คำแปล :

 

105. วัน (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) เมื่อมาถึงไม่มีชีวิตใดจะพูดได้ เว้นแต่โดยอนุมัติของพระองค์ ดังนั้น ในหมู่พวกเขาจะมีผู้เป็นทุกข์และผู้เป็นสุข

 

คำอธิบาย :

 

1. คำว่า ซะอีดดุน มาจากรากศัพท์คำว่า ซะอาดะฮ์ หมายถึงความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนคำว่า ชะกอ มาจากรากศัพท์คำว่า ชะกอวัต หมายถึง ความทุกข์ ความไร้โชควาสนา ความอัปโชค

 

2. ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพประชาชนได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาการกำหนดกฎเกณฑ์แต่อย่งใด แต่เป็นอนิสงค์ที่เกิดจากความคิดและการกระทำของมนุษย์บนโลกนี้ ดังนั้น ถ้าความไร้โชควาสนาหรือความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นตัวตนจริง เราต้องยอมรับในเรื่องของยัตินิยม หรือพรหมลิขิต แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นสิ่งนี้ก็ขัดแย้งและไม่เข้ากับอัลกุรอานแต่อย่างใด และผลต่อมาการประทานศาสดาลงมาสั่งสอน และประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมาเพื่อชี้นำทางก็ไร้ประโยชน์และไม่มีความหมายแต่อย่างใด รางวัลตอบแทนหรือการลงโทษก็จะกลายเป็นสิ่งไร้กฎเกณฑ์ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกดขี่ข่มเหงแน่นอน

 

ดังนั้น โองการโดยรวมได้แจ้งว่ามนุษย์เป็นผู้มีเจตคติและเจตนารมณ์เสรี ดังนั้น บางคนได้เลือกแนวทางที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และบางคนได้เลือกแนวทางที่นำไปสู่ความตกต่ำและความไร้โชควาสนา อันเป็นสาเหตุทำให้วันแห่งการฟื้นคืนชีพมนุษย์จึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มล

 

3. อัลกุรอานบางโองการกล่าวถึงการการปฏิเสธการพูดของมนุษย์ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เช่น อัลกุรอานบทยาซีน โองการที่ 65 กล่าวว่า “วันนี้เราจะปิดผนึกปากของพวกเขา มือของพวกเขาจะพูดกับเรา และเท้าของพวกเขาจะยืนยันตามที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้” หรือบทอัลมุรซะลาต โองการที่ 35 กล่าวว่า “วันนี้พวกเขาไม่สามารถพูดออกมาได้  และจะไม่เปิดโอกาสให้แก่พวกเขากล่าวอ้างเพื่อแก้ตัว” เป็นต้น

 

ซึ่งนักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางท่าน กล่าวว่า ในวันฟื้นคืนชีพการพูดสนทนาจึงไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น เนื่องจากการพูดสนทนาเป็นการเผยให้เห็นความด้านใจของบุคคล ซึ่งถ้าเรามีความรู้สึกว่าเราสามารถสัมผัสกับความคิดของบุคคลนั้นได้ ก็ไม่จำเป็นที่เขาต้องพูดสิ่งใดออกมา

 

ฉะนั้น ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพก็เท่ากับเป็นการเผยให้เห็นความเร้นลับ ซึ่งทุกสิ่งจะอยู่ในสภาพของการเผยความจริง ดังนั้น การพูดในวันนั้นจึงไม่มีความหมายอันใด

 

อีกนัยหนึ่ง วันแห่งการฟื้นคืนชีพคือวันแห่งสอบสวนและตอบแทนผลรางวัน ไม่ใช่วันแห่งการกระทำ ด้วยเหตุนี้ ในวันนั้นมนุษย์จึงไม่มีอำนาจจะพูดทุกสิ่งตามใจปรารถนาได้ ทว่ามนุษย์จะพูดหรือการะทำเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องเท่านั้น บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าการพูดของมนุษย์ในวันนั้น จึงไม่เหมือนการพูดดั่งที่เคยพูดบนโลกนี้ ทุกสิ่งที่จะพูดออกไปคือรายงานการกระทำของตนเอง การกระทำที่จะถูกเผยออกมาทั้งหมดต่อหน้าสาธารณชนในวันนั้น ด้วยเห็นนี้ ในวันนั้นมนุษย์จึงไม่มีโอกาสพูดทุกสิ่งตามที่ตนปรารถนาเหมือนบนโลก หรือกล่าวการมุสาใดๆ ได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามทัศนะนี้มีไม่เข้ากันกับบางโองการของอัลกุรอาน เนื่องจากอัลกุรอานกล่าวถึงการพูดสนทนาของผู้ศรัทธา อาชญากร ผู้นำ ผู้กดขี่ข่มเหงและผู้ปฏิบัติตามพวกเขา ทำนองเดียวกันบรรดาผู้ที่หลงกลชัยฎอนมารร้าย ชาวนรก และชาวสวรรค์ แสดงให้เห็นว่า ในวันนั้นมีการพูดสนทนาเหมือนดั่งที่สนทนาบนโลกนี้เช่นกัน ซึ่งบางโองการเข้าใจได้ว่า ผู้กระทำความผิดได้ตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่ซึ่งพวกเขาบางคนกล่าวปฏิเสธและมุสาด้วยซ้ำไป เช่น อัลกุรอาน บทอันอาม โองการที่ 22,24

 

ดังนั้น จากโองการที่กล่าวมาเข้าใจได้ว่า ประชาชนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะสนทนาได้โดยอนุมัติของอัลลอฮ์เท่านั้น

 

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนในวันกิยามะฮ์ จะมีฐานันดรและตำแหน่งที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในวันนั้นชนบางกลุ่มจะไม่ถูกซักถามสิ่งใดทั้งสิ้น ปากของพวกเขาจะปิดสนิทประหนึ่งการตีตราไว้ แต่อวัยวะต่างๆ บนร่างกายของเขาจะพูดแทน  แต่บางกลุ่มจะได้รับอนุญาตจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้สนทนาเพื่อสารภาพความผิดของตน

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. จะไม่มีการสนทนาใดๆ ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เว้นเสียแต่ได้รับอนุมัติจากอัลลอฮ์

 

2. ประชาชนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือกลุ่มที่มีความสุข กับกลุ่มที่มีความทุกข์ ดังท่านลองพิจารณาดูเองเถิดว่าจะอยู่ในกลุ่มใด ?

 

3. ตราบที่ยังไม่สายเกินไปจงคิดถึงความเจริญผาสุกของตนเอง และจงขวนขวายสิ่งดีงาม